สงครามการค้าเดือดเขย่าตลาดทุน-เงินโลก
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ตลาดหุ้นโลกรูดหนัก เมื่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนเดือดแรง ล่าสุด สหรัฐฯ ตีตราว่า “จีนบิดเบือนค่าเงิน”
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนได้ประกาศกำหนดค่ากลางหรืออัตราอ้างอิงเงินหยวนรายวันให้อ่อนค่าหลุดระดับ 7 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี ข้อมูลจาก Refinitiv ระบุว่า ค่าเงินหยวนรูดลงมากถึง 1.9% ทำสถิติต่ำสุดในตลาดออฟชอร์ที่ฮ่องกงอยู่ที่ระดับ 7.1087 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดภายใน 1 วัน หากนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลจีนได้ตัดสินใจปล่อยให้หยวนอ่อนค่าทันทีเช่นกัน
ในช่วงเช้าของวันนี้ (6 สิงหาคม) ธนาคารกลางจีนได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนที่ 6.983 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ เงินหยวนยังคงอ่อนค่าต่อ โดยลดลงมาอยู่ที่ 7.1288 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับทิศทางหยวนในอนาคต Julian Evans-Pritchard นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านจีนของ Capital Economics ประเมินว่า เงินหยวนจะมีค่าประมาณ 7.3 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐในสิ้นปีนี้
ประมาณ 12 ชั่วโมงหลังจีนปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ก็ได้ทวีตข้อความระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการบิดเบือนค่าเงิน ตามมาด้วยแถลงการณ์จากนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลัง
สหรัฐ ที่ประกาศซ้ำว่า จีนกำลังบิดเบือนค่าเงิน ซึ่งทางสหรัฐฯ จะร่วมมือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เพื่อขจัดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับจีน
ในฝั่งของจีนเองก็เดินเกมตอบโต้สหรัฐฯ ที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีก 10% ด้วยการสั่งให้บริษัทจีนหยุดซื้อและนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่า จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและบรรดาผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอเมริกัน โดยเฉพาะถั่วเหลือง ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่อยู่ท่ามกลางสงครามการค้าครั้งนี้มาตลอด ซึ่งก่อนความขัดแย้งดังกล่าว จีนคือผู้นำเข้าถั่วเหลืองอันดับ 1 ของสหรัฐฯ หรือนำเข้าประมาณ 25-30 ล้านตันต่อปี
ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งระนาว
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่กลับมาหนักหน่วงอีกครั้งได้เขย่าตลาดหุ้นทั่วโลกให้ร่วงแรงยกแผง
ในฝั่งสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (5 สิงหาคม) ดัชนีดาวโจนส์ปรับลดลงมากถึง 760 จุด ปิดตลาดติดลบไป 2.9% มาอยู่ที่ระดับ 25,717.74 ส่วนดัชนี S&P 500 ร่วงไปเกือบ 3% มาอยู่ที่ 2,844.74 และดัชนี Nasdaq Composite ดิ่งหนัก 3.5% ปิดตลาดที่ 7,726.04 ซึ่งทั้งหมดถือว่าเป็นการร่วงหนักที่สุดภายในวันเดียวของทั้ง 3 ตลาดในปีนี้
ส่วนในวันนี้ (6 สิงหาคม) ตลาดหุ้นก็ยังร่วงต่ออีก ณ เวลา 10.50 น. ตามเวลาประเทศไทย ดัชนี Nikkei ของญี่ปุ่น ลบไปแล้วประมาณ 1.5 % KOSPI เกาหลีใต้ ร่วง 0.6 % ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ติดลบประมาณ 2.4% ตลาดหุ้นออสเตรเลีย ลดลง 2.17% ส่วนตลาดหุ้นไทย ปรับลดลงประมาณ 0.3% หรือประมาณ 5 จุด
โยกเงินลงทุนทองคำ พันธบัตร และสกุลเงิน
ความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกผนวกกับสงครามการค้าที่กำลังเดือดส่งผลให้บรรดานักลงทุนโยกเงินไปหาสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น
ผลที่เห็นทันทีก็คือ ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นมากกว่า 1% แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 6 ปี เมื่อวันจันทร์ ขณะที่เงินเยนและพันธบัตรรัฐบาลของประเทศหลักก็ได้อานิสงส์จากความเคลื่อนไหวครั้งนี้ด้วย
ราคาทองคำสปอตเพิ่มขึ้น 1.4% ไปแตะระดับ 1,460.11 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่าน หรือสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่า ราคาทองคำยังไปต่อได้อีก
ในส่วนของตลาดเงินนั้น เงินเยนญี่ปุ่น คือ สินทรัพย์ปลอดภัยที่นักลงทุนมักหันไปซบเพื่อบรรเทาความเสี่ยง โดยเมื่อวานนี้ เงินเยนแข็งค่าขึ้น 0.5% ไปแตะระดับ 106.04 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนฟรังค์สวิสแข็งค่าขึ้น 0.4% ไปอยู่ที่ 1.0864 ฟรังค์สวิสต่อยูโร แข็งค่าสุดในรอบ 25 เดือน
ขณะที่ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ลดลงเหลือ 1.7616% และผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 30 ปี ลดเหลือประมาณ 2.3034% ทั้งนี้
พันธบัตรรัฐบาลของหลายประเทศก็เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในมุมมองของนักวิเคราะห์ ดังนั้น การที่ผลตอบแทนปรับลดลงจนเกือบแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายปีแบบนี้สะท้อนว่า มีความต้องการพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีมากขึ้น เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
หยวนอ่อนกระทบท่องเที่ยวไทย
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด กล่าวว่า สงครามการค้าที่ลามมาถึงสงครามค่าเงิน ซึ่งจีนได้ปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่า เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ นั้น จะส่งผลกระทบต่อไทยทั้งภาคส่งออกและท่องเที่ยว ซึ่งไม่น่าจะมากไปกว่านี้
แต่อีกมิติที่น่าสนใจคือ ปัจจัยพื้นฐานของจีนที่อ่อนแอ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากสงครามการค้าที่กระทบภาคส่งออก ทำให้จีนต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัว เมื่อคนมีเงินก็นำเข้าสินค้าหรือเอาเงินไปท่องเที่ยว จนเกิดเงินรั่วไหลออกนอกประเทศมาก ทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดน้อยลง หรือปีนี้อาจถึงขั้นขาดดุล ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าอยู่แล้ว
“หากเงินหยวนอ่อนค่าจากปัจจัยพื้นฐานดังกล่าว จีนอาจจะจำกัดการท่องเที่ยว ลดจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ออกไปนอกประเทศ ผลกระทบจากการท่องเที่ยวจีนที่จะลดลง กระทบแรงกว่าภาคส่งออก”
ดร.อมรเทพ แนะนำว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยต้องเร่งปรับตัว หันมาเน้นคุณภาพมากขึ้น เน้นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อมากขึ้น
สำหรับนักลงทุนตลาดหุ้น มองว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะส่งผลให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศชะลอตัวและลามไปถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ก็ถือว่าเป็นปัจจัยระยะสั้น ซึ่งประเมินว่า ความขัดแย้งดังกล่าวยังคงยืดเยื้อต่อไปอย่างน้อยก็จนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2563
“สงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เราไม่ได้มองว่าจะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าเป็นปัจจัยระยะสั้น นักลงทุนยังหาจังหวะที่ดีในการลงทุนได้อยู่”