ลงทุนนิยม EP. 6 : ว่าด้วยเรื่อง…กองทุนหุ้น ปันผล หรือ ไม่ปันผล แบบไหนดี?
ซื้อกองทุนหุ้น… ปันผล หรือ ไม่ปันผล แบบไหนดี?
ความเป็นจริงก็คือ “ไม่มีคำตอบเฉพาะ” สำหรับคำถามนี้ แต่หากจะตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็มีเพียงแค่ประโยคเดียวคือ “ขึ้นอยู่กับเป้าหมายการลงทุน”
– เพื่อ “กระแสเงินสด” ระหว่างทาง ตลอดการลงทุน = กองทุนหุ้น “ปันผล”
– เพื่อ “เงินก้อนโต” ในปลายทางของการลงทุน = กองทุนหุ้น “ไม่ปันผล”
แม้หลายคนจะร้องอ๋อ… แต่ก็เชื่อว่าประโยคนี้คงไม่เพียงพอที่จะไขความเข้าใจให้กระจ่างได้…
ดังนั้น วันนี้ลองมาพิจารณาข้อเด่น ข้อด้อย ของกองทุนรวมทั้งสองประเภท เพื่อที่สุดท้ายแล้ว มิตรรักการเงินทุกคนจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ ไปใช้ประกอบการพิจารณาลงทุนตามอัธยาศัย
“ข้อเด่น” สำคัญของ “กองทุนหุ้นปันผล”
- “เงินปันผล”
แต่จะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกองทุน ที่น่าสนใจคือคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิด… คิดว่า “เงินปันผล” ที่กองทุนรวมจ่ายให้กับนักลงทุนมาจากการปันผลของหุ้นที่อยู่กองทุนรวมนั้นเพียงอย่างเดียว
แต่ความจริงก็คือ “เงินปันผล” นั้นอาจมาจากการแบ่งกำไร (Capital Gain) จากผลการดำเนินงานของกองทุนก็เป็นได้ ซึ่งเมื่อกองทุนรวมนั้นจ่าย “เงินปันผล” ออกมา ย่อมส่งผลให้มูลค่าของกองทุนรวมลดลง (เท่ากับเงินปันผลที่จ่ายออกมาด้วยเช่นกัน)
- เพื่อความ “สบายใจ”
เพราะนักลงทุนจำนวนไม่น้อย รับไม่ได้กับความผันผวนของกองทุนรวมหุ้นในพอร์ต แม้หลายคนจะบอกว่ารับความเสี่ยงได้สูง แต่พอถึงเวลาจริงๆ กลับความดันขึ้นสูงเพราะความเครียดแทน Y_Y ดังนั้น ถ้าอยาก “สบายใจ” ว่าระหว่างทางเราได้รับอะไรตอบแทนมาบ้าง “กองทุนหุ้นปันผล” ย่อมตอบโจทย์มากกว่ากองทุนหุ้นแบบไม่ปันผลแน่นอน
“ข้อด้อย” ที่น่าสนใจของ “กองทุนหุ้นปันผล”
- “เสียภาษีเงินปันผลหัก ณ ที่จ่าย 10%”
ทำให้ “เงินปันผล” ที่เราอาจได้รับจากหุ้นที่อยู่ในกองทุนรวมนั้นปันผลออกมา (หรือกำไรจากผลการดำเนินงานที่หักมาจ่ายเป็น “เงินปันผล” ให้กับนักลงทุน) กลับได้ไม่เต็ม 100% (ได้เพียง 90% หากเทียบกับกองทุนหุ้นไม่ปันผล ที่จะได้รับเป็นเงินก้อนจากการขายหน่วยลงทุนทีเดียวโดยไม่เสียภาษีสักบาท)
- อย่าหวัง “เงินก้อนโต”
กลับไปที่จุดตั้งต้นคือ “เป้าหมายการลงทุน” สำหรับใครที่หวัง “เงินก้อนโต” คงไม่เหมาะกับนักกับกองทุนหุ้นปันผล เพราะการจ่ายเงินปันผลออกมาสม่ำเสมอ ก็เท่ากับเป็นการลดทอนมูลค่าของกองทุนให้ลดลง
ดังนั้น… เป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้รับ “เงินก้อนโต” ในวันที่ขายกองทุนหุ้นปันผล (ก็แหม่…เราก็ปันเงินนั้นออกมาจับจ่ายใช้สอยอยู่เรื่อยๆ แล้วนิหน่า)
“ข้อเด่น” ของ “กองทุนหุ้นไม่ปันผล”
- เหมาะกับเป้าหมาย “ระยะยาว”
โดยเฉพาะใครที่ใช้กองทุนรวมเพื่อวางแผนเกษียณ โปรดท่องให้ขึ้นใจเลยว่า “กองทุนหุ้นไม่ปันผล” เหมาะสมกว่าแบบปันผลเป็นไหนๆ (น่าจะเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้กองทุน RMF ไม่มีนโยบายจ่ายปันผล) เพราะแม้จะมีเงินปันผลจากหุ้นที่อยู่ในกองทุนออกมาระหว่างทาง แต่เมื่อกองทุนไม่ปันผล ก็ย่อมนำเงินก้อนนั้นมาทบเข้าไปในกองทุน และทำให้มูลค่าของกองทุนเพิ่มขึ้น (ไม่ได้ปันเงินมาใช้ระหว่างทาง ก็ทบต้นทบดอกให้งอกเงย เติบโตเป็นก้อนใหญ่ปลายทางซะเลย)
- “ไม่หักภาษี”
เมื่อไม่มีการจ่ายปันผล… ก็ไม่ต้องโดนหักภาษีระหว่างทาง (10%) สุดท้ายก็ไม่มีภาระภาษีใดๆ เลยสักนิด!
“ข้อด้อย” ที่ไม่ควรมองข้ามของ “กองทุนหุ้นไม่ปันผล”
- มีแต่ “น้ำบ่อหน้า”
“กองทุนหุ้นไม่ปันผล” ตรงกับหลักสุภาษิตไทยที่ว่า “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” อย่างแท้จริง เพราะหากนักลงทุนอดทนรอดอกผลที่ “ทบต้นทบดอก” ไปเรื่อยๆ ได้นานเท่าไหร่ ก็ย่อมหมายถึงอนาคตที่สดใสเพิ่มขึ้นเท่านั้น
แต่ก็อย่างว่า…ถ้าทนรอไม่ไหว รู้สึกว่าต้องใช้เวลานานแสนนาน โดยที่ระหว่างทางก็ไม่ได้เสพสุขจากผลตอบแทนที่เกิดขึ้นเลยสักนิด…“กองทุนหุ้นไม่ปันผล” ก็อาจจะไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่ เพราะไม่มีแม้แต่กำลังใจ (เงินปันผล) มาเป็นยาชูกำลัง ให้ยังสู้ต่อไปเพื่อวันข้างหน้า…
- ถ้า “หุ้นตก” ก็ได้แค่ “ตกใจ”
สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดก็คือ “หุ้น” ถ้านักลงทุนสามารถรับความผันผวนได้ก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าใจไม่แข็งแรงพอแล้วล่ะก็ “กองทุนหุ้นไม่ปันผล” อาจทำให้ความเครียดถามหา
เพราะเมื่อหุ้นร่วง เศรษฐกิจเจอวิกฤติ กองทุนเหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผู้ลงทุนเองก็ยังไม่ได้รับผลประโยชน์ (เงินปันผล) จากการเจียดเงินมาลงทุนระหว่างทางอีกต่างหาก ได้แต่ “ตกใจ” และ “ทำใจ” เท่านั้น
ส่วนใครอยากเห็นความแตกต่างระหว่างกองทุนหุ้น “ปันผล” กับ “ไม่ปันผล” ดูกราฟฟิคนี้ได้เลย (สมมิตลงทุนด้วยเงิน 100 บาท และได้ผลตอบแทนปีละ 10% เหมือนกัน ต่างกันตรงที่กองทุนหุ้น “ปันผล” จ่ายปันผล 10% ต่อปี ส่วนกองทุนหุ้น “ไม่ปันผล” นำเงินไปลงทุนต่อ)
จะเห็นได้ว่า 10 ปีผ่านไป
…กองทุนหุ้นแบบ “ปันผล” ให้ผลตอบแทนรวม 160%
…กองทุนหุ้นแบบ “ไม่ปันผล” ให้ผลตอบแทนรวม 90%
แต่อย่าลืมว่าสุดท้ายอย่า Focus ที่ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว เพราะเป้าหมายแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ถ้าต้องการ “กระแสเงินสด” ระหว่างทาง ตลอดการลงทุน = กองทุนหุ้น “ปันผล”
ถ้าต้องการ “เงินก้อนโต” ในปลายทางของการลงทุน = กองทุนหุ้น “ไม่ปันผล”
ติดตามรายการ ‘ลงทุนนิยม‘ กับ ผู้ริเริ่มแนวคิด ‘ใช้แรงทำเงิน ให้เงินทำงาน‘
เฟิร์น ศิรัถยา อิศรภักดี ได้ที่ Wealth Me Up