แบงก์ชาติ เปิด 5 ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสภาพคล่อง และการปล่อยสินเชื่อ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่บทความ เรื่อง “5 ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสภาพคล่องและการปล่อยสินเชื่อ” โดยมุ่งหวังจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ในเรื่องการดูดปล่อยสภาพคล่องของ ธปท. และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์
โดยระบุว่า ในช่วงหลังมักเจอคำถามที่บ่อยขึ้นว่า การที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อลดลง มาจากที่ ธปท. “ดูดสภาพคล่อง” ออกจากระบบมากเกินไปหรือไม่ เพราะถ้าคิดง่ายๆ ว่าเมื่อสภาพคล่องในระบบการเงินต่ำลง สภาพคล่องในระบบธนาคารก็น่าจะตึงตัวไปด้วย ทำให้ปล่อยสินเชื่อได้น้อยลง (เปรียบง่ายๆ เหมือนสภาพคล่องในระบบการเงินเป็นน้ำที่ ธปท. ดูดหรือปล่อยผ่านภาคธนาคาร และส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจ) ซึ่งธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) เองก็ไม่อยากปล่อยสินเชื่อ เพราะจะเอาเงินมาฝาก ธปท. เพื่อรับดอกเบี้ย
“ตรรกะ 2 เรื่องนี้ ฟังดูเป็นเหตุเป็นผลอยู่ ทำให้คนฟังคล้อยตามง่าย แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง จึงขอใช้โอกาสนี้อธิบายข้อเท็จจริง 5 ประการ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการดูดปล่อยสภาพคล่องของ ธปท. และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์”
ข้อเท็จจริงที่ 1: ระบบธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่มากตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
สะท้อนจากตัวเลขยอดเงินฝาก และเงินลงทุนของ ธพ. ที่อยู่ที่ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมา สูงถึง 4-5 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างนิ่ง ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงมาก และการเปลี่ยนแปลงที่พอจะเห็นนี้ หลักๆ ก็มาจากการดูดหรือปล่อยสภาพคล่องของ ธปท. จากผลของการเข้าดูแลความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
จากตัวเลขที่เห็น การที่ ธปท. ต้องดูดสภาพคล่องจากระบบ ธพ. จำนวนมาก สะท้อนว่าภาคธนาคารมีสภาพคล่องระยะสั้นจำนวนมากและเพียงพอ ซึ่งแปลว่าไม่ได้ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อให้ประชาชน แต่เป็นเหตุผลอื่นที่ทำให้ ธพ. เลือกที่จะไม่ปล่อยสินเชื่อ
ข้อเท็จจริงที่ 2: ธปท. ไม่ได้กำหนดปริมาณการดูดซับสภาพคล่องในแต่ละวัน
แต่เป็น ธพ. ที่จะบริหารจัดการสภาพคล่องในแต่ละวันและนำสภาพคล่องส่วนเกินมาฝากกับ ธปท. ตามความเหมาะสมของธนาคารแต่ละแห่ง โดยจะเห็นได้ว่าธุรกรรมที่ ธพ. ทำกับ ธปท. เกือบทั้งหมด (42.4%) เป็นธุรกรรมระยะสั้น ไม่เกิน 7 วัน ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนต่ำ ซึ่งแปลว่า หาก ธพ. ต้องการใช้สภาพคล่องนั้น ก็สามารถมาถอนออกไปได้ในระยะเวลาไม่นาน
“จากข้อเท็จจริงที่ 1 และ 2 จึงบอกได้ว่า การดูดซับสภาพคล่องของ ธปท. ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อของ ธพ. ซึ่งถ้าไปดูข้อมูลย้อนหลังจะเห็นได้ชัดเจนว่า ยอดการปล่อยสินเชื่อของ ธพ. ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับยอดเงินฝากและยอดเงินลงทุนของ ธพ. ที่ไว้กับ ธปท.”
