4O+ ยังไม่สายเริ่มวางแผนเกษียณอย่างมั่นใจ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
“เคยรู้สึกกังวลบ้างหรือไม่ว่าเริ่มวางแผนเกษียณช้าเกินไป” หลายคนมักคิดเช่นนั้นเมื่อก้าวเข้าสู่วัย 40
ความจริงที่น่าสนใจ คือ หลายครอบครัวในปัจจุบันพึ่งพารายได้จากคนๆ เดียว ซึ่งต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูสมาชิกทั้งครอบครัว หากไม่มีการพูดคุยและวางแผนร่วมกัน เงินที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาอาจหมดไปกับการดูแลครอบครัว จนไม่เหลือพอสำหรับวัยเกษียณของตัวเอง
แต่อย่าเพิ่งท้อ แม้จะเริ่มช้า ก็ยังไปถึงเป้าหมายได้ เพียงแต่ต้องเพิ่มความพยายามในการศึกษาและวางแผนการลงทุนให้รอบคอบมากขึ้น ที่สำคัญ คือ ต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนในสิ่งที่ไม่เข้าใจ เพราะนั่นอาจเสี่ยงยิ่งกว่าการเริ่มต้นช้า
“ลงทุนนิยม เกษียณสุข The Series” สัมภาษณ์คุณนิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ นักวางแผนการเงิน CFP® จะพาไปเรียนรู้ 6 ขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้วางแผนเกษียณได้อย่างมั่นใจ แม้จะเริ่มต้นในวัย 40+ ก็สามารถมีเงินเพียงพอ สำหรับชีวิตหลังเกษียณที่ใฝ่ฝัน
ทำไมคนส่วนใหญ่เริ่มคิดเรื่องเกษียณตอนอายุ 40?
การวางแผนเกษียณในวัย 40+ เป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เช่น 40% ของคนอเมริกันเริ่มวางแผนเกษียณอย่างจริงจังเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งคุณนิภาพันธ์ อธิบายว่ามีสาเหตุหลัก 2 ประการ
1. มักคิดว่าเรื่องเกษียณอายุเป็นเรื่องที่ไกลตัว
ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ วัย 20 ปีต้นๆ เมื่อให้คิดถึงการเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี ซึ่งมีเวลาอีกประมาณ 30-40 ปี ก็มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว นอกจากนี้ ช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงานมีทั้งความฝัน ความต้องการและความปรารถนามากมาย บ้างอยากมีบ้านหลังแรก อยากมีรถคันแรก เดินทางท่องเที่ยว บางคนกำลังวางแผนสร้างครอบครัวและต้องการเก็บเงินเพื่อการศึกษาของลูก ทำให้การวางแผนเกษียณจึงกลายเป็นเรื่องของ “วันพรุ่งนี้” ไปโดยปริยาย
2. เรื่องของรายได้และรายจ่าย “ไม่สมดุลกัน”
โดยในช่วงต้นของชีวิตการทำงานที่รายได้ยังน้อย แต่กลับมีค่าใช้จ่ายมากมาย ทำให้แทบไม่เหลือเงินเก็บ “เมื่อเงินออมเหลือน้อย จึงไม่ได้นึกถึงเรื่องการวางแผนเพื่อเกษียณ” คุณนิภาพันธ์ บอก
พูดง่ายๆ เมื่อไม่มีเงินเหลือพอที่จะเก็บ การวางแผนเกษียณจึงกลายเป็นเรื่องที่ถูกผลักไปอยู่ท้ายๆ ของลำดับความสำคัญ ด้วยความคิดที่ว่า “เดี๋ยวค่อยเก็บ ตอนนี้ขอใช้ก่อน” จนกระทั่งอายุล่วงเลยเข้าสู่วัย 40 จึงเริ่มตระหนักว่าถึงเวลาต้องวางแผนเกษียณอย่างจริงจังเสียที เหมือนกับที่ Morgan Stanley รายงานว่า 64% ของคนกลุ่ม Millennials ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันมากกว่าการเก็บเงินเพื่ออนาคต แต่สิ่งสำคัญ คือ การตระหนักว่าไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเริ่มต้น เพียงแต่ต้องวางแผนอย่างรอบคอบมากขึ้น
ทันหรือไม่? เริ่มวางแผนเกษียณตอนอายุ 40+
“ไม่มีคำว่าสายเกินไป ทุกคนเริ่มต้นวางแผนเกษียณได้เมื่อไหร่ก็ได้ แต่หากยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์กับเรามากเท่านั้น” คุณนิภาพันธ์ ย้ำชัดถึงการวางแผนเกษียณ เปรียบเหมือนการปลูกต้นไม้ ยิ่งปลูกเร็วยิ่งได้เห็นผลเร็ว แต่ถึงจะเริ่มปลูกช้า ต้นไม้ก็ยังเติบโตได้ เพียงแต่ต้องดูแลเอาใจใส่มากขึ้น ไม่มีคำว่าสายเกินไป เริ่มเมื่อไหร่ได้ก็ให้เริ่มทันที ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ก็เริ่มต้นได้เสมอ
หากมองอีกมุมหนึ่ง แทนที่จะรอให้ถึงจุดที่ต้องเร่งวิ่งไล่ตามความฝันวัยเกษียณ ก็สามารถเริ่มก้าวเล็กๆ ได้ตั้งแต่วันนี้ เช่น แทนที่จะคิดว่า “เกษียณยังอีกนาน” ลองมองว่าทุกวันที่ผ่านไป คือ โอกาสที่จะสร้างความมั่นคง พลังของดอกเบี้ยทบต้นทำให้เงินเพียงวันละ 100 บาท เติบโตเป็นหลักล้านบาทได้ในระยะยาว หรือแทนที่จะกังวลว่า “รายได้น้อย เก็บไม่ได้” ลองเริ่มจากการจัดสรรรายได้แบบ 50/30/20 คือ 50% สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น 30% สำหรับความสุขส่วนตัว และ 20% สำหรับการออมและลงทุน
ตามข้อมูลจาก Vanguard พบว่าการเริ่มออมเงิน 10% ของรายได้ตั้งแต่อายุ 25 ปี จะทำให้มีโอกาสเกษียณสบายมากกว่าการเริ่มออม 20% ที่อายุ 45 ปี เพราะได้ประโยชน์จากการลงทุนระยะยาวและดอกเบี้ยทบต้น
6 ขั้นตอนวางแผนเกษียณอย่างมั่นใจ สำหรับคนวัย 40+
ขั้นตอนที่ 1 : กำหนดอายุเกษียณและอายุขัย
เริ่มจากการกำหนดกรอบเวลาที่ถูกต้อง เหมือนการวางแผนเดินทางที่ต้องรู้ว่าเราจะเดินทางนานแค่ไหน โดยพิจารณาจากสถิติอายุขัยทั่วไป ซึ่งปัจจุบันผู้หญิงไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 85 ปี ส่วนผู้ชายประมาณ 78–80 ปี แต่ปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันคือ พันธุกรรมในครอบครัว โดยสำรวจประวัติครอบครัวเช่น เป็นผู้หญิงและมีคุณย่า คุณยายที่อายุยืนถึง 95 ปี ก็ควรวางแผนการเงินให้ครอบคลุมถึงอายุ 90 ปีขึ้นไป เพราะมีแนวโน้มสูงที่คนรุ่นถัดมาจะมีอายุยืนยาวเช่นกัน
ขั้นตอนที่ 2 : เงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณ
ควรมีเงินใช้หลังเกษียณประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายสุดท้ายหรือเงินเดือนสุดท้าย และต้องคำนึงถึงผลกระทบของเงินเฟ้อที่จะทำให้ค่าของเงินลดลงเรื่อยๆ เช่น ปัจจุบันมีเงินเดือนเท่ากับ 50,000 บาท แล้วก็ประเมินว่าในเดือนสุดท้ายที่เกษียณจะมีเงินเดือนอยู่ที่เท่าไหร่ จากนั้นก็นำ 70% มาคำนวณ หรืออาจะประเมินจากค่าใช้จ่ายปัจจุบันก็ได้ แล้วบวกของเงินเฟ้อ
คุณนิภาพันธ์ ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ที่หมายถึงภาวะที่ข้าวของราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อำนาจซื้อของเงินลดลง เช่น ปัจจุบันใช้จ่ายเดือนละ 30,000 บาท ด้วยผลของเงินเฟ้ออีก 20 ปีข้างหน้า เงินจำนวน 30,000 บาทอาจจะด้อยค่าลง (ซื้อข้าวของก็ไม่ได้เท่าวันนนี้) จึงต้องมีเงินมากขึ้น
“เพราะทุกๆ 20 ปี เงินที่ต้องมีจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เช่น ปัจจุบันค่าใช้จ่ายเดือนละ 30,000 บาท อีก 20 ปีข้างหน้าจะต้องมีประมาณเดือนละ 60,000 บาท (ปีละ 720,000 บาท) จากนั้นก็ประเมินว่าหลังเกษียณจะมีชีวิตไปอีกกี่ปี สมมติว่ามีอายุไปอีก 20 ปี ก็จะต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณประมาณ 14.4 ล้านบาท (720,000 คูณ 20) ซี่งเป็นจำนวนเงินที่ต้องมีสำหรับการเกษียณ”
ขั้นตอนที่ 3 : สำรวจเงินออมและเงินลงทุน
การประเมินความพร้อมทางการเงินเริ่มจากการสำรวจเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน แล้วคำนวณว่าเงินก้อนนี้จะเติบโตเป็นเท่าไหร่เมื่อถึงวันเกษียณ เช่น ตอนนี้มีเงินเก็บ 3 ล้านบาท หากนำไปลงทุนเมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี เงินก้อนนี้อาจโตเป็นประมาณ 6 ล้านบาท แต่จากที่คำนวณไว้ว่าต้องใช้เงินหลังเกษียณถึง 14.4 ล้านบาท หมายความว่ายังขาดอีก 8.4 ล้านบาท จึงต้องมาวางแผนว่าจะต้องเก็บออมและลงทุนเพิ่มเติมอย่างไร เพื่อให้มีเงินครบตามเป้าหมายภายในระยะเวลา 20 ปีที่เหลือ
ขั้นตอนที่ 4 : คำนวณหาส่วนต่างที่เงินยังไม่ครบ
เมื่อรู้ตัวเลขเป้าหมายและสิ่งที่มีอยู่ ขั้นตอนต่อไป คือ การคำนวณส่วนต่าง เช่น หากต้องการเงิน 14.4 ล้านบาท แต่คาดว่าเงินที่มีอยู่จะเติบโตเป็น 6 ล้านบาท แสดงว่ายังขาดอีก 8.4 ล้านบาท
ขั้นตอนที่ 5 : วางแผนการออมและลงทุน
นำตัวเลขส่วนต่างมาวางแผนว่าจะต้องออมและลงทุนเพิ่มเท่าไหร่ต่อเดือน และต้องได้ผลตอบแทนเท่าไหร่จึงจะไปถึงเป้าหมาย
ขั้นตอนที่ 6 : ปรึกษานักวางแผนการเงิน
เมื่อการเก็บออมและลงทุนไม่เป็นไปตามแผน หรือรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเลขที่คำนวณไว้ สามารถปรึกษานักวางแผนการเงินมืออาชีพ ที่จะช่วยวิเคราะห์สถานการณ์และให้คำแนะนำที่เหมาะสม หรือใช้เครื่องมือคำนวณเงินเกษียณออนไลน์ เพียงกรอกข้อมูลพื้นฐาน เช่น อายุปัจจุบัน อายุที่ต้องการเกษียณ อายุขัย เงินออมที่มี และเป้าหมายทางการเงิน เครื่องมือจะช่วยประเมินว่าคุณต้องออมและลงทุนอย่างไรเพื่อให้ถึงเป้าหมาย
การจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ
การวางแผนการลงทุนสำหรับวัยเกษียณเปรียบเหมือนการจัดกระเป๋าเดินทางไกล ต้องแยกของใช้จำเป็นกับของใช้เสริมออกจากกัน คุณนิภาพันธ์แนะนำให้แบ่งพอร์ตการลงทุนออกเป็น 2 ส่วนตามลักษณะค่าใช้จ่าย
– ส่วนแรก คือ พอร์ตเพื่อความจำเป็นพื้นฐาน สำหรับค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่ารักษาพยาบาล พอร์ตนี้ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ “เช่น ประกันสะสมทรัพย์ที่ครบสัญญาแล้วได้เงินก้อนคืนมาแน่ๆ ประกันชีวิตแบบบำนาญที่เมื่ออายุครบ 60 ปี มีการกำหนดเงินบำนาญที่จ่ายให้แน่นอนหรือการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ที่เป็นระดับที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ที่จ่ายดอกเบี้ยสม่ำเสมอ”
– ส่วนที่สอง คือ พอร์ตเพื่อความสุข สำหรับกิจกรรมที่อยากทำในวัยเกษียณ เช่น ท่องเที่ยว งานอดิเรก หรือสังสรรค์กับเพื่อนฝูง พอร์ตนี้สามารถรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น โดยลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูง เช่น กองทุนรวมหุ้นหรือกองทุนรวมต่างประเทศ เพราะหากเกิดความผันผวน ก็ไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวัน
บทสรุป … การวางแผนเกษียณเหมือนการปลูกต้นไม้ ยิ่งปลูกเร็ว รากก็ยิ่งแข็งแรง แตกกิ่งก้านสาขามากมาย แต่ถึงแม้จะเริ่มปลูกช้า ต้นไม้ก็ยังเติบโตได้ เพียงแต่ต้องดูแลเอาใจใส่มากขึ้น ที่สำคัญ คือ ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ เพราะทุกวันที่ผ่านไป คือ โอกาสที่จะสร้างความมั่นคงให้ชีวิตวัยเกษียณ ด้วยการวางแผนที่รอบคอบและการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถมีชีวิตหลังเกษียณที่มั่นคงและมีความสุขได้