×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

เรื่องเงินที่ "ฟรีแลนซ์" ต้องรู้

5,072

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

อาชีพฟรีแลนซ์ เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นหลังสถานะการณ์จ้างงานอาจมีแนวโน้มลดลงจากวิกฤต COVID-19 ซึ่งเรื่องเงินๆ ทองๆ ของฟรีแลนซ์นั้น มีความแตกต่างจากพนักงานประจำอยู่ไม่น้อย ได้แก่

 

รายได้ เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน

 

พนักงานประจำเป็นอาชีพที่มีเงินเดือนสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะมีป่วยบ้าง ทำงานสาย หรือแม้แต่ไปเที่ยวต่อเนื่องทั้งสัปดาห์ ส่วนฟรีแลนซ์หากป่วยทำงานไม่ได้หรือหยุดทำงาน ก็ไม่มีรายได้เข้ากระเป๋า

 

ฟรีแลนซ์จึงต้องวางแผนการใช้จ่ายให้ดี ทั้งการคุมค่าใช้จ่ายให้มีเท่าที่จำเป็น ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย (เช่น ค่าสังสรรค์) ที่สำคัญควรตั้งเป้าหมายหารายได้ในแต่ละเดือนให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายและงบประมาณที่ว่า

 

เช่น ตั้งเป้าหมายหารายได้ ไม่น้อยกว่า 150%ของค่าใช้จ่าย เพราะหากเดือนไหนมีงานน้อย รายได้ก็ไม่ควรน้อยกว่าค่าใช้จ่าย

 

 เงินเก็บ ต้องมากกว่าคนอื่น

 

ฟรีแลนซ์นอกจากรายได้ไม่แน่นอนแล้ว หากเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุก็ต้องควักเงินจ่ายค่ารักษาเอง เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินจึงต้องมีมากกว่าคนทั่วไป ประกอบกับวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา ยังสอนให้รู้ว่าการขาดรายได้ 3-4 เดือนต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่เป็นไปได้

 

“เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน” จึงควรมีให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 12 เดือน และควรอยู่ในทางเลือกที่ถอนได้ง่าย เช่น เงินฝาก e-Savings ที่ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป และเงินฝากประจำบางแห่ง

 

ภาษีเงินได้ เป็นสิ่งที่ต้องยื่น

 

“ผู้มีเงินได้” มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี รายได้ส่วนใหญ่ของฟรีแลนซ์มักเป็นเงินได้ประเภท 40(2) เช่น รับจ้าง สอนพิเศษ นายหน้า ฯลฯ และ 40(8) เช่น ขายของแบบมีหน้าร้านและขายออนไลน์ ฯลฯ

 

โดยการยื่นภาษีเงินได้ในแต่ละปี แบ่งเป็น 2 ครั้ง (1) ยื่นกลางปี ช่วง ก.ค.-ก.ย. โดยต้องยื่นเงินได้ 40(5) – 40(8) ที่ได้รับในช่วงครึ่งปีแรก ด้วย ภ.ง.ด.94 และ (2) ยื่นสิ้นปี ช่วง ม.ค.-มี.ค. โดยต้องยื่นเงินได้ทั้งหมด ที่ได้รับในปีที่ผ่านมา ด้วย ภ.ง.ด.90 ซึ่งหากไม่ยื่นจะมีบทลงโทษตามมา เช่น เงินเพิ่ม 1.5%ต่อเดือน ของยอดภาษีที่ต้องจ่าย

 

เงินกู้ ขอไม่ง่าย แต่ก็ขอได้

 

สิ่งที่ฟรีแลนซ์ต่างจากพนักงานประจำในมุมมองของธนาคารที่ให้กู้ คือ ความไม่แน่นอนของรายได้ เพราะผู้ให้กู้ย่อมคาดหวังการผ่อนหนี้คืนที่ตรงตามสัญญา จึงไม่แปลกที่โอกาสการขอกู้ของฟรีแลนซ์จะยากกว่าพนักงานประจำ

 

สิ่งที่จะให้ผู้ให้กู้เชื่อมั่นว่าฟรีแลนซ์วสามารถผ่อนหนี้ได้ตามสัญญา คือ หลักฐานต่างๆ เช่น (1) ทะเบียนพาณิชย์ที่สะท้อนประสบการณ์ในอาชีพว่าเริ่มมาเมื่อไร (2) Statement ธนาคาร ที่สะท้อนความสม่ำเสมอของรายได้ (3) ภ.ง.ด.90 ของปีล่าสุด ที่สะท้อนจำนวนรายได้ เป็นต้น

 

สิทธิประโยชน์ที่ต้องรู้

 

เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่มีภาครัฐช่วยสมทบเงินไว้ใช้ยามเกษียณ และรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำไว้ด้วย

 

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นสิทธิรักษาพยาบาลฟรี ที่แม้บริการทางการแพทย์อาจไม่ได้สะดวกสบายเท่าการใช้โรงพยาบาลเอกชน ที่ต้องออกค่าใช้จ่ายเองหรือเบิกจากประกันสุขภาพที่มี แต่ก็สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลตามความจำเป็นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ฟรีแลนซ์ ชีวิตการทำงานอิสระ ที่รายได้ขึ้นกับความสามารถและขยันหมั่นเพียร ย่อมมาพร้อมกับวินัยและความรับผิดชอบที่สูงกว่าคนทั่วไป

 

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats