เรื่องเงินต้องสอน ของเด็กวัยเรียน
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
‘ความรู้ทางการเงิน’ สิ่งสำคัญของทุกช่วงวัย ยิ่งเริ่มต้นตั้งแต่เด็กๆ ยิ่งดี เพื่อสร้างพื้นฐานที่ดีสำหรับอนาคต
มาดูกันว่าจะสอน ‘เรื่องเงิน’ กับเด็กๆ ในแต่ละช่วงวัยยังไงได้บ้าง
วัยประถม
เป็นวัยที่ต้องใช้จ่ายด้วยเงินสด เพราะไม่สามารถสมัคร Mobile Banking ได้จนกว่าอายุ 15 ปี
- ปลูกฝังทัศนคติว่าเงินทุกบาทมีต้นทุน
โดยพ่อแม่ต้องไม่ตามใจ ให้ของที่ลูกอยากได้ง่ายๆ แต่ควรมีเงื่อนไขที่ต้องลงแรงแลกมา เช่น ทำการบ้านเสร็จก่อนเวลา แข่งขันได้รางวัล หรือช่วยงานบ้าน ที่นอกเหนือจากความรับผิดชอบตนเอง เพื่อให้เริ่มรู้จักคุณค่าของเงิน
- สอนการใช้จ่าย
ควรให้ค่าขนมเป็นรายวัน เพื่อจำกัดการใช้เงินเสมือนตั้ง Budget ใช้จ่าย และเวลาอยู่กับพ่อแม่หากมีการซื้อของไม่จำเป็น เช่น ขนม ของเล่น ฯลฯ ควรให้ลูกจ่ายเงินซื้อเองจากค่าขนมที่ให้ไป พร้อมสอนว่าเงินที่จ่ายไปหากรวมกันหลายครั้งแล้ว สามารถซื้อของเล่นชิ้นใหญ่ อะไรได้บ้าง เพื่อให้เริ่มเห็นความสำคัญของการเก็บออม
- สอนการเก็บเงิน
ควรมีกระปุกออมสินให้หยอดเงินค่าขนมที่เหลือแต่ละวัน โดยช่วงแรกอาจสรุปยอดเงินในกระปุกทุกสิ้นสัปดาห์ เพื่อให้ลูกได้รู้ยอดเงินและกระตุ้นให้อยากเก็บเงินต่อในสัปดาห์ถัดไป
วัยมัธยม
- สอนให้ออกแรงหาเงิน
โดยเริ่มจากการช่วยพ่อแม่ทำงาน ที่ไม่ใช่งานบ้าน เช่น ช่วยพิมพ์เอกสาร หาข้อมูล หรือหากที่บ้านมีกิจการอาจให้เป็นผู้ช่วยพนักงานเพื่อให้เริ่มเรียนรู้ชีวิตการทำงาน
- สอนการใช้จ่าย
เริ่มให้ค่าขนมเป็นรายสัปดาห์และขยับเป็นรายเดือน เพื่อให้รู้จักควบคุม Budget ให้เพียงพอกับรอบการรับค่าขนม รวมถึงสอนให้ทบทวนค่าใช้จ่าย เช่น ทบทวนและแจกแจงค่าใช้จ่ายตอนสิ้นวัน ว่าหมดไปกับอะไรบ้าง หรือหากใช้จ่ายผ่าน Mobile Banking ลองเช็กยอดจ่ายแต่ละรายการว่าหมดไปกับค่าอะไรบ้าง
- สอนการเก็บเงิน
ให้แยกบัญชีเงินเก็บออกจากบัญชีใช้จ่าย โดยเปิดบัญชีออมทรัพย์เล่มใหม่ เพื่อโอนค่าขนมที่เหลือในแต่ละสัปดาห์/เดือนมาเก็บไว้ และเมื่อสะสมได้ถึงยอดหนึ่งก็ถอนไปเก็บไว้ในเงินฝากประจำ เพื่อล็อกไว้เป็นเงินเก็บระยะยาว
วัยมหาวิทยาลัย
- สอนให้ทำงานหาเงินเองบ้าง
เช่น สมัครงาน Part-Time, สอนพิเศษ, รับจ้างอิสระที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่เรียนหรือความชอบส่วนตัว เพื่อให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตทำงานกับโลกภายนอก
- สอนการใช้จ่าย
ยังควรให้ค่าขนมที่เพียงพอกับการใช้จ่ายประจำวัน เพื่อไม่ให้กระทบการเรียน ส่วนค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือเพื่อเที่ยวกับเพื่อนอาจมีให้ได้บ้าง แต่ควรสอนให้รู้จักหาเงินส่วนนี้เพิ่มเอง อีกทั้งต้องสอนให้ตระหนักว่า การใช้จ่ายไม่จำเป็นต้องเหมือนเพื่อน เช่น เพื่อนในกลุ่มชอบเรียกรถจากแอป ส่วนตนอาจเลือกใช้รถประจำทาง ของใช้อย่างเช่น กระเป๋า เครื่องสำอาง ยี่ห้อก็อยู่ที่ความชอบของแต่ละคน
- สอนให้เริ่มมองหาผลตอบแทน
อาจเริ่มง่ายๆ ด้วยการใช้ e-Savings แทนบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป การเริ่มนำเงินเก็บไปลงทุนทางเลือกง่ายๆ เช่น กองทุน Term Fund ฯลฯ หรืออาจเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น กองทุนหุ้น คริปโทเคอร์เรนซี ฯลฯ แต่ต้องสอนให้แบ่งสัดส่วนเงินลงทุน อย่าทุ่มลงทุนกับสินทรัพย์ใดมากเกินไป แม้สิ่งนั้นเคยให้ผลตอบแทนสูงก็ตาม
การเรียนรู้เรื่องเงิน ไม่เคยมีคำว่าเร็วหรือสายเกินไป คนทุกวัยแม้แต่ในวัยเรียนก็ควรใส่ใจและเข้าใจการจัดการเงินส่วนบุคคล เพื่อจะได้มีเงินเก็บไว้ใช้ในอนาคต มีภูมิต้านทานและทักษะการใช้เงินที่จำเป็น ก่อนก้าวเข้าสู่วัยทำงาน ที่เริ่มมีเงินที่ต้องจัดการมากขึ้น
