“หวังรายได้สูง ฝันอยู่องค์กรใหญ่ ขาดทัศนคติเชิงบวก” สาเหตุคนรุ่นใหม่ว่างงาน
นางนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจในตลาดแรงงานปัจจุบันว่าผู้บริหารและฝ่ายบุคคลขององค์กรในประเทศไทย ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งการปรับองค์กรให้สอดคล้องกับยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านของกลุ่มคนทำงานรุ่น “มิลเลนเนียล” ที่ทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทำให้ต้องทำความเข้าใจคนกลุ่มใหม่ที่มีความคิดและมุมมองที่ต่างจากคนรุ่นก่อนโดยสิ้นเชิง
สำหรับข้อมูลโครงสร้างของแรงงานไทย จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อเดือน เม.ย. 2560 พบว่า มีผู้ที่มีความพร้อมเข้าสู่ระบบงาน (รวมนักศึกษาจบใหม่) จำนวน 37.89 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำ 37.09 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.73 แสนคน (เพิ่มขึ้น 0.2%YoY)
โดยการเก็บข้อมูลของ จ๊อบส์ดีบี ประเทศไทย ระหว่างเดือน ม.ค. – เม.ย. 2560 พบว่า ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการของตลาด 2 อันดับแรก (ในด้านจำนวน) ได้แก่ สายงานด้านไอทีและวิศวกรรม แต่นักการตลาดดิจิตอลแม้จะมีจำนวนที่ประกาศรับสมัครงานไม่มากนัก (6,300 ตำแหน่ง) แต่ก็มีสัดส่วนที่ขาดแคลนสูงที่สุดถึง 44% ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy)
สำหรับปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาจบใหม่ยังคงว่างงานเป็นเพราะ…
- ความต้องการด้านรายได้สูงเกินประสบการณ์
- ความต้องการทำงานในองค์กรใหญ่
- ขาดทัศนคติเชิงบวกต่อการทำงาน
แม้รายได้จะเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกสมัครงานของผู้หางาน แต่กลุ่มคนยุค “มิลเลนเนียล” ยังพิจารณายื่นใบสมัครโดยอาศัยปัจจัยที่อ้างอิงจากวิถีการดำเนินชีวิตด้วย เช่น การออกแบบสำนักงาน ทำเลที่ตั้ง ระยะทางและระยะเวลาในการเดินทาง รวมถึงการทำงานที่มีความยืดหยุ่น
ผลการศึกษายังเผยให้เห็นพฤติกรรมของคนทั้ง 3 เจน เมื่ออยู่ในองค์กร ดังนี้
“GEN X” มุ่งทำงานเพื่อพัฒนาทักษะความสามารถและแสวงหาโอกาสการเติบโตในสายงานอยู่เสมอ “GEN Y” เป็นช่วงวัยของการเริ่มต้นในหลายๆ ด้าน เช่น ชีวิตการทำงาน หรือแม้กระทั่งชีวิตครอบครัวของตนเอง “GEN Z” มีคาแร็คเตอร์หลักๆ คือ เป็นมนุษย์เทคโนโลยี ที่สำคัญยังไม่ใช่กลุ่มคนที่ภักดีกับองค์กร
ด้านพฤติกรรมของนักศึกษาจบใหม่ หรือกลุ่มคน “GEN Z” ที่ทยอยเข้าสู่ตลาดงาน ปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกงาน คือ สถานที่ทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวก และสวัสดิการที่มีความยืดหยุ่น รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร โดยคนกลุ่มนี้ชอบให้องค์กรพิจารณาผลงานจากฝีมือจริงๆ ไม่ใช่ตามระบบอาวุโส
ขณะที่ผู้บริหารและ HR เอง ต้องปรับรูปแบบวิธีการบริหารคนกลุ่มนี้โดยให้พื้นที่และโอกาสในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจาก “GEN Z” เป็นคนที่มีความคิดเป็นของตัวเองสูง และมักจะไม่ยอมรับอะไรง่าย ๆ จึงควรให้โอกาสในการให้พวกเขาได้ปล่อย “ของ” อย่างเต็มที่ รวมทั้งควรมีเกณฑ์การพิจารณาการให้ผลตอบแทน หรือเลื่อนตำแหน่งที่เหมาะสม
โจทย์หินของแต่ละองค์กรที่จะต้องปรับตัวคือการดึงศักยภาพของพนักงานหลากหลายเจเนอร์เรชั่น มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ จ๊อบส์ดีบี ยังได้เผยผลการ
สำหรับแนวโน้มการหางานในปัจจุบัน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 – มกราคม 2560 พบว่า 65% ของผู้ประกอบการใช้เว็บไซต์หางานเป็นช่องทางหลักในการค้นหาผู้สมัคร ขณะที่ 74% ของผู้หางานและสมัครงานผ่านเว็บไซต์หางาน โดย 3 ช่องทางสมัครงานที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ สื่อออนไลน์ (74%) ติดต่อผ่านผู้ประกอบการโดยตรง (34%) และการบอกต่อ (26%)
ขณะที่พฤติกรรมการค้นหางานของผู้หางาน ในปัจจุบันผู้หางานเลือกสมัครงานผ่านโฆษณาประกาศงานมากขึ้น โดย 67% ของผู้หางานในประเทศไทยใช้โทรศัพท์มือถือในการค้นหางานเป็นหลัก ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้สมัครงานผ่านโทรศัพท์มือถือสูงถึง 51% ในทางกลับกัน 33% และ 49% ของผู้หางานค้นหาและสมัครงานผ่านคอมพิวเตอร์
กด Subscribe รอเลย…