5 เหตุผลกองทุนสำรอง(ไม่พอ)เลี้ยงชีพ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่หวังพึ่งพาเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ใช้เป็นรายได้ในยามเกษียณอายุ ซึ่งการรู้จักเก็บเล็กผสมน้อยรายเดือนด้วยความสมัครใจผ่าน “เงินสะสม” เพื่อให้ได้ “เงินสมทบ” จากนายจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และมีการบริหารจัดการจาก “ผู้จัดการกองทุน” ที่มีความรู้ความสามารถและจรรยาบรรณนั้น จะช่วยให้ได้ “ผลประโยชน์” ตอบแทนจากการลงทุน ซึ่ง “ควรที่จะมากกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่อัตรา 3% ต่อปี” เพื่อรักษาอำนาจซื้อสินค้าและบริการสำหรับการดำรงชีพในอนาคต
แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถ “เลี้ยงชีพ” ได้จากยอดเงินที่ตนเห็นใน “ใบแจ้งยอดเงินสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ที่ตนเองได้รับทุก 6 เดือน? เรามาวิเคราะห์สาเหตุ 5 ประการที่ทำให้กองทุนสำรอง “ไม่พอ” เลี้ยงชีพ ค้นหาแนวทางป้องกันและแก้ไข เพื่อให้เงินลงทุนเพื่อการเกษียณของเรานั้น เป็น “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” อย่างแท้จริง
ไม่ทราบยอดเงินที่จำเป็นต้องใช้เมื่อเกษียณอายุ
การลงทุนโดยไม่มีเป้าหมายก็เปรียบเสมือนการเดินทางออกจากบ้านโดยไม่ทราบว่าจะไปที่ใด เราสามารถประเมินวงเงินที่จำเป็นต้องใช้ยามเกษียณอย่างง่ายๆ ด้วยการคำนวณภายใน 5 ขั้นตอน ดังนี้
- กำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายรายเดือนในปัจจุบัน
- นำค่าใช้จ่ายรายเดือนคูณด้วย 12 เพื่อปรับให้เป็นค่าใช้จ่ายต่อปี
- นำค่าใช้จ่ายรายปีคูณด้วย 70% เพื่อปรับให้เป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้จริงยามที่ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว
- นำค่าใช้จ่ายที่ใช้จริงยามเกษียณคูณด้วยจำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ ซึ่งขอแนะนำให้เริ่มจากตัวเลข 25 ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุด จากการประมาณการว่าเกษียณอายุที่ 60 ปี และจะสามารถอยู่รอดได้ไปจนถึงอายุ 85 ปี
- นำผลลัพธ์ที่ได้คูณด้วย 2 เพื่อเป็นการปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 3% ต่อปี
เพียงเท่านี้ก็จะทราบวงเงินที่จำเป็นต้องใช้เมื่อเกษียณอายุอย่างคร่าว ๆ และเป็นเป้าหมายในการลงทุนว่าเราจะต้องเก็บเงินอย่างน้อยปีละเท่าใด ต้องให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนปีละเท่าใด ด้วยข้อจำกัดของจำนวนปีที่เราจะมีรายได้จากการทำงาน
จ่ายเงินสะสมเพียงขั้นต่ำสุด
เพราะหวังจะพึ่งพาสวัสดิการของรัฐบาล เมื่อว่างงาน เจ็บป่วย และเกษียณอายุ ซึ่งผู้เขียนจะแนะนำให้หยุดความคิดนั้น ณ บัดนี้ เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ และโครงสร้างของประชากรเปลี่ยนไป การหวังน้ำบ่อหน้านั้นใช้กับการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุไม่ได้ หากท่านต้องการเกษียณอย่างมีความสุข เงินที่เก็บเพื่อการเกษียณนั้นจะต้องเก็บประมาณ 10 – 20% ของรายได้ต่อเดือน เก็บทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนแรกที่ท่านมีรายได้จากการทำงาน เงินเดือนที่มนุษย์เงินเดือนได้รับนั้น ไม่ควรใช้แบบเดือนชนเดือน เพราะนายจ้างจ่ายเงินให้เราด้วยเงื่อนไขตราบเท่าที่เรายังมีแรงทำงานเท่านั้น พึงระลึกไว้เสมอว่า “ชีวิตของมนุษย์เงินเดือนนั้น อาจต้องออกจากงานก่อนการเกษียณอายุก็เป็นได้ และตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเสมอ
คิดว่ายอดเงินทั้งหมดจากใบแจ้งยอดสมาชิกเป็นเงินของเรา
โดยไม่มีเงื่อนไข สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า ยอดรวมของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามใบแจ้งยอดที่ได้รับทุก 6 เดือนนั้นจะตกเป็นของเราทั้งหมด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะการแยกวงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกเป็น เงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และ ผลประโยชน์ของเงินสมทบนั้น นอกจากเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว ยังแสดงถึงความเป็นเจ้าของเงินในฐานะลูกจ้างและนายจ้างอีกด้วย เงินในส่วนของนายจ้างไม่ว่าจะเป็นเงินสมทบ หรือ ผลประโยชน์ของเงินสมทบนั้น นายจ้างมีสิทธิ์ที่จะไม่ให้ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างถูกไล่ออก ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง นอกจากนี้นายจ้างยังมีสิทธิ์ที่จะแบ่งเงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบเป็นสัดส่วนตามอายุงาน รวมไปถึงการกระจายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบในส่วนที่ลูกจ้างไม่ได้รับเมื่อออกจากงานกลับไปให้สมาชิกกองทุนรายอื่น ๆ ที่ยังเหลืออยู่เพื่อจูงใจให้ลูกจ้างอยู่ทำงานกับนายจ้างนานขึ้น ข้อกำหนดเหล่านี้ถูกระบุไว้ใน “ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ซึ่งสมาชิกสามารถขอดูได้จาก “คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ที่ได้รับการแต่งตั้งและเลือกตั้งภายในองค์กรของท่านเอง โดยส่วนใหญ่สมาชิกกองทุนจะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมดตามใบแจ้งยอดแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ต่อเมื่อสมาชิกเกษียณอายุ ตาย หรือ ทุพพลภาพ
เลือกนโยบายการลงทุนในหุ้นสามัญน้อยเกินไป
จนไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 3% ต่อปี ข้าวของมีราคาสูงขึ้นทุกวัน เราเห็นเป็นเรื่องตลกที่คุณพ่อคุณแม่เล่าให้เราฟังว่าเมื่อท่านยังเด็ก ท่านเคยทานก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวราดแกงจานละ 1 บาท ในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าลูกหลานของเราก็คงเห็นเป็นเรื่องตลกเช่นกันที่เราจะเล่าให้เขาฟังว่าเราเคยทานก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวราดแกงจานละ 20 บาทเมื่อตอนเราเป็นเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ข้อมูลสถิติได้แสดงให้เราทราบว่าราคาสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% ต่อปี และข้อมูลสถิติอีกเช่นกันที่ทำให้เราทราบว่ามีผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นสามัญเท่านั้นที่จะสามารถเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้อย่างขาดลอย
ทั้งนี้ “ก่อน” ที่ท่านจะกระโจนเข้าใส่การลงทุนในหุ้นสามัญ ท่านควรจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ประการแรก “การลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยง” ซึ่งหมายถึง ท่านอาจขาดทุนได้ในบางช่วงเวลา ดังนั้น หากท่าน ไม่สามารถทนต่อการขาดทุนได้เลย แม้ในบางช่วงเวลา การลงทุนในหุ้นสามัญก็จะไม่เหมาะกับท่านเลย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดแต่ประการใด เพราะความชอบของคนเราย่อมไม่เหมือนกัน เพียงแต่ท่านที่เลือกแล้วว่าจะไม่ลงทุนในหุ้นสามัญ ก็จะต้องพยายามชดเชยด้วยการเก็บเงินต้นต่อเดือนที่เพิ่มขึ้น และ มีระยะเวลาในการเก็บนานขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ที่ลงทุนในหุ้นสามัญบางส่วน
ประการที่สอง “การลงทุนในหุ้นเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนระยะยาว” ระยะยาวในที่นี้หมายถึงระยะเวลาตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป อย่าทำตัวเป็นมนุษย์ลุงมนุษย์ป้าที่ลงทุนในหุ้นเพื่อหวังเก็งกำไรแล้วเข้าใจเอาเองว่าระยะยาวคือ 1 สัปดาห์ หรือ ทำตัวประหนึ่งว่าเป็นนักลงทุนมืออาชีพจึงปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน โดยลืมนึกไปว่าการเปลี่ยนนโยบายการลงทุนแบบ Employee’s Choice นั้น อาจจะมีผลบังคับใช้ในเดือนถัดไป
ประการที่สาม “การลงทุนในหุ้นต้องเป็นการจัดสัดส่วนการลงทุนอย่างเหมาะสม ไม่ใช่การนำเงินมาลงทุนในหุ้นทั้งหมดในคราวเดียว” การให้คำแนะนำในการกระจายและจัดสัดส่วนการลงทุนอย่างเหมาะสม ตามอายุ สถานภาพ ข้อจำกัด ความสามารถ และความเต็มใจที่จะรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนนั้น เป็นหน้าที่ของผู้แนะนำการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ซึ่งสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถติดต่อสอบถามได้จากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของหน่วยงานท่านเอง หากท่านปรึกษาผู้แนะนำการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. แล้วพบว่าท่านสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นสามัญได้ ท่านก็จะพบว่านโยบายการลงทุนในหุ้นสามัญนี้ จะยังคงมีอยู่เสมอในทุกช่วงอายุ ถึงแม้ว่าท่านจะเกษียณอายุแล้วก็ตาม
ถอนเงินออกมาใช้มากเกินกว่า 4% ต่อปี
หากท่านคาดว่าจะใช้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเลี้ยงชีพยามเกษียณให้หมดภายในระยะเวลา 25 ปี เงินที่ท่านได้รับมาทั้งหมดควรจะนำมาใช้ในอัตราไม่เกิน 4% ต่อปี ซึ่งคำนวณได้จากตัวเลข 100 หารด้วยระยะเวลาที่คาดว่าจะใช้เงินให้หมด โดยมีสมมุติฐานว่าเงินที่ยังคงเหลือในกองทุนนั้นมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ
ดังนั้นหากท่านได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยามเกษียณทั้งหมด 1,000,000 บาท ท่านก็ควรจะนำเงินก้อนนี้ออกมาใช้ปีละไม่เกิน 40,000 บาท เพื่อที่จะสามารถดำรงชีพได้อีก 25 ปี ในกรณีที่ท่านคาดว่าจะใช้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้หมดภายในระยะเวลา 40 ปีท่านก็ควรจะนำเงินออกมาใช้ในอัตราที่น้อยกว่า 2.50% ต่อปี เป็นต้น
พออ่านถึงตรงนี้ ท่านก็น่าจะทราบแล้วว่าเงินจำนวน 1,000,000 บาทนี้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพหรือไม่? หากไม่เพียงพอ ผู้เขียนแนะนำให้ท่านวนกลับไปอ่านสาเหตุข้อแรกอีกครั้ง เพื่อกำหนดเป้าหมายเงินที่ต้องใช้ เพื่อการเกษียณอายุ ซึ่งท่านจะพบว่าจากการคำนวณง่าย ๆ 5 ขั้นตอนนั้น มีเพียง 2 ขั้นตอนที่เราควบคุมได้ นั่นคือ การใช้จ่ายรายเดือนในปัจจุบัน และจำนวนเงินที่คาดว่าจะใช้ในยามเกษียณ นั่นเอง อย่างไรก็ดี เป้าหมายเงินที่ให้คำนวณอย่างง่าย ๆ นี้ ไม่ได้รวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นได้ในยามเกษียณ
ดังนั้น มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายควรที่จะรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ลด-ละ-เลิกในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต เพราะโรคภัยไข้เจ็บส่วนใหญ่ที่แสดงอาการเมื่อเรามีอายุมากขึ้นนั้น มักจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้ชีวิตในวัยเยาว์ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นสืบเนื่องจากอุบัติเหตุ เช่น อัคคีภัย รถชน หรือ หกล้ม ก็ไม่ได้นำมารวมคำนวณด้วยเช่นกัน
ที่จริงแล้ว ยังมีสาเหตุอีกมากที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนวางแผนการเกษียณได้ไม่ถึงฝั่งฝัน ไม่ว่าจะเป็นการถอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาใช้ก่อนการเกษียณอายุ เพราะอ้างเหตุจำเป็นในปัจจุบัน โดยลืมนึกไปว่าเงินที่ได้รับมานั้นจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ การละเลยไม่แจ้งคณะกรรมการกองทุนเมื่อสมาชิกต้องการเปลี่ยนชื่อ-สกุล-ที่อยู่-หมายเลขโทรศัพท์ ของผู้รับผลประโยชน์เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในกรณีต่าง ๆ หรือ การเพิกเฉยต่อการเลือกตั้งคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีความรู้ความสามารถและ “รู้เท่าทัน” ผู้จัดการกองทุน ซึ่งพวกเขาจะเป็นตัวแทนของสมาชิกกองทุนในการตรวจสอบผลการดำเนินงานกับผู้จัดการกองทุนโดยตรง เป็นต้น
มนุษย์เงินเดือนพึงระลึกไว้เสมอว่า ช่วงเวลาที่เราทำงานกับนายจ้างนั้นอาจมีระยะเวลาที่ยาวนานเท่ากันกับช่วงเวลาที่เราต้องดำรงชีพเมื่อเกษียณอายุแล้วไม่มีนายจ้าง เราอาจมีระยะเวลาในการทำงานกับนายจ้างสูงสุด 40 ปี เทียบกับระยะเวลาที่เราต้องดำรงชีพหลังเกษียณไปอีก 40 ปี ดังนั้น ทุกปีที่ผ่านไปกับการทำงานจะสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตหลังเกษียณของมนุษย์เงินเดือนได้เป็นอย่างดี เพราะเงินที่เราเก็บได้ในแต่ละปีก็เปรียบเสมือนเงินที่เราจะใช้ ในแต่ละปียามเกษียณนั่นเอง
ที่มาข้อมูล : https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=1959&type=article