3 สัญญาณบ่งบอกว่าหมกมุ่นเรื่องเงิน
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
แม้ “เงิน” เป็นสิ่งจำเป็นและทุกคนต้องการเพื่อให้ชีวิตบรรลุความฝัน แต่มีหลายคนก็ไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้ สถานะทางการเงินไม่แข็งแรง หรือบางคนอาจล้มเหลวทางการเงิน
เมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้อาจทำให้เกิดความกดดัน สูญเสียเพื่อนฝูง ครอบครัว สุขภาพกายและจิตใจย่ำแย่ ผลลัพธ์ที่ตามมาอาจกลายเป็นความหมกมุ่นเรื่องเงินโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ลองสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างว่ากำลังหมกหมุ่นกับเรื่องเงินหรือไม่ และถ้าหมกหมุ่นมักแสดงออก ดังนี้
- พูดถึง แต่ ‘เรื่องเงิน’
ในวงสนทนา ถ้าได้ยินบทสนทนาแต่เรื่องเงิน เช่น ตอนนี้ทำอะไร วางแผนจะทำอะไร ลงทุนอะไร พูดง่ายๆ ทุกประโยคไม่พ้นเรื่องเงินๆ ทองๆ หรือบทสนทนามีแนวโน้มนำไปสู่หัวข้อการเงิน การลงทุน ความร่ำรวย รายได้ หรือพูดแต่เรื่องเงินของตัวเอง แสดงว่าเริ่มมีปัญหาเรื่องเงิน ซึ่งอย่าลืมว่าเรื่องการเงิน ไม่สามารถพูดกับทุกคนได้ตลอดเวลา
- ทุกลมหายใจ คือ ‘เรื่องเงิน’
ควรตระหนักว่าชีวิตมีอะไรมากกว่าเงิน จึงไม่ควรคิดเรื่องเงินทุกตลอดเวลา และอย่าพยายามคิดเรื่องเงินในเวลาทำงาน เพราะอาจทำให้เสียงานได้ เพราะถ้าหมกหมุ่นเรื่องเงินตลอด อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเครียด จึงควรหยุดคิดเรื่องเงิน เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ หรือดูรายการบันเทิงสนุกสนานคลายเครียด
- เสียสละเวลาอันมีค่า เพราะ ‘เรื่องเงิน’
หลายคนเสียสละช่วงเวลาพิเศษกับครอบครัว คนที่เรารัก ลืมเวลากินข้าว หรือแม้แต่งดออกกกำลังกาย เพียงเพราะทำงานล่วงเวลา ทำโอที เสาร์อาทิตย์ก็นั่งทำงาน และเมื่อคนรอบข้างชวนก็ให้เหตุผลว่า “งานยุ่งมาก” หรือคนที่เรารักชวนไปเที่ยวสุดสัปดาห์นี้ก็ให้เหตุผลว่า “ขอเป็นสิ้นเดือนหน้า”
5 เคล็ดลับ ลดความหมกหมุ่นทางการเงิน
อย่างที่กล่าวเอาไว้ข้างต้น “เงิน สำคัญต่อชีวิต” แต่ถ้าหมกหมุ่นจนเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตก็ได้ ดังนั้น ถ้าสามารถปรับเปลี่ยนหรือลดความหมกหมุ่นการเงินได้ควรลงมือทำทันที
- เกิดความมั่งคั่งด้าน ‘เวลา’ และ ‘สุขภาพ’
เมื่อนึกถึงการลงทุน อาจนึกถึงสินทรัพย์ที่ลงทุน เช่น หุ้น กองทุนรวม ทองคำ จากนั้นก็ติดตามว่าจะได้ผลกำไรที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้หรือไม่ แต่ที่ไม่ค่อยพูดถึงเกี่ยวกับความมั่งคั่งที่สามารถลงทุนได้เหมือนกัน คือ เวลาและสุขภาพ
“เวลา” เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการมากขึ้น แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะนำเวลาทั้งหมดไปทำงาน หมายความว่างานได้แย่งเวลาไปจากเรา และเมื่อทำงานมากขึ้นย่อมมีเงินเพิ่มขึ้นตามไปด้วยและนำไปใช้จ่ายหรือลงทุน แต่ถ้าทำแบบนี้ไปนาน ๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้น ควรสร้างความสมดุลระหว่างการทำงาน การลงทุน การดูแลสุขภาพและจิตใต
- ได้รับเงินตาม ‘คุณค่า’ ไม่ใช่เวลา
มี 2 คนทำงานฝ่ายเดียวกัน คนแรกทำงานมาแล้ว 5 ปี ส่วนอีกคนทำงาน 3 ปี คนแรกมักบ่นว่าบริษัทปรับขึ้นเงินเดือนน้อยมาก หรือบางปีก็ไม่ปรับขึ้นเลย โบนัสก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง และมองว่าบรรยากาศการทำงานไม่ค่อยจะดีมากนัก
ขณะที่คนที่สอง ได้รับเงินเดือนใกล้เคียงกับคนแรก ได้รับผลตอบแทนจากบริษัทน่าประทับใจ มองว่าบรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยมิตรภาพ ที่สำคัญหน้าที่การงานมีโอกาสก้าวหน้าค่อนข้างเร็ว
อาจสงสัยว่าทำไมการขึ้นเงินเดือนสองคนนี้ถึงมีความแตกต่างกัน คำตอบคือ คนที่สองตั้งใจทำงานเพื่อให้งานดีขึ้น ไม่เอาเปรียบบริษัท ในขณะที่คนแรกทำงานบ้าง ไม่ทำบ้าง บางวันเข้างานสายเพราะนั่งดื่มกาแฟที่ร้าน
บทเรียนในเรื่องนี้ คือ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าจะทำงานมานานมากน้อยแค่ไหน แต่การได้รับเงินเดือน โบนัสที่ดี หน้าที่การงานเติบโต คือ การเพิ่มคุณค่าให้ตัวเองอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ถ้าคนรอบข้างเห็นว่ามีคุณค่า ย่อมได้รับผลตอบแทนที่ดีตามคุณค่าที่ตัวเองทำเช่นกัน
- ‘ซื้อของถูก แต่บ่อย’
หลายคนอาจมองว่าการซื้อของราคาถูก คือ การประหยัดเงิน พูดง่าย ๆ การซื้อของราคาถูกจึงเป็นการใช้จ่ายที่ดี อย่างไรก็ตาม การซื้อของราคาถูก อาจซื้อได้บ่อย ๆ หรืออาจได้ข้าวของที่ไม่มีคุณภาพ ใช้ได้กี่ครั้งก็พัง สุดท้ายก็ต้องไปซื้อชิ้นใหม่
การประหยัด คือ การทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงิน ที่สำคัญคิดรอบคอบก่อนจ่ายเงินทุกครั้ง รู้คุณค่าของเงิน
ดังนั้น การซื้อของราคาถูกจึงมีอันตรายและนำไปสู่การใช้จ่ายเกินตัว หรืออาจหมายถึงไม่มีเป้าหมายเรื่องเงินทอง
- ‘มีเงินเก็บ มีอนาคต’
การเก็บออมในระดับที่เหมาะสมเพื่อเตรียมเอาไว้ใช้ในวันข้างหน้า หมายถึง การมีอนาคต แต่ก่อนจะมีอนาคตด้านการเงิน ต้องมีความรู้ เป้าหมายชัดเจน ทัศคติที่ดี จากนั้นก็วางแผนการเก็บออมและลงทุนที่วางเอาไว้ และอย่าลืมควรให้เวลากับการวางแผนการเงิน
- อย่าปล่อยให้ ‘เงินเบื่อ’
การปล่อยให้เงินตัวเองเบื่อ หมายถึง การเก็บไว้ในที่ใดที่หนึ่งนานจนเกินไป ซึ่งอาจทำให้ผลตอบแทนไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น เพราะปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ย่อมส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ที่ลงทุน อาจกำไรหรือขาดทุนหมดได้ภายในเวลารวดเร็ว
ดังนั้น นักวางแผนการเงินจึงแนะนำให้จัดสรรเงินไปลงทุนในช่องทางที่เหมาะสม มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี พร้อมกับเลือกสินทรัพย์ลงทุนที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง และใช้เครื่องมือการลงทุนที่เหมาะสม
ทุกคนจะมีบทเรียนทางการเงิน ทั้งด้านดี ด้านไม่ดี ถ้าสามารถปรับใช้กับตัวเองอย่างเหมาะสม จะทำให้สุขภาพการเงินแข็งแกร่งตลอด