สมาร์ทโฟนกำลังจะโตเท่ากับประชากรโลก
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
…‘สมาร์ทโฟน’ กลายมาเป็นอวัยวะที่ 33 ของมนุษย์
…ในอีก 4 ปี ‘สมาร์ทโฟน’ จะโตเท่ากับประชากรโลก
…อนาคตสมาร์ทโฟน จะเปลี่ยนชีวิตผู้คนไปอย่างไรบ้าง?
ในปี 2024 มีการประเมินไว้ว่าทั่วโลกมีสมาร์ทโฟนมากถึง 7.2 พันล้านเครื่อง และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านเครื่อง ในปี 2029 ขณะที่จำนวนประชากรทั่วโลกในปัจจุบันมีอยู่ราว 8.2 พันล้านคน
จากจุดเริ่มต้นของโทรศัพท์มือถือเพื่อการสื่อสาร ก่อนจะพัฒนามาเป็นสมาร์ทโฟน เชื่อว่าวิวัฒนาการของสมาร์ทโฟนคงจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้
กำเนิดโทรศัพท์มือถือเครื่องแรก ก่อนจะมาเป็นสมาร์ทโฟน
โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีก่อนหน้าของสมาร์ทโฟน ถือกำเนิดในปี 1973 หลังจาก มาร์ติน คูเปอร์ จาก Motorola เป็นผู้ทำการโทรด้วยโทรศัพท์มือถือครั้งแรก แม้ว่าการพกพาโทรศัพท์มือถือจะยังไม่เกิดขึ้นจริงจนกระทั่งอีกสิบปีต่อมา แต่พัฒนาการนี้ได้ปูทางให้กับความก้าวหน้าต่อไปในการสื่อสารแบบเคลื่อนที่

ในอีก 11 ปีถัดมา หรือปี 1984 บริษัท Motorola ได้เปิดตัวโทรศัพท์มือถือเครื่องแรก คือ DynaTAC 8000X ด้วยราคาสูงถึง 4,000 ดอลลาร์ แต่มือถือรุ่นดังกล่าว หนักถึงสองปอนด์ จนได้รับฉายาว่า “The Brick” ขณะที่แบตเตอรี่ก็สามารถใช้งานได้เพียง 30 นาทีเท่านั้น ทำให้มันไม่เหมาะกับการเป็นโทรศัพท์สำหรับพกพาเท่าไร อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นก้าวสำคัญในวิวัฒนาการของสมาร์ทโฟน
ผ่านมาอีกเกือบ 1 ทศวรรษ ในที่สุดสมาร์ทโฟนเครื่องแรกก็ถือกำเนิดขึ้น
IBM ได้ประกาศเปิดตัวสมาร์ทโฟนเครื่องแรกในปี 1992 ในชื่อ Simon Personal Communicator (หรือ SPC ที่รู้จักกันในชื่อ IBM Simon) มีฟีเจอร์หลายอย่างที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสมัยนี้คุ้นเคย เช่น หน้าจอสัมผัสที่ต้องใช้สไตลัส หรือ ปากกา
ถึงแม้ว่า SPC จะมีหน้าจอ LCD แบบโมโนโครมขนาดเล็ก และอายุการใช้งานแบตเตอรี่เพียงหนึ่งชั่วโมง แต่ก็ยังถือว่าค่อนข้างเป็นเทคโนโลยีที่ดั้งเดิมเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน หลังจากนั้นสมาร์ทโฟนก็ค่อยๆ มีฟีเจอร์มากมายตามมา
ปี 1997 คำว่า ‘Smartphone’ ถูกใช้เป็นครั้งแรก จาก Ericsson ที่เรียกมือถือรุ่น GS88 ด้วยคำดังกล่าว แม้ว่าท้ายที่สุดท้ายมือถือรุ่น GS88 จะไม่ได้ถูกผลิตเพื่อวางจำหน่าย
ปี 2000 โลกได้รู้จักกับมือถือที่ถ่ายรูปได้เป็นครั้งแรก หลังจาก Sharp วางจำหน่ายมือถือรุ่น J-SH04 ในญี่ปุ่น
ปี 2001 มือถือมาบรรจบกับอินเทอร์เน็ตในที่สุดผ่านระบบ 3G
ปี 2007 อาจเรียกได้ว่าเป็น Game-Changer ของสมาร์ทโฟน หลังจากที่ Steve Jobs เปิดตัว iPhone รุ่นแรก
และหลังจากนั้นโลกของสมาร์ทโฟนก็เปลี่ยนไปตลอดกาล
32 ปี สู่ 7.2 พันล้านเครื่อง
นับจากปี 1992 สมาร์ทโฟนใช้เวลา 32 ปี เพิ่มจำนวนจนมีมากถึง 7.2 พันล้านเครื่อง คิดเป็นเกือบ 90% ของประชากรโลก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าประชากร 90% ของโลกที่มีสมาร์ทโฟน
แต่สาเหตุที่จำนวนสมาร์ทโฟนทั่วโลกสูงเกือบเท่าจำนวนประชากร เป็นเพราะธุรกิจจำนวนมากเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนนับพันเครื่อง


ปัจจุบันประเทศที่มีประชากรใช้สมาร์ทโฟนมากที่สุดคือ จีน รองลงมาคือ อินเดีย และตามมาด้วยสหรัฐฯ
จากจำนวนสมาร์ทโฟนทั้งหมดในปัจจุบัน ระบบปฏิบัติการที่ถูกใช้งานมากที่สุดคือ Android คิดเป็นสัดส่วนถึง 71.3% รองลงมาคือ iOS 27.7% ส่วนที่เหลือมี Market Share ไม่ถึง 1%
และจากการประมาณการณ์ของ Ericsson คาดว่าในปี 2029 จำนวนของสมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 8 พันล้านเครื่อง
การเติบโตของสมาร์ทโฟนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนาด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจาก The Mobile Economy Sub-Saharan Africa 2023 – GSMA ระบุว่าในปี 2023 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราประมาณ 290 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเข้าถึง 25% และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 45% ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโตนี้ ได้แก่
1. ราคาสมาร์ทโฟนที่ถูกลง จากการแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟน
2. การขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต เช่น เครือข่าย 4G และ 5G ช่วยให้ผู้คนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
3. แอปพลิเคชันและบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในท้องถิ่น
สมาร์ทโฟนเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล
สมาร์ทโฟนได้เปลี่ยนแปลงโลกอย่างที่ไม่เคยมีเทคโนโลยีใดทำได้มาก่อน และการเปลี่ยนแปลงนี้จะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต เทคโนโลยี AI และการเชื่อมต่อ 5G ได้ยกระดับประสิทธิภาพของสมาร์ทโฟนอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ทำให้การใช้งานแอปพลิเคชันที่ต้องการข้อมูลจำนวนมาก
สมาร์ทโฟนไม่ได้มีบทบาทแค่ในแง่เทคโนโลยี แต่ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ทางสังคมและแฟชั่น จากสถิติของ Pew Research Center ในปี 2021 พบว่า 85% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ใช้สมาร์ทโฟน และในบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ตัวเลขนี้สูงถึง 95% ความแพร่หลายนี้ทำให้สมาร์ทโฟนกลายเป็นมากกว่าสินค้าเทคโนโลยีธรรมดา มันกลายเป็นตัวบ่งบอกสถานะทางสังคมและสไตล์ส่วนบุคคล
ในด้านเศรษฐกิจ สมาร์ทโฟนได้ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการเติบโตของ E-Commerce และธุรกิจออนไลน์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Alibaba และ Amazon ซึ่งทั้งสองบริษัทได้ใช้ประโยชน์จากความสะดวกสบายในการชอปปิงผ่านมือถือเพื่อขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การวิจัยจาก eMarketer 2023 คาดการณ์ว่าการค้าผ่านมือถือ (M-Commerce) จะคิดเป็นสัดส่วนกว่า 73% ของการค้าปลีกออนไลน์ทั้งหมดภายในปี 2024 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังของสมาร์ทโฟนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
สมาร์ทโฟนไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือสื่อสารอีกต่อไป แต่กลายเป็นหัวใจสำคัญที่กำหนดทิศทางของธุรกิจ การใช้ชีวิตประจำวัน จากการเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชันทางการศึกษา การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปธนาคาร จนถึงการเชื่อมต่อกับเพื่อนและครอบครัวผ่านโซเชียลมีเดีย จนสมาร์ทโฟนได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ต่างจากอวัยวะที่ 33 ของร่างกาย