เทคนิคบริหารหนี้
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
เศรษฐกิจไม่ดี รายได้มีโอกาสหดหาย แต่ค่าใช้จ่ายกลับเพิ่ม โอกาสเป็นหนี้คงมีมากขึ้น และคนที่เป็นหนี้อยู่แล้ว อาจมีปัญหาหนักกว่าเก่าจากดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ดังนั้นการบริหารหนี้ หรือเทคนิคการเป็นหนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับปีนี้ มาดูกันดีกว่า เราจะทำยังไงดี
กันไว้ดีกว่าแก้
ไม่จำเป็น อย่าเป็นหนี้ เพราะการใช้เครดิต ต้องแลกด้วยต้นทุนเงินที่สูงขึ้นและเครดิตของเราเอง ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องแลก ก็แลกกับสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เช่น การรักษาพยาบาล หรือบ้านที่อยู่อาศัย ฯลฯ และขอให้การก่อหนี้เป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะใช้ ดังคำกล่าวที่ว่า การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่การไม่เป็นหนี้เป็นสุขยิ่งกว่า
มีวินัยในการใช้จ่าย
การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย และงบประมาณ ไม่ว่าเป็นหนี้หรือไม่ วินัยการใช้จ่ายเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งเป็นหนี้ ยิ่งสำคัญ เพื่อเราจะได้เตรียมพร้อมสำหรับการใช้จ่ายที่จำเป็นต่างๆ
เข้าใจธรรมชาติหนี้แต่ละประเภท
อย่างเช่น สินเชื่อรถยนต์ เป็นหนี้แบบต้นลด ดอกไม่ลด ทำให้ดอกเบี้ยที่เราจ่ายจริง จะอยู่ประมาณ 2 เท่าของอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศ เช่น ประกาศอัตราดอกเบี้ย 3% ดอกเบี้ยที่เราจ่ายจริงจะประมาณ 6% ต่อปี หนี้บัตรเครดิต ดอกเบี้ยประมาณ 18-20% ต่อปี แต่ถ้าเป็นหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยจะสูงมาก อย่างที่เป็นข่าว วันละ 3% หรือเท่ากับ 1080% ต่อปี ดังนั้นลำบากยังไง ก็อย่าเป็นหนี้นอกระบบ
ก่อนก่อหนี้ หาข้อมูลแหล่งเงินกู้หรือสถาบันการเงินที่จะกู้ไว้หลายๆ แห่ง
ประเมินเงื่อนไขของเงินกู้ ให้รู้วิธีคิดต้นทุนของสินเชื่อ พิจารณาถึงความสามารถในการรับภาระหนี้ของเราเอง วิธีดูก็คือ ภาระหนี้ที่ต้องจ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือนต้องไม่เกิน 28% ของรายได้ และหากนับเฉพาะภาระหนี้เพื่อการบริโภค เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ที่ต้องชำระในแต่ละเดือนต้องไม่เกิน 15% ของรายได้
ถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น รีบเอามาชำระหนี้ให้เร็วที่สุด
ดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากอยู่แล้ว การรีบชำระหนี้ ก็เปรียบเสมือนเราเพิ่มผลตอบแทนเงินออมของเราเหมือนกัน
หนี้เก่าไม่หมด อย่าก่อหนี้ใหม่
ถ้าจ่ายหนี้เก่ายังไม่หมด อย่าเพิ่งก่อหนี้ใหม่ ไม่งั้นจะกลายเป็นดินพอกหางหมู
Refinance
กู้เงินจากแหล่งใหม่ที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า เพื่อมาใช้หนี้เดิม โดยใช้สินทรัพย์ตัวเดิมเป็นหลักประกัน (Refinance) เดี๋ยวนี้มีสถาบันการเงินหลายแห่งให้บริการด้านนี้ ลองติดต่อดู แต่ต้องเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะต้องเสียด้วยว่า คุ้มหรือไม่ที่จะปรับหนี้
เจรจากับเจ้าหนี้โดยเร็ว
หากมีปัญหาการชำระหนี้ ต้องชี้แจงถึงความจำเป็น และปัญหา เพื่อแสดงให้เจ้าหนี้เห็นถึงความรับผิดชอบของเรา การแก้ปัญหาร่วมกันจะทำได้ง่ายขึ้น
ห้ามเด็ดขาด “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย”
เพราะประวัติเราจะปรากฎในบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (Credit Bureau) แล้วเดี๋ยวนี้ หลายบริษัทโดยเฉพาะสถาบันการเงินเริ่มใช้ข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ มาประกอบการพิจารณารับพนักงานกันแล้ว
สู้คดีในชั้นศาล
การสู้คดีในชั้นศาลเป็นอีกทางเลือกที่สามารถทำได้ หากเรามีเหตุผลเพียงพอ ก็มีโอกาสที่ศาลจะช่วยต่อรองให้ได้รับผลประโยชน์ที่ดีขึ้น และหากหนี้ดังกล่าวเกิดจากความไม่เป็นธรรม ก็สามารถจะยื่นฟ้องเจ้าหนี้คืนได้ ซึ่งศาลจะสั่งระงับการบังคับคดีเอาไว้ชั่วคราว เพื่อให้เราต่อสู้คดีต่อไป
หากถูกยึดหรืออายัดทรัพย์ต้องตรวจสอบว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่
ถ้าสู้คดีแล้วแพ้และถึงขั้นตอนการยึดหรืออายัดทรัพย์ เราก็ควรจะตรวจสอบด้วยว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดไปนั้น ดำเนินการถูกต้องตามกระบวนการหรือไม่ และมีการประเมินราคาต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ เพื่อที่จะได้ไม่เสียประโยชน์ในส่วนนี้
กล่าวโดยสรุป ปัญหาหนี้ต้องแก้ที่ตัวเองสำคัญที่สุด ก่อนจะก่อหนี้ ควรคิดให้ดี ๆ ว่าเป็นหนี้ที่จำเป็นหรือไม่ และเรามีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้หรือไม่ เพราะหากโดนฟ้องร้องขึ้นมา โอกาสที่จะชนะคดีนั้นน้อยเหลือเกิน รวมถึงการที่จะพ้นภาระไม่ต้องจ่ายหนี้ที่ก่อไว้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเช่นกัน