เกษียณสบายด้วย RMF ‘ต้องรู้-ต้องทำ’ สิ่งนี้
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
“กว่าจะอายุ 60 ปีอีกตั้งไกล จะรีบเก็บเงินไปทำไม” หากใครคิดแบบนี้ สามารถคิดใหม่ได้ตั้งแต่ตอนนี้
เพราะยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นเก็บเงินและลงทุนเพื่อเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ ซึ่งหากใครคิดและเริ่มต้นวางแผนการเงินเร็วเท่าไร ก็จะทำให้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุขเท่านั้น
Wealth Me Up พูดคุยกับคุณอรพรรณ บัวประชุม นักวางแผนการเงิน CFP® Assistant Managing Director, Wealth Management บลจ. บัวหลวง มาแชร์ข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ Retirement Mutual Fund (RMF) ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกยอดนิยมสำหรับการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ
RMF หรือ Retirement Mutual Fund ไม่ใช่แค่กองทุนธรรมดา แต่ถูกออกแบบมาที่จะช่วยให้เกษียณอย่างเกษม “RMF เหมาะสำหรับผู้ที่อยากเก็บเงินเพื่อเกษียณ และต้องการลดหย่อนภาษีด้วย”
แต่ก่อนลงทุนกองทุน RMF ต้องรู้กฎเบื้องต้น 3 ข้อ
- รอให้ถึงวัย 55 ต้องถือหน่วยลงทุนจนกว่าจะมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์
- อดทนรอ 5 ปี ต้องลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
- ห้ามใจร้อน 5 ปี ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีนับจากวันที่ซื้อ
“จำง่ายๆ ว่า 55, 5 และ 5 ถ้าทำได้ครบ รับรองว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์เต็มๆ แถมยังช่วยให้มีวินัยในการออมด้วย แต่อย่าเพิ่งรีบร้อน เพราะก่อนจะลงทุนต้องพิจารณาให้ดี ทั้งเรื่องภาษี เงื่อนไขการลงทุน ความเสี่ยง และความเหมาะสมกับเป้าหมายการเงินของตัวเอง” คุณอรพรรณ บอก
ลงทุนกองทุน RMF แบบไหน? ให้สบายตอนแก่
การเริ่มต้นลงทุนในกองทุน RMF เป็นการมอบของขวัญล้ำค่าให้กับตัวเองในอนาคต เพราะเงินที่ลงทุนจะเติบโตและทวีคูณตามกาลเวลา สร้างความมั่นคงทางการเงินที่จะช่วยให้ใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องเป็นภาระให้กับลูกหลานหรือสังคม และยังสามารถทำในสิ่งที่ฝันไว้ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว งานอดิเรก หรือการใช้เวลากับครอบครัว
โดยเงื่อนไขสำคัญของกองทุน RMF คือ สามารถลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมกับเงินออมเพื่อการเกษียณในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) สูงสุดได้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
ปัจจุบันกองทุน RMF มีให้เลือกลงทุนหลากหลาย โดยข้อมูลมอร์นิ่งสตาร์ไทยแลนด์ (12 ตุลาคม 2567) พบว่ามีจำนวน 361 กองทุน โดยมีนโยบายการลงทุนหลักๆ 4 ประเภท
- กองทุนลงทุนในหุ้น 100% (มีทั้งหุ้นไทยและต่างประเทศ) (จำนวน 231 กองทุน)
- กองทุนแบบผสม (จำนวน 62 กองทุน)
- กองทุนลงทุนตราสารหนี้ (มีทั้งไทยและต่างประเทศ) กองทุนตลาดเงิน (จำนวน 54 กองทุน)
- กองทุนลงทุนสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ (จำนวน 14 กองทุน)
“ดังนั้น เมื่อมีความหลากหลายให้เลือกลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุนก็ต้องถามตัวเองก่อนว่า อายุเท่าไร มีระยะเวลาลงทุนได้อีกนานกี่ปี และมีเงินลงทุนเท่าไร” คุณอรพรรณ บอก
จากความหลากหลายของนโยบายการของกองทุน RMF คุณอรพรรณแนะนำว่า
- มีระยะเวลาลงทุนนาน เช่น 20 ปี และรับความเสี่ยงได้สูง ควรแบ่งเงินไปลงทุนในกองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง ประมาณ 70 – 100% และลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำประมาณ 0 – 30%
- มีระยะเวลาลงทุนนาน เช่น 20 ปี แต่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรแบ่งเงินไปลงทุนในกองที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงประมาณ 20 – 30% ที่เหลือ 70 – 80% ให้ลงทุนในกองที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ
- มีระยะเวลาการลงทุนไม่ได้นานหรือกำลังเกษียณ และต้องการลงทุนกองทุน RMF ควรถามตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีเวลาลงทุน 5 ปี รับความเสี่ยงได้สูง โดยในปีแรกควรลงทุนกองที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงประมาณ 50% อีก 50% ก็ลงทุนในกองที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ แล้วค่อยๆ ลดสัดส่วนกองทุนเสี่ยงสูงลงทุกปี จนปีที่ 5 อาจจะเหลือแต่กองทุนเสี่ยงต่ำ
- มีระยะเวลาลงทุนไม่มาก และรับความเสี่ยงต่ำ ในปีที่ 1 ควรลงทุนกองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำประมาณ 70 – 80% ที่เหลือ 10 – 20% ก็ลงทุนในกองที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง แล้วค่อยๆ ลดสัดส่วนกองทุนเสี่ยงสูงลงทุกปี
การวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณผ่านกองทุน RMF ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง แต่ยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เมื่อมีเงินออมที่เพียงพอ จะสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ลดภาระของระบบสวัสดิการสังคม และยังสามารถเป็นที่พึ่งให้กับคนรอบข้างได้อีกด้วย
กองทุน RMF ขาดทุน สับเปลี่ยนกองอย่างไร? ไม่ให้ผิดเงื่อนไข
หลายคนเมื่อลงทุนกองทุน RMF ไปแล้ว พบว่าผลงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือถึงขั้นขาดทุน จึงต้องการสับเปลี่ยนกองทุน ประเด็นนี้คุณอรพรรณแนะนำว่าควรดูก่อนว่ากองทุน RMF ที่ถืออยู่จะสามารถกลับมาสร้างผลตอบแทนที่ดีได้หรือไม่ ถ้ามั่นใจว่ากลับมาได้ก็ควรลงทุนต่อ แต่ถ้ามั่นใจว่าไม่สามารถกลับมาได้ ก็ถึงเวลาที่ต้องสับเปลี่ยนไปกองทุน RMF อื่นๆ
การสับเปลี่ยนกองทุน RMF ก็ไม่ใช่เรื่องยาก หากต้องการสับเปลี่ยนใน บลจ.เดียวกันก็ทำผ่านแอปพลิเคชันของ บลจ.นั้นได้ทันที และควรระบุเป็น “จำนวนหน่วยลงทุน” ที่ต้องการสับเปลี่ยน ส่วนผู้ที่ต้องการสับเปลี่ยนไป บลจ.ใหม่ ก็ให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ของ บลจ.ใหม่ ว่าต้องการสับเปลี่ยนกองทุน RMF ที่ลงทุนจาก บลจ.เดิม มา กองทุน RMF กองใหม่ (บลจ.ใหม่) จากนั้นก็กลับไปแจ้งนายทะเบียน บลจ.เดิม เพื่อดำเนินการสับเปลี่ยน “การสับเปลี่ยนแบบนี้จะไม่ผิดเงื่อนไขกองทุน RMF แต่จะผิดเงื่อนไขก็ต่อเมื่อสั่งขายคืน แล้วนำเงินไปลงทุนกองทุน RMF กองให
ไปต่อไม่ไหว ถ้าขายคืนจะเกิดอะไรขึ้น?
เมื่อเห็นกองทุน RMF ที่ถืออยู่มีผลงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือขาดทุน และต้องการสับเปลี่ยน อีกกรณีหนึ่งที่พบเห็นบ่อยๆ คือ เมื่อลงทุนไปสักระยะหนึ่งและไปต่อไม่ไหว จึงต้องการถอนเงินลงทุนออกมาบางส่วน (หรือทั้งหมด) ก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ กรณีดังนี้สามารถขายคืนได้ แต่ผิดเงื่อนไข
การขายกองทุน RMF คืนและผิดเงื่อนไข มักเกิดขึ้น 3 กรณี
1. ลงทุนกองทุน RMF เกิน 5 ปี แต่ขายคืนก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์
หากเป็นกรณีนี้ควรขายคืนทั้งหมด และเมื่อขายคืนแล้วก็เตรียมข้อมูลเพื่อยื่นภาษีกับกรรมสรรพากรภายในวันที่ 31 มีนาคมในปีถัดไป (หากกองทุน RMF ที่ขายคืนมีกำไร จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ก็ต้องนำมากรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ โดยกรณีขายแบบผิดเงื่อนไข ให้กรอกตรงช่อง “จำนวนเงินส่วนต่างที่ไม่ยกเว้นภาษี”)
“เมื่อยื่นภาษี จะต้องกรอกภาษีใหม่ย้อนหลัง 5 ปีล่าสุดที่เคยได้รับการลดหย่อนภาษีจากการลงทุนกองทุน RMF เพราะเสมือนว่าไม่เคยลงทุนกองทุน RMF ตลอด 5 ปีล่าสุด” คุณอรพรรณ กล่าว
ตัวอย่าง:
ลงทุนกองทุน RMF มาตลอด 12 ปี ปีละ 100,000 บาท สมมติว่าฐานภาษีอยู่ที่ 20% จึงได้ลดหย่อนภาษีปีละ 20,000 บาท แต่มีเหตุจำเป็นต้องขายออกทั้งหมดก่อนอายุ 55 ปี ขั้นตอน คือ ให้ยื่นภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคมปีถัดไป กรอกข้อมูลการลงทุนกองทุน RMF 5 ปีล่าสุด (เท่ากับว่าไม่เคยลงทุนกองทุน RMF จำนวน 500,000 บาท) และต้องคืนภาษีที่เคยได้ลดหย่อน 5 ปีล่าสุดจำนวน 100,000 บาท (ได้ลดหย่อนภาษีปีละ 20,000 บาท) โดยจะต้องคืนภาษีให้กรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป แต่หากยื่นภาษีช้า (หลัง 31 มีนาคม) จะเสียค่าปรับเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน
2. อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แต่ลงทุนไม่ถึง 5 ปี ต้องการขายคืน
หากต้องการขายกองทุน RMF ถือว่าผิดเงื่อนไข แม้จะขายคืนเมื่ออายุครบ 55 ปีก็ตาม โดยจะต้องคืนภาษีทุกปีที่ได้รับลดหย่อน ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปที่ผิดเงื่อนไข แต่หากยื่นภาษีช้า (หลัง 31 มีนาคม) จะเสียค่าปรับเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนของจำนวนภาษีที่ได้รับลดหย่อนไป และต้องนำกำไรที่ได้จากการขายคืนไปรวมเป็นเงินได้ 40(8) เพื่อเสียภาษีด้วย
ตัวอย่าง:
อายุ 52 ปี เริ่มลงทุนกองทุน RMF วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 จำนวน 20,000 บาท และซื้อต่อเนื่องทุกปี ซึ่งตามเงื่อนไขจะต้องลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี หมายความว่าจะสามารถขายคืนได้เมื่ออายุครบ 58 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2572
สมมติว่าขายคืนกองทุน RMF วันที่ 3 พฤศจิกายน 2571 และได้รับเงิน 100,000 บาท (มีกำไรจากการลงทุน 20,000 บาท) กรณีดังกล่าวถือว่าผิดเงื่อนไขเพราะลงทุนน้อยกว่า 5 ปี จึงต้องทำการคืนภาษีที่ได้รับการลดหย่อนในจำนวนปีที่ลงทุนทั้งหมด (4 ปี) และต้องนำกำไรที่ได้จากการขายคืน (20,000 x ฐานภาษี) ไปรวมเป็นเงินได้ของปี 2571 เพื่อเสียภาษีในปี 2572
3. ขายคืนก่อนอายุ 55 ปี และลงทุนน้อยกว่า 5 ปี
การลงทุนในกองทุน RMF น้อยกว่า 5 ปี และขายคืนก่อนอายุ 55 ปี ต้องคืนภาษีทุกปีที่ได้รับลดหย่อนไปภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข หากคืนหลังจากนั้นจะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนของจำนวนภาษีที่ได้รับลดหย่อนไป นอกจากนี้ ยังต้องนำกำไรที่ได้จากการขายคืนไปรวมเป็นเงินได้ 40(8) เพื่อเสียภาษีด้วย
ดังนั้น เมื่อลงทุนกองทุน RMF ไปแล้ว จะต้องมีวินัยในการลงทุน แต่ถ้าประเมินว่าตัวเองทำไม่ได้ ควรลงทุนในกองทุนเปิดทั่วไปจะดีกว่า เพราะกำไรที่ได้รับ ไม่ต้องนำมาคิดเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี” คุณอรพรรณ แนะนำ