ข้อเท็จจริงที่ 3: ธปท. ไม่ต้องดูดหรือปล่อยสภาพคล่องเพิ่มเติม เมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
หลายท่านที่ถามผม มักคิดว่าเมื่อ ธปท. ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จำเป็นต้องมีการดูดหรือปล่อยสภาพคล่อง เพื่อดูแลปริมาณเงินในระบบให้เหมาะสม เช่น ถ้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธปท. ต้องดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบเพิ่มขึ้น เพื่อลดอุปทานของสภาพคล่องและทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับสูงขึ้น
แต่ในความเป็นจริง ธปท. ไม่ต้องปรับการดูดสภาพคล่อง เนื่องจากตลาดมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำธุรกรรมกับ ธปท. ได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน อยู่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดย ธปท. ไม่จำเป็นต้องปรับสภาพคล่องในระบบ
ข้อเท็จจริงที่ 4: การตัดสินใจปล่อยสินเชื่อของ ธพ. ขึ้นอยู่กับ
1) ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ หากลูกหนี้มีภาระหนี้สูง หรือธุรกิจมีความเสี่ยงด้าน Credit มากขึ้น โอกาสที่จะชำระคืนหนี้ได้ครบก็จะลดลง ซึ่งธนาคารอาจประเมินว่า รายได้จากดอกเบี้ยอาจจะไม่คุ้มเมื่อเทียบกับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะมีต้นทุนต่างๆ ในการดำเนินการตามมา รวมถึงกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย
2) ระดับความเสี่ยงที่ ธพ. ยอมรับได้ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามแนวโน้มการดำเนินธุรกิจ สภาวะทางเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของแต่ละธนาคาร เช่น ในช่วงที่หนี้ครัวเรือนสูง และคุณภาพสินเชื่อด้อยลง ธนาคารอาจระมัดระวังการปล่อยกู้แก่ภาคครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง
แนวทางที่ช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตรงจุดและยั่งยืน ซึ่งแบงก์ชาติ และกระทรวงการคลังได้ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยระยะสั้นได้ผลักดันให้มีกลไกการลดความเสี่ยงของลูกหนี้ ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS (Portfolio Guarantee Scheme) ของ บสย. ที่จะเน้นช่วยกลุ่มเปราะบาง และผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า อาชีพอิสระ และผู้ประกอบการใหม่
ขณะที่ระยะยาว อยู่ระหว่างผลักดันให้มีการจัดตั้ง “สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ” (National Credit Guarantee Agency (NaCGA)) เพื่อยกระดับให้กลไกการค้ำประกันของภาครัฐมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ครอบคลุมตั้งแต่การให้บริการค้ำประกัน ให้ความรู้และคำปรึกษาทางการเงิน แก่ทั้งภาคธุรกิจ-ประชาชนทั่วไป รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงด้านเครดิต ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และลดต้นทุนทางการเงิน
นอกจากนี้ โครงการ Your Data ก็จะช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิต ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลของภาคธุรกิจ และประชาชน ไปยังผู้ให้บริการต่างๆ เพื่อประเมินสถานะ และพฤติกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น
ข้อเท็จจริงที่ 5: ธปท. ไม่มีการปรับเกณฑ์การกำกับด้านสินเชื่อให้เข้มขึ้น
ช่วงที่ผ่านมา ธปท. ไม่มีการปรับเพิ่มความเข้มงวดของหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลด้านสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดยหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพียงระบุว่า ธนาคารจะต้องพิจารณากำหนดค่างวดให้เหมาะสมกับการดำรงชีพของลูกหนี้ ให้ลูกหนี้มีเงินเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ
แต่ในอีกหลายประเด็น อาทิ การกำหนดอัตราส่วนการผ่อนชำระต่อรายได้ (Debt service Ratio: DSR) การกำหนด Credit scoring ขั้นต่ำในการปล่อยสินเชื่อ การกำหนดตัวเลขรายได้คงเหลือขั้นต่ำหลังหักภาระผ่อนชำระ การห้ามปล่อยสินเชื่อแก่คนหรือลูกหนี้ธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ การกำหนดวงเงินดาวน์รถขั้นต่ำนั้น ธปท. ยังไม่ได้ปรับเพิ่มหรือนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้
แต่อย่างใดอย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์ Responsible Lending มีการปรับเพิ่มการคุ้มครองสิทธิแก่ประชาชนให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการโฆษณาและให้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อนการกู้ยืม การช่วยเหลือกลุ่ม Persistent debt และการกำหนดให้ธนาคารต้องนำเสนอการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ประชาชนก่อนการเป็นหนี้เสีย 1 ครั้ง และหลังเป็นหนี้เสียอีก 1 ครั้ง ก่อนการโอนขายหนี้หรือดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้แก่ลูกหนี้ได้อย่างทันท่วงที
**บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด**
ผู้เขียน : ดร.สักกะภพ พันธ์ยานุกูล
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย