คนไทย = เก่งเดี่ยว? นับ 1 เรื่อง AI ให้ไทยชนะ!
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
“หลายคนกลัว Automation ไม่ต้องกลัว ยังไงก็มาแน่ๆ…ถ้านำ AI มาช่วยในงานแบบ Routine และทำอย่างถูกวิธี จะช่วยปลดภาระของคน ช่วยให้คนไทยมีแรงเหลือไปขวนขวายพัฒนาตัวเอง”
ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ ViaLink และ Siametrics Consulting
[Now] “ไทย” ยืนอยู่ตรงไหนในยุค AI ร่างทอง?
เมื่อพูดถึงเทคโนโลยี AI และวิทยาการข้อมูล (Data Science) อาจเรียกได้ว่าไทยยังไม่ค่อยมี “โพซิชันนิ่ง” (Positioning) หรือการวางตำแหน่งอะไรนัก แม้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายเป็น “เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) แต่จากประสบการณ์การทำธุรกิจและสัมผัสการทำงานจริงขององค์กรต่างๆ ในเมืองไทย ดร.ณภัทร เห็นว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แม้กระทั่งในระดับ SET50 ยังอยู่ในจุดเริ่ม “ดิจิไทซ์” (Digitize) หรือแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัลเท่านั้น โดยไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนจากธรรมดาไม่มีอะไร มาใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น และกำลังเคลื่อนไปสู่การใช้แอปพลิเคชันบนคลาวด์ (Cloud) มากขึ้น เรียกได้ว่าในระดับผู้ใช้งานเทคโนโลยี ไทยก็ยังไม่ได้เปลี่ยน (Migrate) แบบ 100%
“ยิ่งในแง่การเป็น ‘ผู้ผลิต’ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ไทยยังดำเนินการแบบกระจัดกระจายมาก แม้จะมีความพยายามสนับสนุนหลายด้าน เช่น มีกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่เพราะไทยมี Positioning ไม่ชัด จึงยังไม่ค่อยเห็นธุรกิจที่ทำด้านเทคโนโลยีแบบจริงจัง ที่เริ่มจากเล็กๆ และเติบโตด้วยตัวเองแบบออร์แกนิก (Organic) เหมือนที่เห็นในสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์”
ไทยเก่งแต่ “ใช้” เทคโนโลยี?
ประเทศไทยเก่งกาจในฐานะ “ผู้ใช้” เทคโนโลยี แต่ทำไมยังไม่สามารถเป็น “ผู้สร้าง” เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าได้เหมือนประเทศอื่นๆ?
นี่อาจเป็นคำถามคาใจใครหลายคน…ดร.ณภัทรแจกแจง “ต้นตอ” ของปมปัญหานี้ไว้ 2 ประเด็นหลัก คือ บุคลากร และวัฒนธรรมแบบไทยๆ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “บุคลากร” เกี่ยวข้องกับเรื่องการสร้างเทคโนโลยีของไทยแบบเลี่ยงไม่พ้น ซึ่งสถานะที่ไทยเป็นอยู่นั้นอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า “มีนะ” แต่ “มีน้อย”
ในด้าน AI ไทยก็มีคนเก่งระดับท็อปๆ ของโลก เช่น ชาวไทยเป็นคนสร้างสรรค์ Deepfake คนแรก หรือใช้เทคโนโลยี AI สร้างภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว ที่เหมือนจริงจนแยกไม่ออกว่าเป็นคนจริงหรือปลอม แม้จะมีคนเก่ง แต่ก็มีปัญหาการสร้างรายได้ (Monetize) หรือการทำธุรกิจบนนวัตกรรมใหม่ เพราะไอเดียอาจดีจริง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะขายได้จริงหรือไม่
“นี่คือข้อเสียเปรียบของไทย เพราะการที่มีคนเก่งด้านเทคโนโลยีจำนวนน้อย การ Take Risk หรือยอมเสี่ยงลงทุนกับนวัตกรรมนั้น ในที่สุดอาจเหลือไอเดียที่ปังจริงๆ และอยู่รอดจำนวนน้อยเกินไป”
อีกประเด็นคือ วัฒนธรรมของไทย ที่คนมักให้คะแนนที่ “ความสำเร็จ หากทำอะไรแล้วจะต้องสำเร็จตลอด ถ้าไม่สำเร็จจะถูกตราหน้าว่า “คนนี้ใช้ไม่ได้”
“ในความเป็นจริง ทุกคนอยากให้ไอเดียและเทคโนโลยีใหม่ๆ ประสบความสำเร็จ แต่การจะก้าวกระโดดจากเล็กๆ ไปใหญ่แบบเฟซบุ๊ก (Facebook) เมตา (Meta) และกูเกิล (Google) จะต้องกล้าเสี่ยง มีคนกล้าเดิมพันกับธุรกิจดังกล่าว พร้อมให้เงินคนหนุ่มสาวเหล่านี้ไปสร้างสิ่งที่แหวกแนว และพุ่งไปให้สุด…แต่ถ้าเรามีคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้น้อย และถ้าไม่มีคนกล้าพอจะเดิมพันตอนที่ธุรกิจเปรียบเสมือนยังเป็นเมล็ดอยู่ เราจะหวังให้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ได้อย่างไร?”
ดร.ณภัทรมองว่า การทำธุรกิจเทคโนโลยีแบบนี้จะต้อง “เร็ว” และ “ไปสุด” เพื่อเป็นผู้ชนะในนวัตกรรม ดังนั้น ในเมื่อสภาพแวดล้อมของไทยเป็นแบบที่กล่าวไป จึงได้ผลลัพธ์อย่างที่เห็นกันอยู่ คือ ไทยมีสตาร์ทอัพที่ยังอยู่รอดไม่กี่ราย และยังก็ยังไม่มีใครรู้ว่า…จะมีสักกี่รายที่จะไปถึงฝั่งฝัน…
นี่ยังไม่รวมถึงประเด็นที่ว่าไทยเป็น “ตลาดขนาดเล็ก” โดยเฉพาะด้านตลาดเทคโนโลยี ที่ไทยเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น Digitize จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า “หากเริ่มสร้างนวัตกรรมในไทย และจะขายในตลาดไทยก่อน จะมีลูกค้าเยอะไหม?”
ดร.ณภัทรตอบได้ทันทีจากประสบการณ์ของตัวเองคือ “ยาก!” พร้อมแนะนำว่า หากคิดจะเอามันสมองระดับโลกมาสร้างนวัตกรรมในระดับเดียวกับที่มีในสหรัฐอเมริกา อาจต้องสร้างและขายในตลาดอื่นก่อน…
ถึงจุดนี้ คงพูดได้ว่า ไทยไม่ได้ขาดทรัพยากรบุคคลหรือไอเดีย เพราะในความเป็นจริงไทยมีคนและไอเดียมาก แต่มีปัญหาเรื่องการสนับสนุนธุรกิจในช่วงเริ่มต้น หรือเปรียบได้กับการรดน้ำต้นไม้ช่วงเป็นต้นกล้า ส่งผลให้ธุรกิจเกิดขึ้นไป แต่เติบโตไปไม่สุด!
“ถ้าสตาร์ทอัพรอดหมดจะเป็นเรื่องแปลก เพราะโดยปกติสตาร์ทอัพจะไม่ค่อยรอด แต่จะเหลือไม่กี่รายที่ไปต่อได้ ไทยเองมีปัญหาเรื่อง Scale Up สตาร์ทอัพจากระดับ Seed Stage ไปเป็นระดับธุรกิจในตลาดทุน เช่น mai และ SET”
เมื่อพูดต่อถึงวัฒนธรรมแบบไทยๆ สไตล์การทำงานของคนไทยก็เป็นอีกประเด็นที่ส่งผลให้คนไทย “เก่งเดี่ยว” แต่ “ไม่เก่งทีม” ซึ่งปัญหาวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันส่งผลกระทบต่อทั้งการทำธุรกิจ และอีกหลายเรื่องที่ใหญ่และสำคัญกว่านั้น เช่น การออกนโยบายใหม่ การตัดสินใจส่งเสริมหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งล้วนมีผลต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าอย่างมั่นคงและมั่งคั่ง
“ปัญหาวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมคือจุดอ่อนของประเทศไทย คนไทยไม่ค่อยเก่งในการแก้ปัญหาส่วนรวมพร้อมๆ กัน โดยปัญหาหลายอย่างในประเทศไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม สาธารณสุข หรืออื่นๆ นั้น รากของปัญหามักเกิดจากขาดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน (Ownership) และการมีเจ้าภาพเยอะเกินไป เช่น ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานและผู้คุมกฎระเบียบมีหลายหน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบ”
[Next] พลังของ “ทุนมนุษย์”
“ทุนมนุษย์” คือ ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไปอีกระดับ ต้องกำหนดให้ “การพัฒนาทุนมนุษย์” เป็นนโยบายหลักของประเทศ เพราะตอนนี้ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการมีไอเดียน้อยลง และจำนวนประชากรและแรงงานน้อยลง ดังนั้นต้องทำให้คน “มีจำนวนมากขึ้น” และ “คุณภาพดีขึ้น”
ปลดล็อกเศรษฐกิจไทยด้วย AI
ดร.ณภัทรเชื่อว่า การใช้ AI อย่างถูกวิธีจะช่วยแก้ปัญหาของประเทศไทยได้มาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไทยจะขาดแคลนแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ ขาด “มันสมอง” อีกทั้งยังเผชิญกับปัญหา “สมองไหล” อีกต่างหาก
ทางออกก็คือ องค์กรจะต้องมี “พนักงานเสมือนคน” มากขึ้น
“หลายคนกลัวระบบอัตโนมัติ (Automation) ผมอยากบอกว่าไม่ต้องกลัว ยังไงมันก็มาแน่ๆ แต่จะมากระทบงานรูทีน (Routine) หรืองานประจำที่ทำซ้ำๆ เป็นขั้นเป็นตอน งานที่ไม่เหนื่อยสมอง ดังนั้น สิ่งที่ควรโฟกัสคือ ทำอย่างไรให้นำ AI มาเติมในส่วนที่ขาดคนมากกว่า”
ขณะเดียวกัน การนำ AI มาช่วยทำงานจะช่วยให้องค์กรเดินสู่เป้าหมายบางอย่างได้ง่ายขึ้น เช่น บทบาทของ AI ในการสร้างภาพหรือดีไซน์ แต่เดิมไม่คิดว่า AI จะทำได้ แต่ปัจจุบัน AI สามารถทำได้ โดยคนส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกได้ว่าจริงหรือปลอม แสดงว่า AI สามารถช่วยงานได้เยอะมาก และไม่มีขอบเขตจำกัด ดังนั้นขึ้นอยู่กับว่า จะใช้อย่างไรให้ถูกวิธี เกิดผลกำไรมากขึ้น และไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับยุคนี้
และแน่นอนว่า การใช้ประโยชน์ AI ย่อมเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละองค์กร ที่ต้องถามตัวเองว่าเข้าใจ AI อย่างแท้จริงหรือไม่ โดยปัจจุบัน สามารถนำ AI มาช่วยงานได้หลายด้าน เช่น การคาดการณ์อนาคต การคาดการณ์ดีมานด์สินค้า การตรวจจับความผิดปกติต่างๆ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพ (Efficiency) การทำงานของบริษัทในประเทศไทยสูงขึ้น จากปัจจุบัน บริษัทในไทยอาจดำเนินงานได้ต่ำกว่าประสิทธิภาพที่ควรจะเป็น แต่ยังมีโอกาสเพิ่มประสิทธิภาพได้อีกมาก ด้วยการลดคนทำงาน Routine
“สำหรับงาน Routine งานที่ต้องทำตามขั้นตอน ทำซ้ำๆ ถ้าเอา AI มาช่วยได้ และทำถูกวิธี จะช่วยปลดภาระของคน เปิดโอกาสให้คนไทยมีแรงเหลือไปขวนขวายพัฒนาตัวเองได้นอกรั้วโรงเรียน ถ้าองค์กรพยายามบังคับ (Force) ให้พนักงานได้เรียนรู้สิ่งที่ควรจะเรียนผ่านการทำงานรูปแบบใหม่ เช่น ผ่าน AI จะทำให้คนใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
AI แก้ได้ทุกปัญหา?
หลายคนหลายองค์กรคิดว่าสามารถนำ AI ไปช่วยแก้ทุกปัญหาได้…ซึ่งในความเป็นจริง อาจใช้ได้จริง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า “ใช้อย่างไร?”
ดร.ณภัทรอธิบายว่า AI ช่วยแก้ปัญหาได้จริง แต่หากเป็นปัญหาโลกแตกหรือโจทย์มหาหิน การหวังจะโยนให้ AI แก้ปัญหาด้วยการกดปุ่มแค่ครั้งเดียวให้ AI generate และคิดว่าจะแก้ปัญหาได้หมดจดแน่นอนนั้น…เป็นไปไม่ได้!
“วิธีที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาใหญ่คือ ซอยปัญหาให้เล็กลง”
โดย ดร.ณภัทรอธิบายว่า หลังจากซอยปัญหาใหญ่ให้เป็นปัญหาย่อยๆ แล้ว ก็ต้องพิจารณาว่า จะสามารถนำ AI ไปช่วยแก้ปัญหาตรงส่วนไหนได้บ้าง ซึ่งหากทำแบบนี้ จะสามารถทุ่นแรงคนได้ และเป็นประโยชน์มาก
“เมื่อซอยปัญหาใหญ่เป็นปัญหาเล็กๆ จะทำให้เห็นว่า จุดไหนควรใช้ ‘คน’ ทำ และจุดไหนควรใช้ ‘AI’ แต่สุดท้าย คนจะต้องเป็นผู้อนุมัติอยู่ดี คนจะต้องรับผิดชอบ AI เสมือน AI เป็นลูกทีมคนหนึ่ง และจะต้องรับผิดชอบ ถ้าลูกทีมทำพลาด”
นับ 1 สร้าง Positioning ไทยในยุค AI
มี 3 สิ่งตั้งต้นที่ต้องทำเพื่อสร้าง “จุดยืนที่แข็งแกร่ง” ให้กับประเทศไทยในยุค AI ได้แก่ การวัดผลนโยบายที่เกี่ยวกับคน การต่อยอดการพัฒนา AI และการขยายธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้น (Scale Up) ผ่านตลาดทุน
อย่างแรก คือ ต้องวัดผลนโยบายที่เกี่ยวกับคนให้ได้ โดยหลักๆ คือ นโยบายของกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข เพราะนี่คือหัวใจหลักของการเติบโตในช่วง 10-30 ปีข้างหน้า ซึ่งหากไทยวัดผลจุดนี้ไม่ได้ ดร.ณภัทรรับรองว่า “พินาศ” แน่ ดังนั้นจะต้องวัดผลนโยบายของ 3 หน่วยงานข้างต้นอย่างมีระบบระเบียบ และมีสถิติ การันตีว่า “ทำแล้วคุ้ม!”
ต่อมาต้องต่อยอดการพัฒนา AI ดร.ณภัทรเห็นว่า ตอนนี้หากไทยคิดจะผลิต AI ของตัวเองเพื่อสู้กับต่างชาติ น่าจะ “แข่งยาก” เพราะต่างชาติทุ่มลงทุนกับเรื่องนี้มานานหลายสิบปี จนสามารถยืนหยัดเป็น “ผู้นำ” มาได้ตลอด ก่อนที่คนจะรู้ว่า “AI” คืออะไรเสียอีก
เมื่อแข่งขันในฐานะผู้ให้กำเนิดไม่ได้ก็ควรเลือก “สู้” ด้วยชั้นโปรแกรมประยุกต์ (Application Layer) เช่น พัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่คนอื่นพัฒนาไว้แล้ว
นอกจากนี้ ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับ AI ก็เป็นสิ่งที่เชื่อว่า คนไทยเก่งมากพอที่จะต่อยอดทำได้ และมีพื้นฐานประสบการณ์ในหลายอุตสาหกรรมมาแล้ว เช่น การผลิตฮาร์ดดิสก์ และยานยนต์ไฟฟ้า ขณะที่อุตสาหกรรมด้าน AI มีอนาคตอีกยาวไกล และต้องการโครงสร้างสนับสนุนมากมาย เช่น ด้านดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) และฮาร์ดแวร์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับดาต้าเซ็นเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นสายไฟ แผงวงจรต่างๆ ระบบระบายความร้อนให้คอมพิวเตอร์ด้วยของเหลว (Liquid Cooling) ซึ่งจะต้องมีการอัปเกรด และจะมีความต้องการสินค้าด้านอีกจำนวนมหาศาลในอนาคต
“ไทยควรพิจารณาและเล็งให้ดีว่าจะสร้างหรือดึงดูดเงินทุนเข้ามาจุดไหนบ้าง ควรจะจับจองพื้นที่ตรงไหนใน AI Infrastructure ซึ่งการทำแบบนี้จะเสี่ยงน้อยกว่า อย่าไปเล่นเกมที่เขาชนะไปนานแล้ว”
นอกจากนี้ หากต้องการผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างแท้จริง ต้องการ Scale Up ธุรกิจในระดับชาติก็จะต้องเชื่อมโยงไปสู่การเข้าตลาดทุนเพื่อระดมทุนต่อไป
เทคโนโลยี AI กับการพัฒนาตลาดทุนไทย
ในเมื่อ “ตลาดทุน” คือ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วย Scale Up ธุรกิจเทคโนโลยีไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ การเสริมศักยภาพของตลาดทุนไทยจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสามารถนำ AI มาช่วยได้เช่นกัน
“หน้าที่สำคัญที่สุดของตลาดทุนไทย คือ Facilitate ช่วยจัดการทุนให้ไปถูกที่ สร้างผลตอบแทนดีที่สุดสำหรับทุกคน รวมถึงสังคม และประเทศชาติ… หากเปรียบทุนว่าเหมือนกับน้ำ ไม่ว่าจะมาจากไหนก็ตาม หวังว่าจะเป็นการรดน้ำกับสิ่งที่ควรจะถูกรด เพื่อให้เติบโตขึ้นมา และสร้างการเติบโตจริงๆ ให้กับเศรษฐกิจไทย”
ในการพัฒนาตลาดทุนไทยนั้น สามารถทำได้หลายด้าน เช่น การอำนวยความสะดวกให้บริษัทเข้ามาใช้ประโยชน์จากการระดมทุนมากขึ้น และสามารถนำ AI มาช่วยในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทได้
เมื่อมีบริษัทดีๆ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดทุนแล้ว จุดสำคัญคือ ต้องทำให้มั่นใจว่ามีการเปิดเผยข้อมูลที่ดี การซื้อขายมีความถูกต้องและเป็นไปตามกติกาที่วางไว้ ซึ่งจุดนี้ มีบางคนตั้งคำถามว่า สามารถนำ AI มาช่วยเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและยุติธรรม (Fair) ได้หรือไม่?
ในประเด็นนี้ ดร.ณภัทร มองว่า ปัจจุบัน ตลาดทุนมีกฎกติกาอยู่แล้ว แต่อาจมีคนบางกลุ่มที่ไม่เล่นตามกฎ หรือมองเห็นช่องโหว่บางอย่าง ทั้งนี้ การนำ AI มาช่วยงาน จะต้องกำหนดชัดเจนว่าจะใช้ตรงไหนจึงพอดีเหมาะสม และจุดไหนควรต้องใช้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ
จะรอดอย่างไร? ในยุค AI เปลี่ยนโลก
ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันอาจทำให้หลายคนรู้สึก “จิตตก” และ “หมดหวัง” แต่ ดร.ณภัทรฝากย้ำหนักแน่นถึงคนทุก Generation ว่า…ประเทศไทยยังไปต่อได้!
เหตุที่ทำให้คิดแบบนั้นก็เพราะได้เห็นว่า คนไทยหลายต่อหลายคนที่เคยอยู่ต่างประเทศตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตในประเทศไทย เพราะเห็นว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยมีศักยภาพ เพียงแต่ยังไม่ถูกปลดล็อกในจุดที่ควรจะปลดล็อก!
โดย ดร.ณภัทร มองว่า การแข่งขันในปัจจุบันและอนาคต ไทยต้องไม่ใช้การทำนโยบายส่งเสริมเชิงอุตสาหกรรม (Industrial Policy) เหมือนสมัยก่อน ที่ภาครัฐต้องประชุมและอัดฉีดภาคธุรกิจ ทว่ายุคนี้อาจต้องให้อิสระให้ผู้ประกอบการกล้าคิด กล้าทำ และงัดเอาศักยภาพที่ตัวเองมีมาขาย
ขณะเดียวกัน หากเปรียบสถานการณ์ประเทศไทยเหมือนการลงทุน…และถามว่า ณ จุดนี้ ประเทศไทยดิ่งสุดหรือยัง? ก็อยากให้มองในลักษณะว่ามีโอกาสทะยานขึ้น (Upside) สูงมาก เพราะไทยก็ร่วงลงมาขนาดนี้แล้ว! ในฐานะคนที่ทำธุรกิจดิจิทัล ดร.ณภัทรเชื่อว่า ถ้าองค์กรใช้ระบบอัตโนมัติ (Automate) ได้ซักครึ่ง หรือเปลี่ยนลักษณะการทำงานให้ดีขึ้น ก็จะต้องมีผลประกอบการดีขึ้นอย่างแน่นอน หากตลาดไม่ได้วายไปหมดเสียก่อน
และที่สำคัญคือ ในช่วงเวลาแห่งความท้าทายแบบนี้ สิ่งที่ทุกคนควรทำคือ ให้มองจุดนี้เป็น “โอกาส” และ “ต้องอดทน”
“ตอนนี้หลายคนอาจจิตตกมาก เพราะทุกอย่างดูยากไปหมด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า มันก็ยากจริง แต่สิ่งสำคัญคือ ความอดทน เพราะเวลาที่เราอดทน เราจะมีโอกาสมากกว่าคนที่ไม่อดทน และเมื่อถึงวันหนึ่งก็จะถึงจุดที่เราจะใช้โอกาสนั้น แต่ถ้าเราถอดใจเสียก่อน เมื่อสุดท้ายทุกอย่างมันเด้งขึ้นมา เราก็จะเสียโอกาสไป…
และต้องถามด้วยว่า เมื่อถึงวันที่เรามีโอกาสจะ “ช้อน” เรายังมี “ช้อน” เหลือหรือเปล่า หรือหักไปหมดแล้ว?”
บทสัมภาษณ์ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ ViaLink และ Siametrics Consulting
สัมภาษณ์โดย เฟิร์น ศิรัถยา อิศรภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวลธ์ มี อัพ จำกัด