×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

จัดพอร์ตเงินก้อนสุดท้าย…ให้พอใช้!

6,995

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

…83.9% ของผู้สูงอายุมีรายได้ < 100,000 บาทต่อปี (8,333 บาทต่อเดือน)
…60.5% ของผู้สูงอายุมีรายได้ < 50,000 บาทต่อปี (4,166 บาทต่อเดือน)
…43% ของคนวัยเกษียณ ต้องทำงานต่อ เพราะต้องการรายได้
…34.7% ของคนวัยเกษียณใช้เงินจากลูกหลาน
…มีเพียง 2.3% ของคนวัยเกษียณเท่านั้น ที่ใช้เงินออมของตัวเอง

นี่คือข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งที่ชีให้เห็นว่า “ถ้าไม่เริ่มลงทุนเพื่อเกษียณ…ถึงเวลาอาจลำบาก” โดยลักษณะ 2 ประการของคนวัย 40+ ที่วางแผนเกษียณก็คือ

 

1. ลงทุนผิดที่ | ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำเกินไป ไม่ทันเงินเฟ้อ ไม่เพียงพอเกษียณ

2. ไม่ศึกษาการลงทุน | ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินไป หรือบางครั้งเกิดความโลภ จากการหลงเชื่อผู้ที่ชวนไปลงทุน (ที่ไม่ถูกต้อง) จากการจูงใจว่าผลตอบแทนดีมาก และเร็วมาก (ซึ่งอาจเป็นแชร์ลูกโซ่)

 

ดังนั้นสิ่งที่ควรทำก็คือ มีเป้าหมาย | เริ่มลงทุน | จัดสรรเงินลงทุน

 

มีเป้าหมาย

ตัวเลขในใจที่ทุกคนควรปักหมุดไว้ก็คือ เงินที่ต้องการใช้ในชีวิตหลังวัยเกษียณ ซึ่งแต่ละคนอาจมีตัวเลขที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุ จำนวนเงินที่ต้องการ เช่น หากอายุ 40 ปี ต้องการเงินใช้หลังเกษียณเดือนละ 100,000 บาท กระทั่งสิ้นอายุขัยตอน 80 ปี ก็ต้องมีเงินไว้อุ่นใจไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท!! หรือถ้าลดความต้องการเหลือเดือนละ 50,000 บาทก็ควรมีเงินประมาณ 10 ล้านบาท เป็นต้น

 

อีกหนึ่งวิธีในการคำนวณก็คิดจาก 20 เท่าของเงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณ อาทิเช่น หากคิดว่าหลังเกษียณน่าจะใช้เงินประมาณเดือนละ 25,000 บาท ก็นำไปคูณ 12 (12 เดือน = 1 ปี) และคูณ 20 (=25,000 x 12 x 20) ก็ต้องเตรียมเงินไว้ 6 ล้านบาท (หรือหากลดความต้องการใช้จ่ายลงเหลือเดือนละ 12,500 บาท ก็ต้องเตรียมเงินไว้ 3 ล้านบาท) เป็นต้น

 

ซึ่งวิธีการหลังนี้ดร.สมจินต์ ศรไพศาล ขยายความให้เราเห็นว่าเมื่อเรานำเงินก้อนดังกล่าว (6 หรือ 3 ล้านบาท) ไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ (3%) ประมาณ 2% ต่อปี หรือเท่ากับสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้ได้ 5% จะทำให้เราใช้เงินก้อนดังกล่าวไปได้อีก 25 ปี (จนถึงอายุ 85 ปี) พอดิบพอดี

 

 

เริ่มลงทุน

ก่อนที่จะออมหรือลงทุน ปัญหาหลักของคนไทยในปัจจุบันคือ “หนี้สิน” ดังนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าการออม และการลงทุนคือ การบริหารเงินด้วยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้เราสามารถตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และมีเงินเหลือเก็บออม อย่างน้อยๆ ก็ไม่ควรต่ำกว่า 15% ของรายได้ (ออมก่อน รวยกว่า และยิ่งออมมาก ยิ่งดี)

 

แต่การออมในรูปแบบเดิมอย่างการฝากธนาคารพาณิชย์ อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป เนื่องจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในปัจจุบันต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ (ในอดีตดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์มากกว่า 10% ต่อปี) ดังนั้นเงินที่ออมและลงทุนจึงควรมีเป้าหมาย 3 ประการคือ ชนะเงินเฟ้อ | ลงทุนต่อเนื่องแม้อายุเกิน 60 ปี | ทำให้เงินเหลือพอใช้ก่อนสิ้นอายุขัย

 

ดังนั้นเมื่อเรารู้เป้าหมาย อย่าลืมประเมินว่าเรามีสินทรัพย์-หนี้สิน เท่าไหร่ ความมั่งสุทธิเราเป็น + หรือ – และเราต้องเติมเงินอีกแค่ไหนเพื่อให้ถึงเป้าหมายเกษียณ เพื่อจะได้เริ่มต้นออมและลงทุนต่อยอดให้ถึงเป้าหมายโดยเร็ว

 

 

จัดสรรเงินลงทุน

คำถามต่อมาก็คือเมื่อรู้เป้าหมาย รู้ส่วนที่ขาด และรู้ว่าต้องเริ่มลงทุนแล้ว…ควรจัดสรรเงินอย่างไร? คุณธีรนาถ รุจิเมธาภาส แบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจว่า ในปัจจุบันการตั้งเป้าหมายบริหารเงิน หาใช่แบ่งโดยประเภทของตราสาร (ตราสารหนี้ ตราสารทุน อสังหาฯ ทองคำ ฯลฯ) อีกต่อไป แต่มีการปรับรูปแบบการแบ่งสินทรัพย์ด้วยผลประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับคือ 1.รายได้ (ตราสารหนี้ REIT IFF ฯลฯ) 2.การเติบโต (ตราสารทุน (หุ้น)) เพื่อสะท้อนสิ่งที่นักลงทุนได้รับจริงๆ

 

และสำหรับมนุษย์เงินเดือน ผู้ประกอบการ หรือใครก็ตามที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนด้วยตัวเอง “กองทุนรวม” ก็ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่เหมาะสมกับคนทุกคน โดยเฉพาะกองทุนรวมผสม ที่ผู้จัดการกองทุนจัดสัดส่วนสินทรัพย์แต่ละประเภทให้สอดคล้องกับความเสี่ยงตามนโยบายที่ระบุไว้ พร้อมมีการปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เสมอ

 

หนึ่งในเคล็ดลับการลงทุนที่ง่าย และสามารถสร้างวินัยให้ทุกคนบรรลุเป้าหมายเกษียณได้ก็คือการลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging) หรือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยเท่ากันทุกๆ เดือน ซึ่งในปัจจุบันแค่ 1 บาทก็ลงทุนแบบอัตโนมัติได้แล้ว อีกทั้งข้อมูลในอดีตยังชี้ให้เห็นด้วยว่าสิ่งที่มีผลต่อการลงทุนคือ การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) 92% การเลือกสินทรัพย์ (หุ้นตัวไหน, พันธบัตรรุ่นไหน) 5% และการจับจังหวะตลาด (Market Timing) เพียง 2% เท่านั้น

ด้วยยุคสมัยที่ผู้คนแต่งงานช้าลง มีลูกน้อยลง ทำให้ผู้หญิง 1 คนมีลูกเพียง 1.3 คนเท่านั้น เทรนด์ DINK (Double Income No Kid) และ SINK (Single Income No Kid) จึงแพร่กระจายทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่มีสัดส่วนของกลุ่ม DINK ถึง 1 ใน 3 เพราะฉะนั้นแล้ว…

 

แม้เป็นเงินก้อนสุดท้ายก็ควรที่จะ “ลงทุน”

 

 

วิทยากร: ดร.สมจินต์ ศรไพศาล TMBAM eastspring | ธีรนาถ รุจิเมธาภาส TISCO Asset | พจน์ หะริณสุต ONEAM
พิธีกร: เฟิร์น ศิรัถยา อิศรภักดี

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats