×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

การคลังไทย จุดแข็ง-จุดอ่อน-จุดตาย?

405

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Youtube | Facebook | TikTokInstagramLine 

 

“เรามีส่วนได้ ส่วนเสีย ชี้เป้าได้ เราก็เป็นลิงที่เปิดหู เปิดตา เปิดปาก ในบทบาทที่ทุกคนอยู่ได้”

 

ภาคการคลังเคยเป็น ‘จุดแข็ง’ ของไทยที่เคยสร้างแต้มต่อให้เศรษฐกิจไทยอยู่เหนือประเทศในระดับเดียวกัน แต่ทุกวันนี้ ภาคการคลังกำลังเป็น ‘จุดอ่อน’ และอาจกลายเป็น ‘จุดตาย’ ได้

 

Wealth Me Up เชิญ ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) มาแลกเปลี่ยนมุมมอง และชี้เป้าว่า นโยบายสาธารณะ ฐานะทางการคลังของประเทศ การหารายได้ และบริหารรายจ่ายของรัฐบาลไม่ใช่เรื่อง ‘ไกลตัว’ แต่เป็นเรื่อง ‘ใกล้ตัว’ ที่ทุกคนต้องให้ความสนใจ และสามารถ ‘ชี้เป้า’ ให้รัฐบาลทำสิ่งที่ควรทำได้ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าท่ามกลางความท้าทายในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

ทำไมต้องเข้าใจ…นโยบายสาธารณะ?

 

นโยบายสาธารณะ คือ นโยบายที่ทำเพื่อสาธารณะ รัฐบาลเป็นเจ้าภาพทำนโยบายที่ดูเหมือนไม่ได้ผลกำไร แต่ว่าเป็นสวัสดิการของประชาชน โดยโครงการต่างๆ ที่รัฐดำเนินการจะต้องใช้เงิน ซึ่งวิธีการหาเงินของรัฐมี 2 วิธี คือ รายได้จากการเก็บภาษี และการกู้ 

 

ดร.ฐิติมาอธิบายว่า ประชาชนเกี่ยวข้องในแง่ที่ว่าเป็นผู้เสียภาษีให้รัฐ โดยประชาชนทำงานและเสียภาษีเงิน ขณะเดียวกัน การไปซื้อของต่างๆ ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 

 

ภาษีจากการทำงานและการบริโภค เราส่งให้รัฐ เพื่อจะมาทำนโยบายสาธารณะให้เรา เพราะฉะนั้น เราจะต้องสนใจ

 

ส่วนในอีกแง่หนึ่ง หากรัฐมีรายได้จากภาษีไม่เพียงพอก็จะต้องขอกู้โดยการออกพันธบัตรต่างๆ 

 

คนที่อุดหนุนรัฐบาลก็เป็นประชาชน ธุรกิจ สถาบันการเงินต่างๆ เพราะฉะนั้นเหมือนกับว่า นอกจากเราจะเป็นคนจ่ายเงินให้รัฐทำนโยบายให้เราแล้ว เราก็ยังเป็นเจ้าหนี้ผ่านการซื้อพันธบัตรด้วย ดังนั้นจึงคิดว่า (นโยบายสาธารณะ) เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก เงินทุกบาททุกสตางค์มันกลับมาหาเราแบบไหน เราน่าจะสนใจ

——————————

“นอกจากเราจ่ายเงินให้รัฐทำนโยบายให้เราแล้ว เราก็เป็นเจ้าหนี้ผ่านการซื้อพันธบัตรด้วย ดังนั้นนโยบายสาธารณะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก เงินทุกบาททุกสตางค์มันกลับมาหาเราแบบไหน เราน่าจะสนใจ”

——————————

แม้ว่านโยบายสาธารณะจะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่คนแทบจะไม่ค่อยให้ความสำคัญนัก ดร.ฐิติมาอธิบายในประเด็นนี้ว่า บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว บางครั้งเสียภาษีไปก็ไม่รู้ว่ากลับมาหาในแง่ไหนบ้าง ทั้งที่ในความเป็นจริง ทุกอย่างกลับมาหาประชาชนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการสุขภาพ 30 รักษาทุกโรค การศึกษา ถนนหนทางต่างๆ

 

นโยบายสาธารณะ กับ ‘ความคุ้มค่า’

 

เมื่อพูดถึงนโยบายสาธารณะในแง่ของความคุ้มค่า ดร.ฐิติมามองว่า ต้องคิดถึงเหมือนการใช้เงินในกระเป๋า 

 

ถ้าเราจ่ายไปแล้ว เรารู้สึกว่ามันได้ผล อยู่ยาว จ่ายน้อย ได้เยอะ แถมจ่ายน้อยแล้วได้ดอกผลยาวๆ เราก็รู้สึกว่า มันคุ้ม ไม่ใช่จ่ายไปแล้ว มันหายไปเลย ซึ่งนโยบายรัฐก็เหมือนกัน คือ ทำนโยบายรัฐแล้วมันเห็นผลสั้น หรือเห็นผลยาวกับเศรษฐกิจ

 

ดร.ฐิติมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าเหมือนกับรัฐบาลเอาเงินไปปลูกต้นไม้ ถ้าปลูกเป็นพืชล้มลุก เกิดผลแป๊บเดียว เก็บกินแล้วก็เหี่ยวเฉาตายไปแล้ว แต่หากรัฐบาลเอาเงินไปปลูกต้นทุเรียน หรือไม้ยืนต้น มันอาจจะออกดอก ออกผลช้าหน่อย แต่มันเก็บเกี่ยวได้ผลประโยชน์กับเศรษฐกิจได้ยาว เงิน 1 บาทที่รัฐเก็บภาษีจากประชาชนไป มันเกิดผลเป็นดอกผล เป็นพืชล้มลุกหรือเป็นทุเรียนก็จะเป็นสิ่งที่บอกได้ว่า มันคุ้มค่าหรือเปล่า

 

ดร.ฐิติมาอธิบายต่อว่า ต้องดูว่าเศรษฐกิจเติบโตจากการที่รัฐดำเนินนโยบายได้ยาวแค่ไหน ถ้าทำนโยบายแล้วเห็นผลแค่ช่วงนั้น ก็ชัดเจนว่าเหมือนกับพืชล้มลุก แต่หากมีผลทำให้เกิดการเติบโตต่อเนื่องได้ยาว ก็แสดงว่ามีลักษณะเป็นทุเรียน

 

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่จ่ายภาษีอาจจะไม่รู้ว่ารัฐคิดอย่างไรกับการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ แม้ว่าประชาชนจะคาดหวังว่า รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเพื่อทำนโยบายทั้งเร่งด่วน กลาง และยาว แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยชัดเจนว่า มีการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีไปดำเนินการนโยบายทั้ง 3 ระยะอย่างไรบ้าง

 

ดร.ฐิติมามองว่า นโยบายระยะสั้น กลาง และยาว ต่างก็มีความสำคัญทั้งสิ้น แต่ความสำคัญจะอยู่ในระดับไหนและจะจัดสรรงบประมาณลงไปกับนโยบายไหนในช่วงนั้นๆ ก็ขึ้นอยู่กับ ‘วัฏจักรเศรษฐกิจ’ 

 

ช่วง Covid ระบาด เงินทุกบาททุกสตางค์ต้องคิดถึงการช่วยสภาพคล่องของคน ช่วยฟื้นฟูให้คนที่ไม่มีงานทำ มีรายได้ใช้ไปก่อน ตอนนั้นอารมณ์จะมาคิดถึงเรื่องยาวก็คงไม่ได้ 1 บาทก็อาจจะต้องไปทุ่มให้กับเรื่องสั้นมากหน่อย แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ก็ต้องกลับมาให้น้ำหนักกับนโยบายกลางและยาวมากขึ้น และลดน้ำหนักของนโยบายสั้นลง

 

‘วินัยการคลัง’ ของไทย ไม่เข้มแข็งเหมือนเดิม

 

ในสถานการณ์ที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทยสูงขึ้น มีการขยายเพดานวินัยการเงินการคลังจาก 60% เป็น 70% ซึ่งหากไม่ขยาย หนี้สาธารณะจะต้องทะลุเพดานอย่างแน่นอน ดร.ฐิติมาแสดงความคิดเห็นว่า ประชาชนผู้เสียภาษีอาจมองว่า วินัยการคลังอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากคิดดีๆ การที่รัฐบาลต้องการทำนโยบายต่างๆ แต่มีรายได้จากการเก็บภาษีไม่เพียงพอกับรายจ่าย ก็มีการกู้มากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีเงินไปคืน จึงไม่มีการคืนเงินต้นเท่าไหร่ แต่มีการกู้พอกขึ้นไปเรื่อยๆ

 

ประชาชนเป็นเจ้าหนี้ของรัฐด้วย เพราะว่าหนี้สาธารณะประมาณ 98-99% เป็นการกู้เงินในประเทศเป็นเงินบาท และประมาณ 70% ถือโดยสถาบันการเงิน หรือว่าภาคธุรกิจต่างๆ และประชาชน เพราะฉะนั้นเหมือนกับว่า เราก็เป็นเจ้าหนี้ ดังนั้นจึงต้องสนใจว่า ลูกหนี้มีความเสี่ยงแค่ไหน เหมือนเราไปซื้อพันธบัตร เราก็ต้องมั่นใจว่าลูกหนี้คนนี้มีความสามารถที่จะคืนเงินเราได้ในอนาคต ดังนั้น เรื่องหนี้สาธารณะที่ดูสูงขึ้นเรื่อยๆ กับความสามารถว่ารัฐบาลจะจ่ายได้หรือเปล่าเป็นเรื่องที่ประชาชนอาจจะต้องสนใจ

 

เช็กสุขภาพลูกหนี้ (รัฐบาล)

 

เมื่อให้ประเมินสถานะของลูกหนี้ (รัฐบาล) ดร.ฐิติมาบอกว่า หากมองช่วงหลัง Covid เป็นต้นมา สิ่งแรกที่มองเห็นคือ

 

  • ลูกหนี้มีฐานะ ‘แย่ลง’

 

เราเห็นรายได้รายจ่ายเขา เรารู้ว่ารายได้รายจ่ายไม่ค่อยสมดุลมานานแล้ว เพราะว่าเขาขาดดุลมาเรื่อยๆ แต่สิ่งที่เป็นสัญญาณคือ รายได้ต่อ GDP ลดลงไปเรื่อยๆ จากเดิม 15-16% ตอนนี้เหลืออยู่ที่ประมาณ 14% กว่าๆ ในขณะที่ฝั่งรายได้ก็สวนทาง โดยมากกว่ารายได้ประมาณ 3-4% ตอนนี้เพิ่มขึ้นไปเกือบ 5% ของ GDP”

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ลูกหนี้มีรายได้ไม่พอรายจ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งลูกหนี้ได้พูดถึงแผนปฏิรูปการคลังมานาน ด้วยการเพิ่มรายได้ หรือการปฏิรูปภาษี หรือลดรายได้ แต่ก็พบว่าการปฏิรูปการคลังไม่สำเร็จ สะท้อนให้เห็นจากส่วนต่างระหว่างรายได้และรายจ่ายที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ

 

อย่างไรก็ตาม ถือว่าลูกหนี้คนนี้หมุนเงินเก่ง เพราะมีเงินมาจ่ายดอกเบี้ยได้ครบทุกงวด ส่งผลให้รู้สึกว่าแม้ไม่มีเงินจ่ายคืนเงินต้นก็ไม่เป็นไร หากยังสามารถหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยได้ หรือหากครบกำหนดชำระเงินต้นก็สามารถจะกู้มาคืนเงินต้นได้ เหมือน Rollover สามารถออกพันธบัตรชุดใหม่มาจำหน่าย และมีคนยินดีจะซื้อพันธบัตร เป็นเจ้าหนี้ให้รัฐ เพราะมีความเชื่อว่าลูกหนี้มีความสามารถในอนาคตที่จะทำรายได้มากขึ้น และจะมาคืนหนี้

 

  • ลูกหนี้มีวินัยการคลัง ‘หย่อน’ 

 

เนื่องจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลมีช่องทางนำเงินจากหน่วยงานรัฐต่างๆ มาดำเนินนโยบายต่างๆ ก่อน ซึ่งเรียกว่า ‘นโยบายกึ่งการคลัง’

 

สมมติว่ารัฐบาลมีเงินงบประมาณปีละเท่านี้ แต่อยากทำนโยบายมากกว่านี้ ก็จะให้หน่วยงาน เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีเงินอยู่ในตัว ไปทำนโยบายก่อน ตึ๊งเอาไว้ ขึ้นบัญชีเอาไว้ ถึงเวลาค่อยมาคืน การทำแบบนี้เมื่อก่อนมีช่องโหว่ค่อนข้างมาก สามารถทำในแต่ละปีไม่มีข้อจำกัด เช่น โครงการจำนำข้าวสามารถไปถึงหลักหลายแสนล้านบาทได้ โดยที่ไม่อยู่ในหนี้สาธารณะ ซึ่งตอนนั้นมีการทำ พ... วินัยการเงินการคลังของรัฐขึ้นมา เพื่อออกมาตรา 28 เพื่อคุมว่าแต่ละปี รัฐบาลจะทำโครงการแบบนี้ได้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณ

 

ทั้งนี้ ในช่วง Covid ระบาด มีการผ่อนเกณฑ์ดังกล่าว โดยขยับเพดานจาก 30% เป็น 35% ของงบประมาณ ขณะที่เพดานของหนี้สาธารณะมีการผ่อนผันจาก 60% ของ GDP เป็น 70% ของ GDP

 

นอกจากนี้ ในความเป็นจริง ยังมีอีกเกณฑ์หนึ่งที่แม้ไม่ใช่เกณฑ์ทางการคลังที่อยู่ในกฎหมาย แต่รัฐบาลได้ใช้มาตลอด คือ พยายามคุมระดับการขาดดุลการคลังปกติไม่เกิน 3% ของ GDP และหลังจากช่วง Covid ก็ไม่สามารถทำตามเกณฑ์ดังกล่าวได้ โดยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ -4.5% และประเมินว่า ในปีงบประมาณถัดไปจะไม่ได้ต่ำกว่าในปีงบประมาณ 2567 เพราะว่ามีการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งจะขาดดุลอีกประมาณ -4% กว่าๆ

 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า กฎเกณฑ์การคลังที่ดีถูกผ่อน และมีลักษณะว่าผ่อนแล้วผ่อนเลย เพราะไม่มีการพูดว่า เพดาน 70% จะกลับมาที่ 60% ได้เมื่อไหร่ หรือเพดานตามมาตรา 28 ที่ขึ้นไปที่ 35% ยุครัฐบาลคุณประยุทธ์ (จันทร์โอชา) มีการเอาลงมาเหลือ 32% ในช่วงปี 2565 แต่ก็ยังไม่กลับไปที่ 30% คือมีความพยายามกดลงมา แต่ยังไปไม่ถึงที่เดิม ก็จะเห็นว่า วินัยดูหย่อนๆ

 

นอกจากวินัยในการก่อหนี้ใหม่แล้ว ก็ยังมีวินัยอื่นๆ เช่น วินัยการคืนหนี้ของมาตรา 28 ที่ให้หน่วยงานรัฐต่างๆ ทำโครงการให้ ซึ่งปัจจุบัน ดร.ฐิติมาประเมินว่า ยอดรอเช็กบิลน่าจะเกิน 1 ล้านล้านบาท 

 

หนี้สาธารณะประมาณ 11 ล้านล้านบาท แต่ยอดหนี้ที่ค้างอยู่มีประมาณ 1 ล้านล้านบาท ถ้าคิดไวๆ คือ ประมาณ 10% และยังไม่ได้นับอยู่ในหนี้สาธารณะ เพราะฉะนั้นจะมี (หนี้) อีกก้อนที่รัฐบาลยังซ่อนๆ อยู่ ยังไม่เห็นในหนี้สาธารณะ และแต่ละปี หน่วยงานรัฐไม่รู้เลยว่ารัฐบาลจะคืนเขาเมื่อไหร่ ล่าสุดเราก็ได้ยินข่าวว่า เหมือนเขาจะคืนให้ แต่พอถึงเวลาก็ถูกตัดงบ

 

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าวินัยของรัฐบาลเริ่มหย่อน และล่าสุดยังมีข่าวว่า มีการใช้เงินคงคลังบางส่วนในการใช้จ่ายกับงบที่ตั้งไว้ไม่พอ

 

ความเชื่อมั่นเจ้าหนี้ต่อ ‘รัฐบาล’ ในฐานะลูกหนี้

 

ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าเจ้าหนี้ยังคงไว้ใจและมั่นใจในรัฐบาล ส่งผลให้การระดมทุนหรือขอกู้ทุกครั้งของลูกหนี้ที่ชื่อว่า ‘รัฐบาล’ ปิดยอดได้เร็วเสมอ ดร.ฐิติมาอธิบายในประเด็นนี้ว่า ในแง่ของข้อมูลความยั่งยืนของลูกหนี้นั้น เจ้าหนี้ก็อยู่กับความเชื่อมั่นว่า ลูกหนี้นำเงินเพื่อดำเนินนโยบาย ซึ่งจะกลับมาทำให้เศรษฐกิจเติบโต 

 

เราเชื่อว่า การที่รัฐบาลขอกู้จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาโตได้เกิน 5% และเราจะเก็บรายได้ (ภาษี) ได้เยอะ และจะกดให้เพดานหนี้ตกลง เราอยู่กับความเชื่อ (Trust) และความโลกสวยตลอดเวลาว่ามันจะเกิดขึ้นอย่างนั้น แต่เรายังไม่คิดถึงว่า ถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เรายังไม่คิดถึงจุดนั้น ก็เลยคิดว่าเรื่องราวต่างๆ จะยังคงเป็นไปได้เรื่อยๆ เพดานอาจจะขยับขึ้นได้ หรืออยู่ๆ เอาเงินไปทำแล้ว GDP จะโตขึ้น 5% ได้

 

ปัจจุบันสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของต่างประเทศ เช่น Fitch Ratings และ S&P ได้ส่งสัญญาณเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลังของประเทศไทยมาบ้าง 

 

ซึ่ง ดร.ฐิติมาบอกว่า “Credit Raters พวกนี้เสียงดังค่อนข้างมาก เพราะว่าเป็นเกณฑ์สากลที่เขาใช้กับทุกคน และในปีที่แล้ว (2566) ทุกเจ้าใหญ่ๆ พูดชัดว่าของไทยยังคงอันดับเหมือนเดิมอยู่ เช่น ของ Fitch เรายังได้ BBB+ และเป็นมุมมอง Stable อยู่

 

อย่างไรก็ตาม Fitch Ratings ระบุว่า ไทยมี Rating Sensitive อยู่ 2 เรื่อง โดยเรื่องแรกคือ ความสามารถในการควบคุมระดับหนี้ภาครัฐ ซึ่งต้องมองไปข้างหน้าว่า รัฐบาลสามารถจะควบคุมหนี้ของตัวเองได้หรือไม่

 

เขามองว่า 2 เหตุการณ์ที่อาจจะทำให้ควบคุมไม่ได้  เช่น 1. รายจ่ายเยอะมาก และ 2. คือ เศรษฐกิจไม่ค่อยโตทำให้ไม่สามารถควบคุมสัดส่วนได้

 

สำหรับ Rating Sensitive เรื่องที่ 2 คือ เรื่องเชิงโครงสร้างของประเทศ โดยมีประเด็นของความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง

 

“Rating เราปรับขึ้นปรับลงก็เพราะเรื่องการเมืองค่อนข้างเยอะ เขาก็บอกว่า ถ้ามีเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองที่กระทบกับประสิทธิภาพการทำนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ก็อาจจะเป็นเหตุผลนึงที่อาจทำให้เขาปรับลด (Credit Rating) ได้ ซึ่งอันนี้เขาลิงค์กับ Governance ของประเทศด้วย โดย Fitch บอกชัดว่า จะดูดัชนีธรรมาภิบาลของประเทศไทย ซึ่งทำโดย World Bank ซึ่งเป็นเกณฑ์สากล

 

ดร.ฐิติมาอธิบายต่อว่า เมื่อเทียบกับประเทศในระดับเดียวกันถือว่าไทยมี Governance ค่อนข้างต่ำ ซึ่ง Fitch คาดหวังว่า World Bank จะจัดอันดับไทยให้ดีขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม หลังจาก Fitch ประกาศคงมุมมองประเทศไทยเมื่อปลายปี 2566 ทาง Fitch ได้ออกรายงานสั้นๆ เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า ประเทศไทยน่าจะดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องได้  เพราะรัฐบาลสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง แต่ก็ยังระบุว่า ไทยก็ยังมี Rating Sensitive 2 เรื่องอยู่ 

 

“Fitch มองว่าทั้ง 2 เรื่องน่าจะมีความอ่อนด้อยลงด้วย เพราะเรื่องความยั่งยืนทางการคลังนั้นเห็นชัดว่า ปัจจุบัน (ปี 2567) เมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2566 โดยเรามีแผนการคลังระยะปานกลางที่ออกมาช่วงพฤษภาคม 2567 ก็จะเห็นว่าหนี้สาธารณะยกขึ้นกว่าปลายปีที่แล้ว (ปี 2566) และทิศทางที่ยกขึ้นมาจากสัดส่วนที่คำนวณจากเศรษฐกิจที่โตดีด้วย ปีนี้คุยกันว่าเศรษฐกิจโตไม่ถึง 3% ถ้ารัฐบาลไม่มากระตุ้น อาจจะ 2% กว่าๆ เท่านั้นเอง

 

ดร.ฐิติมาอธิบายว่า ในอดีต ไทยเคยเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าวมาแล้ว โดยประมาณปี 2552 ซึ่งมีเหตุการณ์ทางการเมือง โดย Fitch เป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายเดียวที่ปรับอันดับความน่าเชื่อถือเพราะเหตุผลทางการเมือง โดยปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยจากระดับ BBB+ เหลือ BBB

 

หลังจากประเทศถูกปรับลดอันดับ ต่อมาก็มีการปรับลดความน่าเชื่อถือสถาบันการเงินที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐทันที ซึ่งมี 4 เจ้า ส่วนสถาบันการเงินเอกชนจะดูเป็นเคสๆ ไปว่ามีความพึ่งพา หรือ Systemic Support จากรัฐแค่ไหน ซึ่งแต่ละเจ้าจะพึ่งพารัฐไม่เท่ากัน ตอนนั้นเข้าใจว่าโดนไป 4 ราย ส่วนใหญ่จะยังไม่โดน ตอนนั้นเข้าใจว่า Fitch มีการปรับ Country Rating ลงด้วย ซึ่งเหมือนเป็น Base ให้กับทุกการกู้ยืมของธุรกิจเอกชนทุกเจ้าที่อิงอยู่ก็จะโดนไปด้วย

 

‘ต้นตอ’ ปัญหาวินัยการคลังของไทย

 

ดร.ฐิติมาบอกว่า หากมองดีๆ ลูกหนี้ (รัฐบาล) ก็ไม่ใช่คนเดิม ซึ่งแตกต่างจากการเป็นหนี้ของคนทั่วไป

 

สำหรับคนทั่วไป เรากู้วันนี้ วันหน้ามันก็ยังเป็นเราที่เป็นคนคืนหนี้ แต่ด้วยความเป็นรัฐบาลของไทยที่มีลักษณะไม่ค่อยอยู่ยาวเท่าไหร่ รัฐบาลที่กู้ในวันนี้อาจไม่ใช่รัฐบาลที่ต้องมาทำหน้าที่ปฏิรูปการคลังเพื่อเอาเงินรายได้มาคืนหนี้ในวันหน้า เพราะฉะนั้น รัฐบาลของไทยจะมีลักษณะที่กู้มาวันนี้ ทำนโยบายในวันนี้ สร้างผลประโยชน์ในวันนี้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหลายๆ คนเรียกว่าอาจจะมองสั้นค่อนข้างเยอะ เพราะเขาก็อยู่สั้นจริงๆ ก็กู้มา เอามาทำนโยบายให้เกิดดอกเกิดผลในช่วงที่เขาอยู่ อยู่ถึง 4 ปีก็ค่อนข้างเก่ง ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้งปกติ

 

ดร.ฐิติมาบอกว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นการ ‘มองสั้น’ ค่อนข้างเยอะ จึงทำให้เงินที่กู้มาแล้วใช้ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ยาวนัก ซึ่งต่างจากรัฐบาลสิงคโปร์ที่ ‘อยู่ยาว’ และมีกฎเกณฑ์การคลังบางอย่างที่น่าสนใจ

 

ในรัฐบาลยุคนึง (ของสิงคโปร์) ต้องทำงบประมาณโดยเฉลี่ยของเทอมเขาต้องสมดุล ปีไหนถ้าต้องการขาดดุล ในปีต่อๆ มาต้องคิดว่าจะต้องเกินดุลได้ยังไง เพื่อให้ตลอดเทอมมันกลับมาอยู่ที่สมดุลได้ กฎเกณฑ์แบบนี้ทำให้รู้สึกว่าต้องรับผิดรับชอบในการจะกู้ขาดดุลแต่ละปี เหมือนกับว่า กู้แล้วจะต้องหาทางกลับคืนมาให้ได้

 

ดร.ฐิติมามองว่า กรณีของสิงคโปร์เห็นชัดว่า หลังฟื้นจาก Covid ก็ประกาศปรับขึ้นภาษี ซึ่งอาจเป็นเรื่องแปลกในมุมมองของคนส่วนใหญ่

 

เราก็งงว่าทำไมกล้า ปรากฏว่าทำอย่างนี้ รายได้ก็เยอะ มีการแจกเงินได้ด้วย ก็จะเห็นว่ามันเป็นวิธี Set กฏเกณฑ์การคลังที่ไม่เหมือนกัน และมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันด้วยในการทำนโยบายสั้นและยาว

 

ช่วยลูกหนี้ให้มีความ ‘รับผิดชอบ’

 

ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้และเป็นคนให้รายได้แก่ ‘ลูกหนี้’ หรือ ‘รัฐบาล’ ดร.ฐิติมาบอกว่า ได้ช่วยเหลือลูกหนี้รายนี้มาตลอด โดยบทบาทแรก คือ ‘Help’ ก็ยังมีการให้ความช่วยเหลือต่อไป ซึ่งสามารถช่วยได้มากขึ้น

 

ตอนนี้เรารู้แล้วว่า เรื่องความยั่งยืนเป็นประเด็นที่เราต้องสนใจ เรายังคงใจดี เรายังยินดีที่จะซื้อพันธบัตร ยินดีที่จะเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลต่อ แต่สิ่งน่าจะทำมากขึ้น คือ ช่วยและต้องชี้เป้าให้รัฐบาลด้วย ถ้าใครมีบทบาทหน้าที่ ที่สามารถทำได้ สามารถมองไกลที่แตกต่างจากรัฐบาลได้ เช่น เราไม่เชื่อว่า กู้เงินมาแล้วทำนโยบายนี้จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีมาก ซึ่งเราอาจจะเห็นในช่วงที่ผ่านมา หลายคนก็ไม่เชื่อว่าจะพายุหมุนอะไรได้ขนาดนั้น ไม่เชื่อว่า 1 บาทจะสร้างได้ 3 บาท 1 บาทอาจจะเหลือแค่ 0.3 บาท จะเห็นว่าพอเริ่มมีคนทักท้วง เริ่มมีคนมองต่าง และมองหลายๆ กระแส ก็เริ่มมีผลประโยชน์เหมือนกันว่า คนที่จะทำต้องเริ่มเอ๊ะว่า มันจะได้หรือเปล่า ตอนนี้ก็เห็นว่า ก้อนใหญ่ที่จะใช้มันลดลง แต่ก็ยังเหลืออีกก้อนใหญ่กว่า ที่ต้องลุ้นกันต่อว่าจะทำยังไงกับก้อนนั้น จะเห็นการเอ๊ะมันได้ผล

 

ดร.ฐิติมาสรุปในประเด็นนี้ว่า การช่วยชี้เป้า มองต่าง และสร้างพลัง สามารถช่วยให้ลูกหนี้มีความรับผิดชอบได้มากขึ้น โดยสิ่งไหนไม่น่าทำ ก็ต้องบอกว่าอย่างเพิ่งทำ

 

การช่วยอีกอย่างคือ สิ่งที่ควรจะทำซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับเงินก้อนที่เหลือ ที่ Credit Raters มองอยู่เหมือนกันว่า ก้อนที่เหลือเหมือนเป็นจุดที่จะบอกว่า รัฐบาลเอาเงินไปทำแล้ว จะขาดดุลเยอะมาก แต่ถ้าเอาไปทำเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่โตขึ้นได้ในระยะยาว มันก็จะช่วยกดหนี้ให้ลงมาได้ อันนี้จะเป็นสิ่งที่ดีกับประเทศ อันนี้น่าจะเป็นการช่วยชี้เป้าที่น่าจะทำมากขึ้น

 

‘ชี้เป้า’ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ

 

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจระยะยาวด้วยวงเงินที่มีจำกัด ดร.ฐิติมามองว่า แผนงานที่รัฐบาลประกาศออกมาทั้งเรื่องเร่งด่วน แผนระยะปานกลาง และระยะยาว ล้วนเป็นสิ่งที่น่าทำทั้งสิ้น แต่รัฐบาลก็มีเงินจำกัด

 

โดยส่วนตัว เรื่องเร่งด่วนที่เห็นด้วยกับรัฐบาล คือแก้หนี้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือของธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ หากรัฐบาลใช้เงินที่มีไปแก้ปัญหาหนี้ คนที่ล้มแล้วสามารถลุกขึ้นมาไปทำงานอย่างอื่นได้ ก็คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ปลดปล่อยเขาจากสิ่งที่อีรุงตุงนัง ไม่รู้จะไปทางไหน เงินรัฐสามารถช่วยได้ส่วนนึงในแง่สร้าง Incentive ให้เขาสามารถคืนหนี้ได้ น่าจะดีกว่าการปลดหนี้ให้เลย เป็น Incentive ให้เขามีกำลังใจค่อยๆ คืนหนี้

 

ดร.ฐิติมาอธิบายถึง Incentive ว่า ปัจจุบันมีโครงการแก้หนี้อยู่ แต่อาจต้องมี Incentive ว่า หากตกลงแก้หนี้ได้แล้วและสามารถคืนหนี้ได้ จะได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่าง เช่น ลดหนี้เพิ่มเติม ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่รัฐอาจจะเข้ามาสนับสนุนได้

 

ประเด็นเร่งด่วนประการที่ 2 ดร.ฐิติมาเห็นว่า รัฐบาลพยายามจะช่วยกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีความตึงตัวเรื่องรายจ่าย แต่ก็คิดว่าเงินที่ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอาจจะไม่ได้ช่วยเหลือได้นาน

 

เราจะเห็นว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลวอลเล็ต มีผลแค่ตู้มเดียว อยู่ที่ว่า 10,000 บาทอยู่ได้นานแค่ไหน หลังจากนั้นจะมีรอบใหม่ก็ไม่ได้แล้ว มันต้องกลับไปเรื่องที่ว่า จะสร้างรายได้ได้ยังไง อาจจะเป็นเรื่องกลางและยาวที่รัฐบาลต้องดีไซน์ว่าเงินที่ตัวเองมีจะทำยังไงให้คนกลับมามีรายได้มากขึ้น

 

สำหรับระยะกลางและยาวนั้น ดร.ฐิติมามองว่า หากเป็นเรื่องของประชาชนคือ การหาวิธีทำให้คนมีรายได้มากขึ้น

 

จริงๆ สิ่งที่ต้องการคือ Skill ที่เขาสามารถที่จะปรับตัว เข้าตลาดแรงงานที่สามารถได้งานที่ทำรายได้ได้มากขึ้น สามารถที่จะย้ายงานได้ไปสู่งานที่ตลาดกำลังต้องการ และได้เงินเดือนสูงขึ้น ซึ่งตรงนี้รัฐบาลก็อาจจะช่วยได้ในแง่ที่ว่าคนอยากจะปรับทักษะ แต่เขาก็มีค่าใช้จ่าย สมมติเราอยากจะเปลี่ยนอาชีพไปทำงานที่ได้เงินเดือนสูง และต้องทำให้ตัวเองมี Skill นั้นก็ต้องไปเทรน แต่เวลาเทรนก็มีค่าใช้จ่าย

 

  • การลงทุนเรื่องที่ 1 คือ การลงทุนเพิ่มทักษะของแรงงาน

 

เป็นสิ่งที่เหมาะสมมาก เป็นการเพิ่มเติมจากการเรียนในระบบ ซึ่งบางทีก็ไม่รู้ว่าเป็นไปความต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่

 

  • การลงทุนเรื่องที่ 2 ที่ต้องทำคือ การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

 

หลายๆ งานศึกษาพูดตรงกันหมดว่า 1 บาทของรัฐถ้าแจกจ่ายเป็นเงินโอน 1 บาทจะหายไปได้ไม่เต็มบาทในเศรษฐกิจ เพราะมีส่วนรั่วไหล เช่น เงินโอนที่ผ่านมา 1 บาท เหลือ 0.3 บาท แต่ถ้า 1 บาทเอาไปทำโครงการลงทุน เช่น ลงทุนถนนหนทาง หรือลงทุนดิจิทัล การศึกษา สาธารณสุขต่างๆ มันจะได้มากกว่า 1 บาทมาให้กับระบบเศรษฐกิจ

 

สำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีทั้งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง เช่น Soft Power หรือดิจิทัลต่างๆ ที่อาจจะจับต้องไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่สร้างระบบให้กับประเทศ เป็นระบบกลางที่ธุรกิจเอกชนมาร่วมกันใช้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำ

 

เราอาจจะเห็นโครงสร้างพื้นฐานของ Digital Payment ของประเทศที่ภาครัฐเป็นคนทำ จะเห็นว่าพอธุรกิจเอกชนมาใช้ประโยชน์ ก็เกิด Efficiency ของประเทศ ซึ่งเป็นตัวอย่างว่า เทคโนโลยีที่รัฐควรจะลงทุนสามารถเอาเงิน 1 บาทมาลงทุนได้และเกิดผลยาว

 

  • การลงทุนเรื่องที่ 3 คือ การลงทุนใหม่ๆ 

 

ซึ่งไทยอยู่ในโลกที่เปลี่ยนไป และกำลังเร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ 

 

ถ้าต่างประเทศอยากมาลงทุนเรา ข้างในเราก็ต้องแข็งแรงด้วย ธุรกิจเราก็อยากลงทุนในประเทศด้วย ธุรกิจก็บอกว่าอยากให้รัฐเป็น Partner เป็น Public-Private Partnership ในโครงการต่างๆ อยากเห็นธงของรัฐบาลว่าอยากขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางไหน อยากให้อุตสาหกรรมไหนเป็นตัวนำ มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปทางไหน ธุรกิจจะได้ไปถูกว่า อันนี้กำลังจะมา เขาจะได้ลงทุนไปข้างหน้าได้ถูก โดยรัฐจะต้องให้ Direction และถ้าเป็นการลงทุนที่เยอะเกินไป และรัฐทำไม่ได้ก็จับมือกับเอกชน

 

ดร.ฐิติมาอธิบายว่า การทำแบบนี้จะทำให้เกิดการ Kick Start ของการลงทุนใหม่ๆ และจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ให้เศรษฐกิจได้ด้วย เพราะทุกวันนี้จะพูดกันว่าเศรษฐกิจไทยโตด้วยการท่องเที่ยว จะโตด้วยการบริโภคก็ไม่ได้ เพราะคนเป็นหนี้เยอะ เพราะฉะนั้นไทยต้องการเครื่องยนต์ใหม่ ซึ่งการลงทุนเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่นโยบายของรัฐบาลเช่นกัน ซึ่งต้องการสร้าง New Growth Engine

 

เงินที่รัฐบาลตั้งใจทำขาดดุลอยู่ สามารถปันมาทำส่วนนี้ได้ เพราะคือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ระยะยาวเหมือนกัน

 

ภาคประชาสังคมต้องเปิดหู เปิดตา เปิดปาก

 

ในส่วนของภาคประชาสังคม ดร.ฐิติมามองว่ามีพลังมาก เปรียบเทียบเหมือนกับ ‘มด’

 

ถ้าเราคิดว่าเราเป็นมดตัวเล็กๆ เราก็ไม่มีพลังเท่าไหร่ แต่ถ้ามดรวมตัวกัน สามารถยกของหนักๆ แบกไปด้วยกันได้ ภาคประชาสังคมสามารถทำหน้าที่นั้นได้เลย

 

ดร.ฐิติมาบอกว่า ทุกวันนี้คนทั่วไปอาจไม่ได้สนใจเรื่องความเสี่ยงทางการคลัง เรื่องการใช้เงินของรัฐบาลว่าจะได้ผลอย่างไร เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากคิดในมุมของการเป็น ‘เจ้าหนี้’ เป็นคนจ่ายเงินให้รัฐ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ภาคประชาสังคมก็สามารถเล่นบทบาทที่มีพลังได้เช่นกัน

——————————

“เรามีส่วนได้ ส่วนเสีย ชี้เป้าได้ เราก็เป็นลิงที่เปิดหู เปิดตา เปิดปาก ในบทบาทที่ทุกคนอยู่ได้”

——————————

ดร.ฐิติมาอธิบายต่อว่า ภาคประชาสังคมกว้างใหญ่มาก มีทั้งธุรกิจ สถาบันวิจัย Think Tank ที่อยู่ในเอกชนหรือภาครัฐ และสื่อก็สามารถทำหน้าที่ได้ รวมถึงภาคสาธารณะที่หากเปิดรับแล้ว ก็จะสามารถรับสารข้อมูลต่างๆ ได้

 

ภาคสาธารณะเป็นคนที่จะโหวตให้รัฐบาลด้วยซ้ำว่า สิ่งที่จะทำ มันควรจะทำหรือเปล่า และมีเงินทำได้แค่ไหน จะเห็นว่าบทบาทเชื่อมกันหมดเลย

 

ในส่วนของภาคเอกชนซึ่งเป็นฝ่ายขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับรัฐ ดร.ฐิติมาแนะนำว่า สามารถช่วยชี้เป้า มองสิ่งที่แตกต่างจากที่รัฐมองได้

 

เอกชนสามารถเสนอ Solution การเป็น Partner ด้วยการทำหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อให้ประเทศเติบโตขึ้น ซึ่งสามารถช่วยชี้เป้าได้ ส่วนสถาบันนโยบายต่างๆ Think Tank อาจมีความสามารถในการย่อยข้อมูลจากข้อเท็จจริง ก็อาจช่วยมอนิเตอร์ว่ารัฐบาลใช้เงินไปทำอะไร ก็สามารถให้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้

 

นอกจากนี้ ดร.ฐิติมาอธิบายถึงบทบาทของสื่อว่าจะเป็นผู้ย่อยข้อมูล และสื่อสารข้อมูลไปยังภาคสาธารณะที่จะมีข้อมูลในการตัดสินใจโหวตต่อไป

 

ส่วนสื่อก็มารับช่วงต่อว่า Think Tank มีการคิดอะไรขึ้นมา วิเคราะห์และมีผลออกมาแล้ว สื่อมีจุดแข็งคือสามารถย่อย และสื่อสารต่อได้ และมีคนที่ฟังสื่อเยอะ เพราะสื่อพูดภาษาที่คนเข้าใจได้ สุดท้ายภาคสาธารณะก็รับฟัง ภาคสาธารณะเป็น Voter ก็จะสามารถเข้าได้ว่า แต่ละครั้งที่มาหาเสียงจะใช้นโยบายเยอะขึ้นเรื่อยๆ ได้ด้วยเหรอ เอาเงินจากไหนในเมื่อตอนนี้เราคิดว่า เราถึงข้อจำกัดแล้ว

 

ดร.ฐิติมามองว่า กลไกของภาคประชาสังคมจะเข้ามาและช่วยให้เกิด Awareness ในการติดตามการทำงานของรัฐ และจะช่วยให้กลไลการติดตามวินัยการคลังของรัฐดีขึ้น 

 

ปิดจุดตาย ฐานะการคลัง?

 

——————————

“ภาคการคลังเคยเป็นจุดแข็งของไทย ถือเป็นแต้มต่อให้เศรษฐกิจไทย แต่ตอนนี้กลายเป็นจุดด้อย และกลัวว่าจะเป็นจุดตาย”

——————————

ดร.ฐิติมาชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงของการคลังและภาคการเงินมีความเชื่อมโยงกันมาก เพราะว่าในทางตรง ภาคการเงินถือตราสารของรัฐ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพคล่อง ต้นทุนการระดมทุน และระบบการเงินเชื่อมกับรัฐในแง่ของความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อภาครัฐของประเทศ

 

การที่กลัวเรื่องจุดตาย คือ การที่รัฐยังไม่มองไม่เห็นว่า ตอนนี้มาถึงจุดที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ โดยเฉพาะเรื่องการใช้งบประมาณ ตอนนี้เราเข้าสู่เดือนตุลาคม (2567) ซึ่งเป็นงบประมาณปีใหม่ (2568) แล้ว ที่ทุกคนมองว่าจะใช้เงินกระจายไปเรื่องสั้น กลาง ยาว ยังไง เพราะว่าเราพ้น Covid มาแล้ว แต่เราอาจจะยังมีอาการ Long Covid มากกว่าเพื่อนๆ ที่เขาฟื้นกันไปแล้ว แต่เราอาจจะมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้” 

 

อย่างไรก็ตาม ดร.ฐิติมามองว่า การที่จะนำเงินมา Balance การทำนโยบายสั้น กลาง ยาว เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่คิดว่าน่าจะให้ความสนใจ เพราะกลัวว่าจะกลายเป็น ‘จุดตาย’ ของประเทศ ที่ไม่เคยคิดว่าจะมาถึง แต่อาจจะมาถึงในเร็วๆ นี้

 

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ ดร.ฐิติมาคิดว่า ลูกหนี้ (รัฐบาล) สามารถจะทำได้ คือ ต้องปฏิรูปการคลังอย่างจริงจัง

 

ทราบว่ามีความตั้งใจจะทำมาโดยตลอด แต่ว่าตอนนี้คิดว่าจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ มันคงถึงช่วงเวลาที่จะต้องทำแล้ว เพราะว่ามองไปข้างหน้า รายจ่ายรัฐบาลมีแต่จะมากขึ้น เราเห็นน้ำท่วมเกิดขึ้น แสดงว่ารัฐบาลจะต้องลงทุนอะไรอีกเยอะ เพื่อที่จะบริหารจัดการน้ำ เรื่องการถ่ายเทระบายน้ำให้ได้ หรือโครงสร้างพื้นฐานทางด้านน้ำ ที่เรายังขาด”

 

นอกจากนี้ ยังมีรายจ่ายด้านอื่นๆ อีกเยอะ เช่น รายจ่ายเกี่ยวกับสังคมผู้สุงอายุ และยังไม่ได้รวมถึงรายจ่ายกับการลงทุนใหม่ๆ ที่รัฐบาลจะต้องทำเพิ่ม ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

เราอาจจะไม่ค่อยเห็นว่ารัฐบาลจะสามารถหารายได้มากขึ้นได้ยังไง เพราะว่าจำนวนคนจ่ายภาษีก็น้อยลงเรื่อยๆ ไอเดียที่รัฐบาลอยากทำ Negative Income Tax เพื่อจะขยายฐานภาษีก็เป็นไอเดียหนึ่งที่ดี แต่ก็อยากเห็นความตั้งใจหลายๆ ด้าน เพราะว่ารายได้คงจะต้องมาจากหลายทาง”

 

ดังนั้น ดร.ฐิติมาจึงคิดว่า รัฐบาลต้องทำให้เห็นว่า คนจ่ายภาษีได้ผลลัพธ์คืนกลับมาคุ้มค่ากับเงินภาษีที่จ่ายไป ซึ่งจะกลายเป็น Incentive ให้คนเข้าสู่ระบบภาษี และจะทำให้คนเติบโตขึ้นไปพร้อมกับรัฐบาลที่มีรายจ่ายมากขึ้นด้วย

 

#WealthMeUp

 

Related Stories

amazon anti fatigue mats