ซื้อหุ้นน้องใหม่อย่างไรให้รอด?
หลังเสียงระฆังเงียบลง นักลงทุนที่มีหุ้นน้องใหม่ที่เริ่มต้นซื้อขายบนกระดานต่างลุ้นตัวโก่ง ว่าราคาจะ “เหนือจอง” หรือ “หลุดจอง” ซึ่งหากราคาหุ้นอยู่เหนือจองจะเห็นรอยยิ้ม และอาจจะเห็นบางคนขายทำกำไร แต่ถ้าราคาปรับลดลงและหลุดจองก็จะเห็นอาการผิดหวังและยอมรับกับการถือหุ้นตัวนั้นต่อไป
แม้ว่าหุ้นน้องใหม่สามารถทำกำไรให้ในวันแรกที่เข้าซื้อขายบนกระดาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหุ้นน้องใหม่ทุกตัวจะเป็นเช่นนั้น ดังนั้น หากคิดจะลงทุนหุ้นน้องใหม่ต้องศึกษาหาข้อมูลให้ละเอียดรอบด้านก่อนตัดสินใจซื้อ
มีสถิติหุ้นน้องใหม่ที่ซื้อขายบนกระดานหุ้นในสหรัฐอเมริกา พบว่าหลายบริษัททำกำไรอย่างงดงามในวันแรกของการซื้อขาย แต่ในระยะยาวนั้นต้องลุ้นกันตัวโก่ง ดังนั้น จะสังเกตได้ว่าทันทีที่เปิดซื้อขายวันแรก นักลงทุนจะขายทำกำไรทันที
ส่วนตลาดหุ้นไทย พบว่าหุ้นน้องใหม่ที่เข้าซื้อขายในปี 2560 แม้ส่วนใหญ่ราคาจะสูงกว่าจองในวันแรก แต่ก็มีหลายบริษัทที่ราคาปิดวันแรกลดต่ำกว่าราคาจอง นั่นหมายความว่านักลงทุนที่ซื้อหุ้นไอพีโอ จะขาดทุนทันทีหากยังไม่ขายหุ้นออกมา
อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนบางกลุ่มที่ศึกษาข้อมูลหุ้นน้องใหม่มาเป็นอย่างดี และพบว่าสามารถลงทุนในระยะยาวได้ ก็จะตัดสินใจไม่ขายหุ้นในวันแรก ซึ่งแม้ว่าเป้าหมายการลงทุนหุ้นน้องใหม่จะเปลี่ยนเป็นการลงทุนระยะยาว แต่การประเมินมูลค่าหุ้นน้องใหม่ ก็ยังมีความแตกต่างจากหุ้นที่มีการซื้อขายมานานแล้ว
เพราะเป้าหมายแรกของการเสนอขายหุ้นน้องใหม่คือ การขายหุ้นครั้งแรกให้กับประชาชนในราคาที่ดีที่สุด ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน นักลงทุนต้องทำความเข้าใจว่าอาจจะมีความพยายามโปรโมทหุ้นในช่วงที่ความต้องการหุ้นนั้นๆ สูงมาก และเมื่อความต้องการสูง ราคาหุ้นจึงสูงตามไปด้วย ซึ่งเป็นความเสี่ยงของหุ้นน้องใหม่ นอกเหนือจากความเสี่ยงในปัจจัยพื้นฐานของบริษัท
ประกอบกับ วิธีการที่บริษัทได้รับการประเมินมูลค่าราคาหุ้น เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ ยกเว้นวาณิชธนกิจที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ทางออกของนักลงทุนก็คือต้องรู้วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นตัวนั้น เพื่อที่จะตัดสินใจได้ว่าควรขายทำกำไรออกไปก่อนหรือไม่
การประเมินมูลค่าหุ้นน้องใหม่
1.อิงภาวะตลาด – อุตสาหกรรม
การขายที่ประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าสำหรับสินค้านั้นๆ แต่ความต้องการที่สูงสำหรับบริษัทที่กำลังจะตั้งราคาหุ้นไอพีโอนั้น ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะมีค่ามากขึ้นเสมอไป
ยกตัวอย่างมี 2 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเหมือนกัน อาจจะมีการประเมินมูลค่าหุ้นที่แตกต่างกัน เนื่องจากระยะเวลาของการเสนอขายหุ้น เมื่อเทียบกับความต้องการของตลาด หรือ ขายหุ้นในภาวะตลาดที่แตกต่างกันนั่นเอง ด้วยเหตุนี้บริษัทที่เสนอขายหุ้นที่อยู่ในช่วงจุดสูงสุดของอุตสาหกรรม หรือในช่วงที่ภาวะตลาดเป็นขาขึ้น จะได้รับการประเมินมูลค่าที่สูงกว่าขายในช่วงตลาดขาลง
2.เปรียบเทียบกับคู่แข่ง
อีกแง่มุมหนึ่งของการประเมินราคาการเสนอขายหุ้นน้องใหม่ก็คือ การเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม ถ้าบริษัทกำลังจะขายหุ้นมีบริษัทคู่แข่งหรืออยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันที่ซื้อขายหุ้นในตลาดอยู่แล้ว สามารถเปรียบเทียบการประเมินมูลค่าการเสนอขายหุ้นอาจจะเชื่อมโยงกับการประเมินมูลค่าเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง
3.คาดการณ์อนาคต
นอกจากนี้ การประเมินมูลค่าหุ้นขึ้นอยู่กับคาดการณ์การเติบโตในอนาคตของบริษัท การเจริญเติบโตเป็นส่วนสำคัญของการสร้างมูลค่า รวมถึงแรงจูงใจหลักที่อยู่เบื้องหลังการเสนอขายครั้งแรกนั่นคือ การเพิ่มทุนให้กับเงินทุนของบริษัทเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน การขายที่ประสบความสำเร็จ มักจะขึ้นอยู่กับแผนการทางธุรกิจในอนาคตของบริษัท และการคาดการณ์การเติบโตในอนาคตอย่างแข็งแกร่ง แต่ก็ต้องระวังความคาดหวังที่มากเกินไปด้วย
กด Subscribe รอเลย…