ความหวังประเทศไทย อยู่ตรงไหน?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
“โดยธรรมชาติของโครงสร้างเป็นของเปลี่ยนยาก แต่ถ้าไม่เปลี่ยน มันไปต่อไม่ได้ และประเทศในโลกที่ประสบความสำเร็จ พัฒนาประเทศมาได้ ต่างแก้โครงสร้างทั้งสิ้น”
หลายคนบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับ ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ส่งผลให้ไม่สามารถเติบโตราวกับติดปีกได้เหมือนในอดีต ปัญหาดังกล่าวคืออะไร และต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถปลดล็อก ‘ประเทศไทย’ ให้สามารถเดินหน้าต่อ และเป็นประเทศแห่งความหวังของผู้คนได้
“Wealth Me Up” พูดคุยกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ผู้ที่มาชี้ให้เห็น ‘ต้นตอ’ ของปัญหา และ ‘ทางออก’ ที่สามารถทำได้ทันที!
เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง…คืออะไร?
ในมุมมองของคนทั่วไป การมองว่าปีนี้เศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ดร.สมเกียรติอธิบายว่า “คนทั่วไปจะมองในระยะสั้น เช่น ตอนนี้เป็นยังไง มีงานดีๆ ไหม ค้าขายดีไหม เป็นปัญหาที่เหมือนเป็นปรากฏการณ์ที่เราเจอทุกวัน เรารู้สึกได้ แต่จริงๆ ปรากฏการณ์ที่เจอมันเกิดซ้ำอีก ปีหน้าเศรษฐกิจก็ยังไม่ดี ปีก่อนโน้นเศรษฐกิจไม่ดี แปลว่ามันต้องมีอะไรบางอย่าง แปลว่ามันไม่ใช่วัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งมันมีขึ้นมีลง แต่แปลว่าต้องมีอะไรสักอย่างร่วมกัน ซึ่งสิ่งนั้นคือโครงสร้าง เพราะฉะนั้นบางปีเศรษฐกิจอาจจะดี เช่น นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเยอะ ดูคึกคัก แต่ทำไมนักท่องเที่ยวมาเที่ยวแล้ว แต่เศรษฐกิจไม่ได้คึกคักกระจายทั่วประเทศไทย เหล่านี้คือสิ่งที่เรียกว่า โครงสร้าง”
ดร.สมเกียรติชี้ว่า ‘โครงสร้าง’ จะถูกกำหนดโดยปัจจัยพื้นฐานของประเทศ จะมีสิ่งที่สะท้อนกับปัจจัยภายนอก โดยปัจจัยภายนอกส่วนใหญ่ทำให้ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิด มีการทำการค้าและรับการลงทุนจากต่างประเทศ ได้รับผลกระทบดีไม่ดีตามต่างประเทศในระยะสั้น เช่น การเปลี่ยนผู้นำของสหรัฐฯ เป็นต้น
“เช่น ตอนนี้กำลังจะยุ่ง และอเมริกามี Trump ขึ้นมา ไทยจะเดือดร้อนหรือเปล่า นี่คือปัญหาที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับวัฏจักร แต่ถ้ากี่ปีๆ ไม่ค่อยเปลี่ยน มันเปลี่ยนช้าๆ เช่น กี่ปีๆ ทำไมเศรษฐกิจไม่ได้โตเร็วเหมือนในอดีต และหางานดีๆ ก็หาไม่ง่าย หนี้ก็ขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามันต่อเนื่องแบบนี้ยาวๆ แปลว่า มีอะไรร่วมกันอยู่ ตัวนั้นคือ ‘โครงสร้าง’”
ต้นตอปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย
ดร.สมเกียรติชี้ว่า ต้นตอหลักๆ คือ เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า เป็นผลมาจากผลิตภาพหรือความสามารถในการผลิตสิ่งต่างๆ ของคนไทยลดต่ำลง โดยการผลิตแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นคือ…
1. ปัญหาจากการลงทุน
เช่น การทำร้านอาหาร คอนโดมิเนียม และสิ่งต่างๆ ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนมีมากน้อยแค่ไหน สิ่งนี้คือ ‘ผลิตภาพ’ หรือผลตอบแทนของการลงทุน
“ลงทุนไปแล้ว เจอทุนใหญ่มาเขมือบหรือเปล่า…มีสตาร์ทอัพที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หรือเปล่า สิ่งนี้คือโครงสร้างของการลงทุน”
2. ผลิตภาพของแรงงาน
ซึ่งหมายถึงคนทำงานทุกภาคส่วน “แรงงาน เช่น ลูกจ้าง พนักงาน ผู้ประกอบการอิสระเล็กๆ เราทำแล้ว ได้ค่าจ้างดีหรือเปล่า นี่คือผลิตภาพแรงงาน ค่าจ้างสูงขึ้นตามเวลา สูงขึ้นทันเงินเฟ้อไหม ซึ่งสะท้อนตัวสำคัญ คือ ทักษะ (แรงงาน) เป็นยังไง”
ดร.สมเกียรติอธิบายว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า เนื่องจาก 1. ปัญหาที่มาจากการลงทุน 2. ปัญหาแรงงาน และหากมองในระยะยาวจะเห็นว่า คนไทยที่จะเป็นแรงงานมีจำนวนลดลง เพราะโครงสร้างประชากรไทย มีคนสูงอายุมากขึ้น มีปัญหาประชากรสูงวัย
3. ปัญหาการสร้างสิ่งใหม่ๆ
“คือใส่ทุนเข้าไปเท่าเดิม ใส่แรงงานเข้าไปเท่าเดิม บางประเทศจะได้ผลลัพธ์ออกมาเยอะขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีนวัตกรรม มีวิธีทำมาหากินแบบใหม่ ถ้าเราปรับโครงสร้างให้มันทำมาหากินง่าย ใส่ทุน ใส่แรงงานเข้าไปและได้ผลตอบแทนออกมาเยอะๆ แสดงว่าโครงสร้างมันดี”
อย่างไรก็ตาม ดร.สมเกียรติมองว่า สถานการณ์ของไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะว่าไทยสร้างของใหม่ๆ วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ไม่เยอะ
นอกจากนี้ ประเทศไทยก็ยังมีโครงสร้างที่เมื่อใส่ทุนและแรงงานเข้าไปแล้ว แต่เศรษฐกิจไม่ค่อยโต เพราะว่ามีอุปสรรค ซึ่งอุปสรรคจำนวนหนึ่งมาจากภาครัฐ มาจากรัฐบาล ซึ่งเกะกะขวางทาง ทำให้คนทำมาหากินยาก
—————————
“ไทยมีโครงสร้าง ที่ใส่ทุนและแรงงานเข้าไป แต่เศรษฐกิจไม่ค่อยโต เพราะว่ามีอุปสรรค ซึ่งจำนวนหนึ่งมาจากภาครัฐ และรัฐบาลที่เกะกะขวางทาง ทำให้คนทำมาหากินยาก”
—————————
‘ภาครัฐ’ อุปสรรคสำคัญเศรษฐกิจไทย
ปัจจุบัน ผลของปัญหาได้ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนของไทย จนกระทั่งหลายคนตั้งคำถามว่า ไทยยังมีความหวังหรือไม่ และหากเริ่มแก้ไขในวันนี้ จะทันหรือเปล่า?
ดร.สมเกียรติมองว่า ไทยจำเป็นต้องแก้ปัญหา ต้องอยู่ต่อไป และสู้ต่อไป “ถ้าเราไม่ได้จะย้ายไปไหน และยังอยากอยู่เมืองไทย ก็ต้องทำให้เมืองไทยดีขึ้นในเชิงโครงสร้าง”
ดร.สมเกียรติได้เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนว่า “หากอยากให้เศรษฐกิจไทยดี ทำมาหากินง่าย แปลว่า จะต้องไม่มองระยะสั้น เช่น บอกให้รัฐบาลเอาเงินมาแจก ให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี แต่ถ้าในตลาดแรงงานจริงพบว่า คนที่จบปริญญาตรีจำนวนมากทำงานได้เท่ากับคนจบอาชีวศึกษา คนจบอาชีวะทำงานได้เท่ากับคนจบมัธยมต้น สมมติว่าเป็นแบบนี้ ต่อให้พยายามจะบิดเบือนค่าจ้างให้สูง ก็คงเป็นไปไม่ได้ นั่นคือ การแก้ไขระยะสั้น”
ดร.สมเกียรติอธิบายต่อว่า ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาบริหารประเทศก็จะพูดถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า จะต้องให้ความสนใจว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้โครงสร้างประเทศแข็งแรง
“เปรียบเทียบได้ว่า ถ้าเราสุขภาพไม่ดี พักผ่อนไม่พอ อัดกาแฟ อัดยาโด๊บ ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนเข้าไป ทำให้ดูคึกคักแป๊บนึง นั่นคือการกระตุ้น แต่ถ้าเป็นในเชิงโครงสร้างคือ ทำอย่างไรให้สุขภาพดีต่อเนื่อง เช่น ออกกำลังกายทุกวัน ทานอาหารให้ดี นอนหลับให้เพียงพอ แบบนี้คือ ทำให้โครงสร้างของสุขภาพดี ไม่ใช่ทำให้คึกคักเป็นช่วงๆ”
ดังนั้น ดร.สมเกียรติแนะนำว่า หากต้องการแก้ปัญหาโครงสร้างของประเทศ ก็ต้องกลับไปที่ต้นตอของปัญหา
“เรื่องทุน จะทำอย่างไรไม่ให้ทุนใหญ่กินทุนเล็ก ให้ทุนเล็กเติบโตได้ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ SMEs ค้าขายกับบริษัทใหญ่ ได้รับเงินตรงเวลา ไม่ใช่บริษัทใหญ่ต้นทุนการเงินต่ำอยู่แล้ว ยังเอาเงิน SMEs ไปดองไว้อีก เช่น SMEs ขายของผ่านห้าง แพลตฟอร์ม กว่าจะได้เงินต้องใช้เวลา 30-40 วัน SMEs ก็หมุนเงินไม่ทัน”
ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องแรงงาน ต้องทำให้แรงงานไทยมีคุณภาพดี “จะให้มีปริมาณเหมือนเดิม เป็นไปไม่ได้แล้ว จะกระตุ้นให้ทุกคนช่วยกันมีลูกก็เป็นเรื่องยากมาก เพราะการตัดสินใจมีลูกซับซ้อนมาก ถ้าเห็นว่าลู่ทางไม่ดี คนก็ไม่อยากมีลูก ดังนั้นจึงเหลือวิธีการเดียวคือ ทำอย่างไรจึงสามารถนำแรงงานที่ควรจะมีโอกาสทำงานได้เต็มดี มาทำงาน และต้องลดความสูญเปล่าหลายเรื่องที่ไม่ควรสูญเสีย”
ดร.สมเกียรติตั้งคำถามว่า ปัจจุบัน การเกณฑ์ทหารยังจำเป็นอยู่หรือไม่? “แต่ละปีมีการเกณฑ์ทหาร 7 แสนคน ดังนั้น หากไม่ได้ไปสู้รบกับใคร จะลดลงหน่อยได้ไหม แค่นี้ก็จะเหลือผู้ชายอายุ 21-22 ปี แทนที่จะไปอยู่ในค่ายทหาร ก็ออกมาทำงาน เพราะตลาดแรงงานยังขาดคนเยอะแยะ ไรเดอร์ คนขับมอเตอร์ไซค์ตายกันเยอะแยะ ลดความสูญเสีย คนไทยก็จะมีแรงงานเพิ่มขึ้น”
ดร.สมเกียรติชี้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรให้คนที่เหลืออยู่น้อยมีทักษะที่ดี “หมายความว่า สามารถตามทันตลาดแรงงาน เช่น ตลาดแรงงานใช้เทคโนโลยี คนทำงานก็ต้องใช้เทคโนโลยี ตลาดแรงงานอยากได้คนมี Soft Skill ก็ต้องมี Soft Skill ทำงานเป็นทีมได้ มีความคิดสร้างสรรค์”
ดังนั้น ดร.สมเกียรติแนะนำว่า ไทยต้องกลับไปมองที่พื้นฐาน คือ สร้างความสามารถ สร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างเศรษฐกิจจริงๆ และต้องทำให้ภาครัฐเลิกเกะกะ
“ภาครัฐเกะกะด้วยกฎระเบียบล้าสมัย ซึ่งทำให้ชาวบ้านทำมาหากินยาก ถ้าปลดล็อกพวกนี้ เศรษฐกิจจะโตขึ้นมา โดยไม่ต้องออกแรงเยอะ”
ดร.สมเกียรติยกตัวอย่าง ความเกะกะของภาครัฐว่า “ไทยเป็นประเทศท่องเที่ยว มีคนจำนวนมากเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นหมอนวดแผนไทย ซึ่งเมื่อเรียนจบหลักสูตรหมอนวดแผนไทย จะไปขึ้นทะเบียนเป็นหมอนวดและเปิดร้านนวด หรือเข้าไปทำงานในร้านนวดได้ ทุกวันนี้ต้องไปขึ้นทะเบียนทีละคน แทนที่จะสามารถขึ้นได้ทั้งล็อต”
ดร.สมเกียรติมองว่า หากเรียนจบจากสถาบันที่มีมาตรฐานสูง ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรรับรองแล้ว ก็ควรได้รับการขึ้นทะเบียนโดยอัตโนมัติ “ของแบบนี้ถ้าทำ จะทำให้เศรษฐกิจโต ลดความสูญเสียไปปีนึง 6,000 ล้านบาท”
ขณะเดียวกัน ก็ยกตัวอย่างการมีร้านอาหารขนาดเล็กจำนวนมากในประเทศไทย ซึ่งทั้งโรงแรมและร้านอาหารจะมีกฎระเบียบควบคุม ต้องใช้ใบอนุญาตหลายใบ
“จะเปิดร้านอาหารร้านนึงเพื่อทำมาหากิน สำหรับคนไทย ร้านอาหารเป็นธุรกิจยอดนิยม คิดอะไรไม่ออก เปิดร้านกาแฟ เปิดร้านอาหาร เพราะคนไทยชอบกิน ชอบเที่ยว และต้อนรับขับสู้คนอื่นได้ดี นักท่องเที่ยวอยากมา แต่การเปิดร้านอาหารที่อยู่ในระบบอย่างถูกกฎหมาย ต้องขอใบอนุญาตอย่างน้อย 5 ใบ ต้องไปขอแต่ละที่ๆ”
นอกจากนี้ ก็ยังยกตัวอย่างการขายไข่ว่ามีกฎหมายบังคับที่ล้าสมัยเช่นกัน “สมมติเลี้ยงไก่ที่บ้าน หากทำให้ถูกกฎหมายจริงๆ และแต่ละวันต้องเอาไข่ไปขายที่ตลาด ไม่ว่าจะแค่ 10-20 ฟอง ก็ต้องขออนุญาตทุกวัน เพราะกฎหมายระบุไว้เช่นนั้น กฎหมายไทยมีกฎหมายเก่าๆ โบราณๆ เยอะ และกฎหมายใหม่มีปัญหาก็เยอะเหมือนกัน สำหรับเรื่องขายไข่นั้น กฎหมายมองว่า ไข่ คือ ซากสัตว์ ตามกฎหมายควบคุมโรค”
ดร.สมเกียรติระบุว่า การกำหนดแบบนี้อาจเหมาะกับบางสถานการณ์ เช่น ยุคที่ไข้หวัดนกระบาดในยุคที่ความรู้วิทยาศาสตร์ยังไม่ดี หากมีการย้ายไก่หรือไข่ไปมา การดำเนินการทุกอย่างต้องขออนุญาต
“บางทีก็มีกฎโผล่ขึ้นมา เช่น จะส่งออกไข่ไปต่างประเทศก็ต้องขอใบรับรองว่า ปลอดภัย ซึ่งบางเรื่องก็เข้าใจได้ แต่มันมีใบอนุญาตเยอะมาก และมันเกิดปัญหาคือ เมื่อมีการออกกติกาใหม่ว่า มีการกำหนดใบอนุญาตใหม่ แต่กระทรวงที่เกี่ยวข้องไม่ไปแจ้งให้คนรับรู้ทั่วกัน คนส่งออกกันไป สุดท้ายมีวันนึง มีการตรวจที่ศุลกากร และระบุว่า ส่งออกไปโดยมีใบอนุญาตไม่ครบ ซึ่งกฎหมายศุลกากรระบุว่า ถ้าผิดกฎหมาย ไม่มีทางอะลุ่มอล่วย และมีประเด็นจะฟ้องค่าเสียหายกัน 2,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐทำเองทั้งสิ้น”
—————————
“ภาครัฐ คือ อุปสรรคสำคัญที่มีกฎระเบียบ กติกา ที่ทำให้ธุรกิจหากินยากมากๆ และไม่ค่อยปรับ จึงกลายเป็นโครงสร้างกฎระเบียบที่ล้าสมัย”
—————————
ดร.สมเกียรติมองว่า การมีกฎหมายควบคุมแบบนี้ ทำให้กรุงเทพอาจไม่ได้เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา มีสีสัน มีคนมาเล่นดนตรีเหมือนเมืองนอก
“ประเทศเป็นเมืองท่องเที่ยว ถ้าทำแบบนั้นได้ก็จะมีเสน่ห์ขึ้นอีกเยอะ ตอนนี้จะทำอะไรก็ทำไม่ค่อยได้ ประเทศนี้จะต้องขออนุญาต ขออนุมัติ ร้านอาหารจะขออนุญาตนู่นนี่นั่น ใบอนุญาตจะออกมาไวๆ ก็ต้องหยอดน้ำมัน”
ดร.สมเกียรติบอกว่า โครงสร้าง คือ ของที่อยู่ค่อนข้างทนทาน ไม่ค่อยเปลี่ยน “โจทย์ก็คือ ต้องปรับโครงสร้าง ต้องไปเปลี่ยนของที่เปลี่ยนยากๆ ประเด็นก็คือ พอมันเปลี่ยนไม่ง่าย นักการเมืองอยากทำไหม ก็ไม่ค่อยอยากทำ เพราะว่าจะเห็นผลงานไม่เร็ว จะปรับให้สถาบันการศึกษา ปรับให้โรงเรียนสอนให้เด็กไทยออกมาเก่งๆ ได้เร็วไหม ก็จะไม่เร็ว เพราะว่าจะทำให้โรงเรียนสอนดีได้ ครูต้องเก่ง จะต้องไปสอนครูให้เก่ง จะต้องปรับปรุงคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ และมีกลไกในการเทรนครูต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่มี และหากจะสร้างใหม่ ก็สร้างยาก”
—————————
“โดยธรรมชาติของโครงสร้างเป็นของเปลี่ยนยาก แต่ถ้าไม่เปลี่ยน มันไปต่อไม่ได้ และประเทศในโลกที่ประสบความสำเร็จ พัฒนาประเทศมาได้ ต่างแก้โครงสร้างทั้งสิ้น”
—————————
ปลดล็อกโครงสร้าง สู่ประเทศรายได้สูง
ดร.สมเกียรติอธิบายว่า หากดูประเทศที่เคยมีรายได้ปานกลางคล้ายกับไทย และสามารถก้าวสู่การเป็น ‘ประเทศร่ำรวย ประเทศรายได้สูง’ จะพบว่า ประเทศเหล่านี้ล้วนมีลักษณะบางอย่างร่วมกัน โดยยกตัวอย่างกรณีของ ‘สิงคโปร์’ ที่เดิมเป็นหมู่บ้านประมงเล็กๆ เคยเป็นประเทศที่รวมกับมาเลเซีย แต่ก็จำเป็นต้องแยกตัวออกมา เพราะสิงคโปร์มีประชากรส่วนใหญ่เป็นจีน ส่วนมาเลเซียมีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนมาเลย์ ซึ่งวัฒนธรรมแตกต่างกัน เข้ากันไม่ค่อยได้ดีเท่าไหร่ โดยตอนที่แยกตัวออกมา สิงคโปร์ไม่มีแม้กระทั่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค จึงต้องนำเข้าน้ำจากมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียสามารถขึ้นค่าน้ำได้ตามอำเภอใจ
“ประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์จะเต็มไปด้วยตัวอย่างประเภทนี้ ว่าประเทศมันจะอยู่รอดหรือเปล่า และเค้าก็พบว่า ถ้าจะอยู่รอด เค้าต้องทำอะไรเยอะแยะไปหมด คือ ไปแก้ที่โครงสร้าง”
ขณะเดียวกัน ในกรณีของ ‘เกาหลีใต้’ ดร.สมเกียรติอธิบายว่า เมื่อ 50-60 ปีก่อน คนเกาหลีใต้มีรายได้ต่อหัวเท่าๆ กับคนไทย แต่ตอนนี้เกาหลีแทบจะรวยกว่าญี่ปุ่นไปเรียบร้อยแล้ว เพราะว่าเกาหลีสร้างนวัตกรรม
“เกาหลีมีสินค้าเทคโนโลยี มี Samsung มีบริษัทที่สามารถสร้างนวัตกรรมระดับโลกได้ มีบริษัทยาใหม่ๆ บริษัทการเงินใหม่ๆ มี Fintech มีอะไรต่างๆ เต็มไปหมด ประเทศไทยไม่ได้มีบริษัทเทคโนโลยีแบบนี้ ทำไมเกาหลีสร้างพวกนี้ขึ้นมาได้ เพราะถ้าเกาหลีไม่ทำ เกาหลีก็จะไปไม่รอด เกาหลีใต้อยู่กับประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ค่อยน่ารัก คือ เกาหลีเหนือ ซึ่งทุกวันนี้ อยากจะยิงจรวดก็จะยิง และจะเกิดสงครามเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ถ้าเกาหลีใต้ไม่พัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง เกาหลีก็จะไปไม่รอด”
ดร.สมเกียรติตั้งคำถามว่า ถ้าประเทศไทยไม่แก้ปัญหาโครงสร้าง จะสามารถอยู่ได้หรือไม่? พร้อมตอบเองว่า
“ไทยก็สามารถอยู่ได้ ซึ่งคือสาเหตุที่ (ไทย) ไม่ต้องแก้โครงสร้าง แต่ก็จะถอยลงไปถอยลงไป มันไม่ได้เกิดความรู้สึกว่า มันเป็นวิกฤต มันเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องปรับ เพราะฉะนั้นก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ปะผุเล็กๆ น้อยๆ ไป และสุดท้ายก็พบว่าโครงสร้างที่เป็นอยู่ ไม่เคยปรับโครงสร้าง มันอยู่กับโลกใหม่ยากขึ้นทุกวัน เช่น อุตสาหกรรมต่างๆ ถูก Disrupt ไปเยอะ AI มา รถ EV มา กระแทกไทยล้วนๆ เกิดภัยธรรมชาติขึ้นมา น้ำท่วมภาคเหนือ คนภาคเหนือจำนวนมากไม่เคยคิดว่าจะเกิดน้ำท่วม ก็เกิดไปเรียบร้อย น้ำทะเลกำลังสูงขึ้นๆ อีก 30 ปีก็จะกินพื้นที่ไม่น้อยในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ปริมณฑลอาจจะอยู่ใต้ทะเลเหมือนกับบางขุนเทียนที่กำลังเกิดอยู่”
ดร.สมเกียรติมองว่า หากไทยไม่ปรับอะไร ตอนนี้ยังสามารถอยู่ได้ แต่อีก 30 ปีอยู่ไม่ได้
“ปัญหาโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ ไม่ใช่ไม่ทำวันนี้แล้วตายวันนี้ เดือดร้อนวันนี้แบบแสนสาหัส มันเดือดร้อนเล็กๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันจะเจ็บมากขึ้น มันจะลำบากมากขึ้น มันจึงต้องการพลังในการปรับโครงสร้าง ถ้าทำโดยการปรับโครงสร้าง ประเทศจะเดินต่อไปได้”
ดร.สมเกียรติอธิบายว่า ในยุคเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย หรือวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 ในปีนั้น เกาหลีใต้ได้ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพราะตระหนักว่า โครงสร้างแบบเดิมจะทำให้ประเทศเดินต่อไปไม่ได้
“สิ่งที่รัฐบาลเกาหลีใต้ทำคือ เอากฎระเบียบต่างๆ มาทบทวนดูว่า อะไรที่มันทำให้ปรับตัวไม่ได้ เพราะกฎระเบียบมันถ่วงไว้ มันดึงไว้ ไม่ให้ตามโลกใหม่ เกาหลีใต้จัดการกฎหมายไปประมาณครึ่งหนึ่ง โยนทิ้ง เพราะมันล้าสมัย”
การดำเนินยกเครื่องกฎหมายครั้งใหญ่ทำให้เกาหลีใต้สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ หลังจากปี 1997 มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มากมาย เพราะกฎหมายดีขึ้นเยอะ
ดร.สมเกียรติเล่าว่า สำหรับไทยก็มีพยายามเช่นกัน โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หน่วยงานธุรกิจ หอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลปรับโครงสร้าง โดยการแก้ไขกฎระเบียบที่มีปัญหา ที่เรียกว่า ‘ทำกิโยตินกฎหมาย’
“คือ การนำกฎหมายที่ล้าสมัย ที่มีปัญหาอย่างกฎหมายไข่ กฎหมายโรงแรม กฎหมายอะไรสารพัด ไปจัดการทบทวน เลิก และปรับปรุง ปรากฏว่า เกิดขึ้นกะปริบกะปรอย ไม่ได้เกิดขึ้นขนานใหญ่ ถ้าปรับโครงสร้างจริงๆ ไทยจะกลับมาเป็นแบบเกาหลีได้ เพราะคนไทย นักธุรกิจไทยจำนวนหนึ่งมีความสามารถ คนไทย แรงงานไทย ถ้าปรับสถาบันการศึกษา ปรับอะไรต่างๆ ให้พอเหมาะ คนจะมีวิธีหาทางไปในจุดที่ดีได้ ถ้าไม่มีอะไรเกะกะ”
