4 ปัญหาการเงินที่ยังเหมือนกับเมื่อ 5O ปีก่อน (และวิธีเอาชนะมัน!)
ปฎิเสธไม่ได้ว่าโลกในวันนี้กับ 50 ปีที่แล้วแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะยุคนั้นไม่มี Facebook | Smart Phone | รถยนต์ไร้คนขับ | หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ | ปัญญาประดิษฐ์ (AI) | สกุลเงินดิจิตอล ฯลฯ …แต่เชื่อหรือไม่ว่าแม้ผ่านไปถึง 50 ปี ยังมีบางสิ่งที่ยังคงเหมือนเดิม นั่นคือ “ปัญหาการเงินส่วนบุคคล 4 ข้อ” ซึ่ง CNN Money นำเรื่องนี้มาขยายประเด็นได้อย่างน่าสนใจ (พร้อมปรับข้อมูลเพิ่มเติมให้เหมาะกับคนไทยโดย #WealthMeUp)
ปัญหา | หนี้บัตรเครดิต
บัตรเครดิตในยุคสมัยนี้มีมากมายหลายประเภท รวมถึงบัตรเครดิต “พิเศษ” ที่ทำให้ผู้ถือรู้สึกพิเศษ (และใช้มากเป็นพิเศษ) โดยสถาบันการเงินต่างทำทุกวิถีทางให้บัตรเครดิตเข้ามาอยู่ในกระเป๋าเงินของเรา หากนับจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่าคนไทยมีบัตรเครดิตรวม 19.75 ล้านบัตร (เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. 60 จำนวน 122,197 บัตร) และมียอดคงค้างบัตรเครดิตทั้งสิ้น 333,856 ล้านบาท
วิธีจัดการ | หนี้บัตรเครดิต
ถ้าคุณมีหนี้บัตรเครดิตจำนวนมาก และการชำระหนี้ให้หมดก็เป็นเรื่องยากแสนยาก สิ่งแรกที่ต้องมีคือ “ตั้งสติ” และ “ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น” ออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วนำเงินนั้นไปจ่ายหนี้บัตรเครดิตซะ เพราะยิ่งจ่ายหนี้เร็วเท่าไหร่ “ดอกเบี้ยทบหนี้” (หลักการเดียวกับดอกเบี้ยทบต้น) ที่พอกพูนก็จะลดลงเท่านั้น และนั่นก็ทำให้ยอดหนี้โดยรวม (เงินต้น + ดอกเบี้ย) ลดลงไปด้วย
ปัญหา | ออมเพื่อเกษียณ
ในอดีตคนส่วนใหญ่มักทำงานในองค์กรเดียวตั้งแต่เรียนจบยันเกษียณ และเมื่อถึงวันสุดท้ายของการทำงานพวกเขาเหล่านั้นก็จะได้รับเงินบำนาญก้อนใหญ่ ที่เกินพอสำหรับใช้ในวัยหลังเกษียณ แต่ในวันนี้มีเพียงแค่ 32% ของคนอเมริกันเท่านั้นที่ได้รับเงินก้อนนั้น และนั่นก็หมายความว่าภาระรับผิดชอบชีวิตการเงินของคนวัยเกษียณ ได้ตกไปเป็นภาระของคนทำงานเหล่านั้นเรียบร้อยแล้ว และข้อมูลจาก “การศึกษาวิเคราะห์ระดับสินทรัพย์ การออมขั้นต่ำที่ผู้เกษียณอายุพึงมี สำหรับการประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน (วัยสูงอายุ)” ซึ่งจัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (CMRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังระบุด้วยว่าคนที่มีเงินเพียงพอในวัยเกษียณมีเพียง 24% เท่านั้น!
วิธีจัดการ | ออมเพื่อเกษียณ
“ออมก่อน รวยกว่า” คือกลยุทธ์สำคัญของการวางแผนเกษียณ เพราะมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น เฉกเช่นกฎของเลข 72 ทำให้เงินเพียงน้อยนิด หลักร้อย หลักพัน ก็กลายเป็น 7 หลัก 8 หลักได้ เพราะสิ่งสำคัญที่ทำให้มีความมั่งคั่งไม่ใช่แค่ “เงินต้น” หรือ “ผลตอบแทน” เท่านั้น แต่ยังรวมถึง “ระยะเวลาลงทุน” ด้วย
ตัวอย่างเช่น หากลงทุนเดือนละ 1,000 บาท (เงินต้น) ในกองทุนรวมผสม หรือกองทุนหุ้น และได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6-7% ต่อปี (ผลตอบแทน) ตอนเริ่มทำงาน (อายุ 25-30 ปี) 30 ปีผ่านไป (ระยะเวลา) จากเงินต้น 360,000 บาท ก็จะกลายเป็น 1 ล้านบาทในวัยเกษียณ เห็นมั้ยว่าดอกผลจากการลงทุนสูงถึง 640,000 บาท (3 เท่าตัว)
แต่หากไปเริ่มลงทุนตอนใกล้เกษียณ (อายุ 50 ปี) เพื่อให้ได้เงินล้าน ด้วยผลตอบแทนเท่าเดิม (6-7% ต่อปี) จะต้องใช้เงินต้นเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละเกือบ 7,000 บาท!
อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าเพียงแต่หวังผลตอบแทนสูง แต่จงเริ่ม “ลงทุนทันที” (ออมก่อน รวยกว่า)
ปัญหา | การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล
แม้ว่าการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นเรื่องปัจเจก และดูเหมือนว่าจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมของอุตสาหกรรม แต่นวัตกรรมการเงินที่พัฒนาขึ้น บัตรเครดิตที่มีกันง่ายขึ้นและอยู่ในกระเป๋าสตางค์ของทุกคน หรือแม้แต่ข้อมูล Mobile Banking หรือ Internet Banking เหล่านี้ย่อมทำให้โอกาสในการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวไปสร้างความเสียหายด้านการเงินก็มีมากขึ้น ในรูปแบบที่หลากหลาย (ไวรัส มัลแวร์ ซื้อของออนไลน์ โทรศัพท์ อีเมล SMS ฯลฯ) โดยในปีที่ผ่านมา ชาวอเมริกัน 15.4 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อของการถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้
วิธีจัดการ | การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล
ขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุดของการป้องกันการถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลก็คือ ทำให้คนอื่นเข้าถึงข้อมูลของตนได้ “ยาก” เข้าไว้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งรหัสผ่านที่ซับซ้อนและเปลี่ยนสม่ำเสมอ ไม่ใช่รหัสเดียวกันในทุกช่องทาง ตรวจสอบบัญชีของตนเสมอ ฯลฯ เพียงเท่านี้ความเสี่ยงของการตกเป็นเหยื่อก็ลดลงไปได้แล้ว
ปัญหา | ค่ารักษาพยาบาลพุ่ง
50 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวล้ำไปอย่างมาก เฉกเช่นกับค่ารักษาพยาบาลที่พุ่งขึ้นตามวิวัฒนาการทางการแพทย์ โดยที่สหรัฐอเมริกา ปี 1976 คนอเมริกัน จ่ายค่ารักษาพยาบาลรวม $43,500 ล้าน แต่ปีที่ผ่านมาตัวเลขนี้พุ่งขึ้นเป็น $3.4 ล้านล้าน นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายต่อคนสูงถึง $10,350 (กว่า 350,000 บาท)
ขณะที่ประเทศไทยนั้น AON คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทางการแพทย์จะพุ่งขึ้นถึง 8% ในปีนี้ (เทียบกับเงินเฟ้อทั่วไปที่ 2.3%) และปีที่แล้วก็เฟ้อมาแล้ว 8% นะ…จะบอกให้
วิธีการจัดการ | ค่ารักษาพยาบาลพุ่ง
“ประกันสุขภาพ” คำตอบที่ชัดเจนที่สุดสำหรับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายสุขภาพ เพื่อการวางแผนการเงินของคนในยุคปัจจุบัน เพราะหากเราไม่ล็อกค่ารักษาพยาบาลต่อปีด้วยประกันสุขภาพแล้ว หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อาจทำให้ไม่สามารถในการจ่ายค่าหมอ ค่าพยาบาล ค่ายา ได้อย่างเพียงพอ (เพราะแพงเหลือเกิน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนชั้นดี) ลองมองหาประกันสุขภาพ หรือประกันชีวิตที่มีสัญญาเพิ่มเติมที่เหมาะสมกับตัวเองดู รับรองว่าเงินที่จ่ายไปซื้อความสบายใจได้แน่นอน
กด Subscribe รอเลย…