ต้อง ‘คิด-ทำ’ แบบไหน IT ไทย ไประดับโลก
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
“หากไทยต้องการจะสร้างและปลดพันธนาการของ IT ก็ต้องสร้างให้กลุ่มที่ทำ Open Source ให้มีเยอะขึ้น แกร่งขึ้น ถ้าตรงนั้นไม่มีเงิน ไม่มีคนเก่งมาหรอก”
พัฒนาการของอุตสาหกรรม IT โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ยักษ์ใหญ่ IT กำลังขยายการลงทุนไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่กำลังพยายามดึงดูดการลงทุนด้าน IT เข้าประเทศ เพราะมองว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่จะช่วยให้ไทยมี ‘จุดยืน’ ในวงการอุตสาหกรรม IT ระดับอินเตอร์
Wealth Me Up ได้พูดคุยกับคุณศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร CEO and Co-Founder MFEC เกี่ยวกับสถานการณ์ IT ของไทยในปัจจุบัน จุดอ่อนและจุดแข็ง และวิธีคิดต่างๆ เพื่อให้ IT ไทยก้าวสู่ระดับโลกได้อย่างแท้จริง
คุณศิริวัฒน์พูดถึงตำแหน่งจุดยืนของ “ไทย” ในอุตสาหกรรม IT โลก โดยเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพชัดด้วยการยกตัวอย่างรถไฟไทย ที่ถือกำเนิดในยุครัชกาลที่ 5 หรือ 100 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้น ไทยเป็นประเทศต้นๆ ที่นำเข้าและสร้างระบบรถไฟ หลังจากนั้นก็มี “ญี่ปุ่น” ที่ทำแบบเดียวกัน แต่ปัจจุบัน ไทยยังต้องนำเข้าหัวรถจักรรถไฟ ต่างจากญี่ปุ่นที่สามารถพัฒนารถไฟ เช่น ชินคันเซ็น
เช่นเดียวกับอุตสาหกรรม IT ที่ปัจจุบัน แม้ว่าไทยจะใช้ ITมานาน แต่จะเห็นว่า ไม่มี Software Package และ IT Service ที่ไทยพัฒนาขึ้นมาและส่งออกไปขายต่างประเทศ
“ถ้าพูดถึง Position ของ IT เราก็แข่งกับใครไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้เริ่มต้น แม้กระทั่ง R&D หรือประดิษฐ์ เราเป็นผู้ใช้ ถ้าเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนรถไฟ”
คุณศิริวัฒน์เน้นว่า “อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในสภาพที่ประเทศไทยฟื้นตัวช้า เติบโตต่ำ และทุกคน Expect ว่าเราจะติดอยู่ที่ Growth ประมาณ 2-3% การที่จะ Transform นี้ IT เป็นส่วนสำคัญมาก เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราจะเห็นว่า ถ้าเราอยากจะ Transform องค์กร Transform สังคม Transform ประเทศ IT จะเป็นส่วนสำคัญมาก”
——————————
“ถ้าเราอยากจะ Transform องค์กร Transform สังคม Transform ประเทศ IT จะเป็นส่วนสำคัญมาก”
——————————
พร้อมกับยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนว่า ธุรกิจของร้าน 7-11 ซึ่งปัจจุบันน่าจะเป็นปีที่ 35 และมีสาขาประมาณกว่า 14,000 สาขา เมื่อนำยอดขายของร้าน 7-11 ทั้งหมดรวมกันก็ยังไม่เท่ากับยอดขายใน TikTok ซึ่งเพิ่งเปิดธุรกิจในประเทศไทยประมาณ 2.5-3 ปี
“นี่แปลว่า Power ของเทคโนโลยี และ Platform เปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจและสังคมได้ ถ้าเรารู้อยู่แน่ๆ ว่าเรากำลังจะ Aging เรากำลังมีประชากรน้อย มีแรงงานน้อย IT นี่แหละที่จะเข้ามาชดเชยสิ่งที่เราขาด”
IT ตอนนี้อยู่ในจุดที่ ‘เป็นพิษ’
สำหรับปมปัญหาสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยังติดหล่มเป็น ‘ผู้ใช้ IT’ นั้น คุณศิริวัฒน์ได้อธิบายโดยอ้างอิงข้อมูลจาก CEO บริษัทขนาดใหญ่ว่า “ตอนนี้เราใช้ IT จนถึงจุดมันเป็น ‘พิษ’ หมายความว่า เหมือนที่คนพูดว่า จริงๆ แล้ว ‘ยา’ กับ ‘ยาพิษ’ เป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าเราใช้ถูกที่ ถูกเวลา ถูกโดส เรียกว่า ยา แต่ถ้าใช้ผิดที่ ผิดเวลา ผิดโดส เป็นยาพิษ”
คุณศิริวัฒน์กล่าวว่า มี 3 เหตุการณ์ของ IT ที่ทุกคนพูดเหมือนกันหมดคือ
1. ต้นทุนของ IT พุ่งเร็วเกินกว่าการเติบโตของกำไรสุทธิ
“สมมติกราฟของ Cost พุ่งเร็วชันกว่าและตัดกับ Net Proft แปลว่ากำไรเราจะถดถอยเรื่อยๆ เพราะว่า Cost ของ IT”
2. ไม่เป็นไปตามแผนงาน
“แทบทุกคนที่ใช้บอกว่า มันไม่เป็นไปตามความเข้าใจหรือแผนงาน เช่น ลิงก์ไปสู่ Cloud ที่เคยคิดว่า Efficiency ดีกว่า ประหยัดว่า ปรากฏว่าไม่ใช่ ทุกที่พูดเหมือนกันหมดว่า Cloud แพงกว่า On Premise”
3. จุดที่ไม่มีทางเลือกในการย้ายระบบไปสู่ที่อื่น
“มันถึงจุดที่ว่าไม่มีทางเลือก หมายความว่า เขาถูกซอฟต์แวร์เข้ามาพันธนาการ Completely Locked In ไม่มีทางเลือกที่จะย้ายระบบไปสู่อย่างอื่น”
สำหรับข้อ 3 คุณศิริวัฒน์ได้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและพบว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ
“หากดูในปี 2024 พบว่า ผลประกอบการของบริษัทซอฟต์แวร์ไอทีในอเมริกาทำ New High โตขึ้นเรื่อยๆ ความสามารถในการทำกำไร หรือ Gross Profit โตขึ้นเรื่อยๆ บางบริษัทมี Gross Proft โตจาก 50% เป็น 60% และ 70% บางบริษัท Gross Profit แตะ 80%”
คุณศิริวัฒน์บอกว่า วิธีการบริหารของซีอีโอใหม่ในปัจจุบันง่ายมาก เมื่อต้องการกำไรเพิ่ม ก็ขึ้นราคาสินค้าและบริการ เช่น ขึ้นราคาสินค้าและบริการในภูมิภาคนี้ 10% และวัดจำนวนเปอร์เซ็นต์คนที่เลิกใช้ซอฟต์แวร์เมื่อมีการปรับขึ้นราคา (Churn Rate)
“เช่น ขึ้นราคา 10% มี Churn Rate 2% แปลว่ามีคนหนีไปแค่ 2% ส่วน 88% ที่เหลือจาก Topline ไปสู่ Bottomline ทันที เพราะว่า Operation ทุกอย่างเหมือนเดิม แค่ขึ้นราคา และเหตุการณ์นี้ มีหลายๆ ซอฟต์แวร์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บางตัว 2-3 ปีที่ผ่านมา ขึ้นราคา 4 ครั้งๆ ละ 10%”
คุณศิริวัฒน์ชี้ว่า ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การมีอำนาจเหนือตลาด สามารถทำอะไรก็ได้ สามารถขึ้นราคาได้
“จุดนี้น่าห่วง เพราะ IT สำคัญสำหรับการ Transform สำหรับ Competitive Advantage ความสามารถในการแข่งขัน แต่การที่เรา Run ธุรกิจ โดยที่เราบริหารต้นทุนไม่ได้ ไม่รู้ว่าต้นทุนจะไปไกลแค่ไหน ก็จะยาก ยกตัวอย่างเช่น แม้ธุรกิจกำลังดี เราลงทุนละกัน เราเพิ่มพนักงาน คุณก็ต้องเสียค่าซอฟต์แวร์เพิ่ม เขาคิดต่อรายหัว นั่นหมายความว่า คุณใช้ Data เพิ่ม คุณเพิ่มพนักงาน Cost ต่างๆ เพิ่มตาม แต่ถ้าเกิดเวลาเราขาดทุน เขาไม่รับผิดชอบด้วย”
ดังนั้น จึงเป็นความยากในการทำธุรกิจที่ไม่สามารถควบคุมได้ว่า ต้นทุนจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด
“ตอนนี้เป็นจุดที่เริ่มวิกฤตแล้วว่า อุตสาหกรรม IT เป็นพิษกับบางธุรกิจ เพราะต้นทุนสูง และเราไม่มีทางหนี ถูกพันธนาการไว้”
——————————
“ตอนนี้เป็นจุดที่เริ่มวิกฤตแล้วว่า อุตสาหกรรม IT เป็นพิษกับบางธุรกิจ เพราะต้นทุนสูง และเราไม่มีทางหนี ถูกพันธนาการไว้”
——————————
คุณศิริวัฒน์ได้ยกคำกล่าวของคุณปิติ ตัณฑเกษม ซีอีโอของธนาคารทหารไทยธนชาต ว่า “Top ของ Value Chain จริงๆ คือ IT”
โดยอธิบายเสริมว่า ในการทำธุรกิจทุกรูปแบบจะมี Top Value Chain โดยธุรกิจธนาคารจะอยู่ในระดับบนๆ
“คุณกำไรจากอสังหาฯ กำไรจากโรงงาน คุณก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่แบงก์ ส่วนแบงก์ต้องจ่าย IT อีกที”
คุณศิริวัฒน์ชี้ว่า สิ่งที่น่ากลัวมากๆ คือ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจธนาคารมีต้นทุนด้าน IT โตขึ้น 100% ดังนั้นจึงต้องผลักภาระไปที่อื่น
“นี่คือข้อผิดพลาดที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันทุกที่ ถ้าไม่มีใคร Concern เรื่องของต้นทุนด้าน IT เลย ทุกคนไปตามธรรมชาติ โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็น Infrastructure ธุรกิจที่มี Regulator เช่น Utility, Telecom แบงก์ คือ มีกฎหมายกำกับ ถ้าปล่อยให้ Cost Run ไปแบบนี้ เสมือนว่าเราใช้กฎหมาย ใช้ Regulator และไปปล้นประชาชนทุกบ้านเลย เพราะ Cost สูง”
คุณศิริวัฒน์เล่าว่า จากการสนทนากับคุณปิติ ผู้บริหารธนาคารทหารไทยธนชาต ตนเองก็ได้ไปหาคำตอบพบว่า สิ่งที่น่าตกใจมากคือ ต้นทุนธุรกิจแบงก์ไทยสูงกว่าประเทศจีนเยอะมาก
“โดยทั่วไป ทุกแบงก์จะต้องลงทุนเพื่อดูแล Infrastructure ทางด้าน IT สมมติมีลูกค้าที่ใช้ Facility ต่างๆ ฟรี เช่น ATM โอนเงิน Mobile Banking ฟรี แต่แบงก์ต้องจ่ายเงิน และเวลาที่ลูกค้าจ่ายบัตรเครดิต โดยไม่ติดหนี้ และจ่ายตรงเวลา แบงก์ก็จะไม่ได้กินดอกเบี้ย โดยเฉลี่ยในธุรกิจนี้ ค่าเฉลี่ยของแต่ละแบงก์จะมีลูกค้าประมาณ 40-45% ของลูกค้าทั้งหมดที่แบงก์ขาดทุน และอีกประมาณ 40% ที่แบงก์เท่าทุน แปลว่า แบงก์กำไรแค่ 10-20% ของลูกค้าทั้งหมด”
จากสถานการณ์ดังกล่าว คุณศิริวัฒน์บอกว่า ภาระทุกอย่างตกที่กลุ่มลูกค้า 10-20% จึงเป็นเหตุผลว่าให้ Spread ดอกเบี้ยของประเทศไทยอยู่ในระดับสูง เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนต่างๆ
คุณศิริวัฒน์อธิบายต่อว่า กลุ่มคนที่ใช้ประโยชน์จาก Infrastructure ของแบงก์สูงสุดในประเทศไทย คือ ‘มิจฉาชีพ’ และ ‘คนที่ทำผิดกฎหมาย’
“ถ้าเราไม่มี Infrastructure ของแบงก์ที่ Powerful ขนาดนี้ Fraud ไม่เติบโตรุนแรงขนาดนี้ เราสามารถโอนเงินไป 7 บัญชีในระดับวินาที ถ้าโอนไม่ได้แบบนี้ ต้องเข้าแบงก์ไปเบิก (เงิน) มันจะยาก และความเสียหายจะไม่ใหญ่ขนาดนี้”
ขณะเดียวกันก็ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดเป็นประจำของทุกวันกลางเดือนและสิ้นเดือน วันหวยออก
“หวยประกาศตอนบ่าย Volume ของแบงก์จะสูงจะไปถึง 3 ทุ่ม หรือ Premier League จะมีการโอน เพราะฉะนั้น ช่วงเวลาที่มีบอลโลก บอลยูโร Transaction ที่เยอะขึ้นมาก็คือธุรกิจผิดกฎหมาย แต่ใช้ Infrastructure ฟรี แบงก์ต้องจ่ายเงิน”
ต้นทุนแบงก์ไทย… สูงเกินไป
คุณศิริวัฒน์กล่าวว่า ต้นทุนเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องตระหนักตั้งแต่ระดับบน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย คนทำธุรกิจ และทุกคนจะต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงจะสามารถทำให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างถูกที่ถูกทาง เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้นก็จะทำให้คนจนที่กู้ต้องมาเป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนมิจฉาชีพ และคนรวย หรือคนที่มีวินัย ชำระหนี้ตรงไม่เคยค้าง
“ต้นทุนเป็นสิ่งสำคัญมากต่อธุรกิจที่มี Regulator ที่ Block การแข่งขัน แต่เมื่อต้นทุนสูงมากก็เหมือนกับปล้นทุกคน ยกตัวอย่างถ้าธุรกิจไฟฟ้า ประปา และโทรคมนาคมจ่ายค่า IT สูงมากๆ ก็เปรียบเสมือนกับปล้นทุกคน”
ส่วนในกรณีธุรกิจธนาคารนั้น คุณศิริวัฒน์อธิบายว่า “แบงก์ชาติไม่เคยตระหนักถึงเรื่องต้นทุน แต่เขาตั้งกติกาเพื่อ Block ความเสี่ยง เพื่อ Compliance ต่างๆ ทุก Compliance หมายถึงดอลลาร์เสมอ สิ่งที่แบงก์ชาติคิด คือ ทุกคนต้องเป๊ะกับตรงนี้ และที่เหลือจะโอเค พอคุณเป๊ะตรงนี้ ต้นทุนมาที่แบงก์ก็อ้วกเลย ทุกคนต้องรู้ว่า ฉันซื้อสิ่งที่ดีที่สุดในโลกมา”
คุณศิริวัฒน์เล่าประสบการณ์ที่ได้จากการเดินทางไปจีนว่า ค่าดูแลระบบเพื่อให้บริการต่างๆ แก่เจ้าของบัญชี 1 บัญชีของธนาคารไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ขณะที่ Virtual Bank จีน ค่าดูแลระบบสำหรับ 1 บัญชีอยู่ที่ 2 หยวน หรือ 10 บาท หรือประมาณ 0.3 ดอลลาร์สหรัฐ และหากนับต้นทุนอื่นด้วยยอดรวมอยู่ที่ประมาณ 0.5 ดอลลาร์สหรัฐ แสดงว่า ไทยแพงกว่าจีนประมาณ 14 เท่า
