จีนอาจเข้าสู่ Lost Decade คล้ายกับญี่ปุ่นในอดีต?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
…‘จีน’ ประเทศเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลก อาจเข้าสู่ทศวรรษที่สาบสูญ (Lost Decade) ไม่ต่างจากญี่ปุ่นในอดีต!
…อะไรบ้างที่เป็นสัญญาณเตือน?
…‘จีน’ จะฉุดตัวเองให้พ้นจากปากเหวนี้ได้อย่างไร?
สัญญาณเตือน! จีนตามรอยญี่ปุ่นเข้าสู่ Lost Decade?
หลังจากที่จีนตัดสินใจเปิดประเทศ ตั้งแต่ปี 1978 เศรษฐกิจจีนเติบโตเฉลี่ยถึงประมาณ 9% ต่อปี
ชาวจีนกว่า 800 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน เงินทุนทั่วโลกหลั่งไหลเข้าไปในจีน จนทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนก้าวขึ้นมาอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (Upper-Middle-Income Country)
และที่สำคัญคือ ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงแค่สหรัฐอเมริกา
แต่ดูเหมือนว่าช่วงเวลาทองของจีนจะจบลงไปแล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจที่เคยสูงเฉลี่ยเกือบ 10% ค่อยๆ ลดลงต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะลดลงมาต่ำกว่า 5% ในปีนี้
จีนที่เคยเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในหลายทศวรรษที่ผ่านมา กำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ไล่มาตั้งแต่วิกฤตโควิดที่รุนแรงกว่าหลายประเทศ ตามมาด้วยฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่แรงกดดันจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีกับชาติตะวันตก
สัญญาณเตือนเหล่านี้ทำให้นักลงทุนทั่วโลกต่างนึกย้อนไปถึงช่วงเวลาที่เรียกว่า ‘Lost Decade หรือทศวรรษที่สาบสูญ’ ที่เคยเกิดขึ้นกับญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1990s ว่าอาจจะกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งกับประเทศจีน
Lost Decade ของญี่ปุ่น
ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบกันว่า Lost Decade จะเกิดขึ้นกับจีนหรือไม่ แล้วถ้าเกิดขึ้น อะไรคือผลกระทบที่จะตามมา อยากพาทุกคนย้อนไปดูสักเล็กน้อยว่า Lost Decade ที่เคยเกิดขึ้นกับญี่ปุ่นมีที่มาที่ไปอย่างไร
ญี่ปุ่นในช่วงก่อนทศวรรษที่ 1980s เป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงอย่างมาก จนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จนนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น ก่อนที่ฟองสบู่ดังกล่าวจะแตกออกในช่วงปี 1991 ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหล่นลงไปสู่ Lost Decade ที่ว่ากันว่ากินเวลานาน 20-30 ปี
ถามว่าอะไรคือสาเหตุสำคัญของฟองสบู่ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นในเวลานั้นตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายทางการเงินด้วยการลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนทางการเงินของทั้งประเทศลดลง ทำให้ผู้คนนิยมนำเงินไปเก็งกำไรในภาคอสังหาฯ และหุ้น
หลังฟองสบู่แตก พฤติกรรมของคนญี่ปุ่นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หันมาออมเงินเป็นหลัก จนทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญกับปัญหาเงินฝืดต่อเนื่องยาวนาน ขณะที่การเติบโตของ GDP ญี่ปุ่นก็ต่ำเพียงประมาณ 1% ต่อปี จนถึงช่วงปี 2020
ปัญหาเงินฝืด กำลังตามหลอกหลอนจีน
ตัดภาพกลับมาที่เศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน นโยบาย Zero-Covid ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงการควบคุมภาคเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวด ยิ่งซ้ำเติมปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่มีต่อการบริหารจัดการเศรษฐกิจของจีน และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นของจีนกลายเป็นหนึ่งในตลาดที่ผลตอบแทนแย่ที่สุดในโลก โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนสูญมูลค่าไปกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในช่วงเวลาที่ประเทศอื่นๆ กำลังต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจจีนกลับถูกหลอกหลอนโดยภาวะเงินฝืด ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา จีนประสบปัญหาทั้งราคาผู้บริโภคและราคาผู้ผลิตที่ลดลง สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้จีนยากที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อหลุดพ้นจากภาระหนี้สิน
‘หนี้’ ปัญหาใหญ่ที่จีนต้องเร่งแก้
Ray Dalio ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates บริษัทบริหารจัดการการลงทุน ได้กล่าวเตือนว่า จีนเวลานี้เป็นช่วงที่ยากลำบากในเชิงการเงิน เพราะผู้คนมีความมั่งคั่งลดลง จากปัญหาหลายด้าน ทั้งจากราคาอสังหาริมทรัพย์ ราคาหุ้นและสินทรัพย์ลงทุนอื่น การจ้างงาน รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงาน
และปัญหาที่สำคัญคือ ‘หนี้’ และปัญหาภาคการเงินที่หลายบริษัทและรัฐบาลท้องถิ่นเผชิญอยู่ หากรัฐบาลจีนไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างเหมาะสม ในท้ายที่สุดแล้วจีนอาจต้องเผชิญกับทศวรรษที่สาบสูญ (Lost Decade)
Ray มองว่ารัฐบาลจีนต้องทำสองสิ่งควบคู่กันไป คือ
1. ลดอัตราส่วนหนี้ลง และ 2. ผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน
ขณะที่สังคมสูงวัยก็กำลังสร้างปัญหาให้กับจีนเช่นกัน ด้วยอายุเฉลี่ยของการเกษียณที่ 53 ปี ขณะที่ค่าเฉลี่ยอายุขัยอยู่ที่ 84 ปี จึงเกิดช่องว่างของผู้คนที่ไม่มีรายได้และต้องรับการดูแลโดยเฉลี่ย 31 ปี และผลจากนโยบายลูกคนเดียว (One-Child Policy) ก่อนหน้านี้ ทำให้ลูกหนึ่งคนต้องรับภาระดูแลทั้งพ่อและแม่
บทเรียนที่จีนควรเรียนรู้จากญี่ปุ่น
มีบทความหนึ่งจาก Financial Times น่าสนใจมาก เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจชาวญี่ปุ่น ชื่อ ริวทาโร โคบายาชิ วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ตกต่ำยาวนานกว่า 30 ปี หลังจากฟองสบู่แตก และมองเปรียบเทียบไปยังอนาคตเศรษฐกิจจีน
ริวทาโรบอกว่า บทเรียนที่จีนควรเรียนรู้จากญี่ปุ่นมี 3 ข้อหลักๆ คือ
โครงสร้างประชากร: จีนกำลังเผชิญกับภาวะประชากรชราภาพ คล้ายกับญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุน
ระบบประกันสังคม: ระบบประกันสังคมของจีนยังไม่แข็งแรงพอ จึงทำให้ประชาชนต้องเก็บเงินออมไว้จำนวนมาก ส่งผลต่อการใช้จ่าย
อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาว: จีนมีอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวสูง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ
และหากจีนอยากจะหลุดพ้นจาก Lost Decade ไปได้ จีนควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีความกล้าที่จะเสี่ยง และลดการควบคุมภาคเอกชนมากเกินไป รวมถึงการปฏิรูประบบประกันสังคม และการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการเปิดประเทศมากขึ้น ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
โดยสรุปแล้ว บนสถานการณ์ปัจจุบัน ปัจจัยที่คล้ายคลึงกันระหว่างจีนและญี่ปุ่นซึ่งอาจจะนำไปสู่การเกิด Lost Decade ครั้งใหม่ คือ ฟองสบู่ในภาคอสังหาฯ และหุ้น รวมทั้งพฤติกรรมของชาวจีนที่ลดการใช้จ่ายลง จนเริ่มเห็นสัญญาณของภาวะเงินฝืด
‘ความต่าง’ จีน vs ญี่ปุ่น
อีกด้านหนึ่งเศรษฐกิจจีนในเวลานี้ก็แตกต่างไปจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอดีตเช่นกัน โดยเฉพาะความสามารถในการควบคุมนโยบายทางการเงินและควบคุมความผันผวนของค่าเงินได้ค่อนข้างดี
ที่สำคัญคือการขยายตัวของสังคมเมืองของจีนอยู่ที่ 63% ต่ำกว่าญี่ปุ่นในอดีตที่ 77% และ GDP per capita ของจีนในเวลานี้อยู่ที่เพียง 12,000 ดอลลาร์ ยังต่ำกว่าญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1990s ที่ 30,000 ดอลลาร์ ทำให้จีนยังมีศักยภาพในการเติบโตได้ดีกว่าญี่ปุ่นในอดีต
แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ ฟองสบู่ภาคอสังหาฯ ของจีนดูเหมือนจะลูกใหญ่กว่าญี่ปุ่นในอดีตค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งสะท้อนจากอัตราการว่างของอสังหาฯ จีนที่ราว 20% เทียบกับญี่ปุ่นที่ 9% และมูลค่าของอสังหาฯ ในจีนคิดเป็นสัดส่วน 15 % ของเศรษฐกิจ และความมั่งคั่งของคนเมือง อยู่ในอสังหาฯ 70%
อนาคตของจีน?
อนาคตของจีนหลังจากนี้เราคงไม่สามารถฟันธงได้ 100% ว่า ท้ายที่สุดแล้วจีนจะต้องเผชิญกับ Lost Decade เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นหรือไม่ แต่เชื่อว่าจีนคงจะกำลังพยายามฉุดตัวเองให้พ้นจากปากเหวนี้อย่างสุดกำลัง