ลงทุนครบกำหนด ควรขายคืนทั้งก้อนหรือทยอยขาย
ยินดีต้อนรับสู่จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตที่ได้ผ่านด่านแรกของการลงทุนกองทุน RMF โดยตอนนี้อายุ 55 ปีบริบูรณ์ ลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่การลงทุนครั้งแรกจวบจนถึงวันที่ต้องการขายคืนครบ 5 ปี แต่อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจ เพราะกำลังเผชิญกับคำถามสำคัญ คือ จะขายทั้งหมดหรือจะค่อยๆ ทยอยขาย
คุณอรพรรณ มีคำแนะนำว่า “ก่อนอื่น อย่าลืมไปยื่นภาษีก่อนวันที่ 31 มีนาคมปีหน้า เพื่อรับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี” หลังจากนั้น ลองถามตัวเองว่ามีแผนอะไรกับเงินก้อนนี้ หากต้องการนำเงินไปลงทุนต่อทั้งหมด “ก็ขายคืนทั้งก้อนได้เลย” แต่หากยังไม่แผนการใช้เงินก้อนนี้ทั้งหมด “ทางเลือกที่ดี คือ การทยอยขาย เช่น ขายปีละครั้งหรือสองครั้ง เพื่อเอามาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้มีเงินใช้สม่ำเสมอโดยไม่ต้องกังวลว่าจะหมดเร็วเกินไป”
สำหรับคนที่เลือกทยอยขาย อย่าลืมว่าเงินที่เหลือยังอยู่ในกองทุน RMF ดังนั้น ต้องคอยตรวจสอบพอร์ตลงทุน ให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงของตัวเอง และหากรู้ว่าจะต้องใช้เงินในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า ควรสับเปลี่ยนไปอยู่ในกองทุน RMF ที่เสี่ยงต่ำ ถึงผลตอบแทนจะไม่สูง แต่ก็ปลอดภัย ทำให้สบายใจได้ว่าเงินจะไม่หายไปไหน
ส่วนผู้ที่ยังมีรายได้และยังต้องเสียภาษี คุณอรพรรณแนะนำว่า “อย่าเพิ่งรีบขายทั้งหมด ควรลงทุนกองทุน RMF ต่อไปเรื่อยๆ เพราะถ้าขายหมดแล้วอยากกลับมาลงทุนใหม่ในปีหน้า ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีก 5 ปี ถ้าไม่รีบใช้เงิน ก็ลงทุนต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีเลยดีกว่า”
เช็กให้ดี ก่อนขายคืน
หลังจากใช้เวลากับช่วงวัยทำงานและลงทุนกองทุน RMF มานานพอสมควร ตอนนี้ถึงเวลาที่จะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุนแล้ว แต่อย่าเพิ่งรีบร้อนกดขาย มาดูกันว่าควรทำอะไรบ้าง
หากอายุครบ 55 ปีและลงทุนครบตามเงื่อนไข การขายคืนทำได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว เพียงแค่เปิดแอปพลิเคชันของ บลจ. แล้วเลือกว่าจะขายเป็นจำนวนเงินหรือจำนวนหน่วยลงทุน แต่หากไม่ต้องการใช้เงินทั้งหมดในคราวเดียว การทยอยขายก็เป็นตัวเลือกที่ดี
สำหรับผู้ที่ต้องการทยอยขายคืน ควรประเมินในอีก 2 ปีข้างหน้าว่าตัวเองต้องการใช้เงินจำนวนเท่าไร ก็ใช้วิธีการสับเปลี่ยนกองทุนไปกองทุน RMF ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อลดความเสี่ยง และเมื่อถึงเวลาขายคืน (2 ปีข้างหน้า) หรือหากกองทุน RMF ที่ถืออยู่ ปัจจุบันมีผลตอบแทนที่ดีก็สามารถขายคืนตามจำนวนเงินที่ต้องการได้ แต่หากยังกังวลว่าจะทำผิดเงื่อนไขหรือไม่ อย่าลังเลที่จะโทรหาเจ้าหน้าที่ บลจ. ที่พร้อมจะช่วยตรวจสอบทุกอย่างให้ถูกต้องครบถ้วน
การขายคืนกองทุน RMF ไม่ใช่แค่การกดปุ่ม แต่เป็นการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความพยายามของตัวเองตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น ใช้เวลาตรวจสอบให้ดี แล้วจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุด
ดังนั้น การลงทุนในกองทุน RMF ไม่ใช่เพียงแค่การเก็บออมเงิน แต่เป็นการลงทุนในคุณภาพชีวิตและความสุขของตัวเองในอนาคต ด้วยการวางแผนที่ดีและการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ จะมีอิสรภาพทางการเงินที่จะทำให้วัยเกษียณเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและความสำเร็จอย่างแท้จริง ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า ทำในสิ่งที่รักได้อย่างเต็มที