ประหยัดเงินวันละ 1OO บาท เพื่อเงินหลักล้าน
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
เงินหลักร้อยในแต่ละวัน…เปลี่ยนเป็นเงินหลักล้านได้ ด้วย 3 วิธี อุดรูรั่ว ‘ค่าใช้จ่าย’
คนที่ประสบความสำเร็จทางการเงินส่วนใหญ่ คือคนที่รู้ว่าตัวเองใช้เงินแต่ละบาทแต่ละสตางค์ไปกับอะไรบ้างในแต่ละเดือน เมื่อรู้ว่า “เงินไปไหน” คราวนี้ก็จะตัดสินใจได้ว่า สิ่งที่เราจ่ายเงินซื้อหามานั้น “คุ้ม” หรือเปล่า และเราควรจะเสียเงินกับสิ่งๆ นั้นต่อไปดีหรือไม่
ต้องบอกเลยว่า ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้ทำบัญชีค่าใช้จ่ายของตัวเองเป็นประจำจะไม่รู้เลยว่า “เงิน” ที่หามาได้ใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง รู้ตัวอีกที เงินเดือนเกือบเกลี้ยงบัญชีแล้ว ถ้าไม่ใช่คนที่ทำบัญชีรายจ่ายเป็นประจำ ไม่รู้ว่าเงินไปไหน ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะรู้ว่า จะทำยังไง และจะหาเงินเก็บจากตรงไหนได้บ้าง
3 วิธี อุดรูรั่ว ‘ค่าใช้จ่าย’
1. จดบันทึกค่าใช้จ่าย
ลองหาวิธีหรือเครื่องมือจดรายละเอียดค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่คิดว่าเหมาะกับตัวเองที่สุด ซึ่งบางคนอาจจะเลือกจดและบวกเลขเอง หรืออาจจดใส่โปรแกรม Excel เพื่อสามารถคำนวณรายจ่ายได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีแอปพลิเคชันให้เลือกใช้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android เช่น Money Lover, MeTang (มีตังค์), Lumpsum, Spendee, Oh My Cost ที่ช่วยให้เก็บข้อมูลรายจ่ายได้แสนสะดวก
2. เก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 3-6 เดือน
เลือกวิธีและเครื่องมือที่ถูกใจได้แล้ว ก็ให้เก็บข้อมูลรายละเอียดการใช้จ่ายของตัวเองสัก 3-6 เดือน เพื่อดูว่า เราใช้จ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง
3. แจกแจงค่าใช้จ่าย เพื่อตัดรายจ่ายไม่จำเป็น
เก็บข้อมูลรายจ่ายของตัวเองได้นานแล้วก็ถึงเวลาเอาข้อมูลมาแจกแจงดูว่า เรามีรายจ่ายกับอะไรสูงที่สุด และตัดสินใจดูว่า เป็นรายจ่ายที่จำเป็นและสอดคล้องกับเป้าหมายในชีวิตของเราหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็ “ตัดเลย”
เปลี่ยนเงินหลักร้อย เป็นเงินหลักล้าน
อย่างเช่น ถ้าเราอุดรูรั่วค่าใช้จ่ายได้วันละ 100 บาท หลังจากทำงบประมาณรายรับ-รายจ่ายแล้ว มาเก็บออมและลงทุน
- เก็บออมเฉยๆ ไม่มีผลตอบแทน เราจะมีเงิน
1 เดือน = 3,000 บาท
1 ปี = 36,000 บาท
10 ปี = 360,000 บาท
20 ปี = 720,000 บาท
- ลงทุน หาผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี เราจะมีเงิน
20 ปี = 1,700,000 บาท
เห็นไหมว่า แค่เปลี่ยนตัวเองทีละนิด ใส่ใจในรายละเอียดเรื่องรายจ่ายขึ้นอีกหน่อย รู้จักคิดวิเคราะห์ ก็จะรู้ “ที่ไป” ของเงิน และถ้ารู้ว่าไม่จะเป็นต้องใช้เงินแบบนั้น เราก็เลือกเอาเงินก้อนนั้นมาเป็น “เงินเก็บ” ได้สบายๆ