×

Wealth Me Up ใช้แรงทำเงิน

6 กลยุทธ์แก้ไขความขัดแย้งในที่ทำงาน

181,042

 

“ร้อยพ่อ พันแม่” ถือเป็นสำนวนไทยที่ไม่ล้าสมัยเลย  เมื่อต่างคนต่างที่มา ความคิดเห็นย่อมต่างกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดความขัดแย้งขึ้น แม้ว่านายจ้างจะพยายามคัดสรรบุคคลมาแล้วจากการสัมภาษณ์งานก็ตาม

 

ความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวเสียทีเดียว เพราะบางความขัดแย้งอาจก่อให้เกิดผลดี คือ เกิดการแข่งขัน  สร้างความท้าทายให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ทำให้องค์กรอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในปัจจุบัน แต่บางความขัดแย้งอาจฉุดความก้าวหน้าขององค์กร  ซึ่งในกรณีนี้จะต้องหาสาเหตุที่เกิดขึ้น  ตลอดจนผลกระทบเพื่อหาเทคนิคและรูปแบบที่จะนำมาแก้ไขให้ปัญหาให้เหมาะสมโดยยึดหลักความถูกต้อง  ยุติธรรม และการยอมรับเหตุผลด้วยกันทุกฝ่าย

 

และนี่คือ 6 กลยุทธ์ที่จะช่วยแก้ไขความขัดแย้งในที่ทำงาน

 

1.อ้าแขนรับปัญหา | เจรจาด้วยเหตุผล

เมื่อเกิดปัญหาขึ้น “อย่าหนีปัญหา” หรือทำเฉยเพื่อให้เรื่องจบๆ ไป เพราะจะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิม การไม่สะสางปัญหาอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกแย่ๆ ระหว่างคู่กรณี รวมไปถึงสร้างความตึงเครียดให้กับผู้ร่วมงานคนอื่นด้วย

การเผชิญหน้ากันในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาขึ้นนี่แหละคือเวลาที่เหมาะ เพียงแต่ต้องเลือกช่วงเวลาที่ควร ที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะเจรจาเพื่อหาข้อยุติด้วยเหตุผลไม่ใช่อารมณ์

 

2.หันหน้าคุยกัน | เลี่ยงคำพูดรุนแรง

เจรจาเพื่อหาสาเหตุของความขัดแย้งให้เจอ เช่น มาจากความแตกต่างของเป้าหมาย หรือเป็นเพราะข้อมูลที่แต่ละคนได้รับมานั้นต่างกัน  เมื่อถึงเวลาคุยกันก็จงสื่อสารในสิ่งที่เกิดขึ้นให้มากๆ จนได้รับคำตอบและข้อสรุปจากสิ่งที่เกิด

เปลี่ยนวิธีพูด วิธีถาม และหลีกเลี่ยงคำพูดรุนแรงที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์จนนำไปสู่การโต้แย้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการเจรจารวมไปถึงลองนั่งลงคุยกันดีๆ เพราะการนั่งคุยกันจะช่วยลดการใช้ภาษากาย หรืออารมณ์โกรธจากการโต้แย้งได้

 

3.ฟังอย่างตั้งใจ | ป้องกันตีความผิด

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งลุกลาม คือ การไม่รับฟังกันอย่างจริงใจ ลองฟังคำตอบจากอีกฝ่ายบ้างเพราะอาจจะทำให้ค้นพบสาเหตุของความขัดแย้งว่าอาจมาจากการตีความที่ผิดพลาดหรือการรับรู้ข้อมูลที่ต่างกันมาก็ได้

ตระหนักให้ดีว่าในการทำงานกับคนส่วนรวมนั้นต้องอาศัยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันจึงจะทำให้งานสำเร็จไปได้ และจงลดความยุ่งเหยิง ความมั่นใจ  ความเครียด ความไม่มีเวลาพอที่จะรับฟังลง เพราะนั่นคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้สูญเสียสมรรถะในการฟัง

 

4.หาข้อตกลง | ยึดงานเป็นที่ตั้ง

กำหนดประเด็นที่เห็นด้วยและบอกสาเหตุที่ไม่เห็นด้วยให้อีกฝ่ายได้รับรู้อย่างชัดเจน  เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยยึดเป้าหมายหลักของการทำงานเป็นที่ตั้ง และเมื่อร่วมมือกันแล้วก็พยายามผ่อนปรนเงื่อนไขข้อเรียกร้องระหว่างกันเพื่อหาข้อยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

เมื่อได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วอาจทำข้อตกลงออกมาในรูปของสัญญา แล้วให้แต่ละฝ่ายนำข้อตกลงไปปฏิบัติเพื่อตรวจสอบว่าเป็นไปตามที่ระบุไว้หรือไม่ อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือหารือร่วมกันแก้ปัญหาใหม่อีกครั้งเพื่อปรับปรุงข้อตกลงให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย

 

5.หาคนกลาง | ไกล่เกลี่ยปัญหา

การมีคนกลางเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งนับเป็นทางออกอีกวิธีที่น่าสนใจไม่น้อย ซึ่งผู้ไกล่เกลี่ยจะทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้ทั้งสองฝ่าย ช่วยกำหนด วิเคราะห์และสร้างความเข้าใจในความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยรับฟังเงื่อนไขของปัญหาเพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดองโดยไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

6.ขอโทษให้เป็น | อภัยให้เร็ว

คงต้องยอมรับว่า “ข้อตกลงร่วม” นั้นคงไม่ใช่วิธีการที่ถูกใจใครไปเสียทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับอีกด้วยว่านั่นคือวิธีที่ดีที่สุดในขณะนั้นที่จะทำให้ปัญหาต่างๆคลี่คลายลง และทำให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้

 

คำแนะนำที่จะช่วยทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็ว คือ

 

“ขอโทษ” ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกคน หากรู้ตัวแล้วก็จงกล่าวคำขอโทษให้เป็นด้วยความจริงใจ เพราะการกล่าวคำขอโทษไม่ใช่เรื่องที่น่าละอาย แต่เป็นการแสดงความกล้าหาญที่น่ายกย่องต่างหาก

“ให้อภัย” การแสดงน้ำใจที่น่านับถือที่สุด คือ การรู้จักให้อภัยผู้อื่น เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด เพื่อที่ทั้งสองฝ่ายที่เคยเกิดปัญหาจะได้กลับมาทำงานร่วมกันได้อย่างสบายใจและพร้อมเดินไปข้างหน้าด้วยกัน

 

#WealthMeUp

 

กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

Related Stories

amazon anti fatigue mats