×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

หมดยุคความลับทางการเงิน?

6,804

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

ใครที่เคยคิดว่าสามารถเก็บข้อมูลการเงินเป็นเรื่องส่วนตัวคงต้องคิดกันใหม่อีกรอบ เพราะข้อมูลการเงินจะไม่เป็นความลับอีกต่อไปอย่างน้อยก็กับกรมสรรพากร เนื่องจากกฎหมายที่จะมีบังคับใช้ในอนาคต

 

เพราะจากร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ที่กรมสรรพากรจะบังคับใช้จะทำให้ข้อมูลการเงินของเราที่อยู่กับธนาคารพาณิชย์ไม่เป็นความลับส่วนตัวอีกต่อไป

 

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

 

เนื่องจากข้อ (๓) ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเนื้อหาว่า “ ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชําระเงิน ธุรกรรมลักษณะพิเศษตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ธุรกรรมที่มีลักษณะอย่างหนึ่ง อย่างใดในปีที่ล่วงมาดังต่อไปนี้

(๑) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง

(๒) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมของ ธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

ผู้มีหน้าที่รายงานผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจพิจารณามีคําสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 100,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง”

 

อ่านภาษากฎหมายแล้วอาจจะไม่เข้าใจ ขอแปลง่ายๆ ว่า ถ้าเรามีรายการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันในแต่ละปี 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือเรามียอดฝากหรือรับโอน 2 ล้านบาทขึ้นไป และรายการฝากหรือรับโอนเงิน 200 ครั้งขึ้นไป ทางธนาคารต้องรายงานธุรกรรมการเงินของเราให้กรมสรรพากรทราบ

 

สรุปกันชัดๆ ว่า ข้อมูลการเงินของเราในธนาคารไม่เป็นความลับอีกต่อไปแล้ว

 

ไม่ใช่แค่นั้น ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 315 กำหนดให้ประชาชนสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพมาใช้สิทธิ ลดหย่อนภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้อง ไม่เกิน 100,000 บาทโดยประกันสุขภาพที่ลดหย่อนภาษีได้ต้องเป็น

 

  1. การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชย การทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
  2. การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
  3. การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
  4. การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

 

หลักฐานในการลดหย่อนภาษีสำหรับปีภาษี 2560 ที่ผ่านมา สรรพากรให้ใช้ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกอบการยื่นลดหย่อนภาษีเงินได้

 

แต่สำหรับปีภาษี 2561 เป็นต้นไป สรรพากรกำหนดให้คนที่ต้องการจะนำเบี้ยประกันสุขภาพไปลดหย่อนภาษี ต้องแจ้งความประสงค์ให้บริษัทประกันทราบ เพื่อให้บริษัทประกันสามารถนำส่งข้อมูลเบี้ยประกันสุขภาพให้แก่กรมสรรพากร โดยผู้มีเงินได้ไม่ต้องใช้หลักฐานประกอบการขอลดหย่อนภาษีเหมือนปีก่อน

 

แปลว่า ถ้าใครจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันสุขภาพต้องยอมให้บริษัทประกันแจ้งข้อมูลต่อกรมสรรพากรเช่นกัน แต่สงสัยว่าบริษัทประกันคงรู้ใจสรรพากรว่า ต่อไปคงขอข้อมูลเบี้ยประกันทุกประเภท หลายบริษัทประกันจึงส่งหนังสือให้ผู้ซื้อประกันยินยอมเปิดเผยข้อมูลเบี้ยประกันทุกตัวไม่จำกัดเฉพาะประกันสุขภาพให้กรมสรรพากร

 

อีกไม่นานข้อมูลเงินฝาก ข้อมูลเบี้ยประกัน สรรพากรมาขอดูแล้ว ต่อไปก็คงเป็นข้อมูลเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เช่นกองทุนรวม หุ้น หุ้นกู้ ฯลฯ ถึงตอนนั้น ข้อมูลการเงินของเราก็ไม่เป็นความลับอีกต่อไป

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats