“Smart City”
การพัฒนาและคุณภาพชีวิต ของคนในยุคปัจจุบัน คืออะไร?
ห้องพักขนาด 27.5 ตร.ม. | วิวป่าคอนกรีต | เทคโนโลยี 4G กับการติดต่อสื่อสารไร้สาย | มลพิษทางอากาศ | อาหารปนเปื้อน | พื้นที่สีเขียว 3 ตร.ม./คน
สิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตคนเมืองจริงหรือ?
หากถ้าลองเปรียบเทียบกับเมืองที่เจริญแล้วในต่างประเทศ วิวทิวทัศน์ที่สะอาดตา อากาศดี รถไม่ติด ความพร้อมด้านเทคโนโลยีและความเจริญที่ครบถ้วน เพียงเท่านี้ก็ดึงดูดผู้คนมากมายให้หลั่งไหลเข้าไปใช้ชีวิตและอยู่อาศัยแล้ว แต่ทว่าเมืองเหล่านี้ก็ไม่ได้หยุดพัฒนา หลายมหานครกำลังผลักดันตัวเองให้เข้าสู่การเป็น “สมาร์ทซิตี้” (Smart City) หรือ “เมืองอัจฉริยะ”
สมาร์ทซิตี้
สมาร์ทซิตี้ คือ แนวคิดของการวางระบบชุมชนเมืองที่สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัยให้ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีโดยการนำเทคโนโลยีด้านข้อมูลและโทรคมนาคมมาใช้ร่วมกับการวางโครงสร้างพื้นฐานของเมืองทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ | สิ่งแวดล้อม | การบริหารงานปกครอง | ที่อยู่อาศัย | การจราจรขนส่ง | ทรัพยากรมนุษย์ เข้าด้วยกัน เพื่อให้การบริหารจัดการเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สมาร์ทซิตี้ในต่างประเทศ
กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ถือเป็นที่สุดของเมืองที่น่าอยู่และเต็มไปด้วยนวัตกรรม มีการใช้บิ๊กดาต้าเข้าจัดการเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนในเมือง สิ่งทีน่าสนใจของที่นี่ คือ มีการใช้พลังงานทดแทนถึง 14% โดยในปี 2555 ภาครัฐได้เปิดโอกาสให้ประชาชนลงทุนซื้อแผง หรือส่วนหนึ่งของแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในราคา 950 ยูโร (ประมาณ 40,000 บาท) ต่อแผง สิทธิในการซื้อ 10 แผง/คน โดยผู้ถือสิทธิจะได้ผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 3.1 ของเงินที่ลงทุนต่อปี หลังจากครบ 25 ปีรัฐจะทำการเปลี่ยนแผงดังกล่าวและคืนเงินลงทุนให้กับผู้ถือสิทธิ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่บ้านเมืองนี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก และถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในเมืองโดยที่ภาครัฐเองก็ลดต้นทุนการลงทุนไปได้มากเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเมืองใหญ่ทั้ง ลอนดอน สหราชอาณาจักร | ปารีส ฝรั่งเศส | โตเกียว ญี่ปุ่น | ฮ่องกง | จีน | สิงคโปร์ ที่เป็นสมาร์ทซิตี้ที่น่าจับตามอง
ขณะที่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา IESE Cities in Motion Index 2017 จัดลำดับเมืองที่สมาร์ทที่สุดในโลก (the world’s smartest city) จากการพิจารณาตัวชี้วัดกว่า 79 แบบใน 10 มิติที่ต่างกันของวิถีคนเมืองไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ | เทคโนโลยี | ทุนมนุษย์ | ปฏิสัมพันธ์ของผู้คน | การติดต่อระหว่างประเทศ | ธรรมชาติ | การติดต่อสื่อสาร | การเดินทาง | การวางแผนชีวิตของคนเมือง | รัฐบาลและการบริหารจัดการ โดยผลลัพธ์ที่ได้คือ
ประเทศไทยกับเมืองอัจฉริยะ
บ้านเราเองก็มีการตั้งเป้าให้เกิด Smart Thailand ขึ้นจริงภายในปี 2563 โดยมี “ภูเก็ต” เป็นเป้าหมายของการเป็นสมาร์ทซิตี้เป็นจังหวัดแรก
โดยในงาน“ TREA TALKS Real Estate 2017 – Future Thailand: ประเทศไทย 4.0 ก้าวไปข้างหน้าอย่างไร ไม่ต้องทิ้ง ใครไว้ข้างหลัง” นายบุญ ยงสกุล กรรมการบริหาร บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ได้เผยถึงแผนการพัฒนาเมืองภูเก็ต เพื่อไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบเอาไว้ว่า ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 4 แสนคน แต่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนถึง 13 ล้านคน / ปี จึงนับได้ว่าภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงต้องมุ่งพัฒนาให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจของเมืองด้วย
โดยจำนวนผู้คนที่มาเยือนมากกว่าขนาดของประชากรในพื้นที่ถึง 35 เท่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด และปัญหาด้านระบบขนส่งมวลชนจะเกิดขึ้นตามมา
สำหรับแผนพัฒนาเมืองภูเก็ตนั้นถูกแบ่งออกเป็น 12 แผน โดยครอบคลุมการพัฒนาตามหลักการของเมืองอัจฉริยะ คือ พัฒนาระบบขนส่งมวลชน ระบบขนส่งทางทะเลและพื้นที่โดยรอบ | พัฒนาระบบจัดการน้ำ สร้างพลังงานทางเลือก | พัฒนาแอพพลิเคชั่น สร้างระบบไฟและระบบความปลอดภัยแบบอัจฉริยะผ่านการใช้เทคโนโลยี
โดยการจัดทำโครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ ใช้งบประมาณการลงทุนประมาณ 4,200 ล้านบาท คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ รวมถึงดึงเงินลงทุนเข้าประเทศได้มูลค่าหลักแสนล้านบาท ด้วยความหวังว่าเมื่อภูเก็ตเป็นเมืองอัจฉริยะแบบเต็มตัวแล้ว เราๆท่านๆคงจะได้เห็นโฉมหน้าเมืองในรูปแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้นและช่วยแก้ไขปัญหาของเมืองได้ตรงจุดตามจุดประสงค์หลักของการสร้างเมืองอัจริยะด้วยระบบการจัดการและเทคโนโลยีจริงๆ
กด Subscribe รอเลย…