×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

5 สิ่งต้องเช็ก เมื่อตกงาน

4,632

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

“การระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ชีวิตเปลี่ยน” ไม่ใช่แค่คำพูดเท่านั้น แต่วันนี้ชีวิตของหลายๆ คนเริ่มเปลี่ยน และเป็นการเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ค่อยดีอีกด้วย และถ้าพูดเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “เงิน” เพราะถึงแม้เงินจะไม่ใช่ทุกสิ่งของชีวิต แต่เงินก็เป็นส่วนสำคัญที่เมื่อกระทบแล้ว ก็ทำให้ชีวิตเปลี่ยน

 

บางคนอาจกระทบแค่เบาๆ เช่น มีรายได้เหมือนเดิม แค่รายจ่ายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย บางคนเริ่มหนาวๆ ร้อนๆ เมื่อรายได้เริ่มหดหายไปบางส่วน ยังประคองตัวไปได้อยู่ แต่อีกหลายคนเข้าขั้นวิกฤติ เพราะถูกเลิกจ้าง กลายเป็นคนตกงานโดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความตระหนกในตอนแรก แต่ก็ขอให้มี “สติ” เพื่อหาหนทางให้ชีวิตผ่านไปได้ อาจดูเหมือนว่าเป็นคำสวยงาม แต่ถ้ามีสติจะทำให้การตัดสินใจอะไรหลายอย่างถูกต้องและรอดพ้นจากช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

 

เมื่อมีสติ ก็สามารถนำมาจัดการกับเรื่องเงินทองได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะเมื่องานหาย เงินก็หดตามไปด้วย จากที่เคยมีเงินเข้ามาทุกเดือนก็ไม่มี ขณะที่รายจ่ายยังมีอยู่แถมอาจมีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนมีการจัดการด้วยวิธีง่ายๆ

 

สำรวจเงินสด

 

เงินสด หมายถึง เงินที่สามารถเบิกถอนมาใช้จ่ายได้ทันที ดังนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเงินที่ฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ และกองทุนรวมตลาดเงิน โดยตรวจดูว่ามีจำนวนเท่าไหร่

 

เงินฉุกเฉิน

 

โดยปกติแล้ว ทุกคนควรมีเงินก้อนหนึ่งที่เก็บเอาไว้ใช้ตอนฉุกเฉิน โดยผู้เขียนก็มีเงินสำรองฉุกเฉิน 3 เดือนของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน วิธีการให้สำรวจว่าตัวเองมีค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนเท่าไหร่ โดยนำเงินเดือนมาคำนวณ เช่น เงินเดือน 20,000 บาท มีค่าใช้จ่ายราว 10,000 บาท สมมติว่า อยากมีเงินออมสำรองฉุกเฉิน 3 เท่าของค่าใช้จ่าย ก็นำ 10,000 มาคูณ 3 แสดงว่าควรมีเงินไว้ใช้ยามจำเป็น 30,000 บาท

 

เงินชดเชย

 

เมื่อถูกบอกเลิกจ้าง ก็จะได้เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งต้องดูว่าได้จำนวนเท่าไหร่ จากนั้นให้นำไปฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ ส่วนเงินที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แนะนำว่าไม่ควรนำออกมา เพราะถ้านำออกมาจะต้องจ่ายภาษี ควรเป็นสมาชิกต่อไป

 

ยกตัวอย่าง ในเบื้องต้นต้องรู้ว่าตัวเองทำงานกับบริษัทแห่งนี้กี่ปี หรือเมื่อถูกนายจ้างเลิกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่าไหร่

 

  •  ถ้าทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
  •  ถ้าทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
  •  ถ้าทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
  •  ถ้าทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
  •  ถ้าทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
  •  ถ้าทำงานติดต่อกันครบ 20 ปี ขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน

 

หนี้สิน

 

จดข้อมูลหนี้สินทุกประเภทที่ต้องจ่าย โดยให้ทำเป็นตารางให้ชัดเจนว่าแต่ละงวดต้องจ่ายหนี้อะไรบ้าง จำนวนเงินและดอกเบี้ยเท่าไหร่ สิ้นสุดปีไหน สถาบันการเงินอะไร เป็นต้น จากนั้นเรื่องที่ต้องจัดการ คือ หนี้สิน โดยติดต่อกับเจ้าหนี้ (ส่วนใหญ่เป็นธนาคาร) เพื่อขอปรึกษาขอผ่อนผันจ่ายหนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายระหว่างที่กำลังหางานใหม่

 

ประกันสังคม

 

เมื่อกลายเป็นผู้ตกงาน สิ่งที่ต้องทราบ คือ สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมที่จะได้มีอะไรบ้าง ก็ต้องรวบรวบข้อมูล ศึกษาเงื่อนไขในเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม จดคำถาม จากนั้นให้ติดต่อปรึกษากับเจ้าหน้าที่ หรือถ้าสะดวกควรเดินทางไปสำนักงานประกันสังคม

 

การติดต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อสอบถามข้อมูลว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เช่น เมื่อยื่นเอกสารเสร็จเรียบร้อยก็จะมีจดหมายนัดให้ไปรายงานตัวเดือนละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6 ครั้ง (6 เดือน) หากลืมรายงานตัวในเดือนไหนก็จะไม่ได้เงินทดแทนในเดือนนั้น แต่ในช่วงนี้ที่เชื้อไวรัส COVID-19 กำลังระบาด ต้องสอบถามสำนักงานประกันสังคมว่าการรายงานตัวใช้ช่องทางไหน

 

โดยผู้ถูกเลิกจ้างก็จะได้เงินทดแทนในระหว่างการว่างงานจากประกันสังคมปีละไม่เกิน 180 วัน อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเดือนล่าสุด โดยมีฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น เงินเดือน 10,000 บาท จะได้รับเงินเดือนละ 5,000 บาท แต่ถ้าเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป จะได้รับเดือนละ 7,500 บาท

 

เช่นกัน หากถูกเลิกจ้างในช่วง COVID-19 กำลังระบาด จะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ดังนั้น ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารทั้งจากสำนักงานประกันสังคม และกระทรวงแรงงาน เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง

 

 

#WealthMeUp

ที่มาข้อมูล : https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=6912&type=article

Related Stories

amazon anti fatigue mats