ไทยจะรับมืออย่างไร? เมื่อเกิดน้อย-แก่เยอะ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
“เด็กเกิดในครอบครัวที่ไม่พร้อม และไม่มีมาตรการที่ดีพอ สุดท้ายจะเติบโตเป็น ‘คนจนรุ่นใหม่’ และ ‘การศึกษา’ สามารถช่วยป้องกันการส่งผ่านความเหลื่อมล้ำจากรุ่นสู่รุ่นได้”
ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาใหญ่ คือ มีเด็กเกิดใหม่น้อย สวนทางกับจำนวนคนสูงวัยที่พุ่งเร็ว จนเรียกได้ว่า มีลักษณะพิเศษคือ เป็นประเทศที่กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ก่อนที่จะเป็น ‘ประเทศร่ำรวย’
ทุกภาคส่วนของ ‘ไทย’ ควรรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร Wealth Me Up ได้พูดคุยกับดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่จะมาชี้ทางออก เพื่อหลุดจาก ‘บ่วงวิกฤต’
โครงสร้างประชากรประเทศไทย วิกฤต?
ดร.สมชัยอธิบายว่า ไทยมีโครงสร้างประชากรที่คนแก่เร็ว และเด็กเกิดน้อย อัตราการเจริญพันธุ์ต่ำมาก โดยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1 กว่าๆ และที่สำคัญ สถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นตอนที่ประเทศไทยยังไม่รวย โดยส่วนมากประเทศที่เผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้ มักจะรวยก่อน
“ไทยน่าจะเป็นประเทศที่ค่อนข้างพิเศษนิดนึง ในแง่ที่ว่า น่ากังวล และหากถามว่า วิกฤตมั้ย ผมเคยตอบทีเล่นทีจริงว่า วิกฤตไปตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว คือ เลยจุดวิกฤตมาแล้ว”
เหตุผลที่ ดร.สมชัยใช้ตัดสินใจว่า อะไรวิกฤตหรือไม่วิกฤต คือ สามารถเตรียมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวทันหรือไม่ ซึ่ง ดร.สมชัยคิดว่า ประเทศไทยควรเตรียมตัวรับมือเรื่องนี้ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว
“เรารับมืออยู่ แต่น้อยเกินไปมาก และน่าจะไม่ทัน จึงพูดทีเล่นทีจริงว่า มันเลยจุดวิกฤตไปแล้ว”
โครงสร้างประชากรไทยเกินกว่าจุดวิกฤต
ดร.สมชัยอธิบายสถานการณ์โครงสร้างประชากรไทยในปัจจุบันว่า มีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณ 500,000 คน และอาจเริ่มไม่ถึง 500,000 คนภายใน 2 ปีนี้ ขณะที่มีสัดส่วนคนอายุเกิน 60 ปี เกิน 20% ของประชากรทั้งหมดไปแล้ว และจำนวนประชากรโดยรวมก็ลดลงตั้งแต่ประมาณ 4 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ เมื่อเจาะลึกลงไปในมิติย่อยก็จะพบปัญหามากขึ้น เช่น มีสัดส่วนคนแก่มากขึ้น และเป็นการแก่แบบไม่พร้อมในหลายเรื่อง คือ 1. รายได้ไม่พอ เงินออมไม่พอ และ 2. อายุยืนมากขึ้น เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์
“เมื่อมีอายุมากขึ้นแต่เงินออมไม่พอ ก็มีปัญหาว่าจะอยู่อย่างไร จะมีเงินพอใช้จ่ายประจำวันไปจนถึงวันสิ้นอายุขัยหรือไม่ก็เป็นประเด็น คนแก่ที่มีลักษณะแบบนี้มีสัดส่วนสูงมาก บางตัวเลขให้ไปถึงเกินครึ่งของคนเกษียณหรืออายุเกิน 60 ปี จึงไม่แปลกที่เราเห็นภาพว่า คนไทยอายุเกิน 60 ยังคงทำงานอยู่มีเยอะมาก หรือประมาณ 40% ของคนอายุเกิน 60 ปี ถ้าไปไล่ดูก็มักจะเป็นคนฐานะไม่ค่อยดี”
ดร.สมชัยชี้ว่า คนแก่กลุ่มนี้จำเป็นต้องทำงาน ไม่ได้เลือกทำงานเพราะมีความสุขในการทำงาน และงานที่ทำก็ค่อนข้างจะหนัก
ส่วนประเด็นเด็กเกิดน้อยก็มีมิติที่เป็นปัญหาซ่อนลึกคือ ในกลุ่มเด็กเกิดใหม่ปีละ 500,000 คน ประมาณ 60% หรือประมาณ 300,000 คน เกิดในครอบครัวที่ไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ
“ครอบครัวที่ว่าบางทีเราเรียกว่า ครอบครัว 60% ล่าง (Bottom 60) หรือการเรียงคนจากรวยมาจน เขาอยู่ 60% ล่าง ครอบครัวแบบนี้คงไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตขึ้นมาอย่างเต็มศักยภาพ คงส่งที่เรียนดีๆ ไม่ค่อยได้ และเผอิญ การศึกษาภาครัฐก็ไม่ค่อยดีด้วย จะมีโรงเรียนรัฐจำนวนเท่านั้นที่มีคุณภาพดี ที่เหลือประมาณ 70-80% คุณภาพจะไม่ดีเท่าไหร่”
ดร.สมชัยชี้ว่า เด็กที่เกิดในครอบครัว Bottom 60 จะต้องไปเรียนในโรงเรียนรัฐที่คุณภาพไม่ดีนัก ขณะที่พ่อแม่ที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำก็ให้เวลากับลูกได้ไม่มากพอ ไม่สามารถกล่อมเกลาลูก และให้ความอบอุ่นกับลูกได้ เพราะฉะนั้นเด็กจะมีปัญหาทั้งทาง EQ และ IQ เมื่อโตขึ้นมา
“ที่ฉายภาพไปเมื่อรวมกันแล้วหมายถึงภาพใหญ่ที่ส่งผลกระทบหลายเรื่อง เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ไม่น่าจะสูงแล้ว ที่มีวาทกรรมว่า เศรษฐกิจไทยหากขยายตัวตามศักยภาพจะซักเท่าไหร่ ตัวเลขที่ให้ตอนนี้โตไม่ถึง 3% และน่าห่วงว่า ถ้าเด็กยังเกิดน้อย และประชากรยังลดลง และคุณภาพไม่ดีนัก เป็นไปได้ว่า การขยายตัวตามศักยภาพจะค่อยๆ ลดลง ผมคาดว่า ไม่เกิน 10 ปี GDP ไทยโตเหลือ 2.5%”
——————————
“เด็กเกิดน้อย คนแก่พุ่ง คาดว่าไม่เกิน 10 ปี GDP ไทยโตเหลือ 2.5%”
——————————
ดร.สมชัยอธิบายต่อว่า เมื่อเศรษฐกิจเติบโตช้าก็หมายความว่า เงินทองในกระเป๋าของคนก็จะน้อยลงไปด้วย เช่นเดียวกับเงินของรัฐบาล
“ถ้าเศรษฐกิจโตช้า คนรายได้ไม่ดี ก็ไม่สามารถเสียภาษีได้ รัฐก็เก็บภาษีได้น้อยลง ก็ย้อนกลับมาว่า การดูแลของภาครัฐในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ การดูแลเด็ก ดูแลคนแก่ เรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ที่ต้องใช้เงิน จะ Transition ไปสู่พลังงานสีเขียวต้องใช้เงินทั้งสิ้น และภาครัฐจะต้องเป็นคนร่วมจ่ายในเรื่องนี้ แต่ถ้าภาครัฐมีเงินน้อยลง ปัญหาต่างๆ ที่พูดไปแล้วจะอาศัยภาครัฐอย่างเดียวไม่ค่อยได้แล้ว ดูมีปัญหาทบทวีกันหลากหลายมิติ”
ต้นตอวิกฤต ‘เด็กเกิดน้อย – สูงวัยพุ่ง’
ดร.สมชัยพูดถึงต้นตอของวิกฤตโดยเริ่มจากฝั่งปัญหาคนสูงวัยว่า ศักยภาพแรงงานไทยไม่ค่อยดี ส่วนใหญ่เกิดจากมีการศึกษาน้อย โดยคนอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป เรียนจบ ม.3 มีสัดส่วนน้อย ส่วนใหญ่เรียนจบไม่เกิน ม.3 และบางส่วนก็เรียนจบต่ำกว่านั้น
“คนกลุ่มนี้ในยุคที่โลกพัฒนาไปเร็วและต้องการเทคโนโลยีใหม่ ทักษะใหม่ แต่เนื่องจากเรียนมาไม่เยอะ ก็ไม่สามารถจะได้ทักษะใหม่ๆ เรียนรู้ไม่ได้ อายุก็เยอะขึ้น เรี่ยวแรงก็ถดถอยลง เพราะฉะนั้น กลุ่มนั้นก็จะมีรายได้ที่น้อยลง ที่ผมบอกว่าแก้ปัญหาไม่ทัน คือ จริงๆ แล้วถ้าปัญหาตรงนั้นมันต้องคิดในเรื่องการเพิ่มทักษะให้กับคนไทยตั้งแต่ 10-20 ปีที่แล้ว และมีการเจาะจงว่ากลุ่มไหนต้องทำอะไรบ้าง อันนี้เราไม่ได้ทำ เราทำแบบกระปริบกระปรอย กระจัดกระจาย”
ขณะเดียวกัน ในประเด็นการพัฒนาระบบสวัสดิการก็เป็นไปอย่างค่อนข้างช้า ซึ่งหากประเทศไทยมีระบบสวัสดิการที่ดีจะทำให้ป้องกันความเสี่ยงได้ เช่น หากมีคนในครอบครัวเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต ทำให้ครอบครัวมีปัญหา ระบบสวัสดิการจะช่วยให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถไปทำงานหารายได้ต่อได้ สามารถเพิ่มทักษะให้กับตัวเองได้ แต่ระบบของประเทศไทยทำให้คนมีรายได้น้อยตลอดชีวิต และเมื่อใกล้เกษียณก็จะมีปัญหาคือ เงินออมไม่พอ
——————————
“ระบบของประเทศไทยทำให้คนมีรายได้น้อยตลอดชีวิต และเมื่อใกล้เกษียณก็จะมีปัญหาคือ เงินออมไม่พอ”
——————————
สำหรับประเด็นเรื่องเด็กนั้น ดร.สมชัยชี้ว่า มีปัญหาเด็กเกิดน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนกว่าฝั่งผู้สูงอายุ เพราะว่าคนที่ไม่ค่อยยอมมีลูกมักจะเป็นคนที่มีการศึกษาสูง
“ถ้าจบปริญญาตรีขึ้นไปมักจะเลือกที่จะไม่มีลูก บางคนไม่มีแฟน หรือต่อให้มีแฟนก็ไม่มีลูก อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ และทั่วโลก แต่ผมสังเกตว่าของไทยเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว ค่านิยมแบบนี้ไปเร็วมาก การไม่อยากมีลูกเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก”
ดร.สมชัยอธิบายต่อว่า มีหลายสาเหตุที่ทำให้คนไม่อยากมีลูก เช่น รู้สึกว่าเป็นภาระ
“คำว่าเป็นภาระไม่ใช่ว่าไม่รักลูก บางคนยังไม่มีลูก แต่รู้ว่าถ้ามีแล้วจะรัก ถ้าเขารักปุ๊บ เขาอยากได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก แต่เขาถามตัวเองและรู้สึกว่าเขาให้ไม่ได้ สมมติว่าจะไปการศึกษาชั้นดีต้องเรียนอินเตอร์ เขาก็ถามตัวเองว่า เขามีเงินส่งเรียนอินเตอร์มั้ย อาจจะไม่มี ต่อให้เขาจบปริญญาตรี แต่เงินเดือนไม่ได้สูงมาก เพราะค่าเทอมแพงมาก เพราะฉะนั้น ตัดสินใจไม่มีลูกดีกว่า หรือจะไปเรียนเปียโน เรียนพิเศษต่างๆ แพงทั้งสิ้น ก็เลยไม่มีลูก”
นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลอื่น เช่น อาจรู้สึกว่ารักความเป็นอิสระเสรีมากขึ้น อยากจะเที่ยวมากขึ้น และอยากใช้เวลาระหว่างสามีภรรยา หรืออาจมีเหตุผลอื่นที่ได้ยินบ่อยขึ้น คือ สังคมดูไม่ค่อยน่าอยู่ ทั้งเรื่องฝุ่นมลพิษ การเมืองเป็นพิษ เป็นต้น
“เขาไม่อยากมีลูกให้อยู่ในสังคมแบบนี้ เขาเองก็ไม่อยากอยู่ในสังคมนี้ ผลสำรวจพบว่า คนอยากย้ายประเทศกันเยอะ เจ้าตัวยังอยากย้ายประเทศ ก็คงไม่อยากให้ลูกอยู่ในประเทศนี้ ก็เลยไม่มีลูก”
ดร.สมชัยชี้ว่า ปัญหาเรื่องเด็กเกิดน้อยจะแก้ยากกว่า เพราะจะต้องแก้ปัญหาแบบองค์รวมจริงๆ เช่น สังคมเป็นพิษ การเมืองเป็นพิษก็ต้องแก้ที่จุดนั้น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก
นับ 1 แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย-สูงวัยพุ่ง
ดร.สมชัยมีข้อเสนอการแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยและจำนวนผู้สูงอายุพุ่งเร็ว โดยระบุว่า การ Upskill และ Reskill มีความสำคัญมากในการแก้ปัญหาสัดส่วนคนสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งภาครัฐและเอกชน และตัวผู้สูงอายุเองสามารถร่วมกันแก้ปัญหานี้ได้
“เจ้าตัวเองก็ต้องใฝ่หาความรู้ คนอายุ 50 ก็อย่าคิดว่าตัวเองแก่เกินเรียน ยังมีทักษะอีกหลายเรื่องซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ สมมติว่าจบไม่สูงก็จริง แต่อ่านออกเขียนได้ ดู YouTube ได้ก็สามารถหาความรู้จาก YouTube ได้ สิ่งที่ดูล้ำๆ เช่น AI ฟังดูแล้วเหมาะสำหรับคนจบม.3 มั้ย? ผมว่าจริงๆ มันก็เรียนรู้กันได้ เพราะยังมีคำสั่งที่สั่งได้ไม่ยาก ChatGPT สั่งได้ และมีเวอร์ชั่นฟรี ใช้ภาษาไทยได้ด้วย ผมคิดว่าเจ้าตัวก็ต้องอยากที่จะเรียนรู้ อยากจะเก่งขึ้น พัฒนาตัวเอง”
ขณะเดียวกัน ดร.สมชัยย้ำว่า ภาครัฐและเอกชนก็มีบทบาทช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เช่น การฝึกทักษะแรงงานใหม่ๆ น่าจะเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ขณะเดียวกันก็ต้องฝึกทักษะใหม่ๆ ให้กับพนักงานเก่าที่อายุเยอะด้วย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการให้กับพนักงานได้
“ภาครัฐต้องทำเป็นสเกลใหญ่ เป็นนโยบายชาติ ผมอยากให้มี National Program ด้าน Upskill และ Reskill คือต้องคิดใหญ่เลย บอกว่าปีนึง เราตั้งเป้าจะทำการ Upskill-Reskill คนไทยซัก 10 ล้านคน ที่ดูเหมือนเยอะ แต่เป็นสิ่งจำเป็นเพราะคนไทยประมาณ 40-50% อายุเยอะและการศึกษาไม่สูง พวกนี้ต้องการการ Upskill ซึ่งคนกลุ่มนี้มีประมาณ 20-30 ล้านคน เพราะฉะนั้น ฝึกปีละ 10 ล้านและวนไปเรื่อยๆ เพราะอีกซัก 3 ปี ทักษะนั้นอาจล้าสมัย”
ดร.สมชัยย้ำ การ Upskill-Reskill เป็นสิ่งที่ควรทำระดับชาติ ซึ่งยังไม่เห็นมีการดำเนินการ ซึ่งหากดำเนินการจะสามารถแก้ปัญหาคนสูงวัยได้เยอะ
ส่วนปัญหาอื่นๆ ของคนสูงอายุ เช่น การแก้ปัญหาคนไข้ติดเตียง ดร.สมชัยอธิบายว่า “เมื่อมีคนไข้ติดเตียงจะกลายเป็นภาระไปทั่ว เป็นภาระของคนในครอบครัว บางคนต้องลางานมาดูแลพ่อแม่ ซึ่งประเด็นนี้หากออกแบบดีๆ จะสามารถลดภาระส่วนนี้ได้”
ดร.สมชัยเสนอว่า อาจให้ชุมชนมาช่วยดูแลผู้สูงอายุที่ติดเตียง “สมมติเรามีชุมชนในชนบทหรือในเมืองก็ได้ ถ้ามีคนติดเตียง ก็บอกว่า เราจะเวียนกันไปดูแลคนนั้น คล้ายกับธนาคารเวลา คือ ช่วงที่คนนั้นสุขภาพดีอยู่ก็ดูแลคนอื่น แต่เมื่อเจ้าตัวเริ่มติดเตียง คนอื่นก็จะมาดูแล ซึ่งจะเป็นการดูแลโดยที่ไม่ต้องไปพึ่งพิงภาครัฐ และเป็น Concept ของการดูแลตัวเองได้”
สำหรับประเด็นเรื่องเด็ก ดร.สมชัยกล่าวว่า มีนโยบายหลายเรื่องที่พยายามเพิ่มอัตราการเกิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะคนไม่อยากจะมีลูก อย่างไรก็ตาม มีหลายประเทศพยายามทำ และบางประเทศประสบความสำเร็จบ้าง พร้อมยกตัวอย่างมาตรการจูงใจให้คนมีลูกว่า
“เช่น ให้แม่ลาคลอดได้นานขึ้น อย่างน้อย 180 วัน เพื่อให้แน่ใจว่า หลังลาคลอดเพื่อเลี้ยงลูกแล้ว ยังมีงานทำอยู่ ทำให้รู้สึกว่า ฉันยอมมีลูกก็ได้ เพราะว่าไม่ได้ขัดขวางการทำงาน”
ขณะเดียวกัน บางประเทศมอบสิทธิ์ลาเลี้ยงลูกให้กับพ่อด้วย หรืออาจสลับกันได้ เพราะบางกรณี แม่มีรายได้ดีกว่าพ่อ จึงให้พ่อเป็นคนเลี้ยงดูลูกแทน ก็จะสามารถปรึกษาและตัดสินใจที่จะมีลูกได้
ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการจัดการเรื่องศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (Child Center) ที่มีคุณภาพและฟรี
“ประเทศที่มีข้อเสนอแบบนี้ พ่อแม่จะตัดสินใจมีลูกได้ง่ายขึ้น เพราะหนึ่งในปัญหาคือ ถ้าเด็กยังคงเล็กอยู่ ดูแลเองก็ไม่ไหว จะให้ปู่ย่าตายาย เดี๋ยวก็ล้มหายตายจาก แต่ถ้ามีศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพและไว้ใจได้ คำว่ามีคุณภาพไม่ใช่แค่เอาเด็กไปกินไปนอน สามารถฝึกทักษะให้เด็กได้ด้วย ฝึกเรื่อง EQ-IQ ต่างๆ ถ้าได้อย่างนั้น พ่อแม่ก็รู้สึกว่า ฉันยอมมีลูกได้”
ดร.สมชัย กล่าวต่อว่า หลายแห่งก็ทำเรื่อง Work-Life Balance ด้วย
“พ่อแม่เมื่อมีลูกก็ต้องการใช้เวลากับลูก ใช้เวลากับครอบครัว จะจนถึงลูกเข้าเรียน หรือกระทั่งหลังเรียนแล้วก็ยังอยากจะได้แบบนั้น อันนี้ภาคเอกชนช่วยได้ เอกชนก็บอกว่า คุณทำงานกับเรานะ เรารู้ว่าคุณมีครอบครัว เวลาทำงานก็ Flexible ขึ้น มี Work from Home บ้าง ก็สามารถจัดเวลาไปอยู่กับครอบครัวและลูกได้ ตัวพ่อแม่ก็ไม่รู้สึก Guilty ว่าทิ้งลูกเอาไว้ นี่ก็จะผ่อนคลายความกังวลที่ว่า ถ้ามีลูกแล้วจะมีปัญหานู่นนี่ตามมา”
ดร.สมชัยย้ำว่า หลายประเทศใช้นโยบายข้างต้น และทำแบบเป็นแพ็กเกจ คือ ไม่ได้ให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
“ประเทศที่ทำเป็นแพ็กเกจจะมีสถานะดีนิดนึง เช่น ฝรั่งเศส นอร์เวย์ สวีเดน ถ้าใกล้มาหน่อยก็คือ เกาหลีใต้ ซึ่งก็รวยอยู่ดี ญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องยอมรับว่า มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่มีต้นทุน ศูนย์เด็กเล็กที่ฟรีและคุณภาพดีด้วยคงจะแพง และหากภาครัฐเป็นคนจัดก็ต้องจัดงบประมาณมาก็คงจะแพง มันก็เลยเกิดขึ้นในประเทศที่ฐานะดีนิดนึง”
ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยมีปัญหาเด็กเกิดน้อยและคนสูงวัยขาดทักษะ อีกทั้งมีงบประมาณจำกัด หากต้องเลือกว่าจะต้องให้น้ำหนักกับประเด็นปัญหาไหนมากกว่ากัน ดร.สมชัยตอบว่า ทั้งสองเรื่องต่างมีความสำคัญ แต่หากมองในมิติอนาคตประเทศ ‘ปัญหาเด็กสำคัญกว่า’ คือ ต้องทำให้เด็กเกิดมากขึ้น และที่สำคัญกว่านั้นคือ เกิดแล้วต้องโตอย่างมีศักยภาพ ซึ่งมีความสำคัญมาก
พร้อมกับยกงานวิจัยมาอ้างอิงว่า “ไม่ว่าจะลงทุนกับส่วนนี้ไปเท่าไหร่ ผลที่ตอบรับกลับมาคุ้มค่า มีนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่ทำเรื่องนี้พบว่า การลงทุนกับเด็กให้ผลตอบแทนกลับคืนมา 7 เท่า เมื่อเทียบกับการลงทุนในคนแก่ ผลตอบแทนอาจไม่สูงมากนัก แต่ยังไงเราก็ต้องดูแลคนแก่ มันเป็นเรื่องของมนุษยธรรม”
——————————
“หากมองในมิติอนาคตประเทศ ‘ปัญหาเด็กสำคัญกว่า’ คือ ต้องทำให้เด็กเกิดมากขึ้น และที่สำคัญกว่านั้นคือ เกิดแล้วต้องโตอย่างมีศักยภาพ”
——————————
Health Span เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ
ดร.สมชัยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ Health Span ว่าเป็นแนวคิดที่ว่า ‘อย่าเป็นโรคร้ายแรงเร็วเกินไป’ เช่น กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) ได้แก่ หัวใจ โรคเบาหวาน มะเร็ง ที่คร่าชีวิตคนเยอะ และทำให้ผลิตภาพลดลงด้วย หากเป็นโรคเหล่านี้
“ที่น่าเป็นห่วงคือ คนไทยเป็นโรคประเภทนี้ด้วยอายุที่น้อยลงๆ Health Span หมายความว่า ต้องยืดเวลาช่วงชีวิตที่มีสุขภาพดี สมัยก่อนอาจอยู่ซัก 50 กว่าจะเริ่มเจอโรคหัวใจ โรคต่างๆ ตอนนี้ลดเหลือ 40 บางคน 30 ก็เริ่มเจอโรคแล้ว เพราะฉะนั้น Health Span ก็จะสั้นลง และพอเป็นโรคปุ๊บก็จะเป็นภาระต่อทุกคน ทั้งตัวเองและคนอื่น”
ดร.สมชัยมองว่า การยืด Health Span ให้อย่างน้อยกลับไปเท่ากับสมัยก่อน ไม่ให้สั้นลงเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยนโยบายที่สามารถทำได้มีหลายอย่าง เช่น โภชนาการที่ถูกต้อง
“เราเห็นเด็กอ้วนมากขึ้นเรื่อยๆ กินขนมกรุบกริบ ไขมันสูง ทำให้เด็กอ้วนและมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค NCDs ไลฟ์สไตล์ที่ไม่ค่อยดี เครียด ซึ่งเด็กเดี๋ยวนี้ก็เครียดแล้ว ซึ่งทำให้เกิดเรื่องของ NCDs ได้เร็วขึ้น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย”
นอกจากปัจเจกบุคคลแล้ว ดร.สมชัยบอกว่า ภาคส่วนอื่นๆ ก็สามารถช่วยได้ เช่น การให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ (Health Literacy) ซึ่งภาครัฐดำเนินการอยู่ แต่อาจสำเร็จบ้างหรือไม่สำเร็จบ้าง ขณะเดียวกัน องค์กรเอกชนก็สามารถช่วยได้ โดยมีแนวคิดของ Health Organization หรือองค์กรที่เสริมสร้างสุขภาพดี
“เช่น เราประกาศว่าเป็น Health Organization สิ่งที่องค์กรจะทำคือให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องให้กับพนักงาน อาจจะมีโครงการตรวจสุขภาพ จะทำให้เขาตระหนักถึงปัญหาของสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ ให้คำแนะนำรายบุคคลว่าจะต้องปรับพฤติกรรมอย่างไร ชุมชนก็สามารถให้ความรู้การดูแลสุขภาพแก่สมาชิกในชุมชนได้”
‘คนจนรุ่นใหม่’ ความเหลื่อมล้ำที่ถูกส่งต่อ
ปัญหาจากโครงสร้างประชากร ที่นอกเหนือจากคุณภาพของเด็กที่อาจเติบโตไม่ได้เต็มศักยภาพเท่าไหร่นัก ก็ยังมีประเด็นเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่ถ่างกว้างขึ้น ดร.สมชัยมองว่า สองสิ่งนี้มีความเชื่อมโยงกันโดยเฉพาะในแง่มิติย่อยที่เด็กเกิดใหม่น้อยลง และเด็กที่เกิดมาก็อยู่ในครอบครัวที่ไม่พร้อมดูแลเด็ก
“การที่ 60% เกิดในครอบครัวที่ไม่พร้อม เพราะว่าตัวพ่อแม่เองก็เหลื่อมล้ำตั้งแต่ต้น มีครอบครัวที่ยากจน ครอบครัวที่ไม่พร้อม และครอบครัวที่รวย…รวยกระจุก จนกระจาย พอมันกระจายปุ๊บ เด็กเกิดมาน้ำหนักก็เทไปที่แถวครอบครัวที่ไม่พร้อม คนที่ฐานะน้อยก็มักจะมีลูกมากกว่า ความเหลื่อมล้ำก็เลยโยงกันไปโยงกันมา ในแง่ที่ว่า ทำให้เด็กเกิดน้อยลงก็จริง และทำให้สัดส่วนเทไปสู่เด็กที่เกิดในครอบครัวซึ่งอาจจะไม่พร้อม เพราะมีความเหลื่อมล้ำในสังคมก่อนตั้งแต่แรก”
ดร.สมชัยชี้ว่า เด็กเกิดในครอบครัวที่ไม่พร้อม และไม่มีมาตรการที่ดีพอ สุดท้ายจะเติบโตเป็น ‘คนจนรุ่นใหม่’ หรือเป็นการถ่ายทอดความเหลื่อมล้ำจากรุ่นพ่อมาสู่รุ่นลูก
——————————
“เด็กเกิดในครอบครัวที่ไม่พร้อม และไม่มีมาตรการที่ดีพอ สุดท้ายจะเติบโตเป็น คนจนรุ่นใหม่”
——————————
“เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยก็รวยต่อ เด็กที่เกิดในครอบครัวที่อยากจนก็โตมาเป็นผู้ใหญ่ซึ่งจน พ่อแม่เคยเหลื่อมล้ำยังไง ลูกก็เหลื่อมล้ำยังงั้น”
จากสถานการณ์ดังกล่าว ดร.สมชัยย้ำว่า จำเป็นต้องมีมาตรการที่ต้องสามารถทำให้เด็กทุกคนเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ หากเป็นเช่นนั้น ความเหลื่อมล้ำก็อาจไม่ส่งผ่านจากรุ่นพ่อมายังรุ่นลูก
“เรื่องสำคัญที่สุดที่ช่วยป้องกันการส่งผ่านความเหลื่อมล้ำรุ่นต่อรุ่นคือ ‘การศึกษา’”
——————————
“การศึกษาสามารถช่วยป้องกันการส่งผ่านความเหลื่อมล้ำจากรุ่นสู่รุ่นได้”
——————————
ดร.สมชัยอธิบายต่อว่า หากย้อนดูในอดีต หลายคนเกิดในครอบครัวที่ยากจน แต่สุดท้ายขึ้นมาเป็นคนชั้นกลางได้ หรือบางคนก็เป็นคนรวยได้เพราะ ‘การศึกษา’ ดังนั้น การศึกษาจึงมีศักยภาพที่จะช่วยให้หลุดพ้นความยากจนได้ แต่ปัญหาคือ การศึกษายังทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ
“คะแนน PISA คะแนน O-NET สะท้อนว่า เด็กจำนวนเยอะมากยังได้รับการศึกษาที่คุณภาพไม่ดีพอ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะโตมาแล้วหลุดพ้นความยากจนก็จะน้อยลงไป”
ดร.สมชัยไม่ได้ฟันธงว่า สิ่งนี้จะเรียกว่า Quick Win หรือไม่ แต่ก็ย้ำว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำ และคิดว่า “ถ้าทำถูกวิธี อย่างน้อยเด็กรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาในระบบการศึกษา ถ้าระบบการศึกษาทำให้ดีขึ้นแล้ว รุ่นใหม่เข้ามาปุ๊บก็ได้ประโยชน์ทันที ในแง่นี้ก็ Quick นะสำหรับคนรุ่นนั้น”
ส่วนคนรุ่นที่ผ่านไปแล้ว ก็จะต้องหามาตรการตามไปแก้ไข หรือหากเป็นคนที่เรียนจบแล้ว ทำงานแล้ว แต่จบการศึกษามาแบบไม่ค่อยดีนัก ดร.สมชัยแนะนำว่า ต้องมีโครงการ Upskill-Reskill ช่วย ซึ่งต้องทำเป็นแพ็กเกจ
สำหรับประเด็นคนกลุ่ม Bottom 60 ดร.สมชัยมองว่า เป็นกลุ่มคนที่ต้องให้ความสนใจ เพราะว่ามีจำนวนเยอะ และที่สำคัญคือ มีเด็กที่เกิดมามีศักยภาพซ่อนอยู่ในนั้นเยอะมาก
“เรื่อง IQ ไม่ได้มีความต่าง ไม่ว่าจะเกิดในครอบครัวแบบไหน ลูกคนรวยจะต้องฉลาดเสมอไป ลูกคนจนก็ฉลาดได้เช่นกัน เพียงแต่ถ้าเขาเกิดมาด้วย IQ สูง แต่ถ้าไม่ได้รับการฟูมฝัก เขาก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก IQ นั้น”
ดร.สมชัยเล่าประสบการณ์ของตัวเองสมัยยังเรียนมหาวิทยาลัยและไปทำงานพิเศษว่า ตอนนั้นตัวเองชอบเล่นหมากกระดานและเล่นได้ค่อนข้างดี ชนะคนอื่นมาเยอะ และเคยไปเล่นหมากฮอสกับคนงานคนหนึ่งทำงานในโรงงาน และแพ้คนงานทุกตา ทั้งที่คนงานเรียนจบแค่ป.4
“แสดงว่าจริงๆ แล้วคนงานมี IQ สูงมาก จึงเล่นชนะผมได้ แต่คนนี้กลับไม่มีอนาคต เพราะจบแค่ป.4 เป็นได้แค่คนงาน และตอนหลังก็ได้ยินว่า ชีวิตก็ไม่ได้มีอนาคตอะไร เสียผู้เสียคนไปด้วยซ้ำ ผมว่าคนแบบนี้มีเยอะมาก แต่ละรุ่น เด็กเกิดมา 500,000 คน หรือสมัยก่อน 1 ล้านคน ไม่รู้ว่ามีพวกนี้กี่พันกี่หมื่นคน และแต่ละปี เราเสียคนแบบนี้ไป คำว่าเสียไปคือ ไม่ใช่แค่เจ้าตัวเสียอนาคต แต่สังคมไทยเสียโอกาสที่จะได้จากเขาด้วย”
ดร.สมชัยมองว่า คนที่มี IQ สูงกลุ่มนี้ ถ้าได้รับโอกาสก็อาจจะเป็นหมอ วิศวกร หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้น และอาชีพอื่นๆ ได้ โดยสังคมที่เสียโอกาสที่จะได้จากคนกลุ่มนี้ เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ ‘ Lost Einstein หรือ อัจฉริยะผู้สาบสูญ’
“ประเทศไทยมีอัจฉริยะผู้สาบสูญไม่รู้เท่าไหร่ และจะมีต่อไปเรื่อยๆ ถ้ายังไม่มีนโยบายดูแลเด็กเกิดใหม่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน”
เทคโนโลยีสร้างความเหลื่อมล้ำ?
เมื่อถามว่า เทคโนโลยีมีบทบาททำให้การ Upskill และ Reskill ได้ง่ายขึ้นและกว้างขึ้น หรือในโลกยุคเทคโนโลยีก็ยังมี ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เกิดขึ้น ดร.สมชัยแสดงความคิดเห็นว่า “หากปล่อยเทคโนโลยีไว้ ไม่ได้ทำอะไรกับมัน โดยทั่วไปจะสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะว่าเทคโนโลยีที่มาเร็วขึ้นทำให้คนทำงานเก่งขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น แต่คนที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้เต็มที่ก็มักเป็นคนที่มีความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า เช่น เรียนหนังสือสูงกว่า เข้าถึงข้อมูลได้ดีกว่า หรือมีเงินจะซื้อเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์”
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ตัวเทคโนโลยีเองจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ทั่วโลกดำเนินการคือ ต้องออกนโยบายที่ทำให้มิติการเพิ่มความเหลื่อมล้ำน้อยลง โดยดร.สมชัยเรียกนโยบายแบบนี้ว่า Inclusive Technology หรือ เทคโนโลยีต้องก้าวหน้าในลักษณะที่ให้ประโยชน์กับคนระดับล่าง
“เช่น พยายามทำให้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ เป็นประโยชน์กับคนระดับล่างด้วย และหากเป็นไปได้ก็ต้องทำให้เทคโนโลยีเป็นประโยชน์กับคนระดับล่างในสัดส่วนที่สูงกว่าคนระดับบน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก แต่ควรจะตั้งเป้าไว้แบบนั้น”
ดร.สมชัยมองว่า ในแง่ของมาตรการสำหรับเด็กเกิดใหม่ ที่ต้องทำศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กให้ดี ทำระบบการศึกษาให้ดี ก็ควรเพิ่มเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปในหลักสูตรให้เด็กซึมซับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
“ผมอยากเห็นเด็กซักป.3 ป.4 ใช้ ChatGPT ได้เก่งแล้ว และใช้ได้แม้กระทั่งเด็กในโรงเรียนวัด…ถ้ามีภาพแบบนี้เกิดขึ้น ผมคิดว่าจะช่วยเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำตอนที่เด็กพวกนี้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่”
ดร.สมชัยแสดงความคิดเห็นว่า บางคนอาจมองว่า ถ้าใช้ AI ช่วยแสดงว่าคนไม่ได้เกิดการเรียนรู้ ก็อาจมีส่วนจริงบ้าง แต่หากมองอีกด้าน ในเมื่อต่อไปทุกคนในโลกจะใช้ AI อยู่แล้ว ทำไมไม่สอนว่า ‘คุณจงใช้ AI ให้เก่ง’
ไทยเหมาะกับรัฐสวัสดิการหรือไม่?
ดร.สมชัยมองว่า ถ้าไปถึงจุดนั้นได้ก็อยากให้ไปถึงอยู่แล้ว เพียงแต่มันยากมาก เพราะประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่ไปแบบนั้นแล้วเก็บภาษีได้สูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนยอมจ่ายภาษีที่สูงด้วย แล้วคนที่ยอมจ่ายภาษีสูงก็คือคนรวยด้วย
ประเด็นคือคนรวยไทยไม่ยอมจ่ายภาษีสูง ๆ นี่เป็นมิติเชิงสังคมและการเมือง เพราะฉะนั้นสังเกตได้ว่า ถ้าจะมีเรื่องการเก็บภาษีคนรวย มักจะผ่านสภายากมาก
กระทั่งภาษีที่เก็บอยู่ทุกวันนี้อย่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็จะมีค่าลดหย่อนเยอะแยะไปหมด ถ้าไปไล่เรียงดูรายการลดหย่อนแต่ละรายการเป็นของคนรวยทั้งหมดเลย ซื้อบ้าน LTF ซึ่งต้องมีสตางค์ที่จะซื้อบ้าน ซื้อ LTF ก่อน ถึงจะได้ประโยชน์ การลดหย่อนก็จะเป็นประโยชน์กับคนรวย
“โครงสร้างภาษีของเราเก็บจากคนรวยน้อยกว่าสแกนดิเนเวียมาก ถ้าไม่มีตรงนี้ก็จะไปถึงจุดนั้นได้ยากมาก”
ดร.สมชัยกล่าวด้วยว่า “หากไปไม่ถึงตรงนั้น ก็พยายามไปใกล้ ๆ ก็ยังดี อย่างน้อยก็ต้องทั่วถึง ไม่มีการตกหล่นจากระบบสวัสดิการ ซึ่งทุกวันนี้ยังมีตกหล่น ไม่ว่าจะสวัสดิการไหนก็จะมีคนที่ไม่ได้ ก็ต้องแน่ใจในเรื่อง Coverage ให้มันทั่วถึงก่อน จากนั้นจำนวนเงินหรือผลประโยชน์ที่เขาได้อาจจะไม่ต้องสูงเท่าสแกนดิเนเวีย เพราะว่าเราไม่มีสตางค์ อาจจะน้อยกว่า อาจจะน้อยกว่าหลายเท่าเลยด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยมันโอเคในแง่ว่าเมื่อทั่วถึงแล้ว คนที่จนสุด ๆ ห้ามตกหล่น”
พร้อมยกตัวอย่างเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาท ซึ่งถือว่าไม่เยอะ แต่จากการทำวิจัยของดร.สมชัยพบว่า เงินก้อนนี้เยอะในสายตาคนที่จนมากๆ เพราะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่พวกเขาดีขึ้นพอสมควร เมื่อจนมาก ๆ เงินแต่ละบาทแต่ละสตางค์ล้วนมีคุณค่า
ดร.สมชัยย้ำว่า มิติเรื่องความทั่วถึง ไม่ให้ตกหล่น เป็นเรื่องสำคัญมาก
“ถ้า 600 บาทไม่พอ แต่ยังไม่มีสตางค์ที่จะให้สัก 2,000 บาท ก็อาจจะให้ 600 ก่อน หรือใจดีเป็น 900 บาทก่อน ไม่ต้องถึง 2,000 แต่อย่างน้อยต้องแน่ใจว่าไม่ตกหล่น นี่เป็นจุดที่ถ้าทำจริง ๆ ก็ไปถึงได้วันนี้-พรุ่งนี้เลยด้วยซ้ำ เพียงแต่ต้องเปลี่ยน mindset วิธีบริหารจัดการ”
ดร.สมชัยกล่าวถึงเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยว่า ปัญหาโครงสร้างมีหลายเรื่อง ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงต้นในแง่ที่ยังไม่ได้ทำอะไรเท่าไร
“ความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาโครงสร้างใหญ่มาก แต่ไม่ค่อยได้ทำอะไร พูดกันทุกวัน ทุกคนพูดหมด แต่ยังไม่ได้ทำอะไร จริงๆ หรือการศึกษาที่พูดกันมาก็ไม่ได้ทำอะไรมากมาย เรื่องการเก็บภาษีก็ไปไม่ถึงไหน หลายเรื่องยังค่อนข้างช้า และการเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาก็อยู่ในช่วงต้นมาก ไปไม่ถึงไหน”
รับมือวิกฤต เด็กเกิดน้อย สูงวัยพุ่ง
“ต้องพยายามช่วยตัวเองให้มากขึ้น” ดร.สมชัย เน้นย้ำถึงการช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
สมมติว่าเป็นเรื่องของคนแก่ ก็จะมีมิติของการช่วยเหลือในชุมชน หรือการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีเพื่อให้แน่ใจว่าไม่เป็นภาระทั้งต่อตัวเองและคนอื่น การ Upskill เพื่อเพิ่มศักยภาพ
ส่วนการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่ๆ ของสังคม คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพยายามมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น เพราะ Bottom Line คือการตัดสินใจทางการเมืองทั้งสิ้น เช่น การพยายามรู้เท่าทันนโยบาย ซึ่งเป็นนโยบายหวังผลระยะสั้น
“เวลาเข้าคูหาเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์เลือกตั้ง 1 คน 1 เสียงเท่ากัน พยายามใช้เสียงอย่างมีประสิทธิภาพ เลือกพรรค หรือเลือกนโยบายที่ให้ผลประโยชน์ในระยะยาว แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าปัญหาระยะสั้น นั่นเป็นตอนเข้าคูหาเลือกตั้ง 4 ปีหน แต่ระหว่าง 4 ปีก็ต้องมีส่วนร่วมด้วยในการส่งเสียงถึงผู้แทนหรือหัวคะแนนของเราว่านโยบายแบบนี้เราชอบ นโยบายแบบนั้นไม่ดี”
ถ้ามีเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ควรจะมีส่วนร่วม เพราะท้องถิ่นเป็นเวทีส่งเสริมประชาธิปไตยที่ดีมาก เนื่องจากพื้นที่เล็ก เวลาหาเสียงจึงชัดเจนว่าพื้นที่นี้ใครได้-ใครเสีย
แต่อีกมิติของกระบวนประชาธิปไตยคือตรวจสอบการใช้อำนาจว่าถูกต้องหรือไม่ เป็น 2 ด้านของเหรียญ ซึ่งอย่างหลังต้องทำตลอด 4 ปี ท้องถิ่นที่มีพื้นที่เล็ก ๆ ตรวจสอบง่ายกว่า และยังเป็นการฝึกใช้สิทธิ์ใช้เสียงทางการเมืองของตัวเอง เป็นการเทรนผู้นำท้องถิ่นให้ต้องฟังเสียงประชาชนมากขึ้น
“ประเทศที่แก้ปัญหาใหญ่ๆ ได้ อย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำมักเป็นประเทศที่การเมืองท้องถิ่นค่อนข้างเข้มแข็ง อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน พอการเมืองท้องถิ่นเข้มแข็งก็เป็นเหมือนโรงเรียนฝึกภาคปฏิบัติของผู้นำในอนาคต อย่าง ‘สี จิ้นผิง’ เคยบริหารเซี่ยงไฮ้และทำผลงานได้ดี”
ดร.สมชัยมองว่า ตาม Concept นี้ หากมีนายกฯ อบจ. ที่แสดงฝีมือว่าเก่งจริง ก็จะเป็น Candidate นายกฯ ที่ดีมาก เพราะหากบริหารพื้นที่ดังกล่าวเป็น การขึ้นมาบริหารระดับประเทศก็จะสามารถแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ได้
“การส่งเสริมประชาธิปไตยจากฐานรากจะช่วยแก้ปัญหาได้หลายเรื่อง แต่ว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมด้วย” ดร.สมชัยย้ำทิ้งท้าย