×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

4 สัญญาณเตือนตลาดปรับฐาน

3,939

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

หลายปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นถือว่าเป็นเรื่องขนมสำหรับนักลงทุนเพราะหุ้นปรับขึ้นตลอด แต่หลังจากนี้เป็นต้นไป ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นน่าจะมี Upside ค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก Valuation อยู่ในโซนแพง แถมตลาดมีโอกาสผันผวนเพิ่มขึ้น 

 

สถานการณ์และความเป็นไปได้เห็นชัดเจนมากขึ้นเมื่อธนาคารกลางทั่วโลกทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องและเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งแม้สภาพคล่องจะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีนี้แต่อัตราการเพิ่มขึ้นก็มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน

ประเด็นนี้ “คมศร ประกอบผล” หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ อธิบายว่าเนื่องจากการดำเนินนโยบายของ 3 ธนาคารกลางหลัก ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ญี่ปุ่น (BoJ) และสหรัฐอเมริกา (Fed) จะส่งผลให้อัตราการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องของโลกซึ่งที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อไตรมาสมาตั้งแต่ปี 2556 ลดลงเหลือเพียง 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อไตรมาส และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจนเหลือศูนย์ (0) ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ หลังจากนั้นสภาพคล่องของโลกจะเริ่มลดลงในปีหน้า ซึ่งน่าจะส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนมากขึ้น

 

ในขณะที่ความเสี่ยงที่จะเกิดการปรับฐานของตลาดน่าจะเกิดขึ้นจากการฟื้นตัวของเงินเฟ้อที่เร็วกว่าคาด ทำให้ดอกเบี้ยในตลาดกลับมาเพิ่มขึ้นเร็วและส่งผลต่อเนื่องไปกดดันระดับ Valuation ที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

จากความเสี่ยงที่ประเดประดังเข้ามา นักลงทุนจึงต้องจับตา 4 สัญญาณเตือน ที่จะส่งผลกระทบต่อการปรับฐานของตลาดหุ้น ดังนี้

 

1.ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับขึ้น

ดอกเบี้ย (Bond Yield) พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐอเมริกา จะตอบสนองต่อมุมมองเงินเฟ้อของตลาด “หากตลาดประเมินว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเพิ่มขึ้นเร็ว และ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดจะส่งผลให้ Bond Yield ตอบสนองด้วยการปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง” คมศร บอก

 

ดังนั้น หาก Bond Yield ของสหรัฐอเมริกา ปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าระดับ 2.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี (ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันเริ่มลดลงและส่งผลให้เงินเฟ้อลง มาทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ) ตลาดหุ้นอาจถูกกดดันให้ปรับฐาน

 

2.Yield Curve กลับหัว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ระยะยาวหากทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเกินไป สะท้อนว่าตลาดไม่มั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว โดย Yield Curve ที่มีลักษณะ Invert หรือกลับหัว (Bond Yield ระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว) ชี้ว่าตลาดประเมินว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) และอาจส่งผลกดดันต่อตลาดหุ้นได้เช่นกัน

 

3.High-Yield Credit Spread ปรับขึ้นเกิน 400bps

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Option-Adjusted Spread: OAS) ระหว่างหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (Junk Bond หรือ High Yield Bond) กับพันธบัตรรัฐบาล สะท้อนถึงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ที่มีฐานะการเงินอ่อนแอ ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปีที่ 3.4% ในช่วงปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว “สะท้อนว่าตลาดมีความเชื่อมั่นว่าสภาพคล่องที่ล้นเหลือและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้” คมศร กล่าว

 

แต่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ดังกล่าวได้เริ่มปรับตัวขึ้นในเดือนพฤษศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งหาก Spread ดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง น่าจะส่งผลกดดันต่อตลาดหุ้นต่อไป “ประเมินว่าหาก High-Yield Credit Spread ปรับตัวขึ้นเกินกว่า 400bps ซึ่งเป็นแนวต้านในปีนี้ อาจเริ่มเป็นสัญญาณเตือนว่าตลาดหุ้นจะเริ่มปรับฐาน” คมศร ประเมิน

 

4.ดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารของจีนปรับขึ้น

ดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคาร (Money Market Rate) ของจีน ชี้ถึงความตึงตัวของสภาพคล่อง และความเข้มงวดของนโยบายการเงินของจีน โดยหลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว อัตราดอกเบี้ย Shibor ระยะ 3 เดือนได้ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเท่ากับระดับสูงสุดในปีนี้ “ประเมินว่าหากดอกเบี้ย Shibor ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ก็อาจส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจและส่งผลกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลก” คมศร ทิ้งท้าย

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats