‘สภาพัฒน์’ ห่วงแบงก์เข้มปล่อยกู้ ทำคนหันพึ่งหนี้นอกระบบ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2567 โดยหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2/67 มีมูลค่า 16.32 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.3% ชะลอลงจาก 2.3% ในไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ปรับลดลงจาก 90.7% ของไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 89.6% นับเป็นการปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 90% ครั้งแรกในรอบ 15 ไตรมาส หรือประมาณ 3 ปีครึ่ง หรือนับตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ซึ่งขณะนั้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 91.2%
โดยหนี้สินครัวเรือนเกือบทุกประเภทมีการปรับตัวชะลอลงหรือหดตัว ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนหนึ่งมาจากการมีภาระหนี้ที่สูง ประกอบกับคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ สะท้อนจากเงินให้กู้แก่ภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 หรือ 38.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด มีการหดตัวเป็นครั้งแรก
ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง โดยยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วัน (NPLs) ในฐานข้อมูลเครดิตบูโรมีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8.48% เพิ่มขึ้นจาก 8.01% ของไตรมาสที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มขึ้นในสินเชื่อทุกวัตถุประสงค์
ห่วงคนไทยหันพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น
1. แนวโน้มการก่อหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภค-บริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น ในสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด โดยเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง หากครัวเรือนไม่ระมัดระวังในการก่อหนี้ หรือไม่มีวินัยทางการเงิน จะนำไปสู่การติดกับดักหนี้
2. ความเสี่ยงจากการต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบของครัวเรือน จากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง โดยเฉพาะลูกหนี้ที่กู้ในระบบเต็มวงเงินแล้ว
3. แนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้บ้านที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะบ้านที่มีวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 3 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า รายได้ของครัวเรือนบางกลุ่มยังไม่ฟื้นตัว และสถานะทางการเงินยังตึงตัว จากการเลือกที่จะผิดนัดชำระหนี้บ้านก่อนสินเชื่อประเภทอื่น แม้ว่าบ้านจะถือเป็นสินทรัพย์จำเป็น
4. ผลกระทบของอุทกภัยต่อสภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ซึ่งภาครัฐอาจต้องติดตามการเข้าถึงมาตรการการช่วยเหลือของผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงต้องเร่งฟื้นฟูสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ เพื่อให้รายได้ของครัวเรือนฟื้นตัวโดยเร็ว