×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

หาคำตอบ เมื่อไหร่ต่างชาติจะหยุดขายหุ้น?

11,709

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากการทยอยขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อไหร่สถานการณ์แบบนี้จะสิ้นสุดลง?

 

สำหรับเรื่องนี้ คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้โพสต์ข้อความผ่าน Facebook  เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 อธิบายสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคตไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

 

“ผมเชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจไทยก็เริ่มดูดีขึ้น ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก็ยังมีแนวโน้มที่ดี ราคาหุ้นโดยรวมก็ไม่ถือว่าแพง

 

นับจากต้นปี ต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิไปแล้ว 165,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากเพราะเพิ่งผ่านมาแค่ 5เดือนกว่าๆ และคิดเป็นเกือบ 4% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดที่ถือโดยต่างชาติ ถ้ารวมยอดขายสะสมสุทธิที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งเป็นปีแรกหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เงินเริ่มไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ จะได้ยอดขายสะสมทั้งหมดที่สูงถึง 498,000 ล้านบาท

 

ที่น่าสนใจคือ ต่างชาติเอาหุ้นที่ไหนมาขาย เพราะถ้าดูจากยอดซื้อสะสมของต่างชาติระหว่างปี 2009-2012 ซึ่งเป็นช่วงที่เงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่มากที่สุด ก็เข้ามาแค่ 191,000 ล้านบาท แต่ทำไมขาออก ถึงออกไปมากมายกว่าหลายเท่า หรือแม้แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกใหม่ๆ เมื่อปี 2008 เงินยังไหลออกแค่ 162,000 ล้านบาทเท่านั้น

 

บางคนอาจแย้งว่าการเปรียบเทียบตัวเลขง่ายๆ แบบนี้น่าจะให้คำตอบที่ไม่ตรงเท่าไร เพราะยอดซื้อขายหุ้นในแต่ละช่วงมี “มูลค่า” ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับราคาหุ้นในช่วงนั้นๆ ถ้าจะให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น ควรต้องมีการ “ปรับฐาน” ตัวเลขซื้อขายเพื่อให้สามารถเทียบเคียงกันได้

 

ผมได้ลองทำวิธีนี้ โดยการปรับฐานยอดซื้อช่วงปี 2009-2012 มาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ผลที่ได้ก็คือ 357,000 ล้านบาท ซึ่งก็ยังคงต่ำกว่าเงินที่ไหลออกอยู่ดี แต่ตัวเลขนี้ยังไม่รวมถึงการลงทุนใน IPO ซึ่งไม่ได้ถูกรวมอยู่ในข้อมูลด้านซื้อเพราะเป็นการซื้อในตลาดแรก แต่จะถูกบันทึกเวลาขาย ถ้ารวมข้อมูล IPO และกำไรจาก IPO เข้าไปด้วย น่าจะทำให้ส่วนต่างระหว่างตัวเลขฝั่งซื้อและฝั่งขายแคบลง

 

แปลง่ายๆ ก็คือ เงินที่ไหลเข้ามาช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ไหลออกไปหมดแล้ว และบางส่วนยังเป็นหุ้นที่สะสมมาในอดีต

 

ผมเชื่อว่าเหตุผลหลักของการขายของต่างชาติ เป็นการขายเพื่อลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั้งหมด มากกว่าที่จะเป็นการขายเพราะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย และเนื่องจากในระยะหลัง มีการออกกองทุนประเภท ETF หรือ Index Funds จำนวนมาก ทำให้เวลามีการลดน้ำหนักการลงทุน จะเกิดแรงเทขายที่ค่อนข้างรุนแรงและรวดเร็ว เพราะกองทุนประเภทนี้สามารถปรับพอร์ตได้ทันที โดยไม่ต้องคำนึงถึงราคาหุ้น

 

คำถามถัดไปคือ จะดูอย่างไรว่าต่างชาติยังจะขายหุ้นไทยออกมาอีกหรือไม่

เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะถึงแม้เงินที่ไหลเข้าช่วงหลังวิกฤตได้ออกไปหมดแล้ว แต่นักลงทุนสถาบันต่างชาติ (ไม่รวมหุ้นที่ถือโดย strategic partners เช่น MUFG ใน BAY) ยังเหลือหุ้นไทยอยู่อีกเกือบ 4,600,000 ล้านบาท

 

แต่ถ้าดูจากสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนสถาบันต่างชาติที่ 26.7% ของ market cap ของตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 14 ปี และต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ 31.7% เมื่อปี 2012 ค่อนข้างมาก น่าจะพอตอบได้ว่าแรงขายจากต่างชาติไม่น่าจะมีสูงมากนับจากนี้

 

อีกวิธีที่อาจจะพอประเมินแรงขายได้ คือการดูแบบ bottomup หรือการดูว่าต่างชาติถือหุ้นอะไรอยู่ และพื้นฐานหุ้นเหล่านั้นเป็นอย่างไร แพงเกินไปหรือไม่

จากข้อมูลล่าสุด หุ้น 12 ตัวแรกที่นักลงทุนสถาบันต่างประเทศถืออยู่ (KBANK, PTT, CPALL, IVL, ADVANC, BBL, SCB, AOT, SCC, PTTGC, PTTEP, CPN) ซึ่งคิดเป็น 51% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดที่ต่างชาติถือ ส่วนใหญ่เป็นหุ้นพื้นฐานดี และราคาหุ้นได้มี correction ไปแล้ว ซึ่งก็น่าจะพอสรุปได้เช่นกันว่าต่างชาติน่าจะเริ่มชะลอการขายหุ้นออกมา

 

วิธีสุดท้ายคือ การดูสัดส่วนการถือหุ้นไทยในแต่ละกองทุนที่มีการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ว่าสูงหรือต่ำแค่ไหน

ข้อมูลล่าสุดที่ผมมีจากกองทุนประมาณ 500 กอง มีน้ำหนักหุ้นไทยเฉลี่ยเหลืออยู่ที่ 2.8% ซึ่งใกล้เคียงกับน้ำหนักหุ้นไทยใน MSCI Asia ex. Japan Index ที่ 2.6% ซึ่งน่าจะแปลคร่าวๆ ว่าแรงขายไม่น่าจะมีมากแล้วนับจากนี้ (วิธีนี้มีความแม่นยำที่ต่ำเนื่องจากความหยาบของข้อมูล)

 

สรุป ผมเชื่อว่าเมื่อนักลงทุนต่างประเทศเริ่มคลายกังวลเรื่องผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และเรื่องสงครามการค้า และเริ่มแยกแยะประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่แข็งแรง ออกจากกลุ่มประเทศที่อ่อนแอ เงินต่างชาติน่าจะไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย ด้วยพื้นฐานที่เข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งแนวโน้มตลาดหุ้นที่ยังเป็นขาขึ้น”

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats