ผ่อนไม่ไหว ทำอย่างไรดี?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
หากใครกำลังอยู่ในสถานการณ์ ‘เงินไม่พอใช้หนี้’
มาดู 4 ตัวช่วยที่เริ่มจากตัวเรา…2 ทางออก จากสถาบันการเงิน
หากกำลังอยู่ในสถานการณ์เงินไม่พอใช้หนี้ ขอให้ตั้งสติให้ดี แล้วค่อยๆ พยายามหาทางแก้ไข ดังนี้
1. ไม่ก่อหนี้เพิ่ม
เพื่อไม่ให้เงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
2. สำรวจพฤติกรรมการใช้เงิน
อาจทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อดูว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ไม่จำเป็นและพอจะลด ละ เลิก ได้บ้าง เช่น หวย เสื้อผ้า กระเป๋า
3. หารายได้เสริม
จากความสามารถพิเศษที่มี เช่น ทำขนมขาย รับจ้างซ่อมแซมสิ่งของ ประกวดความสามารถชิงรางวัลต่างๆ
4. ไม่ควรหนีเจ้าหนี้
เพราะอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น
การรีไฟแนนซ์
คือ การ “เปลี่ยนเจ้าหนี้” หรือไถ่ถอนหนี้จากผู้ให้สินเชื่อเดิมเพื่อมาขอกู้จากผู้ให้สินเชื่ออีกแห่งหนึ่งแทน ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่ในการรีไฟแนนซ์ก็คือ ผู้ให้สินเชื่อมักเสนอดอกเบี้ยต่ำในช่วงปีแรกๆ การไปเริ่มกู้กับธนาคารแห่งใหม่เมื่อหมดช่วงเวลาที่ได้ดอกเบี้ยต่ำแล้วมักจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง
อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจรีไฟแนนซ์ เราควรคำนวณให้ดีก่อนว่าคุ้มหรือไม่ โดยเปรียบเทียบว่าเงินที่ประหยัดได้จากดอกเบี้ยที่ลดลงมากกว่าหรือน้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการที่ต้องเริ่มกระบวนการพิจารณาสินเชื่อใหม่ทั้งหมด
หากพบว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง หรือเสียเวลาในการดำเนินการมาก แต่ช่วยให้ประหยัดเงินได้น้อย การใช้บริการผู้ให้สินเชื่อเดิมอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ตัวอย่าง: นาย ก ได้กู้เงินซื้อบ้านจากธนาคาร A เป็นเงิน 2,200,000 บาท โดยกู้มาแล้ว 2 ปี ขณะที่เงินต้นคงเหลือ 2,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยที่จ่ายอยู่เดิมคือ 7% โดยนาย ก กำลังตัดสินใจว่าจะรีไฟแนนซ์ไปธนาคาร B ซึ่งจะคิดอัตราดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (ให้สันนิษฐานว่าหลังจากหมดโปรโมชันแล้ว จะใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ซึ่งเท่ากับอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินเดิม) แต่นาย ก ต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 3% ของยอดคงค้าง เพราะเพิ่งจะกู้ไม่ถึง 3 ปี
- ดอกเบี้ยที่ประหยัดได้
ดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ = A x B x C
A = เงินต้น
B = อัตราดอกเบี้ยที่ประหยัดได้
C = จำนวนปีที่ได้โปรโมชัน
ดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ทั้งสิ้นประมาณ
= 2,000,000 x (7-3)/100 x 3
= 240,000 บาท*
- ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์
ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้แก่หน่วยงานราชการ
-
- ค่าจดจำนองหลักประกัน (1% ของวงเงินจำนอง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท)
- ค่าอากรแสตมป์ (0.05% ของวงเงินกู้ แต่ไม่เกิน 10,000 บาท)
ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายแก่สถาบันการเงินแห่งใหม่
-
- ค่าประเมินหลักประกัน
ค่าปรับที่ต้องจ่ายให้แก่สถาบันการเงินเดิม เช่น ถ้าผ่อนส่งยังไม่ครบจำนวนปีที่กำหนดก็จะต้องจ่ายค่าปรับ เช่น 3% จากเงินต้นคงค้าง
จากตัวอย่างค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น = 84,000 บาท*
การรีไฟแนนซ์ตามตัวอย่างนี้จะประหยัดเงินได้ประมาณ 240,000 – 84,000 = 156,000 บาท* จึงควรรีไฟแนนซ์
*หมายเหตุ: การคำนวณข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่าง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากสถาบันการเงินแต่ละแห่ง
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะเกิดขึ้นในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามสัญญาเงินกู้เดิม ลูกหนี้จึงประสงค์ที่จะขอผ่อนปรนการชำระหนี้กับสถาบันการเงินตามความสามารถ โดยสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะเป็นแนวทางที่ลูกหนี้สามารถที่จะชำระหนี้ได้ตลอดสัญญา และลูกหนี้ไม่ควรผิดนัดชำระอีก
ดังนั้น ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้ควรชี้แจงสาเหตุหรือปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงินได้ตามความเป็นจริง เพื่อให้สถาบันการเงินนำข้อมูลที่เป็นประเด็นปัญหาไปประกอบการพิจารณาอนุมัติการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อไป