×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

เรื่องมรดก ที่ลูกเขย-ลูกสะใภ้ ต้องรู้! 

852

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Youtube | Facebook | TikTokInstagramLine 

 

ครอบครัวใหญ่มีลูกหลานหลายคน เมื่อคนสูงอายุที่เป็นเสาหลักหรือถือครองทรัพย์สินเสียชีวิตหรือมีแผนจัดสรรมรดก ลูกเขยหรือลูกสะใภ้ มักไม่ได้ส่วนแบ่งในมรดกนั้น แต่ก็มีประเด็นสำคัญที่ลูกเขย-ลูกสะใภ้ต้องเข้าใจ เพื่อรักษาสิทธิให้กับลูกหรือคู่สมรสของตนเองด้วย

 

ไม่ใช่ ‘ทายาทโดยธรรม’

 

หากนาย A (เจ้ามรดก) เสียชีวิตโดยไม่ได้เขียนพินัยกรรมไว้ มรดกของนาย A จะถูกจัดสรรให้กับญาติที่เรียกว่าทายาทโดยธรรม เช่น คู่สมรสตามกฎหมายของนาย A, ลูกของนาย A, บิดามารดาของนาย A เป็นต้น

 

โดยลูกเขย-ลูกสะใภ้ ที่เป็นคู่สมรสของลูกนาย A ไม่ได้มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามกฎหมายเลย ดังนั้นหากนาย A ต้องการมอบมรดกไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้กับลูกเขย-ลูกสะใภ้ ต้องเขียนพินัยกรรมยกให้ไว้เท่านั้น

 

มรดกที่ได้ ไม่ใช่ ‘สินสมรส’

 

เมื่อลูกหรือทายาทของนาย A (เจ้ามรดก) ได้รับมรดกแล้ว ไม่ว่าจะได้มาโดยไม่มีพินัยกรรม (ทายาทโดยธรรม) หรือได้มาโดยพินัยกรรม (ทายาทโดยพินัยกรรม) ก็ตาม โดยปกติจะถือเป็น “สินส่วนตัว” ของผู้รับมรดก 

 

โดยคู่สมรส (เช่น ลูกเขย-ลูกสะใภ้ ของนาย A) ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้น ยกเว้นกรณีที่นาย A เขียนพินัยกรรมโดยระบุว่ามรดกที่ยกให้กับทายาทนั้นให้ถือเป็นสินสมรส

 

‘ลูกนอกสมรส’ มีสิทธิในมรดก

 

มีหลายครอบครัวที่คู่ชีวิตใช้ชีวิตร่วมกันและมีลูกด้วยกัน แต่ไม่มีการจดทะเบียนสมรสเพื่อแสดงสถานะทางกฎหมาย ลูกที่เกิดมาจึงอาจไม่มีผู้ชายที่มีสถานะเป็นบิดา หากฝ่ายชายไม่มีการจดทะเบียนรับรองบุตรอย่างถูกต้องการกฎหมาย ส่วนมารดานั้นกฎหมายถือว่าผู้หญิงที่คลอดลูกนั้นเป็นมารดาโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าผู้หญิงนั้นจะมีสามีตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ชายมีการแสดงออกอย่างเปิดเผย เช่น จัดพิธีแต่งงาน ให้เด็กใช้นามสกุลตน ระบุในทะเบียนบ้าน/สูติบัตรว่าตนเป็นบิดา ฯลฯ แม้ว่ายังไม่จดทะเบียนรับรองบุตร ก็ถือว่าเด็กนั้นเป็นทายาทในฐานะลูกของผู้ชาย หากผู้ชายเสียชีวิตลง เด็กย่อมมีสิทธิได้รับมรดกจากผู้ชาย

 

‘ลูก’ รับมรดกแทนที่ได้

 

สมมติว่า นาง D แต่งงานกับนาย B ซึ่งมีนาย A (ปู่ของ ด.ช. C) เป็นพ่อ โดยนาย B มีลูกชื่อ ด.ช. C (หลานของนาย A)

  • หากนาย B โชคร้ายเสียชีวิตก่อนนาย A
  • ต่อมานาย A เกิดเสียชีวิต โดยไม่ได้มีการเขียนพินัยกรรมไว้ มรดกของนาย A จะถูกแบ่งให้ญาติ ตามหลักทายาทโดยธรรม
  • ซึ่งแม้นาย B ไม่ได้อยู่รับมรดกจากนาย A แต่ ด.ช. C สามารถรับมรดกแทนที่ได้ โดยการแบ่งมรดกของนาย A จะเสมือนว่านาย B ยังมีชีวิตอยู่ (มี ด.ช. C มารับมรดกแทนนาย B)

 

‘เป็นพยาน’ ในพินัยกรรม จะหมดสิทธิรับมรดก

 

หากมีใครมาขอให้เป็นพยานในพินัยกรรม ต้องเช็กให้ดีว่า ตนเองหรือคู่สมรสของตนเอง มีชื่อเป็นหนึ่งในผู้รับมรดกในพินัยกรรมนั้นหรือไม่ เพราะหากลงชื่อเป็นพยานไปแล้ว ตนเองและคู่สมรสของตนจะไม่มีสิทธิรับมรดกจากพินัยกรรมฉบับนั้นเลย

 

มรดกไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นสิ่งที่อาจได้ใช้อยู่ทุกเมื่อ การรู้และเข้าใจ จะช่วยให้การรับหรือส่งต่อเป็นไปอย่างราบรื่น อีกทั้งความเข้าใจที่ดีนั้นไม่ควรหยุดแค่ที่ทายาท แต่ต้องครอบคลุมถึงคู่สมรสและเจ้ามรดกด้วย

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats