5 เรื่องภาษี ฟรีแลนซ์ต้องทำ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ฟรีแลนซ์เป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องเสียภาษี และถ้าไม่อยากปวดหัวกับภาษีที่ว่ามีอย่างน้อย 5 สิ่งที่ฟรีแลนซ์ต้องทำ ได้แก่
ขอและเก็บ 50ทวิ ทุกครั้ง
เพราะเป็นเอกสารที่ต้องได้รับจากผู้ว่าจ้าง เพื่อระบุว่าแต่ละครั้งฟรีแลนซ์ได้รับค่าจ้างจำนวนเท่าไหร่ โดยอาจได้รับเอกสารนี้ทุกครั้งที่ได้ค่าจ้าง หรือรอรับครั้งเดียวในช่วงต้นปีถัดไปก็ได้
ฟรีแลนซ์ จึงต้องเก็บเอกสาร 50 ทวิทุกฉบับที่ได้รับจากผู้ว่าจ้างทุกรายเพื่อใช้ประกอบการยื่นภาษี
เช็กประเภทเงินได้
รูปแบบงานที่ถูกจ้างแต่ละครั้งอาจต่างกัน ทำให้รายได้แต่ละครั้งอาจเป็นรายได้ต่างประเภทกัน ส่งผลให้มีการหักค่าใช้จ่ายเพื่อคำนวณภาษีต่างกันไปด้วย เช่น
– ค่าจ้างวิทยากร/พิธีกร ค่านายหน้า ฯลฯ เป็นรายได้ประเภท 40(2) ซึ่งหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
– ค่ารับรองบัญชี ค่าออกแบบ/ตรวจสอบของวิศวกรหรือสถาปนิก เป็นรายได้ประเภท 40(6) ในกลุ่มที่หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 30% ของรายได้ทั้งปี
– ค่าจ้างดารานักแสดง นักดนตรี นักกีฬา เป็นรายได้ประเภท 40(8) ในกลุ่มที่หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 30%-60% ตามที่สรรพากรกำหนด แต่ไม่เกิน 600,000 บาท
จดค่าจ้างที่ได้รับทุกครั้ง
เนื่องฟรีแลนซ์อาจไม่ได้รับเอกสาร 50 ทวิ ทุกครั้ง การจดค่าจ้างที่ได้รับทุกครั้ง จะทำให้ฟรีแลนซ์รู้ตัวว่ามีรายได้ตั้งแต่ต้นปีเป็นจำนวนเท่าไร สามารถคำนวณเพื่อเลือกใช้สิทธิภาษีในกองทุน LTF/RMF และประกันชีวิตแบบบำนาญได้อย่างแม่ยำ
ยื่นภาษีตามกำหนดเวลา
แม้รายได้ฟรีแลนซ์บางครั้งถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว แต่ฟรีแลนซ์ก็ยังต้องนำรายได้นั้นไปยื่นภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.90 ในช่วง ม.ค.–มี.ค. ของปีถัดจากที่ได้รายได้นั้น และหากฟรีแลนซ์มีรายได้ใดๆ ที่อยู่ในประเภท 40(8) – 50(8) แล้ว ยังมีหน้าที่ต้องนำรายได้ส่วนนั้นที่ได้รับในครึ่งปีแรกไปยื่นภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.94 ในช่วง ก.ค.–ก.ย. ของปีเดียวกันด้วย
หากละเลยไม่ยื่นตามกำหนดแล้ว นอกจากต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย. สำหรับ ภ.ง.ด.90 และนับตั้งแต่เดือน ต.ค. สำหรับ ภ.ง.ด.94 ยังมีเงินค่าปรับอีกไม่เกิน 2,000 บาทด้วย
เตรียมเงินเพื่อจ่ายภาษี
ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่จ่ายค่าจ้างให้ฟรีแลนซ์ โดยมักมี 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) หัก 3% ของเงินที่จ่ายทุกครั้ง (2) คำนวณภาษีจากรายได้สะสมที่ได้รับจากผู้ว่าจ้าง
แต่ไม่ว่าจะแบบไหน เนื่องจากฟรีแลนซ์มักรับงานหลายที่ ภาษีที่ถูกหักไว้จึงมักต่ำกว่าภาษีจริงที่คำนวณได้จาก ภ.ง.ด.90/94 ฟรีแลนซ์จึงควรลองคำนวณภาษีเบื้องต้นด้วยตนเอง เพื่อเตรียมเงินให้พร้อมไว้เตรียมจ่ายภาษีกลางปีและสิ้นปีด้วย
งานฟรีแลนซ์ไม่ใช่งานฟรีภาษี รายได้ทุกบาทต้องยื่นตามกำหนด และถ้าอยากให้ภาษีลด ก็ต้องเรียนรู้การใช้สิทธิและเครื่องมือภาษีที่เกี่ยวข้องไว้