ทำอย่างไร? เมื่อถูก “เลิกจ้าง” แบบฟ้าผ่า
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
เลิกจ้างแบบ “ฟ้าผ่า” ฝันร้ายตอนตื่น ที่ไม่มีใครอยากเจอ แต่เมื่อเจอกับตัวก็ต้องตั้งสติและเช็กสิทธิต่างๆ ที่มี เพื่อรักษาเงินในกระเป๋าไว้ให้ได้มากที่สุด
นายจ้างหรือบริษัทมีสิทธิเลิกจ้างพนักงานได้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องเคารพสิทธิและคำนึงถึงความเดือดร้อนของลูกจ้างที่ทำงานเพื่อคาดหวังเงินเดือนหรือค่าจ้างเช่นกัน
พนักงานเอกชนที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิด มีสิทธิอะไรที่เรียกร้องจากนายจ้างและภาครัฐได้บ้าง เรามีคำตอบมาฝากกัน
“เงินค่าจ้าง” แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 17 ระบุว่านายจ้างสามารถเลิกจ้างพนักงานได้แต่ต้องมีการบอกล่วงหน้าเป็นหนังสือ ภายในกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งใดๆ เพื่อให้มีผลเมื่อถึงก่อนกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป
เช่น กรณีพนักงานรับค่าจ้างเป็นเงินเดือนทุกสิ้นเดือน หากนายจ้างแจ้งหรือประกาศเลิกจ้างภายในสิ้นเดือน มิ.ย. ก็จะมีผลให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงได้เร็วที่สุดตอนสิ้นเดือน ก.ค. ซึ่งในกรณีนี้พนักงานยังต้องได้รับเงินเดือนรอบสิ้น มิ.ย.-ก.ค. ไม่ว่านายจ้างจะเลิกจ้างหรือให้หยุดทำงานในวันใดก็ตาม
“เงินชดเชย” ตามกฎหมายแรงงาน
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 ระบุว่านายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างเป็นเงินก้อนหนึ่ง ซึ่งขึ้นกับอายุงานและค่าจ้างหรือเงินเดือนที่เคยได้รับ
“เงินทดแทน” กรณีว่างงาน จากประกันสังคม
สำหรับพนักงานเอกชนที่ถูกนายจ้างหักเงินสมทบส่งประกันสังคม (ม.33) มาแล้ว 6 เดือนขึ้นไป หากถูกเลิกจ้างมีสิทธิขอรับเงินทดแทนในระหว่างที่ว่างงานอยู่ เดือนละ 50%ของเงินเดือน สูงสุดเดือนละ 7,500 บาท (คำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท) เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน
โดยต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของสำนักงานจัดหางานของรัฐ (https://empui.doe.go.th) ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้าง และต้องรายงานตัวตามกำหนดผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
เงินจาก “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”
เป็นเงินอีกก้อนหนึ่งที่เป็นสิทธิของลูกจ้าง โดยเงินในกองทุนฯ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานแต่คนจะถูกแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ (1) เงินสะสมส่วนของลูกจ้าง (2) ผลประโยชน์ของเงินสะสม (3) เงินสมทบส่วนของนายจ้าง (2) ผลประโยชน์ของเงินสมทบ
ซึ่งเงินส่วนที่ “(1) เงินสะสมส่วนของลูกจ้าง” เป็นเงินที่ลูกจ้างต้องได้รับแน่นอนไม่ว่าจะลาออกหรือถูกเลิกจ้าง เพราะเป็นเงินของลูกจ้างที่ถูกหักไป แต่เงินส่วนที่ (2) – (4) จะได้รับหรือไม่ต้องขึ้นกับข้อบังคับของนายจ้าง ซึ่งโดยปกติจะได้รับก็ต่อเมื่อมีอายุงานตามกำหนด เช่น จะได้รับก็ต่อเมื่ออายุงาน 5 ปีขึ้นไป เป็นต้น
เมื่อรู้สิทธิที่มี ก็ต้องตั้งสติ ทันทีที่ถูกเลิกจ้างต้องเรียกร้องสิทธิที่มีให้ครบ โดยเฉพาะจากนายจ้าง หากนายจ้างอ้างเหตุผลไม่จ่ายเงิน ลองอ้าง “มาตรา” ตามกฎหมาย เพื่อให้รู้ว่าลูกจ้างอย่างเราก็รู้สิทธิ และถ้าจำเป็นหรือยังไม่มั่นใจก็สามารถติดต่อหน่วยงานรัฐ เช่น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (https://www.labour.go.th) ทางสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546 เพื่อขอคำแนะนำได้