ฤาจะเป็นขาลง…ตลาดสนีกเกอร์ไทย!!
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ภาพของผู้คนที่มารอต่อคิวแย่งกันซื้อ “สนีกเกอร์” แบรนด์ดังแบบข้ามคืนราวกับซอมบี้ จากนี้คงมีให้เห็นไม่บ่อยแล้ว เหตุใดตลาดสนีกเกอร์ที่เคยเนื้อหอม กลับเริ่มเป็นขาลง Wealth Me Up จะพาไปหาคำตอบ
ตลาดสนีกเกอร์ เคยเนื้อหอม
ย้อนกลับไปช่วง 3-4 ปีก่อน ตลาดรองเท้าผ้าใบ หรือ สนีกเกอร์ไทย ได้สร้างปรากฎการณ์ร้อนแรงสุดขีดให้กับแฟชั่นสตรีทแวร์บ้านเรา เห็นได้จากการที่เหล่า Sneakerhead หรือ ผู้ที่คลั่งไคล้สนีกเกอร์ ต่างพากันแย่งชิง หรือ ปักหลักกางเต๊นท์รอคิวซื้อสนีกเกอร์แบรนด์ดังแบบข้ามคืน ส่งผลให้เจ้าของแบรนด์และร้านสนีกเกอร์มัลติแบรนด์นานาสัญชาติแห่เข้ามาเปิดสาขากันเต็มไปหมด
กระแสความคลั่งไคล้ดังกล่าว ดูเหมือนจะเริ่มลดน้อยถอยลงในปีนี้ อาจเป็นไปได้ว่า ตลาดสนีกเกอร์ที่เคยพีคสุดขีด กำลังจะอยู่ในช่วงขาลงแล้ว Wealth Me Up จะพาไปหาคำตอบกับ “บ็อบ วรากฤช วิวัฒนาเกษม เจ้าของร้าน Vii Athletic Club หรือ V.A.C.
วัฏจักรตอนนี้เป็นขาลง
บ็อบ วรากฤช ฉายภาพให้เห็นว่า ช่วง 3-4 ปีก่อน ตลาดสนีกเกอร์บูมมาก ภาวะเศรษฐกิจ หรือ ราคา ไม่เคยมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ขึ้นอยู่กับความพอใจล้วนๆ อัตราการเติบโตของตลาดสนีกเกอร์บ้านเราจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยปีละ 15-20% มูลค่ารวมกว่าพันล้านบาท
แต่ตอนนี้ตลาดเริ่มซาลง ตามวัฏจักรของธุรกิจ อาจจะไม่เห็นภาพผู้คนมาปักหลักรอซื้อสนีกเกอร์แบรนด์ดังแบบข้ามคืนอีก ประกอบกับ พฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดเปลี่ยน ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าที่กำลังอยู่ในกระแส ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่า รองเท้าที่ซื้อไปเหมาะกับตัวเองหรือไม่ ยอดขายจึงเทมาเป็นพัก ๆ
จุดยืนของสนีกเกอร์ ในแบบ V.A.C.
หลังจากทำธุรกิจมาสักพัก V.A.C. ก็รู้ตัวว่าต้องสร้างจุดยืนและปรับไปตามเทรนด์ให้ได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำให้ลูกค้ารู้ว่า จุดยืนที่แท้จริงของเราคืออะไร หากต้องเปลี่ยนตามใจลูกค้าเพียงอย่างเดียว แบรนด์ของเราจะขาด identity ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้แบรนด์เข้มแข็งและอยู่ได้นาน
” V.A.C. เน้นเก็บลูกค้ากลุ่มย่อย ที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร และเชื่อมั่นในเซนส์ของทางร้านในการเลือกรองเท้าที่มีสไตล์เฉพาะมาขาย นำเสนอการ Mix and Match สินค้าที่เลือกมาในแต่ละไลน์ ไม่ได้เน้นตลาดแมส”
เน้นทำกำไรสุทธิ ไม่ใช่ ปั๊มยอดขาย
ปีนี้ V.A.C. ตั้งเป้าหมายจะเพิ่ม Net Profit 5-10% จากที่ก่อนหน้านี้เคยมุ่งเน้นไปที่ยอดขาย แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ตอบโจทย์ธุรกิจ ดังนั้น หลังจากนี้ จะเน้นไปที่การบริหารสต็อกสินค้า และการเลือกแบรนด์รองเท้าให้ถูกต้องตามความต้องการของลูกค้าให้ตรงโจทย์มากที่สุด
แม้กระแสตอนนี้จะแผ่วไป แต่ก็เป็นธรรมดาของธุรกิจที่อาจมีแรงบ้าง แผ่วบ้าง สลับกันไป แต่สนีกเกอร์จะไม่หายไปจากตลาดแน่นอน