×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

‘อย่าดูถูกเงินน้อย’ เปลี่ยนจุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่ชีวิตเกษียณที่มั่นคง

491

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Youtube | Facebook | TikTokInstagramLine 

 

——————————

ถ้าไม่ลำบากในวันนี้ วันหน้าก็สบายไม่ได้”  

——————————

 

นี่คือสิ่งที่ “พี่ก้อย” คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ นักวางแผนการเงิน CFP® อยากบอกกับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่โลกของการทำงาน ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงขึ้นและบางคนยังพ่วงมาด้วยภาระหนี้ พี่ก้อยเองเคยประหยัดขั้นสุดจนแทบไม่มีเงินสภาพคล่อง เพราะนำเงินไปลงทุนเกือบทั้งหมด 


การศึกษาจาก Fidelity Investments แสดงให้เห็นว่า การเริ่มออมและลงทุนตั้งแต่อายุน้อย แม้จะเป็นจำนวนไม่มาก แต่หากทำอย่างสม่ำเสมอ จะสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้มากกว่าการเริ่มต้นช้าด้วยจำนวนเงินที่มากกว่า “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” คือหลักการสำคัญที่พี่ก้อยยึดถือ โดยมองว่าความสุขที่แท้จริงควรเกิดขึ้นตอนเกษียณ เมื่อมีอิสรภาพทางการเงินที่จะทำในสิ่งที่ต้องการได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่การใช้ชีวิตสุขสบายในระยะสั้นแล้วต้องทำงานหนักไปจนแก่

 

เริ่มจากออมเงินแค่พันเดียว 

 

พี่ก้อย เล่าย้อนความหลัง ตอนเงินเดือน 8,000 บาท ออม 1,000 บาท พอเงินเดือนขึ้นก็เพิ่มเงินออมตาม จนช่วงที่ปลดภาระหนี้หมด ทั้งผ่อนบ้าน ผ่อนรถ บวกกับการมีรายได้หลายทาง ก็ออมได้สูงถึง 40–50% ของรายได้

 

พี่ก้อยยอมรับว่าสมัยนี้โอกาสสร้างรายได้อาจยากกว่าเมื่อก่อน “สมัยก่อนคิดจะทำอะไร ยังมีช่องว่างให้ทำ แต่ตอนนี้คนแข่งกันเยอะ พื้นที่เต็มหมด แต่เชื่อว่ายังมีโอกาสอีกมาก แค่ต้องหาให้เจอว่าเราทำอะไรได้บ้าง”

 

‘เงินไม่พอใช้’ จะเอาที่ไหนมาออม? 

 

ปัจจุบันนอกจากความยากในการสร้างรายได้หลายทาง หลายคนอาจแย้งว่าเงินไม่พอใช้ จะเอาที่ไหนมาออม ประเด็นนี้พี่ก้อยมองว่ามีเท่าไรก็ออมได้ เช่น คนที่มีรายได้วันละ 300 กว่าบาท ถ้าออมแค่ 10% คือวันละ 30–40 บาท ก็สามารถออมได้ 

 

“ขอให้ได้เริ่ม อย่าดูถูกเงินน้อย เงินพันเดียวที่ออมไว้ทุกเดือน มันค่อยๆ โตเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านได้ แต่ต้องรู้จักต่อยอด ไม่ใช่แค่ออมอย่างเดียว ต้องเอาไปลงทุนให้งอกเงย เช่น ลงทุนในกองทุนรวม”

 

บทเรียนการลงทุนสำหรับมนุษย์เงินเดือน

 

1. สร้างวินัยการออม

 

พี่ก้อยบอกว่าต้องมีความตั้งใจ อย่าแพ้ใจตัวเอง ก่อนจะมีเงินลงทุนได้ ต้องมีการออมก่อน” อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่จะยอมแพ้ก่อน นั่นคือ ออมไปไม่ถึงที่จะนำไปลงทุนได้ หรือเข้าใจว่าถ้าเงินก้อนเล็กเกินไปก็ลงทุนได้น้อยและจะงอกเงยช้า 

 

“ขอแนะนำว่าระหว่างเราออม เราก็ลงทุน เงินมันก็โตไป ขณะเดียวกันก็ยังต้องหารายได้ควบคู่ไปด้วยอยู่ และเมื่อเงินลงทุนไปถึงจุดหนึ่ง เราก็ไม่ต้องใช้ร่างกายหาเงินแล้ว เพราะได้จากรายได้จากเงินลงทุนอย่างเดียว”

 

2. ระวังความโลภ

 

ความโลภจะทำให้ได้รับบาดเจ็บจากการลงทุน “บางคนเอาเงินทั้งก้อนที่สะสมมาทั้งชีวิตลงไปในหุ้นตัวเดียว เมื่อขาดทุนก็จะหมดเนื้อ หมดตัว ดังนั้น ไม่ควรโลภ ด้วยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ”

 

3. ลงทุนในสิ่งที่เข้าใจ

 

ต้องไม่ลงทุนในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ เพื่อป้องกันตัวเอง จากการที่จะไปพลาดในการลงทุน

 

ความสำเร็จทางการเงินคงไม่ได้เกิดจากโชคช่วย แต่หากเกิดจากการวางแผน มีวินัย และอดทน แม้จะเริ่มต้นจากเงินน้อยๆ หากเริ่มได้เร็ว มีเวลาให้เงินทำงานในทางเลือการลงทุนที่เหมาะสม และมีการจัดการที่ดีก็จะช่วยให้เราสร้างความมั่นคงทางการเงินได้ในระยะยาว

 

#WealthMeUp

 

Related Stories

amazon anti fatigue mats