×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

เด็กเกิดน้อย วิกฤตใหญ่โลก!

545

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Youtube | Facebook | TikTokInstagramLine 

 

…‘เด็กเกิดน้อย’ วิกฤตมากแค่ไหน?

 

…อะไร? เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ‘คนรุ่นใหม่’ ไม่อยากมีลูก

 

…ประเทศไทย จะรับมือกับวิกฤตนี้อย่างไร?

 

ภายในปี  2100 เด็กเกิดใหม่ทั่วโลกจะต่ำเกินเยียวยา

ผลวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ The Lancet (เดอะแลนซิต) เมื่อต้นปีนี้ ระบุว่า ประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะมีอัตราการเจริญพันธุ์ไม่สูงมากเพียงพอที่จะรักษาจำนวนประชากรเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ได้ในปี 2100 โดยทีมนักวิจัยนำโดย University of Washington’s Institute for Health Metrics and Evaluation ในสหรัฐฯ พบว่า ประเทศทั่วโลกประมาณ 75% จะมีอัตราการเจริญพันธุ์ไม่สูงมากพอที่จะรักษาขนาดประชากรไว้ได้ในปี 2050 และภายในปี 2100 เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่เป็นแบบนี้จะสูงถึง 97% เลยทีเดียว โดยคาดว่า อัตราการเจริญพันธุ์รวมทั่วโลกจะลดจาก 2.3 ในปี 2021 หรือหมายถึงว่า ผู้หญิงหนึ่งคนจะมีลูกเฉลี่ยประมาณ 2.3 คน เหลือ 1.68 ในปี 2050 และ 1.57 ในปี 2100

 

ทว่าหากประเทศพัฒนาแล้วต้องการรักษาจำนวนประชากรให้ทรงตัวไว้ได้ จะต้องมีอัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 2.1 หรือผู้หญิงคนหนึ่งควรมีลูกเฉลี่ยประมาณ 2.1 คน

 

การคาดการณ์ดังกล่าวไม่ได้ต่างจากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติมากนัก เพราะ UN คาดการณ์ว่า อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกจะลดเหลือ 2.1 ภายในปี 2050 และประเมินว่า ประชากรโลกจะพุ่งสู่ระดับสูงสุดที่ประมาณ 10,400 ล้านคนในทศวรรษ 2080 และจะทรงตัวในระดับดังกล่าวไปจนถึงปี 2100

 

ผลวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ The Lancet (เดอะแลนซิต) ยังระบุด้วยว่า ภายในปี 2100 จะมีเพียง 6 ประเทศในโลกที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกสูงพอที่จะรักษาระดับจำนวนประชากรไว้ได้ หรือสูงกว่าระดับ 2.1 คือ ซามัว, โซมาเลีย, ตองกา, ไนเจอร์, ชาด และทาจิกิสถาน

 

วิกฤตเด็กเกิดน้อยในเอเชีย

“เกาหลีใต้” ครองแชมป์โลกอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำติดต่อมานานกว่าครึ่งทศวรรษ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเกาหลีใต้ระบุว่า ปีที่แล้ว จำนวนเด็กเกิดเฉลี่ย สำหรับหญิงเกาหลีใต้หนึ่งคนตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์ทำสถิติต่ำสุดใหม่ที่ 0.72 จากระดับ 0.78 ในปี 2022 ซึ่งถือว่าต่ำมากจากระดับ 2.1 ที่ควรจะเป็นเมื่อรักษาระดับจำนวนประชากรไว้ 

 

ตั้งแต่ปี 2018 เกาหลีใต้เป็นประเทศเดียวในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่า 1 ทำให้ต้องทุ่มงบมหาศาลเพื่อพยายามปรับทิศเทรนด์คนเกิดน้อย ซึ่งส่งผลให้จำนวนประชากรของประเทศลดลงสี่ปีติดต่อกันในปี 2023

 

วิกฤตประชากรของเกาหลีใต้กลายเป็นความเสี่ยงสูงสุดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศและระบบสวัสดิการสังคม และคาดกันว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ประชากรเกาหลีใต้จะลดเหลือแค่ครึ่งหนึ่งภายในสิ้นศตวรรษนี้ จากระดับ 51 ล้านคนในปัจจุบัน

เพื่อนบ้านใกล้กันอย่าง “ญี่ปุ่น” ก็เจอวิกฤตประชากรหนักหน่วงเช่นกัน เมื่อปีที่ผ่านมา อัตราการเจริญพันธุ์ทำสถิติต่ำสุดใหม่ที่ระดับ 1.2 และเป็นการลดลง 8 ปีติดต่อกัน ยิ่งตอกย้ำว่าประเด็นนี้คือความท้าทายสำคัญของประเทศสังคมคนสูงวัยสูงสุดในโลก

 

ญี่ปุ่นมีปัญหาการเกิดน้อยสวนทางกับยอดคนเสียชีวิตที่พุ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยปีที่แล้ว มีเด็กเกิดใหม่ 727,277 คน ลดลง 5.6% จากปี 2022 แต่มีคนเสียชีวิตเพิ่มเป็นเกือบ 1.58 ล้านคน หมายความว่า ญี่ปุ่นมีประชากรลดลงกว่า 840,000 คน หรือลดลงติดต่อกัน 17 ปี 

 

ยอดเด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยยอดต่ำกว่าล้านเมื่อปี 2016 และต่อมาในปี 2022 ก็มียอดเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 800,000 คน

 

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นถือว่าเป็นสังคมสูงวัยที่สุดของโลก โดยคนญี่ปุ่นทุกๆ 10 คน จะมีมากกว่า 1 คนที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป ข้อมูลทางการญี่ปุ่นระบุว่า จากประชากร 125 ล้านคน ตอนนี้ประมาณ 29.1% มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

 

สถานการณ์โครงสร้างประชากรแบบนี้ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่นสูงขึ้น และยิ่งดันภาระหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นตามไปด้วย หรือสูงถึง 255% ของ GDP และการขาดคนหนุ่มสาวก็ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ถึงขนาดที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเคยกล่าว ประเทศเสี่ยงที่จะทำอะไรต่อมิอะไรตามปกติไม่ได้ หากไร้มาตรการแบบแรงๆ เพื่อแก้ปัญหา

ส่วน “ไทย” เคยมีเด็กเกิดใหม่ปีละไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน ยิ่งยุคบูมหนักอย่างปี 1971 มีอัตราการเกิดสูงสุดถึง 1.2 ล้านคน แต่อัตราการเจริญพันธุ์กลับลดลงเรื่อยๆ

 

ปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในปี 2021 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าคนเสียชีวิต หรือเกิดใหม่ 544,570 คน และมีคนเสียชีวิต 550,042 คน ซึ่งสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้มาจนถึงปีที่ผ่านมา

 

หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป คงไม่สามารถเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ได้ และไม่สามารถทำให้ให้จำนวนคนเสียชีวิตน้อยกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ได้ และนั่นจะทำให้ประเทศไทยมีประชากรลดเหลือแค่ 33 ล้านคนในปี 2083

เมื่อดูโครงสร้างประชากรไทย จะเห็นว่า จำนวนเด็กและแรงงานจะลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับจำนวนประชากรสูงวัยที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า ไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ หรือมีผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรในปี 2023 และในปี 2033 จะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด หรือมีผู้สูงอายุมากกว่า 28% ของประเทศ จากนั้นในปี 2040 จะมีผู้สูงอายุคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด

 

ทำไม? คนมีลูกน้อยลง

 

โดยทั่วไปแล้ว อัตราการเจริญพันธุ์จะลดลง เมื่อประเทศนั้นๆ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจดี และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มาตรฐานการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นทำให้อัตราการตายของเด็กและทารกลดลง ทำให้พ่อแม่คาดหวังว่าลูกจะรอดชีวิตและโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป จึงทำให้มีลูกน้อยลง  เมื่อเศรษฐกิจโตก็มักจะเปิดโอกาสทางการศึกษามากขึ้นไปด้วย ผู้หญิงในสังคมแบบนี้อาจเลือกที่จะเป็นโสด ไม่แต่งงาน และไม่มีลูก

 

นอกจากนี้ เมื่อประเทศมั่งคั่งขึ้น ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งก็สูงขึ้นตามไปด้วย และนี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนยุคใหม่คิดแล้วคิดอีกว่าจะมีลูกดีหรือไม่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มักจะต้องชั่งใจมากกว่า เพราะต้องมองหลายมุมเพื่อบาลานซ์ชีวิตทั้งชีวิตครอบครัวและชีวิตการทำงาน, รายได้และค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงลูก รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งหากระบบต่างๆ หรือเศรษฐกิจไม่เอื้อให้ผู้หญิงมีโอกาสที่เท่าเทียมกับผู้ชายเมื่อมีลูก พวกเธอก็อาจต้องคิดหนักหากจะมีลูกซักคน 

 

เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นชัดเจนในสังคม “เกาหลีใต้” ที่ผู้หญิงบอกว่า พวกเธอมักรู้สึกถูกกดดันให้ต้องเลือกระหว่างหน้าที่การงานหรือครอบครัว และทำให้ตอนนี้มีผู้หญิงมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เลือกไม่แต่งงาน

 

สำหรับ “คนไทย” ต้องเจอกับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องภาระค่าใช้จ่าย, ปัญหาสังคม, การอยากก้าวหน้าในอาชีพ, อยากมีชีวิตที่อิสระ และความหลากหลายทางเพศ ทำให้ลดความสำคัญเรื่องการมีลูกลง 

 

หลายประเทศทุ่มเงินมหาศาล เพื่อแก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย 

 

วิกฤตประชากรทำให้ผู้นำของหลายประเทศพยายามคิดหามาตรการเชิงรุก ทุ่มเงินมหาศาลในโครงการต่างๆ ที่เชื่อว่าจะสามารถโน้มน้าวใจให้สาวๆ อยากเป็นคุณแม่กันมากขึ้น

 

  • เกาหลีใต้

 

ออกหลายนโยบายเพื่อจูงใจให้ผู้หญิงมีลูกมากขึ้น รวมถึงแจกเงินสดให้ครอบครัว ซึ่งในโครงการนี้ เด็กๆ ที่เกิดตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมาจะได้โบนัสเงินสด 2 ล้านวอน หรือประมาณ 53,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายช่วยเหลือพ่อแม่ นอกจากนี้ยังมีเงินอุดหนุนเพิ่มทุกเดือนจนเด็กอายุ 1 ขวบ 

 

นอกจากนี้ ก็ยังมีมาตรการอื่นๆ ช่วยแบ่งเบาภาระคุณแม่ เช่น บริการรับเลี้ยงเด็กฟรี, จ่ายเงินอุดหนุนแม่ระหว่างลาคลอดเลี้ยงลูก และกิจกรรมนัดบอดเพื่อพยายามจับคู่ให้หนุ่มสาวอีกต่างหาก

 

ล่าสุด ผู้นำเกาหลีใต้ยังประกาศด้วยว่า มีแผนจะตั้งกระทรวงใหม่เพื่อแก้วิกฤตสำคัญของประเทศคือการมีอัตราการเกิดต่ำนั่นเอง

 

ขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้ออกมาตรการจูงใจเพื่อให้ประชากรมีลูกมากขึ้น บริษัทเอกชนก็เลือกจะสนับสนุนพนักงานของพวกเขาด้วยเงินสดจำนวนมากเช่นกัน 

 

อย่าง โบยังกรุ๊ป (Booyoung Group) บริษัทด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้มอบเงินจำนวน 100 ล้านวอน หรือราว  2.6 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนพนักงานในการเลี้ยงดูบุตรต่อคน ซึ่งนโยบายนี้จะบังคับใช้สำหรับเด็กที่เกิดนับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป ปัจจุบันมีพนักงานของโบยังกรุ๊ป ทั้งหมด 66 คน ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการดังกล่าว รวมเป็นเงิน 7,000 ล้านวอน หรือราว 188 ล้านบาท

 

โพสโค (POSCO) บริษัทในอุตสาหกรรมเหล็ก มีนโยบายให้เงินสนับสนุนพนักงานที่คลอดบุตรมูลค่า 3 ล้านวอน หรือราว 80,000 บาท และยังให้เงินอีก 5 ล้านวอน หรือราว 134,000 บาท สำหรับลูกคนที่สอง

 

ขณะที่บริษัทรายอื่นๆ ทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ เช่น ฮุนได และ กลุ่มลอตเต้ ต่างก็มีนโยบายสนับสนุนการมีลูกเช่นเดียวกัน

 

ความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตนับเป็นเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้คนเกาหลีใต้มีลูกน้อยลง ด้วยเหตุนี้บริษัทเอกชนจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยดึงให้อัตราการเกิดปรับสูงขึ้น

 

  • ญี่ปุ่น

 

ก็ใช้มาตรการคล้ายๆ กับเกาหลีใต้เพื่อกระตุ้นให้สามีภรรยามีลูก และมองว่าปัญหาอัตราการเกิดต่ำเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข มีการออกนโยบายหลายอย่างเพื่อช่วยลดภาระพ่อแม่ เช่น การเพิ่มบริการดูแลเด็ก, การสร้างสถานที่ให้เด็กๆ ได้ไปเล่นและใช้ชีวิต, การสร้างสังคมที่ทำให้คนรู้สึกมีความหวังเกี่ยวกับการแต่งงาน มีลูก และเลี้ยงดูลูกให้เติบโต

 

เมื่อเดือนมิถุนายน 67 นี้ รัฐสภาญี่ปุ่นอนุมัติกฎหมายใหม่ เพิ่มสวัสดิการสำหรับเด็ก และเพิ่มวันลาเพื่อเลี้ยงดูลูกด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการมีลูก เช่น การฝากไข่ และกรุงโตเกียวเตรียมออกแอปพลิเคชันหาคู่ เพื่อกระตุ้นให้คนมีครอบครัว

 

  • ไทย

 

กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้การมีลูกเป็น 1 ใน 12 นโยบายสำคัญเร่งด่วน คือ การส่งเสริมการมีลูก การสร้างสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระเลี้ยงดูลูก ช่วยเหลือคนมีลูกยาก และจะต้องแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะการมีลูกยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

 

ส่วนในมุมของคุณแม่ชาวไทยบางคนก็บอกว่า หากรัฐบาลต้องการเพิ่มอัตราการเกิดและอยากให้คนมีลูกก็ต้องมีการสนับสนุนมากกว่านี้ เพราะการเลี้ยงเด็กหนึ่งคนมีค่าใช้จ่ายมาก โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา

 

ถอดบทเรียน ‘สวีเดน’ มาตรการที่เร่งการเกิดได้

 

แม้รัฐบาลของหลายๆ ประเทศจะพยายามผลักดันและทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะเพิ่มอัตราการเกิดแต่อาจจะไม่ได้เห็นผลมากมายนัก เราลองมาดูตัวอย่างนโยบายในบางประเทศ อย่างเช่น “สวีเดน” ที่เขาสามารถเพิ่มอัตราการเกิดได้สำเร็จ 

 

มาตรการที่ว่านั้นก็คือ การให้ค่าตอบแทนกับพ่อแม่ที่มีลูกอายุใกล้กันและใช้เวลาเลี้ยงดูลูกได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะให้ค่าตอบแทนในวันหยุดกับพ่อแม่ที่มีลูกแล้วและมีลูกคนต่อไปภายใน 30 เดือน ซึ่งทำให้อัตราการเจริญพันธุ์เพิ่มจาก 1.61 เป็นจาก 2.14 ในปี 1990

 

จากนั้นเมื่อปี 2000 สวีเดนก็เจอปัญหาเด็กเกิดน้อยอีกเพราะเศรษฐกิจ สวีเดนจึงออกนโยบายให้พ่อแม่ลาหยุดงานได้ยืดหยุ่นมากขึ้นจนลูกอายุ 12 ปี และอนุญาตให้ทำงานจากบ้านได้ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูลูกลดลง และมีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้น จนปี 2022 อัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.84 นอกจากนี้ ก็ยังเปิดรับผู้อพยพเข้าประเทศ ช่วยให้สวีเดนมีประชากรเพิ่มขึ้นด้วย

 

แม้การรับมือวิกฤตเด็กเกิดน้อยของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไปตามปริบททางสังคมและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ แต่ที่แน่ๆ ทุกประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ ต่างก็ตระหนักและพร้อมที่จะงัดทุกมาตรการมาใช้ เพราะถ้าหากไม่เร่งกู้วิกฤติเด็กเกิดน้อย มันก็จะเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอวันเขย่าเศรษฐกิจของทั้งโลกอย่างแน่นอน

 

#WealthMeUp

 

Related Stories

amazon anti fatigue mats