6 วิธี “เรียนให้รู้”
ในช่วงชีวิตของคนเรา ไม่น้อยกว่า 20 ปี หรือ 25% ของชีวิตต้องทุ่มเทให้กับการศึกษา ทั้งในระดับอนุบาล ประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย พอเรียนจบมา ก็ต้องมาเรียนรู้ระบบการทำงาน และความรู้เฉพาะทางในอาชีพกับอีกไม่น้อยกว่า 10 ปี เรียกได้ว่า คนเราล้วนต้องเรียนรู้เกือบตลอดชีวิตกันเลยทีเดียว
แต่ทำไม?
คนบางคนถึงรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการเรียน จนบางครั้งก็โทษตัวเองว่า “เกิดมาสมองไม่ค่อยดี” ทั้งที่จริงๆ แล้วเราอาจเพียงแค่ยังไม่ได้ใช้ศักยภาพทั้งหมดที่มีอย่างเต็มที่ หรือบางครั้งก็แค่เรียนรู้ในแบบที่เคยชิน ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าไม่ใช่แนวทางของตน
WealthMeUp อยากชวนผู้อ่านมา “เรียนให้รู้” ในรูปแบบที่ตนถนัด จากวิธีการเรียนรู้ 6 รูปแบบนี้ ที่อาจทำให้คุณสนุกกับการเรียนรู้มากขึ้น
1. เรียนรู้ด้วยการ “ฟังคนอื่นพูด”
ถ้าคุณ “ฟังเป็น” แล้วล่ะก็…คุณจะได้เปรียบมาก เพราะทุกวันนี้หลายคนชอบพูดมากกว่าฟัง สังเกตคนรอบข้างเราก็ได้ว่ามักมีแต่คนพูดใส่กัน แต่ไม่มีใครยอมฟังใครจริงๆ (“ฟัง” มีความหมายที่ลึกซึ้งกว่าแค่การ “ได้ยิน”) ถ้าสามารถใช้หูในการฟังได้ดีกว่าคนอื่น จงฟัง! อย่างตั้งใจ และพยายามจับประเด็นสำคัญของเรื่องที่ฟังออกมาให้ได้…อย่าลืมว่าคนเราถูกสร้างให้มี 2 หู แต่มีแค่ 1 ปาก แสดงว่าเราต้องฟังให้มากกว่าพูด
2. เรียนรู้ด้วยการ “อ่าน”
แม้วิธีนี้ดูเหมือนเป็นวิธีพื้นฐานที่ทุกคนต้องใช้ เพราะแหล่งการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ก็มาจากการอ่านนี่แหละ ตั้งแต่การอ่านหนังสือ นิตยสาร เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ หรือแม้แต่อีบุ๊ก
แต่การจะรู้ว่าวิธีนี้เหมาะกับตัวเองหรือเปล่า? ต้องคอยหมั่นสังเกตว่าการ “อ่าน” เป็นแนวทางการเรียนรู้ที่ได้ผลของคุณจริงหรือไม่ เพราะถ้าคำตอบคือ “ไม่” อ่านเท่าไหร่ก็ไม่เข้าหัว ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ก็อย่าฝืน ลองหาวิธีการใหม่ๆ ดูน่าจะดีกว่า
3. เรียนรู้ด้วยการ “ฟังตัวเองพูด”
แม้วิธีนี้จะดูค่อนข้างแปลก แต่ Peter Drucker บิดาแห่งการบริหารและการจัดการธุรกิจสมัยใหม่ ได้ยกตัวอย่างคนที่เรียนรู้ด้วยการ “พูด” ไว้ใน หนังสือ “Managing Oneself | ปัญญางาน จัดการตน” ไว้อย่างน่าสนใจว่า…
“ผู้บริหารที่ผมรู้จักคนหนึ่ง ผู้เปลี่ยนธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก ให้กลายเป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรม เป็นคนหนึ่งที่เรียนรู้ด้วยวิธีการฟังตัวเองพูด วัตรปฏิบัติของเขา คือการเชิญพนักงานระดับอาวุโสทั้งหมด มาที่สำนักงานสัปดาห์ละครั้ง แล้วพูดให้ฟัง ครั้งละสองถึงสามชั่วโมง เขาจะตั้งประเด็นนโยบาย แล้วถกเถียงกับตนเองจากสามจุดยืน
เขาทำอย่างนี้กับทุกเรื่อง โดยแทบไม่เปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความคิดเห็นหรือตั้งคำถาม เพราะเขาเพียงแค่ต้องการผู้ฟัง ผู้ที่จะฟังในสิ่งที่เขาพูดเท่านั้น นั่นเป็นวิธีการเรียนรู้ของเขา”
4. เรียนรู้ด้วยการ “จดบันทึก”
ว่ากันว่า เบโธเฟน นักประพันธ์เพลงผู้ยิ่งใหญ่ของโลก เป็นตัวอย่างของอัจฉริยะที่เรียนรู้ด้วยการจดบันทึก เพราะแม้เบโธเฟนจะมีสมุดบันทึกจำนวนมาก แต่ไม่เคยต้องกลับมาดูอีกเลยแม้ตอนประพันธ์เพลงจริงๆ
ส่วนรูปแบบการจดบันทึก…อาจเริ่มจากการสรุปสิ่งที่อ่านหรือที่ฟัง ด้วยเขียนเป็นคำพูดสั้นๆ หรือวาดเป็นรูปก็ได้ เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจและจดจำเรื่องราวได้ดีที่สุด
5. เรียนรู้ด้วยการ “คิด”
บางคนเมื่อได้อ่านหรือได้ฟังเรื่องราวต่างๆ อาจจะยังไม่เข้าใจดีนัก จนกระทั่งพวกเค้าเหล่านั้นได้มีเวลาอยู่กับตัวเองและลงมือคิดทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเจอมาอย่างจริงจัง เพราะ “การคิด” เป็นตัวช่วยรวบรวม ประมวลเรื่องราวต่างๆให้กลายเป็นความรู้ ความเข้าใจเฉพาะบุคคล และบางครั้งยังทำให้เกิดความรู้และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ อีกด้วย
6. เรียนรู้ด้วยการ “ลงมือทำ”
วิธีนี้นับว่าเป็นวิธีที่ยากที่สุด เพราะคนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยชอบลงมือทำ อาจเพราะความลังเลสงสัย ความกลัว หรือความขี้เกียจ เป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียนรู้ด้วยวิธีนี้
แน่นอนการลงมือทำในครั้งแรก คงจะไม่สามารถการันตีความสำเร็จได้ แต่ทุกๆครั้งของการลงมือทำ ย่อมนำมาซึ่งประสบการณ์ตรง ที่ไม่อาจหาซื้อหาหรือสอนกันได้จากที่ไหนเป็นของรางวัล ยิ่งคุณทดลองและลงมือทำมากเท่าไร งานของคุณก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น
ในชีวิตจริง…เราทุกคนต้องค้นให้เจอว่าวิธีการเรียนรู้แบบใดเหมาะสมกับเรามากที่สุด แต่ละคนอาจมีมากกว่า 1 วิธีก็ได้ เมื่อเจอแล้ว จงหมั่นฝึกฝนทักษะการเรียนรู้นั้นให้ชำนาญ เพราะสุดท้ายการเรียนและการงาน จะกลายเป็นความสำราญให้กับคุณ
กด Subscribe รอเลย…