ดร.สมเกียรติบอกว่า TDRI ประเมินว่า ถ้ามีการทบทวนกฎระเบียบ โดยเฉพาะการขออนุญาตอนุมัติต่างๆ ประมาณ 1,000 เรื่อง เศรษฐกิจไทยจะเติบโตขึ้นประมาณปีละ 100,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.8% ของ GDP เช่น หากเศรษฐกิจจะเติบโต 3% แต่ถ้าแก้กฎหมายต่างๆ ก็จะเติบโต 3.8%
ความเคยชิน ผลประโยชน์ ทำให้ไทยถูก ‘แช่แข็ง’
ดร.สมเกียรติอธิบายว่า การแก้ไขกฎหมายต่างๆ ของไทยเป็นไปได้ช้า เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังในการต่อสู้กับคนที่ไม่อยากเปลี่ยน
“ความไม่อยากเปลี่ยนบางครั้งเป็นเรื่องความเคยชินเฉยๆ บางเรื่องเป็นเรื่องของผลประโยชน์ บางเรื่องเป็นความเคยชิน ถ้าเป็นเรื่องผลประโยชน์อาจจะยากนิดนึง แปลว่าผู้นำทางการเมืองก็จะต้องทุบโต๊ะ ต้องบอกว่า ต้องเอา ไม่งั้นประเทศไปไม่ได้”
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ในยุคที่รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด “สมัยที่รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จ จะออกมาตราอะไรขึ้นมา ใช้รัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่างขึ้นมา มีอาญาสิทธิ์ทั้งหมด แต่ไม่ได้ใช้ดาบอาญาสิทธิ์ เพราะใจไม่ถึง และโตมาจากระบบราชการ คิดเหมือนระบบราชการ จึงไม่ได้ทำอะไร จึงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง”
ขณะเดียวกัน บางเรื่องก็เป็นความเคยชิน เช่น ปัจจุบัน การเข้าออกประเทศไม่จำเป็นต้องกรอกเอกสารตรวจคนเข้าเมืองแบบกระดาษ (ตม.6) เนื่องจากพาสปอร์ตอิเล็กทรอนิกส์มีข้อมูลทุกอย่าง ส่วนข้อมูลเที่ยวบินสามารถดูได้จาก Boarding Pass
“เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว อยากจะยกเลิกเรื่องการกรอกเอกสารกระดาษ ถูกค้านจาก 2 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทยที่ค้านบอกว่า ถ้าไม่ให้กรอกใบตม.6 จะเสียเรื่องความมั่นคง ประเทศไทยจะเสี่ยงจากความมั่นคงมากยิ่งขึ้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบอกว่า ถ้าไม่กรอกกระดาษ จะเก็บสถิตินักท่องเที่ยวไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด ตอนนั้นสภาอุตฯ และสภาหอการค้าฯ ต้องการให้ยกเลิกกับคนไทยก่อน ซึ่งคนไทยมีกี่คนที่เป็นนักท่องเที่ยว และไปเกี่ยวอะไรกับการเก็บสถิติท่องเที่ยว คุณอยากเก็บสถิติท่องเที่ยวก็ไปสำรวจท่องเที่ยว คนไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่นักท่องเที่ยวอยู่แล้ว”
ดร.สมเกียรติชี้ว่า กรณีตัวอย่างเสียงค้านจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คือ ‘ความเคยชิน’ ส่วนกรณีของกระทรวงมหาดไทยที่บอกว่า หากไม่กรอกเอกสารกระดาษจะมีปัญหาเรื่องความมั่นคง เช่น หากมีผู้ก่อการร้ายเข้ามาประเทศไทย ซึ่ง ดร.สมเกียรติมองว่า คงไม่มีผู้ก่อการร้ายคนไหนกรอกข้อมูลตามความเป็นจริง
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่ง ดร.สมเกียรติหยิบยกมาเล่าคือ หลักสูตรการศึกษาไทยที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ขณะที่ iPhone ออกมาเกิน 16 รุ่นแล้ว แต่ไทยยังไม่เปลี่ยนหลักสูตรการศึกษา
“พอจะเปลี่ยน พอจะมีของใหม่ ความเคยชิน ผลประโยชน์ จะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง มีคำถามเอ๊ะขึ้นมาตลอด แปลว่าฝั่งที่อยากจะปรับปรุง อยากจะเอาของใหม่เข้ามา มีภาระในการพิสูจน์ มีภาระในการอธิบายมหาศาล ฝั่งที่ไม่อยากจะเปลี่ยน ก็จะเอ๊ะไปเรื่อยๆ เช่น ถ้าปรับหลักสูตรใหม่ รู้ยังไงว่าหลักสูตรใหม่จะดีกว่าหลักสูตรเดิม ถ้าปรับหลักสูตรใหม่จะรู้ได้ยังไงว่า ถ้าเกิดเรียน 2 หลักสูตรพร้อมกัน จะเทียบโอนจากโรงเรียนนึงไปอีกโรงเรียนนึงได้ยังไง ก็จะหาเรื่องเอ๊ะไปเรื่อยๆ และสุดท้าย การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิด”
ดร.สมเกียรติมองว่า “หากฝ่ายการเมือง ผู้มีอำนาจไม่ทุบโต๊ะ บอกว่านี่คือเรื่องจำเป็น ถ้าไม่ปรับเรื่องนี้ โครงสร้างประเทศมันปรับไม่ได้ และประเทศเราจะถูกแช่แข็งแบบนี้ ถ้าไม่ทุบโต๊ะ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีแรงกดดันว่า ถึงไม่แก้เรื่องนี้ ไม่ได้ทำให้เราตายวันนี้ แต่ในอนาคต เราจะถอยลงๆ ทำให้เกิดความรู้สึกมี Urgency มีความเร่งด่วน เป็นเรื่องที่ต้องทำ”
ดร.สมเกียรติบอกว่า จะไม่โยนโจทย์ให้รัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว เพราะทุกภาคส่วนต่างได้รับความเดือดร้อน ทั้งภาคธุรกิจ ประชาชน นักวิชาการ และแรงงาน
“ดังนั้น คนต้องรวมตัวกัน และบอกการเมืองว่า แก้ปัญหาสักที ลูกบอลอยู่ในมือคุณ อย่าไปปล่อย ว่าปล่อยไปแล้ว มันจะอยู่ต่อไปได้ มันเคยอยู่ได้ แต่มันจะอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ”
ภาครัฐทุบโต๊ะ จัดการปัญหาโครงสร้างไทย
เมื่อถูกถามว่า อะไรคือสิ่งแรกที่ฝ่ายการเมืองควรทำ และสามารถทำได้ทันทีในการทุบโต๊ะเพื่อจัดการปัญหาเชิงโครงสร้าง ดร.สมเกียรติตอบว่า มีสารพัดสิ่งที่ภาคการเมืองสามารถทำได้ แต่หากต้องการ Quick Win ในเชิงที่ต้องออกแรงพอสมควรเพื่อต่อสู้กับคนที่คัดค้าน ดร.สมเกียรติแนะนำว่า “เรื่องแรกคือ การแก้กฎระเบียบการขออนุมัติ ขออนุญาต ซึ่งศึกษาไว้หมดเรียบร้อยแล้ว ถกเถียงกันในชั้นปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว ภาคธุรกิจบอกว่าควรทำ ภาคราชการบอกว่าอาจจะติดปัญหา คุยกันมานานจนตกผลึกเรียบร้อย สามารถชง เซ็น ทุบ ลุย ได้ ต้องอาศัยใจถึง การเมืองต้องใจถึง ถ้าจะผลักดันประเทศต่อไป ต้องกล้าตัดสินใจ เรื่องนี้เป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่ทำได้ทันที”
—————————
“การเมืองต้องใจถึง ถ้าจะผลักดันประเทศต่อไป ต้องกล้าตัดสินใจ”
—————————
ดร.สมเกียรติบอกว่า อาจจะมีหน่วยราชการที่ไม่ค่อยพอใจบ้าง เพราะต้องเปลี่ยนวิธี แต่คนมีความเคยชิน อยากทำแบบเดิม เพราะไม่ต้องปรับตัวอะไร ซึ่งในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ปรับตัว จะอยู่ไม่ได้ และประเทศจะอยู่ไม่ได้ สำหรับภาคราชการอาจไม่เจ๊ง แต่คนที่เจ๊งคือ ประชาชน และธุรกิจ ดังนั้น ธุรกิจและประชาชนจะต้องส่งเสียงบอกภาคการเมือง
‘พลังประชาชน’ ในการเปลี่ยนแปลงประเทศ
แม้ว่าจะเป็นคนตัวเล็กๆ ในสังคม แต่ทุกคนต่างมีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศได้เช่นกัน โดย ดร.สมเกียรติบอกว่า ประชาชนสามารถ ‘ออกเสียง’ ที่ไม่ใช่แค่การออกเสียงในวันเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องออกเสียงมากกว่านั้น
“แน่นอนว่า มันไม่ได้สบายเหมือน 4 ปี หย่อนบัตรทีนึง หย่อนบัตรต้องไปอยู่แล้ว ประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตย อย่ากลับไปกลับมา อย่าวอกแวก แต่ไม่ใช่หย่อนบัตรแล้วจบกัน ต้องเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง”
ดร.สมเกียรติพูดกระตุ้นว่า “ลองนึกดูดีๆ สมมติเจอปัญหาสักเรื่องหนึ่ง ติดสักเรื่องนึง มีเพื่อนนักเรียนที่รู้จักไหม ที่สามารถไปคุยกับผู้มีอำนาจได้ หรือถึงแม้ไม่รู้จักใครเลย แต่เห็นว่าระบบการศึกษาไทยมันแย่แล้ว เขียนจดหมายหารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ สมมติว่า รัฐมนตรีได้จดหมาย 100 ฉบับมาทุกวี่ทุกวัน บ่นเรื่องคุณภาพการศึกษา รัฐมนตรีจะนั่งอยู่เฉยๆ ได้ไหม ก็ไม่ได้”
—————————
“ต้องช่วยกัน Voice ออกมา Voice ออกเสียง มีปากมีเสียง อย่าอยู่เฉยๆ นี่คือหน้าที่ที่คนไทยจะต้องขับเคลื่อนประเทศไทย”
—————————
เมื่อสมมติว่า หากนับ 1 ในวันนี้ ที่ทุกคนร่วมกัน Voice ออกมา เราจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศเมื่อไหร่นั้น ดร.สมเกียรติมองว่า “ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพยายาม เพราะของพวกนี้บอกไม่ได้ว่า ทำวันนี้ เกิดผลวันนี้” พร้อมบอกว่า ในชีวิตของตัวเอง ก็มีบางครั้งที่พูดไป ยังไม่เกิดผลทันที แต่ก็มีบางเรื่องที่โชคดี พูดแล้วมีคนเข้าใจทันที และนำไปปฏิบัติทันที
ดร.สมเกียรติยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดว่า “เมื่อ 5 ปีก่อน คนคงนึกไม่ออกว่าจะเกิดสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยได้ หรือเคยคิดไหมว่า ไปติดต่อราชการไม่ต้องเอาสำเนาทะเบียนบ้านไปแล้ว มันก็เกิดขึ้นได้ การเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นได้”
ดร.สมเกียรติชี้ว่า “เมืองไทยไม่ใช่ไม่มีพื้นฐาน แต่เป็นประเทศที่มีพื้นฐาน แต่ต้องปลดปล่อย อย่าให้ถูกกักขัง…ต้องใช้พลังต่างๆ พลังของทุนเล็ก ทุนที่มีนวัตกรรม พลังของแรงงาน และพลังของการสร้างของใหม่ๆ อย่าให้กฎระเบียบ อย่าให้นโยบาย อย่าให้โครงสร้างเป็นปัญหา”
ฝากบอก…คนที่หมดหวังใน ‘ประเทศไทย’
สำหรับคนที่อาจจะหมดหวังใน ‘ประเทศไทย’ และหลายคนได้ตัดสินใจย้ายประเทศ หรืออยากย้ายประเทศนั้น ดร.สมเกียรติบอกว่า การอยากย้ายประเทศเป็นเรื่องจริง โดยมีข้อมูลยืนยันคือผลสำรวจจาก Gallup Poll ที่นิตยสาร The Economist นำไปวิเคราะห์และได้ผลที่น่าสนใจ
“สักประมาณ 10 กว่าปีก่อน สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คนไทยที่อยากย้ายออกไปนอกประเทศ เอาเฉพาะคนที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป ว่าไม่อยากอยู่เมืองไทย ถ้าเลือกได้ อยากไปทำงานต่างประเทศ กับคนต่างประเทศที่อยากเข้ามาทำงานในประเทศไทย ตอนนั้นสูสีกัน ประมาณ 4-5 แสนคน สูสีกัน เรียกว่าคนอยากออกมากกว่าคนอยากเข้านิดนึง”
จากนั้นในยุครัฐบาลประยุทธ์ต่อรัฐบาลเศรษฐาในช่วงไม่กี่ปีก่อนนี้ ดร.สมเกียรติบอกว่า “ผลที่ออกมาน่าตกใจมาก คนอยากจะออกประมาณ 1.5 ล้านคน คนอยากจะเข้าประมาณ 5 แสนกว่าๆ เทียบไปแล้ว คนอยากจะออก คนไทยที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไปอยากจะออกไปทำงานต่างประเทศมากกว่าคนต่างประเทศที่อยากจะเข้ามาประมาณสัก 9 แสนคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ”
ดร.สมเกียรติอธิบายเรื่องนี้ โดยให้คนลองคิดว่า การเป็นพลเมืองของประเทศในมุมหนึ่งเหมือนการเป็นลูกค้าของสินค้า
“สมมติเราเป็นลูกค้าของร้านกาแฟ เราไปร้านกาแฟแล้วพบว่า วันนี้บริการไม่ดี เราจะทำยังไง 1. เรา Voice เราออกเสียง เราบอกผู้จัดการว่า วันนี้ทำไมบริการไม่ดี ทำไมช้าจัง ถ้าเราบอกมากๆ เค้าไม่แก้ เราก็เปลี่ยนร้าน เราก็ไปดื่มร้านอื่น แต่ประเทศ ถ้าเราไม่ลอง Voice เลย หรือไม่ Voice เต็มๆ แล้วเราบอกว่า ย้ายประเทศ เราจะเสียโอกาสเยอะ”
ดร.สมเกียรติแนะนำว่า “เราจึงควรมีความมุ่งมั่น มีความภักดีว่านี่คือแผ่นดินที่เราคุ้นเคย ที่เราเกิด เราจะทำแผ่นดิน ทำประเทศไทยให้ทำมาหากินง่าย ให้เศรษฐกิจดี ให้สังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้น และทุกอย่าง ประเทศไหนก็แล้วแต่ ถูกกำหนดโดยพลังของพลเมือง พลังของประชาชนทั้งสิ้น”