“ที่ทำแบบนี้ได้เพราะ Regulator ของเขามองเห็น Pain ตรงนี้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว จะเห็นว่า TOR (Terms of Reference) ของแบงก์กำหนดว่า ระบบต้องเป็น Open Source ทั้งหมด เมื่อเป็น Open Source ก็ไม่มีต้นทุน ก็จะเหลือแต่ค่าแรงคน ฮาร์ดแวร์ ค่าไฟ ค่าสถานที่ ทำให้ต้นทุนถูกขนาดนี้ เขาเป็น Open Source ตั้งแต่ App Database และ Run อยู่บน PC Server”
ดังนั้นหมายความว่าคนที่ตระหนักถึงต้นทุนที่สูงของ IT ต้องมี Mindset ว่าต้องการควบคุมต้นทุน เพราะแนวคิดของจีนคือ มีคนจนเยอะ ต้องให้บริการคนจนได้ คนจนต้องเข้าถึงบริการของธนาคารได้
“บ้านเราไม่ได้ Concern Cost ทุกคนต้องทำให้ระบบมี Reliability สูง ถ้าเป็น CIO (Chief Information Officer) หรือ CTO (Chief Technology Officer) ก็จะต้องซื้อสิ่งที่ดีที่สุด เพราะว่าต้นทุนเป็นหน้าที่ของ CEO ดังนั้นจึงเลือกระบบที่เสถียรที่สุด เมื่ออยู่ในสังคมที่ไม่มีใคร Concern Cost หรือ KPI Cost เป็นตัวล่างๆ มันก็เป็นแบบนี้”
อย่างไรก็ตาม คุณศิริวัฒน์บอกว่า หากตอนนี้มีธนาคารไทยรายใดตัดสินใจไปใช้ Open Source ก็จะถูกธนาคารแห่งประเทศไทยปรับ เพราะเห็นว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับธนาคาร
คุณศิริวัฒน์ย้ำอีกครั้งว่า “ตอนนี้ Cost เป็นสิ่งที่สูงจน Control ไม่ได้ เราต้องเริ่มว่า ทำยังไงให้ Cost เราคงที่เท่านี้ ไม่สูงกว่านี้ หรือ Cost เราสูงขึ้นในความชันเดียวกับ Net Profit ที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้น Open Source หรือหากลุ่มเทคโนโลยีที่ Cost ถูกลงเป็นสิ่งจำเป็น ส่วนธุรกิจไหนที่กำไรยังพุ่งสูงอยู่ คุณใช้ไปเหอะ ไม่มีใครว่า แต่ถ้าธุรกิจกำลังทรงหรือถดถอยต้องหาทางเลือก”
นอกจากนี้ ยังบอกด้วยว่า “ขนาดบริษัทที่รวยๆ เขายังร้องเลย แล้ว SMEs ที่มี 3 ล้านกว่ารายจะไปเอาที่ไหน แปลว่า สภาพ IT ของไทยกระจุกอยู่ที่ 2% หรือประมาณ 9,000 กว่าบริษัท ส่วน SMEs ไม่มี Infrastructure ไม่มี Knowhow ไม่มี IT เข้าไป Transform”
คุณศิริวัฒน์มองว่า เป็นไปไม่ได้ SMEs ที่มีกำไรปีละ 5 ล้าน จะซื้อระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ราคา 5-6 ล้านบาท
ต้นทุนจากการเปลี่ยนแปลงจะคุ้มหรือไม่?
เมื่อถามว่า หากธุรกิจตระหนักถึงเรื่องต้นทุน และตัดสินใจจะเปลี่ยนระบบ IT ผลลัพธ์ที่ได้จะคุ้มเสียหรือไม่ คุณศิริวัฒน์มองว่า หากไม่มีการเตรียมตัว ไม่มีการลงทุน ก็แทบไม่มีทางเลือกใดๆ เพราะมีความเสี่ยงสูงมาก พร้อมยกตัวอย่างประกอบว่า “สมมติว่า มียาตัวหนึ่ง จะขึ้นราคายังไงก็ได้ เป็นหน้าที่ของคนซื้อต้องหาตังค์มาจ่าย เพราะว่าเราไม่เคยคิดจะ R&D คิดจะผลิตยาเพื่อเป็น Choice เลย ดังนั้น คนจึงมีทางเลือก 2 ทาง คือ ตาย หรือหาเงินมาจ่าย (ค่ายา) เหมือนกับ IT ที่บางจุดเป็นแบบนั้น เพราะว่าไม่มี Choice”
คุณศิริวัฒน์มองว่า สถานการณ์ IT ของไทยในปัจจุบันยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ ‘ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง’
“หากไทยต้องการจะสร้างและปลดพันธนาการของ IT ก็ต้องสร้างให้กลุ่มที่ทำ Open Source Strong ขึ้น มีเยอะขึ้น แกร่งขึ้น ถ้าตรงนั้นไม่มีเงิน ไม่มีคนเก่งมาหรอก”
——————————
“หากไทยต้องการจะสร้างและปลดพันธนาการของ IT ก็ต้องสร้างให้กลุ่มที่ทำ Open Source ให้มีเยอะขึ้น แกร่งขึ้น ถ้าตรงนั้นไม่มีเงิน ไม่มีคนเก่งมาหรอก”
——————————
พร้อมกันนี้มองว่า เมืองไทยมีคนเก่ง และมีเยอะด้วย แม้ว่าหลายคนจะบอกว่า คะแนน PISA หรือการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลของประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยลดลงเรื่อยๆ ก็ตาม
“มองภาพค่าเฉลี่ยลดลงเรื่อยๆ ตลอด 10 ปี แต่ถ้ามองตรง Top คนไทย ประเทศไทยก็อยู่ตรง Top โดยทุกปี คนไทยที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยระดับ Top ของโลก เข้า Ivy League เพิ่มขึ้นทุกปี เราก็จะมีคนเก่งในสาย IT เพิ่มขึ้น โดยทุกปีที่มีการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ คนไทยก็จะติดอันดับ เพียงแต่คนกลุ่มนั้นจบมาทำงานให้ต่างชาติ ไม่ได้ทำงานให้ไทย เพราะไม่มีตลาดที่มีความสามารถจ่ายแพง ให้ Benefit เพราะฉะนั้นก็จะแพ้ทุนนิยม”
คุณศิริวัฒน์แนะนำว่า หากต้องการแก้ปัญหา ต้องคิดแล้วแก้ทั้งวงจร
“เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะไปด่าคนเก่ง ว่าคุณไม่กลับมาช่วยประเทศ เพราะประเทศไทยไม่มีตลาดเลย จ่ายเงินก็น้อย”
นอกจากนี้ ก็เล่าถึงความเก่งของคนไทยว่า จากสถิติคนที่เรียนจบปริญญาตรีเกียรตินิยม คณะวิศวกรรมศาสตร์ เอกคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 4 ปีก่อน และไม่มีประสบการณ์ ได้รับข้อเสนอเงินเดือนเริ่มต้น 50,000 บาท ส่วนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ได้รับข้อเสนอเงินเดือนเริ่มต้น 75,000 บาท และเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ ได้รับข้อเสนอเงินเดือนเริ่มต้น 100,000 บาท
“แสดงว่า บางธุรกิจมีกำลังจ่ายผลตอบแทน และรู้ว่าคนกลุ่มนี้มีอิทธิฤทธิ์ จึง Recruit คนพวกนี้ไป บริษัทไทยใครจะมีปัญญา ต่อให้มีเงินจะจ้างมา แต่จะทำธุรกิจอะไร จึงจะบวก Cost ตรงนี้ บวก Markup ไป และขายให้ลูกค้าที่ไหน ธุรกิจโมเดลมันไม่ได้ แปลว่า สภาพของสมองไหล ปัจจุบันไม่มี Boundary แล้ว Work from Home, Work from Anywhere พนักงานเป็น Global ใครที่ไหนจะจ้างใครก็ได้ ไม่ได้เกิดเฉพาะวงการ IT อย่างเดียว”
คุณศิริวัฒน์อธิบายต่อว่า เดิมคิดว่าคนเก่ง IT มีโอกาสย้ายประเทศ ไปทำงานในต่างประเทศได้ง่ายที่สุด แต่จริงๆ แล้ว ยังมีอีกอาชีพที่เหนือกว่า คือ ‘พยาบาล’ โดยเฉพาะประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เช่น เยอรมนีมีความต้องการพยาบาลไทยมาก โดยมีการตั้งบริษัทรับสมัครพยาบาลไทยประมาณ 200-600 คนต่อปี ซึ่งจะมีการให้สถานะพลเมืองแก่พยาบาลไทยด้วย
“พยาบาลไทยเก่ง อัธยาศัยดี ความสามารถดีอีก อียู เยอรมนีชอบมาก มีบริษัท Recruit ถ้าเราไม่เท่าทันสถานการณ์นี้ อีกสักพัก เราจะเหลือแต่หมอ ส่วนพยาบาลหายหมด พยาบาลที่มีทักษะเยอะๆ เราไปสอนใหม่ เทรนใหม่ไม่ทัน”
พร้อมย้ำว่า “ตอนนี้ภาพต่างๆ เป็น Global ใครจากไหนจะดึงใครก็ได้ ถ้าเราไม่มีความพร้อมในการเห็นภาพจริงแล้วก็ช่วย ต่อให้เรามีวัตุดิบที่ดี คนอื่นก็แย่งไป”
นับ 1 แก้ปัญหา IT ไทย
หากต้องการแก้ปัญหาวงการ IT ไทย คุณศิริวัฒน์แนะนำว่า การเริ่มต้นต้องอาศัยความร่วมมือกัน “เราไม่ต้องฉลาดเป็นอัจฉริยะถึงจะสามารถแก้โจทย์พวกนี้ได้ เราเห็นว่าคนทำที่ทำถูกต้อง ผลลัพธ์เป็นยังไง อะไรที่เราไม่ได้ทำก็ควรจะเริ่มทำ”
พร้อมกับยกตัวอย่างว่า เมื่อ 10 กว่าปีก่อนได้เดินทางไปเวียดนาม ซึ่งตอนนั้นเวียดนามรู้ว่า หากต้องการพลิกโฉมประเทศ (Transform) จะต้องมีคนเรียน IT จำนวนมาก จึงมีการออกกฎหมายให้คนที่เรียน IT ในยุคนั้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตลอดชีวิต ตราบใดที่ยังทำงานด้าน Software Engineering ซึ่งถือเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่ง
“ผลลัพธ์ที่เห็นคือ Investment ด้าน IT ไหลเข้าประเทศนี้เยอะ ปัจจุบันเวียดนามผลิต Software Engineer มากกว่าประเทศไทยหลายเท่าตัว ซึ่งแม้จะไม่นับรวมการใช้ภายในประเทศ ก็พบว่า การส่งออกซอฟต์แวร์ของเวียดนามมีมูลค่าหลักแสนล้านบาท คิดดูว่า เราต้องปลูกข้าวขนาดไหนถึงจะมีรายได้ระดับแสนล้านบาท”
คุณศิริวัฒน์ย้ำว่า สิ่งที่เล่าข้างต้นคือ การดำเนินการเชิงนโยบาย ซึ่งเมื่อรู้ว่า IT เป็นสิ่งจำเป็น ก็ต้องออกกฎหมายสนับสนุน อย่างเช่นกรณีของเวียดนามที่ออกกฎหมายให้คนที่เรียนด้าน Software Engineering ไม่ต้องเสียภาษีตลอดชีวิต ก็ส่งผลให้มีคนเรียนสาขาดังกล่าวจำนวนมาก
ขณะที่ประเทศไทยมองเห็นปัญหาและทางออก แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งคุณศิริวัฒน์ชี้ว่า “เมื่อมีวิกฤต เราต้องการ Spirit ต้องการ Contribution ต้องการการเสียสละของแต่ละคน เพราะฉะนั้น ในมุมมองของแต่ละปัญหา ถ้าทุกคน Contribute ในส่วนที่ตัวเองเกี่ยวข้อง เช่น Regulator ก็ Contribute คนที่เป็นลูกค้า คนที่เป็น User ก็ Contribute คนทำ IT ก็ Contribute มันถึงเกิด มันไม่ใช่มุมมองที่ว่ากันไป ว่ากันมา You ผิด I ไม่ผิดเลย”
คุณศิริวัฒน์ย้ำว่า “ผมว่าถึงจุดที่เราต้องดึง Spirit ของวงการนี้มาร่วมกันที่จะแก้”
SMEs ไทยน่าห่วง! ขาดความสามารถในการแข่งขัน
คุณศิริวัฒน์มองว่า SMEs ไทยขาดความสามารถในการแข่งขันในเชิงโครงสร้าง โดยยกตัวอย่างว่า SMEs จะสามารถ Transform และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันได้ด้วยการใช้ IT เข้ามาช่วยเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพ แต่กลับพบว่า ไม่มีคน แม้จะมีเงินซื้อซอฟต์แวร์ ก็หาคนดูแลซอฟต์แวร์ไม่ได้
“ธุรกิจ IT ไทยเหมือนคนหัวโต โดย 90% อยู่กรุงเทพ ถ้าหากไปอยู่ลำพูน ลำปาง หา IT ยากมาก หากต้องการปรับตัวจะปรับยังไง แต่ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยอะ”
ขณะเดียวกัน คุณศิริวัฒน์ก็ตั้งคำถามว่า ทำไมฐานการเสียภาษีของ SMEs เข้าสู่ประเทศมีน้อย มีเศรษฐกิจนอกระบบเยอะ
“10 กว่าปีที่แล้ว ไทยเท่าๆ กับเกาหลีใต้ คือ มีผู้ประกอบการเสียภาษีไม่เกิน 15% ของบริษัททั้งหมด ปัจจุบัน เกาหลีใต้มีผู้ประกอบการเสียภาษีเกิน 85% ประเทศจึงร่ำรวย แต่ไทยยังอยู่ประมาณเดิม”
คุณศิริวัฒน์อธิบายต่อว่า SMEs ไทยส่วนใหญ่มีบัญชี 2 เล่ม คือ บัญชีต้นทุนจริง และบัญชีเพื่อหลบภาษี ซึ่งหากมองในมุมของธนาคารก็จะไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เพราะไม่รู้ว่าตัวเลขจริงๆ ของบริษัทเป็นอย่างไร และไม่มีความโปร่งใส ดังนั้น ทำให้บริษัทระดับ SMEs ไม่สามารถเพิ่มทุนได้ จะขอกู้เงินอัตราดอกเบี้ยถูกจากธนาคารก็ทำไม่ได้
“จากโจทย์นี้ง่ายๆ คือ ถ้ามี ERP (Enterprise Resource Planning) ซอฟต์แวร์การวางแผนจัดการ ราคาถูก หรือให้ฟรีจากภาครัฐ โจทย์ต่างๆ เหล่านี้ มีคำตอบทั้งหมด ผมเปรียบเสมือนว่า รัฐถือหุ้นลมทุกบริษัท ถ้ารัฐช่วยให้กลุ่มนี้แข็งแรงขึ้นมา ก็จะเป็นการขยายฐานภาษีกลับมาสู่รัฐ แต่ตอนนี้ SMEs ยังใช้ Gut Feeling หรือใช้ประสบการณ์ การเดา แต่วัตถุดิบก็สวิง ตลาดก็สวิง ทุกอย่างก็สวิง คุณไม่มี Data มา คุณจะบริหารให้โตได้ยังไง”
คุณศิริวัฒน์บอกว่า หากภาครัฐแจก ERP ให้ใช้ฟรี มีการฝึกอบรมการใช้งานและให้บริการเพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ระบบได้ และหากภาคธนาคารสามารถเชื่อมกับระบบ ERP ได้ ก็จะสามารถให้เงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสมเหตุสมผล เพราะธนาคารสามารถดูข้อมูลของธุรกิจได้จาก ERP
“หากธุรกิจกำลังขาขึ้น มียอดสั่งซื้อ ก็ให้ดอกเบี้ยน้อยเพราะความเสี่ยงต่ำ จะมีการระดมทุน เพิ่มคนลงทุน ก็สามารถทำได้หมด แต่คำถามคือ เป็นหน้าที่ของใคร โดยตอนนี้มีหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากได้ธุรกิจที่แข็งแรงขึ้น เพื่อจะได้มี Product เข้าตลาด ส่วนสภาอุตฯ และหอการค้าต้องการช่วยสมาชิกให้แข็งแรงขึ้น พวกนี้เป็น Common Interest ถ้ารวมกันแล้วทำตรงนี้ก็ไม่ยาก ถ้าทุกคนเข้ามา เขาต้องเสียภาษีแน่ๆ เพราะเหลือบัญชีเล่มเดียว แต่ Efficiency เขาสามารถ Predict Forecast Demand Supply ของต้นทุน ของการเติบโตของธุรกิจได้ ไม่ต้องใช้ Gut Feeling และ Data ไม่เคยหลอกใคร ส่วนแบงก์ก็ลดต้นทุนในการปล่อยกู้ ไม่ต้องไปเสี่ยง ปัจจุบันยังใช้เวลาเป็นเดือนกว่าที่จะขอกู้และอนุมัติต่างๆ”
คุณศิริวัฒน์บอกว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีของทุกธนาคารสามารถทำ Auto Banking ได้อยู่แล้ว หากมีข้อมูลเพียงพอ และปัจจุบันเป็นยุค AI สามารถใช้เทคโนโลยีดำเนินการเรื่องเหล่านี้ได้อย่างสะดวกง่ายดาย
“แค่ Movement นี้ก็จะทำให้ฐานเกือบ 3 ล้านบริษัทมีโอกาสที่จะกระเตื้องและแข่งขัน แค่ใช้ ERP เพียงอย่างเดียว”
คุณศิริวัฒน์เล่าประสบการณ์ของตัวเองว่า ได้เห็นร้านข้างถนนในประเทศจีนใช้ระบบ IT โดยให้ลูกค้าสแกนบาร์โค้ด จ่ายเงินค่าอาหาร ก่อนที่พนักงานจะนำอาหารไปส่งที่โต๊ะ
“เขาบอกว่า ระบบ IT ง่ายและถูก ใช้เวลา 2 สัปดาห์ก็ Implement ได้แล้ว”
คุณศิริวัฒน์อธิบายต่อว่า การมี Infrastructure แบบนี้ ส่งผลให้การทำธุรกิจร้านเล็กๆ ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานเก็บเงิน เพราะลูกค้าจะจ่ายเงินด้วยการสแกนบาร์โค้ดเพื่อสั่งสินค้า ซึ่งเท่ากับลดจำนวนพนักงาน 1 คน
“สำหรับร้านเล็กๆ สามารถลดต้นทุนได้เยอะ เหลือแค่คนทำและคนส่ง (อาหาร) และสิ้นวันก็รู้ด้วยว่าขายไปแล้วกี่ชาม วัตถุดิบอะไรหมด ให้ Supplier Connect ด้วย จะรู้ว่าต้องมาส่งวัตถุดิบเท่าไหร่ เมื่อต้องการกู้แบงก์ แบงก์ก็จะรู้ว่า Flow ธุรกิจเป็นยังไง”
MFEC ส่งเสียงเตือนให้ตระหนัก
คุณศิริวัฒน์พูดถึงบทบาทของ MFEC ในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาว่า ได้มองเห็นภาพความน่ากลัวในเชิงความสามารถในการแข่งขันของไทยที่แย่ และจะแย่ลงเรื่อยๆ จึงมีการดำเนินการ ได้แก่
1. บอกปัญหาให้หลายฝ่ายได้ตระหนัก เช่น บอกกับ Regulator และลูกค้าให้ตระหนักถึงประเด็นปัญหา
2. ช่วยหาทางเลือกให้แต่ละวิกฤต โดยคุณศิริวัฒน์เปรียบเทียบว่า เหมือนกับมีคนป่วยและต้องได้รับยา ก็ต้องหายาอื่นหรือวิธีอื่น ที่ช่วยให้ไม่ต้องยึดติดกับยาตัวเดียว
“MFEC ก็ต้องหาทางเลือก เช่น ถ้ายาจากต่างประเทศแพง ก็ต้องหาทางเลือกอื่น เพราะว่าต่อให้สุขภาพหายก็จะกลายเป็นบุคคลล้มละลาย เพราะว่าเงินหายหมด ต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน”
3. สนับสนุนบริษัทเล็กๆ ที่ทำ Open Source
“ตอนนี้ผมบอกในตลาดว่า ใครทำ Open Source ที่หาลูกค้าไม่ได้ ใครมีปัญหาเรื่อง Cash Flow มีปัญหาเรื่องตลาด มีปัญหาเรื่อง Developer มาคุยกัน เราร่วมเป็น Partner โดยที่ผ่านมา MFEC มีทั้งลงทุน ช่วยทำตลาดให้ เพราะว่าเรารู้จักลูกค้าระดับ High-end หรือมีแนะนำ Developer คือ Co-Develop กับเขา สิ่งเหล่านี้เรามองว่าเป็น Contribution สำหรับคนที่อยู่ในวงการมานาน”
นอกจากนี้ คุณศิริวัฒน์ยังแนะนำว่า SMEs ต้องส่งเสียงไปในทิศทางเดียวกัน “บางอย่างเราอาจจะ Voice หรือบ่นในสิ่งที่เป็นผลลัพธ์ บ่นว่าธุรกิจเราขาดทุน บ่นว่าเราแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ บ่นที่เป็น Output แต่จริงๆ เราควรจะบอกว่า เราทำยังไงถึงจะฟื้น สมมติร้านขายก๋วยเตี๋ยวมีระบบ ERP สามารถลดต้นทุนได้ครึ่งหนึ่ง IT จะทำให้สิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยทำได้ ทำได้เร็วขึ้น สิ่งที่เขาไม่เคยเห็น ไม่เคยเอ๊ะ มันก็จะเห็น”
——————————
“IT จะทำให้สิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยทำได้ ทำได้เร็วขึ้น”
——————————
คุณศิริวัฒน์บอกว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ถ้าไม่มีข้อมูลแบบเรียลไทม์ หรือออนไลน์ก็แทบจะไม่สามารถให้เท่าทันสถานการณ์ได้ และต่อให้มีโอกาสเข้ามา คนอื่นก็จะฉวยไปก่อน
ปั้น IT ไทยสู่ระดับ Global
หากต้องการให้ IT ประเทศไทย หรือคนไทยเปลี่ยนมุมคิดด้านจากการเป็น ‘ผู้ใช้’ เป็น ‘ผู้สร้าง’ จะต้องทำอย่างไร?
คุณศิริวัฒน์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันสิ่งต่างๆ เป็น Global ดังนั้นอย่าคิดจะจ้างเฉพาะ ‘คนไทย’
“เราจะจ้างที่ไหนก็ได้ เราอยากสร้างอันนี้ เราจ้างใครก็ได้ ให้ SMEs ทั่วไปทำก็ได้ บางอย่างติดที่ระบบราชการ หรือกฎหมาย ติดที่ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง คุณต้องมี Reference Size คุณต้องเคยมีประสบการณ์ พวกที่เกิดใหม่ไม่มีโอกาสเลย ซอฟต์แวร์ที่ Mature มากๆ ที่แพงมากๆ เขาก็เอา Feature พวกนี้มาล็อกสเปค”
คุณศิริวัฒน์กล่าวว่า ภาคราชการมีซอฟต์แวร์หลายตัว ที่บริการดูแลบำรุงรักษา (Maintenance Service Agreement) เพิ่มราคา จนปัจจุบันค่าใช้จ่ายดังกล่าวอย่างเดียวแพงกว่าการลงทุนครั้งแรก และเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่าย
“การที่คุณไม่ Protect เขาก็ขึ้นราคาไปเรื่อยๆ คุณก็ไม่มีทางออก ความเสี่ยงมันเยอะเกินไป”
ดังนั้นเพื่อสิ่งที่ควรทำเพื่อให้ภาค IT มีทางเลือก คุณศิริวัฒน์แนะนำว่า “สิ่งที่ควรทำคือ ตั้งแต่เจ้ากระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันทำให้มี IT Service ในประเทศไทย และทำให้เหมือนกับเวียดนาม เพื่อให้มีคนอยู่ใน Industry เยอะๆ เมื่อมีคนอยู่ใน Industry เยอะ ซอฟต์แวร์ที่ภาครัฐลงทุนหรือซอฟต์แวร์ Open Source ก็จะมีต้นทุนถูกลง”
คุณศิริวัฒน์ชี้ว่า ประเทศที่ใช้ระบบ Open Source ได้มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก คือ จีน รวมไปถึงเวียดนาม ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดจาก Open Source ไปเป็นแพ็กเกจของประเทศตัวเองได้ จึงมีทางที่จะเติบโต
“ไทยมี Open Source ต่ำมาก เพราะไม่มีเงินอยู่ตรงนั้น คนที่ทำ Open Source ไม่รู้จะทำมาหากินยังไง ไม่มีคนซื้อ”
ความหวัง IT ไทย ทำยังไงให้แข่งขันได้
คุณศิริวัฒน์มองในด้านบวกว่า คนไทย ‘เก่ง’ แต่ไม่ได้อยู่บริษัทไทย
“การที่วงการ IT ไทยจะแข็งแรงขึ้นมาได้ พื้นฐานที่จำเป็นคือต้องมีธุรกิจที่หล่อเลี้ยงคนเก่ง เป็นไปไม่ได้ที่คุณบอกว่า จ่ายน้อยๆ และให้คนเก่งกลับมา หรือคนเก่งมาช่วย คนเก่งก็จะอยู่บริษัทต่างชาติหมด”
ดังนั้นจึงต้องมีโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม มีการลงทุน พร้อมกับอธิบายว่า หลายๆ ประเทศมีการดำเนินการต่างๆ เพื่อส่งเสริมธุรกิจ IT แต่ไทยไม่ได้คิดแบบนั้นเลย
“เวียดนามเคยออกกฎหมายลดภาษีส่วนบุคคล อินโดนีเซียเคยออกกฎหมาย Block ไม่ให้คู่แข่งเข้ามา เพื่อให้ภายในสามารถพัฒนาได้ทัน จีน Block ทุกอย่าง ผลของการ Block จีนก็มีความสามารถในการแข่งขัน สมมติถ้าจีนปล่อย ตอนนี้จีนก็เหมือนเรา”
คุณศิริวัฒน์แนะนำว่า หากไทยจะเปิดให้ต่างชาติลงทุนในไทย ก็ต้องกำหนดเงื่อนไขบางอย่างเพื่อทำให้ส่งผลดีต่อไทยจริงๆ
“เช่น คุณต้องมี Local Content ต้องมี Technology Transfer คุณต้องสร้าง R&D ในประเทศไทย คุณต้องมีการจ้างงานในประเทศไทย เหมือนกับที่มาเลเซียกำหนดว่าต้องมี Local Partner เกิน 50%”
คุณศิริวัฒน์กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าสู้ต่างประเทศไม่ได้ จำเป็นต้องให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่ก็ต้องมีกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาที่ประเทศไทย และมีคนไทยได้ประโยชน์
สำหรับปัจจุบันที่มีบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่ระดับโลกเข้ามาลงทุนในไทยในส่วนของ Data Center และ Cloud คุณศิริวัฒน์มองว่า “ในความเป็นจริง Cloud และ Data Center มีส่วนช่วย GDP ประเทศไทยน้อยมาก ถ้าคุณอยู่ในวงการ IT คุณก็จะเข้าใจว่า ที่เขาลงทุนเยอะ ทุกอย่าง Import หมด ทุกอย่างใน Data Center เป็นการ Import หมด แม้แต่สายเคเบิ้ล ทุกอย่างในการทำ Data Center เป็น Confidential ไม่มีทางที่เอาคนไทยมานั่งดู แสดงว่า มีการ Import และทำธุรกิจอาจใช้สถานที่ ใช้ไฟประเทศไทย แต่ Generate Revenue ไม่มี”
แม้ว่าการที่มี Cloud หรือ Data Center ในไทยเป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้าปล่อยไปก็จะเป็น ‘ยาพิษ’ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เช่น สัดส่วน Local Content แนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนไทย รูปแบบธุรกิจที่ต้องมีผู้ร่วมทุนเป็นคนไทย
“การที่เราไม่มีความสามารถในการแข่งขันจริงๆ เวลาที่เราเปิดประตูแบบนี้ และเขาเข้ามามีอำนาจเหนือตลาด เขาจะเพิ่มราคายังไงก็ได้ เขาจะเปลี่ยนกฎเกณฑ์ยังไงก็ได้ เราก็ต้องตาม สภาพตอนนี้ของเราก็แย่แล้ว แต่มันจะแย่กว่านี้เรื่อยๆ เราต้องคิดดูแล้วกันว่า หมู่มาก เราจะทำยังไงให้ SMEs แข็งแรงขึ้น ให้บริษัทใหญ่ๆ มีทางออก”
คุณศิริวัฒน์มองว่า ประเทศไทยก็มีกฎหมาย เช่น กฎหมาย Anti-Trust กฎหมายป้องกันการผูกขาด แต่ไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม คุณศิริวัฒน์ยังมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย “ผมเชื่อว่าถ้าเราดึง Spirit ของพวกเรากลับมา และ Contribute ในส่วนที่เราเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้า หรือรัฐบาล เมื่อนั้นเราก็จะมีทางตีตื้น แล้วกลับมาแข็งแรง เราเห็นแก่ตัวไม่ได้ เราต้องช่วยกัน อยู่ในเป้าเดียวกัน”