เรื่องเงินต้องรู้! คู่รัก LGBTQ+
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
LGBTQ+ ความรักที่หลากหลาย ไม่จำกัดด้วยเพศที่ติดตัวมาแต่กำเนิด อย่างไรก็ตาม คู่รัก LGBTQ+ ยังมีข้อจำกัดและรูปแบบการจัดการเงินที่ต่างจากคู่รักแบบอื่นๆ ที่ต้องรู้และให้ความสำคัญ
ข้อจำกัดการเงิน คู่รัก LGBTQ+
ปัจจุบันคู่รัก LGBTQ+ ยังไม่มีสถานภาพทางกฎหมาย ต่างจากคู่รักชายหญิงที่หากจดทะเบียนสมรสแล้วจะเป็น “คู่สมรสจดทะเบียน” หรือหากอยู่กินกันจนเป็นที่ยอมรับก็อาจสามารถทำธุรกรรมบางอย่างในสถานะ “คู่สมรสไม่จดทะเบียน” ได้ ต่างจากคู่รัก LGBTQ+ ที่อยู่ด้วยกันอย่างเปิดเผยเพียงใดก็ยังมีข้อจำกัดการทำธุรกรรมและนิติกรรมอยู่ เช่น
– กู้ซื้อบ้านร่วมกัน ทำประกันชีวิตยกผลประโยชน์ให้กัน ฯลฯ ที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์และการมีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งกันและกันได้
– การบริหารภาษี ที่ไม่สามารถแยกยื่น/รวมยื่น หรือใช้สิทธิลดหย่อนบิดามารดาอีกฝ่ายที่ไม่มีรายได้ เหมือนอย่างคู่สมรสจดทะเบียน
– มรดก ที่คู่รัก LGBTQ+ จะไม่มีสิทธิได้รับ หากอีกฝ่ายไม่มีการเขียนพินัยกรรมไว้
คำแนะนำการเงิน คู่รัก LGBTQ+
– ซื้อบ้าน/คอนโดในราคาที่เหมาะสม: เนื่องจากไม่สามารถกู้ร่วมกันได้ จึงกู้ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น จึงแนะนำให้เลือกกู้/ซื้อบ้านที่มีราคาและภาระผ่อนสอดคล้องกับความสามารถของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พร้อมกับทำประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ เพื่อจำกัดผลกระทบที่เกิดขึ้นหากฝ่ายที่เป็นคนกู้เสียชีวิตไป
– แยกกระเป๋า: ในวันที่ฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตหรือไม่สามารถทำธุรกรรมได้ตามปกติ หากฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายที่ถือครองทรัพย์สินส่วนใหญ่ของคู่รักไว้ อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของอีกฝ่ายได้
แนะนำให้คู่รัก LGBTQ+ แยกกระเป๋าและทรัพย์สินให้ชัดเจน เพื่อให้แต่ละฝ่ายมีทรัพย์สินเพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
– ทำพินัยกรรมให้ชัดเจน: คู่รัก LGBTQ+ ไม่สามารถเป็นทายาทโดยธรรมเพื่อรับมรดกตามกฎหมายได้ แต่ละฝ่ายจึงควรทำพินัยกรรมยกมรดกให้อีกฝ่ายรวมถึงแบ่งให้ทายาทอื่นอย่างเหมาะสม โดยสามารถพิมพ์และพรินต์พินัยกรรมบนกระดาษได้ด้วยตนเอง พร้อมกับมีพยานอีก 2 คน ที่ไม่มีชื่อในพินัยกรรมมารับรอง ซึ่งเป็นรูปแบบ “พินัยกรรมแบบธรรมดา” ตาม ป.พ.พ. 1656
– ระวังการถือกรรมสิทธิ์หรือทำธุรกิจร่วมกัน: เนื่องจากรายได้ที่เกิดจากทรัพย์สินหรือการทำธุรกิจร่วมกันของคู่รัก LGBTQ+ ในนามบุคคลธรรมดา เช่น ขายบ้าน/คอนโดที่ถือร่วมกัน ได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝากที่มีชื่อบัญชีร่วมกัน มักถือว่าเป็นรายได้ในหน่วยภาษี หสม. (ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน)
ซึ่งหลังจาก หสม. ยื่นและเสียภาษีแล้ว เมื่อมีการแบ่งรายได้นั้นให้กับแต่ละคน เงินส่วนที่แต่ละคนได้รับนั้น ก็ต้องนำไปยื่นภาษีในนามส่วนตัวของแต่ละคนด้วย ส่งผลให้ภาระภาษีโดยรวมของคู่รัก LGBTQ+ สูงกว่าของคู่สมรสจดทะเบียน แม้มีจำนวนรายได้ที่เท่ากันก็ตาม
คู่รัก LGBTQ+ ความรักที่สวยงามไม่มีพรมแดนมาขีดเส้น แต่ด้วยกฎหมายและกฎระเบียบปัจจุบันที่ยังไม่เอื้อต่อการจัดการด้านการเงิน…คู่รัก LGBTQ+ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการจัดการเงินมากกว่าคู่รักอื่นที่เป็นคู่สมรสจดทะเบียน