×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

วัยเกษียณ...ต้องสู้!

8,625

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

เราเคยตั้งความหวังในชีวิตอะไรกันบ้าง แน่นอนว่าแต่ละคนต่างมีความคาดหวังในชีวิตแตกต่างกัน บางคนต้องการร่ำรวยเงินทอง บางคนต้องการสุขภาพที่ดี บางคนต้องการครอบครัวที่มีความสุข ฯลฯ ถ้าถามในช่วง COVID-19 อย่างตอนนี้ ก็คงตั้งความหวังว่า ขอให้ปลอดภัยจาก COVID-19 ขอให้เศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิม แต่ไม่ว่าความคาดหวังแต่ละคนจะแตกต่างกันอย่างไร แต่สุดท้ายทุกคนก็คาดหวัง “ความสุข” เหมือนกันหมดต่างกันเพียงรูปแบบของความสุขที่แตกต่างกัน

 

ความสุขในวัยเกษียณ ก็เป็นความคาดหวังหนึ่งที่ทุกคนมีกัน จำได้เคยบอกกับตัวเองว่า “ทนอีกนิด เดี๋ยวเกษียณก็สบายแล้ว” ปรากฏว่าถึงเวลาเกษียณจริง กลับไม่สบายอย่างที่คิด เหมือนอย่างที่ฝรั่งเตือน “เกษียณ” หรือ “retire” มาจากคำว่า “re” แปลว่า “again หรือ อีกครั้ง” กับคำว่า “tire” มาจากคำว่า “tired” แปลว่า “เหนื่อย” ดังนั้น retire จึงแปลว่า ในชีวิตเกษียณเราจะเหนื่อยอีกครั้งหนึ่ง แล้วเราจะเหนื่อยเรื่องไหนบ้างยามเกษียณ หลักๆก็มี 2 เรื่อง คือ สุขภาพ กับการเงิน

 

เรื่องสุขภาพ

 

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกปี 2559 พบว่าคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 75.5 ปี แต่มีอายุขัยคาดการณ์เฉลี่ยที่มีสุขภาพดี (Health Adjusted Life Expectancy-HALE) 66.8 ปี เท่ากับคนไทยจะมีช่วงชีวิตที่มีปัญหาสุขภาพเฉลี่ย 8.7 ปี ผู้หญิงกลับยิ่งแย่เพราะจะมีช่วงชีวิตที่มีปัญหาสุขภาพเฉลี่ยสูงถึง 9.5 ปีสูงกว่าผู้ชายที่มีช่วงชีวิตที่มีปัญหาสุขภาพ 7.8 ปี

 

ปัญหาที่แย่ก็คือ ช่วงชีวิตที่มีปัญหาสุขภาพจะเกิดในช่วงท้ายของชีวิตที่ค่ารักษาพยาบาลจะแพงที่สุดของชีวิตตามอัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลที่อยู่ประมาณ 7-9%/ปี และเป็นช่วงที่เราไม่สามารถหารายได้ได้ด้วยหากเราไม่มีการเก็บออมเงินที่มากพอ

 

เรื่องการเงิน

 

ค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณไม่ได้ค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ สาเหตุก็เพราะ ช่วงเกษียณของเราแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงย่อย

 

  • ช่วงต้นเกษียณ (อายุ 60 – 65 ปี)

 

ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มักจะเป็นค่าท่องเที่ยว การศึกษาพิเศษ การพักผ่อนหย่อนใจ ในขณะเดียวกันบางคนอาจยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูพ่อแม่ หรือผู้สูงอายุในครอบครัว แถมบางครอบครัว ลูกยังเรียนไม่จบ เท่ากับตัวเองไม่มีรายได้ แต่ต้องเลี้ยงคน 3 รุ่น คือ รุ่นพ่อแม่ รุ่นตัวเอง และรุ่นลูก เปรียบเหมือนตัวเองเป็นไส้แซนวิชที่มีขนมปัง 2 แผ่นบีบบนล่าง เขาจึงเรียกปรากฎการณ์อย่างนี้ว่า Sandwich generationช่วงนี้อาจจัดได้ว่าเป็นช่วงที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดสำหรับชีวิตหลังเกษียณ

 

  • ช่วงกลางเกษียณ (อายุ 65 – 70 ปี)

 

ช่วงนี้ค่าใช้จ่ายกลับเริ่มลดลง เพราะความต้องการส่วนตัวก็ลดน้อยลงตามวัย ลูกก็เรียนหนังสือจบ พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็เสียชีวิตแล้ว ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษาสุขภาพ แต่ก็ยังไม่ได้สูงมากเท่าไหร่นัก

 

  • ช่วงปลายเกษียณ (อายุ 71 ปี ขึ้นไป)

 

ช่วงนี้ คือ ช่วงชีวิตที่มีปัญหาสุขภาพที่กล่าวมาแล้วซึ่งกินระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 10 ปี ค่าใช้จ่ายหลักและจำเป็นที่สุดจึงเป็นค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามความรุนแรงของปัญหาสุขภาพ จะมากเท่าไหร่ ประเมินได้ยาก และจะมีปัญหานานกี่ปีก็ประเมินยากอีกเช่นกัน การสร้างสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดีจึงเป็นเรื่องจำเป็น โชคดีที่ไทยเรายังมีระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นกองทุนประกันสังคม หรือ บัตรทอง (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)

 

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats