×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

อีกด้านที่ ‘ซ่อนอยู่’ ของเศรษฐกิจ-ธุรกิจจีนที่ไทยต้องรู้!

231

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Youtube | Facebook | TikTokInstagramLine 

 

“ถ้าเราจะจับมือและทำแบบจีนให้ได้ รัฐกับเอกชนต้องคิดเหมือนกัน และยอมเสียบางส่วนเพื่อส่วนใหญ่ แต่ที่ผ่านมา คนไทยส่วนมากไม่ยอมเสียก่อน ถ้าคนอื่นไม่เสีย หรือถ้าเสียก็ต้องเสียเท่ากัน หรือไม่ก็น้อยกว่าคนอื่นก็ยังดี”

 

หากอยากรู้และเข้าใจการทำงานและการทำธุรกิจของชาวจีนอย่างลึกซึ้ง คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการพูดคุยกับคนไทยที่คลุกคลีทำงานกับองค์กรชั้นนำของจีนมายาวนาน Wealth Me Up เชิญคุณตฤณ วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย (TDTA) มาบอกเล่าเรื่องราวของลึกๆของ “จีน” แบบถึงแก่น…และคนไทยต้องรู้!

 

คุณตฤณ เล่าถึงที่มาที่ไปของการทำงานกับชาวจีนว่า เกิดขึ้นในช่วงที่ Alibaba สนใจเข้ามาร่วมกิจการกับ Lazada ที่คุณตฤณทำงานอยู่ 

 

มีช่วงหนึ่งที่เราต้อง Handover งานบางตัว และมองเห็นว่ามีงานหรือ Project อะไรบ้างที่เราสามารถเข้าไปร่วมได้ ซึ่งมีหลาย Project โดยหนึ่งในนั้นคือเรื่องของการพัฒนาสังคม และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกร

 

คุณตฤณเล่าว่า ตอนนั้นมี 2 โครงการ คือ โครงการ Jack Ma Foundation ซึ่งเน้นเรื่องการศึกษา และโครงการ Alibaba Foundation เน้นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งคุณตฤณได้สมัครทั้งสองโครงการ

 

สมัครไป 2 โครงการ เพื่อหาโครงการที่เหมาะกับเราที่สุด เราก็ลองไปทำ แต่อันที่ทำนานที่สุด และไปร่วมหลายโครงการที่สุด คือของ Alibaba Foundation และเอาความรู้ส่วนนั้นตั้งแต่เรื่องการไลฟ์สด การเลือกผลิตภัณฑ์ การทำ Supply Chain จัดส่งสินค้า มาทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างหน่วยงาน DITP (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) สสว. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) เคยลงไปช่วยพื้นที่ภาคใต้ เป็นการแปรรูปอาหารทะเลส่งออก

 

ปัจจุบัน หลังจากได้ร่วมงานกับทีมงานที่ประเทศจีนเป็นเวลานาน คุณตฤณได้ช่วยงานของสภาส่งเสริมการค้าข้ามแดนของจีน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ โดยการทำงานของหน่วยงานนี้ เมื่อรัฐบาลจีนทำข้อตกลงทางการค้า หรือ ข้อตกลงสนับสนุนส่งเสริมกับประเทศใด สภาฯ จะส่งคนที่มีประสบการณ์ในนามของรัฐบาลจีนมาช่วยทำงานในโครงการดังกล่าว 

 

ผมเคยทำ Application มาเยอะ สภาฯ ก็ส่งผมไปทำ Application ที่เกี่ยวกับต่างประเทศที่ไม่ใช่ประเทศไทย แต่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว มาเลเซีย

 

เศรษฐกิจจีนยังทรงๆ ทรุดๆ

 

หลังจีนเปิดประเทศตั้งแต่วิกฤต COVID-19 ยุติลง หรือ Zero COVID คุณตฤณมองว่า  ในภาพใหญ่ จีนอยู่ในภาวะที่เรียกว่าทรงๆ ทรุดๆ 

 

แต่ในภาพที่รัฐบาลพยายามช่วยเหลือและกระตุ้น เช่น ภาคธนาคาร การเงิน มีการออกนโยบายลดดอกเบี้ย เพื่อให้คนกล้ากู้เงินนำมาใช้จ่าย หรือบริษัทขนาดย่อมและขนาดกลางกล้ากู้เงินมาลงทุนเพิ่ม เพื่อกระตุ้นการใช้เงิน นี่คือสิ่งที่ภาครัฐทำได้

 

ขณะเดียวกัน ภาครัฐจีนพยายามส่งเสริมและดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งธุรกิจในจีน 

 

คุณตฤณชี้ว่า ตอนนี้ปัญหาหนักอกเรื่องหนึ่งของรัฐบาลจีนคือ อัตราการว่างงานของคนที่เรียนจบแล้ว และทัศนคติการทำงานของคนหนุ่มสาวยุคนี้ ซึ่งจะเลือกงานที่ใช้ High Skill ก่อน เพราะรู้สึกว่าตนเองไปถึงจุดดังกล่าวได้ และถ้ายังพยายามไม่มากพอ ก็จะพยายามต่อไปเรื่อยๆ 

 

สมมติตั้งเป้าเข้าบริษัท A ที่เก่งมากๆ ด้าน AI สอบสัมภาษณ์ครั้งที่ 1 คนนี้เก่งมาเรื่อง AI สัมภาษณ์ครั้งที่ 1 ไม่ผ่าน ปกติคนเราต้องไปทำงานที่อื่นซักพักแล้วค่อยกลับมาตั้งต้นใหม่ แต่คนรุ่นใหม่จะรอประกาศรอบใหม่ และระหว่างนี้จะไปเป็นไรเดอร์ ทำงานที่เป็น Gig Economy ทุกอย่าง และจะต้องเข้าที่นี่ให้ได้ เมื่อ 5 ปีผ่านไปยังเข้าไม่ได้ทุกครั้งที่มีการประกาศรับ ค่อยมอง Second Priority”

 

แม้คนจีนจำนวนมากจะทำงานแบบ Gig Economy แต่พวกเขาไม่ได้ถูกลงทะเบียนว่ามีงานทำ ส่งผลให้อัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่อยู่ในระดับสูง ภาครัฐจึงกังวลว่า หากคนมีค่านิยมแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ รัฐจะบริหารประเทศอย่างไร เนื่องจากขาดแรงงานสำคัญ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ‘การตั้งใจทำงาน’

 

คนรุ่นใหม่มีจ๊อบหลายจ๊อบ และบางจ๊อบประหลาดมาก เช่น มีอาชีพไรเดอร์ส่งอาหารของ แต่จะมีอีกแอปพลิเคชันคือ Building Delivery ซึ่งคนที่รับงานจะยืนประจำตึกในช่วงเวลา 11.00-13.00 . และคอยสอบถามว่า ลูกค้าของแต่ละออเดอร์อยู่ชั้นไหนของตึก และจะ Sourcing ไปแลกบัตรทีเดียว กดลิฟท์ไล่ส่งไปทีละชั้น แทนที่ไรเดอร์จะได้ค่าส่ง 30 บาท ก็จะแบ่งให้มนุษย์ป้ามนุษย์ลุงอีก 5 บาท 10 บาท ไรเดอร์สามารถไปทำรอบได้

 

คุณตฤณยกตัวอย่างว่า เคยมีหนุ่มชาวจีนที่ไม่มีงานประจำ แต่ทำงานแบบ Gig Economy สามารถมีเงินใช้เปย์ผู้หญิงที่ตัวเองหมายปองมากถึงปีละหลายสิบล้านบาท หนุ่มคนนั้นมีอาชีพรับจ้างเล่นเกม และรับจ้างเช็กชื่อ ซึ่งการเล่นเกมออนไลน์ในจีนมีการจำกัดชั่วโมง และอายุของคนเล่น เช่น เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เล่นได้เฉพาะวันศุกร์และเสาร์ วันละ 1-2 ชั่วโมง

 

การเช็กชื่อ คือ การที่ภาครัฐบังคับให้ลงชื่อ เช่น คนอยากเล่นเกมออนไลน์ในจีน ต้องเสียบการ์ดก่อน ถ้าอยากเล่นนาน มีเงื่อนไขคือ ต้องมีเกรดเฉลี่ยการเรียน และต้องทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ แต่หากติดเกม ก็จ้างคนไปทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์แทน เพื่อเอา Social Score เพื่อเล่นเกมได้นานขึ้น และหา Item จากเกมไปขายได้เงินมา

 

นอกจากนี้ บางบริษัทต้องการให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี ต้องออกกำลังกาย เพื่อแลกกับเกรดหรือโบนัส และมีสิ่งหนึ่งที่บริษัทจะให้คือ Wristband หรือ Smart Watch แต่คนที่ไม่มีเวลาก็จะนำอุปกรณ์เหล่านี้ให้กับคนที่ทำงานแบบ Gig Economy ไปออกกำลังกายแทน และจ่ายค่าวิ่ง ซึ่งหมายความว่า ในความเป็นจริงยังมีเงินในระบบเศรษฐกิจจีน แต่ไม่ใช่เงินจากงานประจำ จากสถานการณ์ที่มีเงินแฝงอยู่ในระบบจีนแบบนี้ คุณตฤณเชื่อว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตประมาณ 4-5% ได้อย่างแน่นอน

 

คนรุ่นใหม่จีนกำลังคิดอะไรอยู่?

 

คนจีนรุ่นใหม่มีความเชื่อตามลัทธิขงจื้อที่ว่า ‘คนเรา ทางเดินที่ไปได้สูงที่สุด คือ ฐานที่แข็งแรงที่สุด’ ดังนั้นบริษัทที่คนรุ่นใหม่มองหาคือ บริษัทระดับท็อป

 

สมมติเราเป็นคนจีนและเดินแถว IFC Mall ในนครเซี่ยงไฮ้ และเห็น Mall ของซีพี เจียไต๋ กรุ๊ป ดัง ถ้ามีเป้าหมายว่าอยากทำธุรกิจค้าขายและเติบโตในประเทศไทย ต้องเข้าตึกนี้ให้ได้ ทำงานในบริษัทนี้ให้ได้ หรือว่าถ้าคุณต้องการทำงานสายเงินสายธนาคาร ก็มีไม่กี่แบงก์ เช่น HSBC Bank หรือ UOB Bank ต้องไปอยู่ธุรกิจนั้นให้ได้ ถ้าคุณอยากโตในธุรกิจธนาคารของจีน คุณต้องเข้าแบงก์จีน

 

คุณตฤณเล่าประสบการณ์ที่ได้จากการสัมภาษณ์คนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งว่า “ผมถามเขาว่า มี ICBC Bank, Bank of China แต่ก็ยังมีแบงก์อื่นดังๆ เช่น Merchant Bank, SME Bank ถ้าคุณยังไม่มีงาน ทำไมคุณถึงไม่เข้าที่นั่นก่อน เขาตอบว่า มันเป็นแบงก์เฉพาะทาง และทำให้เวลาเขาไปสมัครงาน ธนาคารใหญ่ๆ จะให้คุณอยู่ในบริษัทลูกในเครือของแบงก์ใหญ่อีกที อยู่ในหน่วยงานที่ซัพพอร์ต SME และจะกลับมาโตที่องค์กรส่วนกลางยาก เขาก็เลยพยายามทำยังไงก็ได้ ให้ได้อยู่ตรงนี้ก่อน”

 

ดังนั้นระหว่างที่กำลังรองานที่ตั้งเป้าหมายไว้ คนรุ่นใหม่จีนก็อาจจะไปสอบใบอนุญาต เช่น Chartered Financial Analyst (CFA) ใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีไว้ และระหว่างสอบและเรียนก็จะไปทำงานแบบ Gig Economy ก่อน

 

 เบื้องหลังการทำงานกับ Jack Ma 

 

สำหรับการทำงานสไตล์คนจีน คุณตฤณแจกแจงว่า มี 2 ระดับ คือ ระดับบริหาร และระดับ Gig Economy ผสมกับพนักงานออฟฟิศ

 

ที่เราเห็นว่าต้องทำงานแบบ 888 หรือ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม อันนี้คือเบาสุดแล้วครับที่เคยเจอ แต่แบบ 976 ที่บอกว่าทำงานสัปดาห์ละ 6 วันไม่เคยเจอ ทุกวันนี้ที่เคยเจอ 7-11 ยังน้อยไป บางคน 7-24 คือ ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ วันละ 24 ชั่วโมง อันนี้คือที่เคยเจอ

 

ส่วนเวลาการทำงานที่คุณตฤณเคยทำเองนั้นคือ 1 ปีมีวันหยุดตรุษจีน 1 ครั้งๆ ละ 5 วัน และทำงานวันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ ขณะที่สัญญาจ้างกำหนดวันทำงานจันทร์ถึงศุกร์

 

ตามสัปดาห์จ้างของผมคือ เข้างาน 9 โมง เลิกงาน 6 โมง ทำจริงคือ เสร็จงานประมาณตี 2 และเข้างานมาเตรียมประชุมประมาณ 7 โมงเช้า เราจะมีเวลานอน 5 ชั่วโมง อันนี้คือชีวิตผมที่ทำอยู่ ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ จันทร์ถึงอาทิตย์ และอันนี้คือสิ่งที่น้องๆ เพื่อนๆ คนจีนทำอยู่ทุกวันนี้

 

คุณตฤณบอกว่า การจะแข่งกับคนจีน ตอนที่เรา (คนไทย) หลับ เขา (คนจีน) ยังทำงานอยู่

——————————

“ตอนที่เรา (คนไทย) หลับ เขา (คนจีน) ยังทำงานอยู่”

——————————

แต่คนจีนในวัย 23-30 ปี จะเสียเวลาในห้องประชุมเยอะ และปัจจุบัน มีการปรับรูปแบบใหม่ ไม่เน้นประชุมประเด็นที่สามารถตกลงกันนอกห้องประชุมได้ แต่จะเน้นในเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

 

ก่อนการประชุมจะให้ใส่หัวข้อมาก่อนเลย เช่น สมมติอยากพูดเรื่อง HR 1. อยากจัดกิจกรรมปีใหม่ 2. กิจกรรมที่จัดจะต้องจัดไม่เกิน 5 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลาเท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ พร้อมกำหนด Choices A, B, C 3. กิจกรรมนี้ต้องจัดในพื้นที่ที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าสะดวก โดยไม่ต้องใช้รถ และมีช่องให้ติ๊กว่า เห็นด้วยหรือไม่เป็นด้วย เมื่อติ๊กเสร็จ ถ้าหัวข้อไหนสามารถสรุปได้ข้างนอกก่อนเตรียมเข้าประชุม ไม่ต้องเอาเข้าประชุม ซึ่งทุกคนจะต้องทำ Bullet แบบนี้มาให้เรียบร้อยก่อนในเรื่องที่ตัวเองต้องการพูด และให้คนโหวต ถ้ามีฉันทามติส่วนมากก็จบ ไม่ต้องเอามาพูด แต่ถ้าเสียงกึ่งเท่ากัน เอาเข้ามาเถียงหาข้อสรุป มีกรรมการฟันธง

 

คุณตฤณเล่าต่อว่า จะมีการกำหนดเวลาการประชุมแต่ละหัวข้อ โดยระหว่างการนำเสนอเรื่องในที่ประชุม จะมีระบบขึ้นตัวเลขนับถอยหลังการประชุมด้วย

 

สำหรับใครที่สงสัยว่า ทำไมคนจีนจึงทำงานหนักแบบนี้ คุณตฤณเล่าว่า เบื้องหลัง Mindset ของคนจีนคือ Comment และ Feedback ที่จะอยู่ในระบบ และเป็นก้าวต่อไปเพื่อย้ายไปทำงานกับบริษัทอื่นในอนาคต

 

บันไดก้าวแรกคือ ถ้าคุณได้ Recommendation จากบริษัทที่คุณรอตั้ง 3-4 ปี หรือบางคน 5 ปี เพื่อจะได้เข้า ทำให้เต็มที่ในปีที่ 1 และปีที่ 2 เมื่อได้ Good Feedback คุณไปบริษัทที่ 2 คุณสบายขึ้นแล้ว

 

ในฐานะคนที่เคยทำงานกับ Jack Ma คุณตฤณเรียกท่านว่า ‘ป่าป๊าหม่า’ เหมือนกับที่คนจีนส่วนใหญ่เรียกกัน หรือถ้าเป็นคนที่ทำงานในออฟฟิศ Alibaba หรือองค์กรของ Alibaba  ก็จะเรียกว่า ‘หม่าเหล่าซือ’ ซึ่งแปลว่า ‘อาจารย์หม่า’

 

คุณตฤณมองว่า ป่าป๊าหม่าเป็นคนที่มี Vision ในหัวอยู่แล้ว แต่ Vision ของท่าน ไม่เหมือนกับผู้บริหารทั่วไป

 

จะเป็น Vision แบบปลายเปิด จะชี้ให้เห็นว่า ถ้าเราลองพิจารณาศึกษาเรื่องนี้ดู หรือว่าให้โจทย์นโยบายมาว่าต้องทำอะไร สิ่งที่ชัดที่สุดของแกคือว่า จะบอกมาเลยว่า ไม่เอาอะไร เช่น 1. ไม่เอาเวลาที่เยอะ ขอ Project นี้สั้นที่สุด แปลว่าเราทำ Minimal Value Product ได้ 2. กระทบเพื่อนร่วมงานคนอื่น หรือขอความช่วยเหลือจากทีมอื่นน้อยที่สุด โจทย์ชัดแบบนี้แปลว่า เปิดโอกาสให้เราหา Outsource ได้ หรือทำแคมเปญคัด Candidate ข้างนอกเข้ามาเป็นเหมือน Contract ได้ และ 3. ให้ดูจากงบประมาณเพิ่มเติมจากก้อนนี้ได้ ก็แปลว่า เราไปเอางบก้อนนี้มาได้

 

คุณตฤณเล่าต่อว่า “เขาจะไม่บอกเป๊ะ คือ ป่าป๊าหม่าไม่ต้องการให้เราทำงานแบบ Robot แต่อย่างน้อยเขา Scope มา นี่คือคนที่ไปทำงานด้วยกันแรกๆ หลังๆ พอรู้ใจกันนะครับ ไม่ต้องซ้ำ มันจะง่ายขึ้น เราจะรู้สไตล์เขา”

 

นอกจากนี้ ป่าป๊าหม่าเป็นคนที่ใช้วิธีแยก เช่น วันนี้ต้องกระตุ้น (Motivation) ตัวเองหรือคนอื่นด้วยการใส่ ‘น้ำหอม’

 

แกจะมีน้ำหอมอยู่ 2 กลิ่น กลิ่นวันนี้คือผ่อนคลาย หมายความว่า วันนี้เป็นเรื่องที่ต้องสะสางด้วยตัวเอง หรืออะไรก็ตามแต่ที่คนจะเข้าหาเยอะ อีกอันนึงคือ วันที่แกต้องใช้พลังในการ Motivate คนอื่น หรือทำ Project ใหญ่ แกจะฉีดอีกกลิ่นนึง จากที่เราอยู่กันมา ทำให้สังเกตว่า Jack Ma จะใช้สิ่งนี้เป็นสิ่งกระตุ้นตัวเองว่า วันนี้จะต้องทำอะไร แทนที่จะเป็นการเปิดโน้ต เราจะสังเกตจากสิ่งนี้ และรู้ว่า นี่คือ Concentrate Day และ Regular Day”

 

 เทคโนโลยีจีน ก้าวหน้าถึงขั้นไหน?

 

สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงของจีนนั้น คุณตฤณอธิบายว่า เป้าหมายที่จีนต้องการ คือ การผลิตชิปที่ไม่ใช่ขนาด 5 mm หรือไมโครนาโน แต่ต้องการขนาดเล็กกว่านั้น เพราะหากสามารถทำได้ จะช่วยส่งเสริมการทำงานของอุปกรณ์หลายอย่างของจีนได้มาก โดยยกตัวอย่างของการติดกล้องที่บริเวณที่มีต้นไม้โค้งหากัน (Boulevard) บริเวณถนนหนานจิงลู่ (Nanjing Road) ในเซี่ยงไฮ้

 

เคยไปเดินและอัดวิดีโอโดยใช้มือถือรุ่นใหม่ๆ ซูมเข้าไปจะเห็นจุดแดงๆ จึงไปถามพี่ที่ดูแลผังเมืองว่า ติดเซ็นเซอร์ที่ต้นไม้ทำไม เขาตอบว่า ต้นไม้คือต้นจริงแต่บางกิ่งทำปลอมขึ้นมาเพื่อเอาซ่อนรูเข็มไปซ่อนจับพฤติกรรมการทำผิด เมื่อต้องปรับจะปรับได้ง่าย คนจีนจะรู้สึกระแวงว่า ไม่รู้ตรงไหนมีกล้องซ่อนอยู่ ก็จะไม่ทำผิด ไม่ทำอะไรสกปรก ถนนกับทางเดินจะสะอาด โล่ง เพราะไม่รู้ว่าวันดีคืนดีรัฐจะมาติดตรงไหน และกล้องไม่ได้ใช้พลังงานที่เป็นโซล่าเซลล์ แต่ต่อลงดินและใช้พลังงานใต้พิภพ

 

คุณตฤณมองว่า การติดกล้องของจีนแบบนี้ถือว่า ‘ล้ำมาก’ และคิดว่าเมื่อคนต่างชาติไปเที่ยวก็ต้องระวัง ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่า หากพบว่าคนต่างชาติกระทำผิดและมีภาพเป็นหลักฐาน จะถูกปรับที่สนามบินตอนที่จะเดินทางกลับประเทศ 

 

สำหรับคำถามว่า คนจีนมองอย่างไรกับการติดกล้องแบบนี้ ในแง่ ‘ความเป็นส่วนตัว’ และ ‘ความปลอดภัย’ คุณตฤณตอบว่า ไม่ใช่แค่คนจีน แต่ไม่มีใครในโลกที่ชอบถูกคนอื่นแอบถ่ายหรือจับผิด แต่ที่จีนต้องยอม เพราะคนจีนส่วนมากรู้ว่า สิ่งที่รัฐทำเพื่อความสงบเรียบร้อยส่วนใหญ่ ดังนั้น เมื่อออกใช้พื้นที่ภายนอกของเมืองก็ต้องยอมรับจุดนั้น พร้อมเล่าประสบการณ์การทำงานกับบริษัททำกล้องวงจรปิดที่สนามบินว่า เราเจอผู้เชี่ยวชาญที่มาจากจีนอธิบายเรื่องกล้องว่า คนจีนไม่กังวลเรื่องกล้อง ตอนนี้ประเทศจีนมีกล้องวงจรปิดติดอยู่ตามถนนต่างๆ เทียบเท่า 1 คนใช้ 6 กล้อง คือ จีนติดตั้งกล้อง CCTV เท่ากับจำนวนประชากรคูณ 6”

 

นอกจากนี้ ยังมีกล้อง AI CCTV ที่สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมคนได้  เช่น คนกำลังล้วงกระเป๋ากำลังจะสูบบุหรี่ กำลังจะจุดไฟแช็กในที่ห้ามสูบ หรือกำลังจะทะเลาะวิวาท หรือกำลังจะผลักกัน โดยจำนวน AI CCTV อยู่ที่อัตรา 1 คนต่อ 1.5 กล้อง

 

นี่คือจำนวนของกล้องที่อยู่ในเมือง ซึ่งเราฟังแล้วเรารู้สึกว่า เขารู้แทบทุกอย่าง ถ้าลองไปดูที่สนามบินเปิดใหม่ที่ปักกิ่ง สมมตินักท่องเที่ยวเดินทางประมาณ 40 ล้านต่อคน กล้องในนั้นมีเกือบล้านตัวเพื่อดูพฤติกรรมตั้งแต่วันที่เดินทางเข้าไป แม้กระทั่งตอนที่เครื่องจอดเทียบบริเวณงวงช้างและเดินเข้า จะมีกล้อง 3 ตัวบริเวณทางเชื่อม”

 

‘ไทย’ ต้องรู้เท่าทันเกมธุรกิจจีน

 

เมื่อถามถึงคำแนะนำสำหรับ ‘ธุรกิจไทย’ ในสถานการณ์ที่จีนมีกำลังการผลิตสินค้ามหาศาล และสงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คุณตฤณได้แยกธุรกิจไทยออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. ธุรกิจที่มีทุนมากกว่า 100 ล้านบาท และ 2. ธุรกิจที่มีทุนน้อยกว่า 100 ล้านบาท โดยธุรกิจที่มีทุนมากกว่า 100 ล้านบาท สามารถจับมือเป็นพันธมิตรกับจีนได้ แต่เตือนให้ระวัง 2 เรื่อง คือ  ความรู้เท่าทันเกมธุรกิจ และสิ่งที่เป็นเจ้าของแต่ดั้งเดิม เช่น สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา Knowhow และ Trademark 

 

อย่าไว้ใจให้ใครเป็นผู้บริหารช่วง หรือรับช่วงต่อไป สมมติเรามีแบรนด์ของตัวเองอยู่ เราธุรกิจ 100 ล้านอัพ 1,000 ล้านอัพ และทุนจีนมาบอกว่า ฉันก็ 100 ล้าน 1,000 ล้าน ขอแนะนำว่าอย่าไว้ใจใคร ทางที่ดี ถ้าเขาชวนไปร่วมธุรกิจ และมีการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าเราหุ้นน้อยกว่า ให้เอาข้อตกลงสัญญา ข้อเปรียบเทียบปรับมาที่สถาบันอนุญาโตตุลาการที่ไทยหรือที่จีน ให้เซ็นไว้ว่า ถ้าผิดพลาดประการใดให้ขึ้นศาลนี้เท่านั้น

 

คุณตฤณบอกว่า ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถติดต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการที่ประเทศไทยหรือจีนก็ได้ เนื่องจากเป็นสถาบันระดับโลก แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใช้กฎหมายประเทศไหน โดยหากไทยเป็นฝ่ายที่ลงทุนและมีสิทธิประโยชน์มาก แนะนำให้ใช้ข้อกฎหมายที่เป็นศาลไทย

 

การใช้สถาบันอนุญาโตตุลาการจะเป็นการบังคับใช้ข้อตกลง ถ้ามีการทำผิดข้อตกลงที่เคยทำไว้ ก็จะมีการตัดสินโดยอิงจากที่เคยเซ็นยอมรับกันไว้ เช่น ถ้าผิดข้อนี้ ยักยอกข้อนี้ จะต้องชดใช้ยังไง สถาบันนี้จะเป็นตัวกลางและมีการประทับบอกว่า ขอให้มีผลที่ไทยกับที่จีน สถาบันนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของศาล โดยใช้ข้อตกลงเป็นตัวตั้ง ถ้าอะไรที่หาข้อโต้แย้งไม่ได้ จะมีผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ประเทศมาหาข้อสรุปให้

 

สำหรับธุรกิจไทยที่มีทุนน้อยกว่า 100 ล้านบาท มีแต่ไอเดียและจำเป็นต้องพึ่งพาทุนจีน คุณตฤณแนะนำว่า ให้ใช้ช่องทางของรัฐบาล ซึ่งมีโครงการสนับสนุน เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ก็มีทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) มีงบประมาณส่งเสริมการร่วมงานแสดงสินค้า

 

ล่าสุดผมไปช่วยโครงการของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) ก็เห็นว่า ประเทศไทยส่งออกอัญมณีในระดับ Top 5 แต่สิ่งที่เราไม่มี คือ การส่งเสริมงบประมาณให้สินค้าตัวนี้เพิ่ม Value มากขึ้น หรือแม้กระทั่งคนที่อยู่ในหน่วยงานนี้ไม่ได้อยู่ในซอฟต์พาวเวอร์ด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ทำรายได้ Top 5”

 

กีดกัน VS สู้กลับ

 

ตอนนี้ นักธุรกิจไทยที่มีทุนน้อยกว่า 100 ล้านบาทกำลังต้องรับศึกหนัก ไทยควรมีมาตรการ ‘กีดกัน’ ทางการค้า หรือ ‘สู้กลับ’ คุณตฤณมองในมุมของคนทำงานว่า ไทยไม่เก่งเท่าจีน โดยเมื่อก่อนมีข้อตกลงสินค้านำเข้ามูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 มีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าตั้งแต่บาทแรก

 

ไทยเคยมีข้อตกลงกับจีน โดยจีนมีพื้นที่ Free Trade Zone ในทุกมณฑล ส่วนไทยก็กำหนดพื้นที่แบบนี้เช่นกัน โดยหากจีนส่งสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทจากพื้นที่ดังกล่าวมาไทย จะไม่มีการเก็บภาษี และหากไทยส่งไปจีนก็ไม่โดนเหมือนกัน เพียงแต่ความสามารถในการผลิต การสร้างนวัตกรรม คิดสินค้าใหม่ๆ สินค้าตอบโจทย์ตลาด เราสู้เขาไม่ได้ คุณตฤณบอกว่า ไทยต้องยอมรับก่อนว่า ไทยสู้จีนไม่ได้ 

 

เช่น ไทยคิดจะทำข้าวกล่องที่ฉีกออกมาแล้วอุ่นและร้อนตลอด เราคิดว่าทำยังไงให้ข้าวมันร้อน ในระหว่างนั้นจีนทำมาม่า มีถุงร้อนที่ต้มเสร็จปุ๊บ ใส่น้ำเปล่าแล้วมันเดือดปุดๆ เขาคิดเสร็จแล้ว เขาส่งมาแล้ว เรายังคิดไม่เสร็จ เรายังอยู่ในงานวิจัย พอเขาขายได้ เขาเปลี่ยนเป็นสารเคมีใหม่ เราคิดได้แล้ว ช้าไปแล้ว

 

คุณตฤณอธิบายต่อว่า ปัจจุบัน Free Trade Zone ของไทยมีการกำหนดว่าจะส่งจากที่ไหนไปที่ไหน แต่จีนระบุในข้อตกลงว่าทำเหมือนหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์

 

สมมติว่ากำหนดให้หมู่บ้านแห่งหนึ่งในนครหางโจวเป็นที่นำเข้าอัลมอนด์โดยไม่เก็บภาษี หมายความว่าอัลมอนด์จากทั่วโลก ถ้าส่งมาที่หมู่บ้านนี้ไม่โดนเก็บภาษีนำเข้า ส่วนไทยกำหนดได้มั้ยว่า ถ้าไทยจะเป็นประเทศแห่งแฟชั่น เสื้อผ้าที่ Original (ผลิต) จากจังหวัดนี้ส่งไปที่จีนแล้ว จีนจะไม่เก็บภาษี ทุกวันนี้ไทยยังตกลงไม่ได้เลย แต่จีนทำได้ โดยบอกเลยว่า ถ้าอยากส่งออกสินค้าชนิดนี้ ต้องอยู่ที่นี่เท่านั้น จังหวัดนี้เท่านั้น ห้ามไปทำจังหวัดอื่น ถ้าไปทำจังหวัดอื่น จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการค้า

 

นอกจากนี้ จีนและไทยยังมีความแตกต่างเรื่องการให้ความรู้และการใช้งบการตลาด เช่น จีนมีการแปรรูปอัลมอนด์ในทุกจังหวัด ทุกมณฑล แต่การที่ไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านไป่นุ่ย ที่กวางโจว จะไม่ได้รับสิทธิทางภาษีในการส่งออกไปต่างประเทศ เมื่อมีการกำหนดพื้นที่อย่างชัดเจนแล้ว รัฐบาลจีนมีมาตรการสนับสนุนด้านต่างๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ เพื่อช่วยให้มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด 

 

ถ้าหมู่บ้านนี้มีซัก 200-300 หลังคาเรือน ใครจะเอารสชาติอะไรก็มาประมูล เงินที่ได้จากการประมูลก็บริจาคให้หมู่บ้านเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน เวลาทำการตลาดหรือ TikTok เขาจะระดมกันทำ คือ ทำแค่เพจเดียว และผลัดกันอัปเดตคอนเทนต์ ก็จะปั้นจนเพจนี้ดังหลักล้าน จะไม่เป็นแบบบ้านเรา ที่คนนี้ขายสับปะรด คนโน้นก็ขายสับปะรด ต่างคนต่างมีเพจ และต้องจ่ายเงินให้ Facebook หรือว่า Google Ad แยกกันจ่าย แต่ที่จีนจะเอา 300-400 บริษัทมารวมกันและจ่ายก้อนเดียว ปั้นยอดรวม

 

คุณตฤณชี้ว่า สิ่งที่จีนทำและไทยสามารถเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ได้ คือ การ Optimize Total Value Chain หรือ การมีประสิทธิภาพทุกขั้นตอนการผลิต เนื่องจากสิ่งเหล่านี้คือต้นทุนของธุรกิจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนโฆษณา ต้นทุนผลิตภัณฑ์ ต้นทุนวัตถุดิบ โดยจีนสามารถทำต้นทุนต่ำกว่าได้ เพราะมีการกำหนด Zoning ชัดเจน

——————————

“สิ่งที่จีนทำและไทยสามารถเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ได้ คือ การ Optimize Total Value Chain หรือ การมีประสิทธิภาพทุกขั้นตอนการผลิต” 

 

“ถ้าเราจะจับมือและทำแบบจีนให้ได้ รัฐกับเอกชนต้องคิดเหมือนกัน และยอมเสียบางส่วนเพื่อส่วนใหญ่”

——————————

ต้องยอมเสียบางส่วนเพื่อส่วนใหญ่

 

คุณตฤณบอกว่า จีนยอมเสียบางส่วนเพื่อส่วนใหญ่ และทำแบบนี้มาตลอดตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบบนี้ สังเกตได้จากเวลาที่ย้ายจากตรงนี้ไปตรงนั้น ต้องหาที่เรียนให้ลูกใหม่ ต้องยอมขายบ้านราคาถูก เพื่อให้เกิดการสร้างเมืองใหม่ เขายอมทำ 

 

ถ้ามองจริงๆ มองภาพแบบผู้บริหารบริษัทอะไรก็ตาม สังเกตว่าทุกบริษัทเวลาที่มีคนเก่ง เขาจะไม่ดันคนเก่งเต็มที่ เขารู้ว่าคนพวกนี้ทำได้ จะมีตาราง 4 ช่อง can กับ can not แบ่งระหว่างทำได้กับทำไม่ได้ อย่างละ 2 ช่อง แล้วก็มี need กับ no need อย่างละ 2 ช่อง

 

“คนที่องค์กรต้องการ เพื่อนต้องการ และทำได้ทุกอย่าง เรียกว่า ท็อปเก็บไว้ก่อน แต่ที่เหลือ จีนมีคนที่ can not และ no need น้อย สิ่งที่รัฐบาลจีนทำ เอกชนทำ จะสะสางก้อนนี้ให้มากที่สุด

 

“แต่ถ้ามองภาพของไทยเรา สิ่งที่บริษัทเอกชนจะทำ จะมองในมุมว่าคนกลุ่มนี้พัฒนาได้ไหม เอาไป Reskill ได้ไหม แล้วยังมีเรื่องที่จะเอาคนนี้ออกแล้วต้องจ่ายค่าออกให้จากการที่อยู่มานาน เป็นเงินก้อนใหญ่ ไม่ไหว มันแพง ถ้าอย่างนั้นเก็บไว้ ปิดตาข้างหนึ่ง”

 

“ส่วนที่จีนไม่ใช่ เพราะเขาทำระบบฐานข้อมูลการพัฒนาคนที่ back โดยทีมบริษัท Tencent จะเด้งขึ้นมาเลยเวลาใครเข้าใครออก ไม่ต้องถึงขั้นผิดข้อกฎหมาย มีอัปเดตไว้ในระบบว่าคนนี้ไม่ใช่พนักงานแล้ว ออกวันนี้ พฤติกรรมที่ผ่านมา หาก HR บันทึกไว้ว่าขาดงานบ่อยโดยไม่แจ้งลาในระบบ หรือทำงานตามที่ได้รับมอบหมายได้น้อย แต่เจ้ากี้เจ้าการ มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานเยอะ มีคอมเมนต์แบบนี้ก็ไปทำงานที่อื่นไม่ได้แล้ว”

 

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นจีนต้องเข้าบริษัทที่ดีที่สุดให้ได้ก่อน เป็นบันไดขั้นแรก

 

ธุรกิจไทยที่เนื้อหอมในจีน

 

คุณตฤณบอกว่า ตอนนี้แบรนด์ที่เนื้อหอมที่สุด แล้วพี่ๆ เพื่อนๆ หลายคนที่ทำธุรกิจฝั่งจีนอยากจีบเป็นของคนจีนที่สุด คือ โกโก้ร้านไอ้ต้น ซึ่งเป็นร้านชานม แก้วมีโลโก้รูปหน้าเจ้าของ 

 

“ที่จีนกินชาเยอะ เอาชาไปขายที่จีนไม่น่าจะตีตลาดได้ แต่กลับตาลปัตร การที่เรามี Mindset ว่า จีนผลิตชา เอาชาไปขายจีนก็เหมือนเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน แต่พอไปเป็นโกโก้ แล้วคนไทยต้องสเปเชียลด้านชาถึงจะชอบ ก็จับคีย์เวิร์ดนี้ ทำให้คนจีนรู้สึกว่าคนไทยมีกลุ่มหนึ่งที่ชื่นชมชาเหมือนกัน แล้วก็ชอบชาแบบนี้ วัยรุ่นก็ชอบชานมด้วย ส่วนผู้สูงอายุกินชาเพียวๆ”

 

“โกโก้ไอ้ต้นเป็นร้านชานมไทย มีโกโก้ด้วย ก็เลยต้องลอง พอลองแล้วอร่อย ที่ผ่านมาคนจีนไม่ได้กินแบบเข้มข้น จะกินแบบเบาๆ ขมๆ หวานๆ พอเจอรสแบบ 3 มิติ ด้วยความที่คนจีนไม่ค่อยกินน้ำแข็ง โกโก้ไอ้ต้นชงแบบเข้มข้น ต้องใส่น้ำแข็งให้ละลาย พอกินแล้วอยู่ในปากมีกลิ่นหอมออกมา คนจีนชอบกลิ่นอยู่นาน หอม ละมุน พอแบรนด์ดัง สินค้าได้ มีป๊อปอัปสโตร์ 100 กว่าสาขา ยอดขายเป็นร้อยล้านหยวน”

 

คุณตฤณบอกว่า ตอนนี้กลายเป็นว่าทุกคนโทษตัวเอง ที่ผ่านมามัวหาสินค้าเวชสำอาง ลืมว่าคนจีนชอบกินชา 

 

“ตั้งแต่ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อนๆ ในสมาคมที่เป็นคนจีนกำลังเล็งหาโอกาส ออกไปตระเวนหาชาตามจุดต่างๆ ในประเทศไทย ผมมีโอกาสนัดกันช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนจะพาไปกินชาช้างที่ภูเก็ต กินแล้วตาสว่างถึงเช้าก็ต้องไป” 

 

คุณตฤณมองว่า สิ่งที่ต้องสร้างคือหนึ่งสินค้ามี Value อะไรบ้าง มี Story อย่างไรบ้าง

 

โดยยกตัวอย่างว่า สินค้าโกโก้ไอ้ต้นเป็นการตอบจิตตอบใจของคนจีนจากข่าวที่ชาวเน็ตรับรู้ว่าเป็นคนสู้ชีวิต สร้างตัวเองเพื่อต้องการทำสิ่งที่ดีที่สุด แล้วเอาเงินที่ได้จากการทำธุรกิจสุจริตและสร้างสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อไปดูแลครอบครัว ซึ่งคนจีนให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว วัตถุดิบ กรรมวิธีการทำ และทุกคลิปที่ทำออกมาก็จะไม่เหมือนคนอื่น จะเน้นความสะอาด มีที่คลุมผม ถุงมือ 

 

“ที่สำคัญที่สุดคือในการกินน้ำพวกนี้จะต้องห่อกระดาษหรือมีที่จับไม่ให้ร้อนไป-เย็นไป แต่ของโกโก้ไอ้ต้นประหลาดมาก ป๊อปอัปสโตร์ที่ฮิตที่สุดในปักกิ่งจะเป็นกรวยจับแบบไอศกรีมแล้วก็ถือเลย แก้วอยู่สูงขึ้นมาหน่อย ซึ่งเขาคิดแล้วว่าถ้าแก้วปกติ น้ำประมาณ 250 ml ก็ ¼ ของ 1 กิโลกรัม ถ้ามีกรวยจับแล้วอยู่ในระดับข้อศอกจะทำให้ได้ออกกำลังกาย ไม่ต้องยกสูงจะกล้ามเนื้ออักเสบ ถ้าอยู่ระดับข้อศอก กล้ามเนื้อจะยืดหยุ่นและผ่อนคลาย และหลอดอยู่พอดีกับการกิน ไม่ทำให้ปวดคอ ถ้ากินยี่ห้อนี้จะช่วยเรื่องออฟฟิศซินโดรม”

 

คุณตฤณบอกว่า “การคิดอะไรที่แสดงความเป็นห่วงเล็กๆ น้อยๆ เป็นสิ่งที่คนจีนชอบ”

 

นับ 1 บุกตลาดจีน

 

หากต้องการบุกตลาดจีน คุณตฤณแนะนำให้จดทะเบียนบริษัทในมาเก๊าก่อน จากนั้นให้ทำเรื่องสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ 

 

“เสร็จแล้วค่อยไปหาเมืองที่จีน เมืองไหนก็ได้ เพื่อเช็กสิทธิประโยชน์ผ่านหน่วยงานจีน CCPIT คล้ายๆ BOI ในบ้านเรา ถ้าสินค้าประเภทนี้ตั้งในพื้นที่ไหนจะลดภาษีได้มากที่สุด สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากร (Tariff) ภาษี (Tax) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และ Work permit ได้มากสุด 

 

เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ก็จะเลือกสาขาที่ 2 นอกเหนือจากมาเก๊า พอเปิดเสร็จก็ค่อยเปลี่ยนสำนักงานใหญ่จากมาเก๊าไปเป็นที่สาขา 2 แทน

 

“ถามว่าทำไมต้องทำแบบนั้น เพราะที่จีนเวลาไปจดทะเบียนบริษัทต้องยื่นหมดเลยว่าทำอะไรหรือจดทะเบียนอะไร แล้วก็มีภาพสินค้าประกอบ ระหว่างที่ได้รับเลขยื่นคำร้องก็จะต้องรออนุมัติ 30 วัน 60 วัน หรือ 90 วัน ขณะที่คนจีนที่ได้รับอนุมัติมาแล้ว และมี User Password เข้าไปล็อกอินดูว่าตอนนี้มีบริษัทไหนกำลังยื่นรอจดทะเบียนบ้าง สมมติเขาเห็นภาพสินค้าเรา เขาก็แค่บินไปหาซื้อแล้วก็เอามาจดทะเบียนเป็นของเขาได้เลย”

 

ดังนั้น หากไม่อยากถูกขโมยไอเดียสินค้าก็ไปที่มาเก๊าก่อน เพราะยังเป็นระบบเดิมของรัฐบาลโปรตุเกสที่ใช้แบบเดียวกับอังกฤษ ซึ่งอังกฤษใช้แบบเดียวกับไทย คือ มีแค่ข้อบังคับว่าจะขายอะไร ทำอะไร สินค้าประเภทไหน ให้บริการด้านไหน แต่ไม่ต้องระบุชัด เสร็จแล้วก็ค่อยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แล้วก็จดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ก็จะครอบคลุมไปที่จีน 

 

“การทำแบบนี้จะปกป้องเรา 1 ขั้น แต่ก็จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1-2 แสนบาท ก็ดีกว่าน้ำตาเช็ดหัวเข่า”

 

ความหวังของนักธุรกิจไทย?

 

คุณตฤณบอกว่าห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) กับเทคโนโลยี เป็นความร่วมมือที่ยังไปได้ เพราะจีนเก่งกว่าในเรื่องการทำ Value Chain ทั้งหมด ส่วนคนไทยเก่งเรื่องความคิดสร้างสรรค์ (Creative) รวมถึงมีความคิดริเริ่มเรื่องสินค้าและบริการ และมีใจรักการบริการ 

 

ไทยมีจุดเด่นที่จีนไม่มีหลายเรื่อง โดยคุณตฤณได้แยกจุดเด่นของคนไทย 3 ข้อที่คนจีนไม่มี คือ 

 

1. ความประนีประนอม (Compromise) 

 

เป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ ไทยอยู่ได้ในหลายแผนกของจีน เช่น Global Relation และ Communication

 

2. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสูง

 

เพราะไทยเป็นประเทศที่มาจากงานบริการ และเก็บรายละเอียดของลูกค้าได้เยอะ ฝ่าย Marketing ของไทยสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี แต่จีนทำไม่ค่อยได้ แต่จะอยู่ในกรอบเป๊ะๆ 

 

3. สินค้า High Skill

 

คนไทยสามารถแข่งได้ และทำได้ดี สำหรับสินค้าแฮนด์เมด กับ High Value ยกตัวอย่างการออกแบบ CAD เป็นเรซิน หรืออัญมณี หรือผ้า ถ้ามีการออกแบบเป็นลวดลายมา ไทยทำสินค้าเป็นงานพรีเมียมออกมาได้ดูหรู ดูแพง แต่จีนจะได้เป็นทรงๆ กล่องๆ ไม่ได้ดีไซน์ขนาดนั้น

 

“ถ้าไทยเอาสินค้า Service Mind ทักษะการบริการ และการประนีประนอม ขาดแค่การทำ Optimize Value Chain ที่เป็นพวกต้นทุนการผลิต ต้นทุนจัดหาวัตถุดิบ การส่งออกและกระจายสินค้า ก็หาพาร์ตเนอร์จีนที่ทำเรื่องแบบนี้มา”

 

เทคนิคการเลือกพาร์ทเนอร์ที่ดี

 

คุณตฤณแนะนำว่า ให้ไปพบกับสมาคมการค้าในแต่ละเมือง แต่ละมณฑล โดยเริ่มจากการที่เช็กก่อนว่าจะทำธุรกิจนี้ เมืองไหน พื้นที่ไหน ที่จะให้สิทธิประโยชน์มากที่สุด 

 

“เมื่อไปอยู่ในเมืองนั้นสัก 2-3 สัปดาห์ จะมี CCPIT (China Council for the Promotion of International Trade) ประจำมณฑล ก็ยกกระเช้าไปขอบคุณที่ช่วยประสานงานให้ และขอ Contact สมาคมที่เป็นคนจีนอยู่ตรงไหนเพื่อจะไปพบกับประธานสมาคม แล้วก็ไปฝากตัว ก็บอกเลยว่าทำธุรกิจนี้อยู่ อยากได้พาร์ตเนอร์ดีๆ”

 

“พอมีการจัดงานเลี้ยงสมาคมปีละ 2-3 ครั้ง สังเกตบริษัทที่ได้สายสะพายหรือผ้าพันคอสีแดงจะมียอดขายมากสุด ลูกค้าให้ความนิยมใช้บริการ ก็ไปแลกนามบัตร แล้วคุยให้มาช่วยผลิตหรือทำในส่วนที่ต้องการ บริษัทพวกนี้มีงานแน่นก็จะไม่ได้ออกงานเอ็กซ์โปหรืองานแฟร์ต่างๆ เวลาที่เราไปงานพวกนี้ก็จะไม่เจอ” คุณตฤณแนะนำเคล็ดลับสำหรับนักธุรกิจไทยทิ้งท้าย

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats