จับจังหวะก้าว ‘Amazon’ ซื้อ ‘Whole Foods’
‘Amazon.com’ บริษัทค้าปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ เพิ่งประกาศซื้อกิจการ ‘Whole Foods’ เชนซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติเดียวกัน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยวงเงิน 1.37 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ปลุกความสนใจของผู้คนจำนวนมากในฐานะดีลที่อาจเป็นตัวเปลี่ยนเกม (game-changer) ในธุรกิจค้าปลีก ทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์
การขยับของ Amazon ถือเป็นการรุกคืบเข้าสู่ตลาดค้าปลีกแบบมีหน้าร้านอย่างจริงจัง จากเดิมที่ลงหลักปักฐานในตลาดค้าปลีกออนไลน์ โดยปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกประเภทอาหารและของชำในสหรัฐมีมูลค่าอยู่ที่ 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อป
กลยุทธ์ที่เน้นธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม
เป็นทิศทางเดียวกับ ‘Alibaba’ ยักษ์อี-คอมเมิร์ซสัญชาติจีน ที่เน้นลงทุนในธุรกิจค้าปลีกแบบมีหน้าร้านมาตลอดหลายปีมานี้ เพื่อเติมเต็มธุรกิจค้าปลีกแบบออนไลน์ ซึ่งต้องเผชิญกับส่วนต่างกำไรที่ตึงตัว ประกอบกับต้นทุนการจัดส่งที่เพิ่มขึ้น
สถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องยากลำบากมากสำหรับผู้เล่นในตลาดอี-คอมเมิร์ซเพียงอย่างเดียว ที่จะหาวิธีเพิ่มส่วนต่างกำไร
ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดค้าปลีกแบบดั้งเดิมก็เผชิญกับความยากลำบากในการทำกำไรและดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด คำตอบจึงอยู่ที่การผนวกห่วงโซ่อุปทานระหว่างธุรกิจในโลกออนไลน์และออฟไลน์
ในส่วนของ Amazon
“ความน่าสนใจของดีลนี้อยู่ที่จำนวนสาขาของ Whole Foods ราว 450 แห่ง” ซึ่งจะทำให้ Amazon มีความได้เปรียบในแง่กายภาพ โดยเฉพาะเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้าขนาดเล็กสำหรับของสดอย่างผักและผลไม้ เพราะมีความเสี่ยงทั้งเรื่องเน่าเสีย และเป็นสินค้าที่บอบบาง รวมทั้งจะช่วยเสริมแกร่งให้บริการ ‘Prime Now’ ของ Amazon ที่การันตีลูกค้าว่าจะจัดส่งสินค้าต่างๆ ภายในเวลา 1 ชั่วโมง หรือเร็วกว่านั้น
ในฟากของ Whole Foods
ก็จะได้จุดแข็งของ Amazon มาเติมเต็ม โดย ‘John Mackey’ ซีอีโอของ Whole Foods ระบุว่า มีหลายเรื่องที่ Amazon จะช่วยเปลี่ยนโฉมธุรกิจของ Whole Foods เริ่มจากการโฟกัสที่ลูกค้า ซึ่ง Amazon ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันอับแรก ไม่ว่าจะทำอะไร ดังนั้น Whole Foods จะซึมซับแนวทางนี้มาใช้
เรื่องที่ 2 คือ Amazon มีความโดดเด่นเรื่องเทคโนโลยี ที่จะช่วยให้ Whole Foods สร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ธุรกิจมากขึ้น ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญในแวดวงค้าปลีกมองว่า ทั้งคู่อาจจะใช้ข้อมูลลูกค้าให้เกิดประโยชน์ทั้งร้านแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมไปถึงแนวคิดร้านค้าที่ไม่ต้องมีพนักงานคิดเงิน ก็จะช่วยให้บริษัทมีต้นทุนในการจ้างพนักงานลดลง ทำให้ราคาสินค้าลดลงได้อีก
อีกเรื่องหนึ่ง คือ Amazon มีวิสัยทัศน์ระยะยาว จึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับผลกำไรในระยะสั้น หรือความพึงพอใจของผู้ถือหุ้น แต่สามารถคำนึงถึงขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
จังหวะก้าวของ Amazon ยังส่งผลให้คู่แข่งในธุรกิจค้าปลีกถูกจับตามองว่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร โดยเฉพาะค่าย ‘Wal-Mart’ ยักษ์ค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ ขณะที่ ‘JPMorgan’ เพิ่งเผยแพร่รายงานที่ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ Wal-Mart จะแข่งซื้อ Whole Foods และเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกันในเกมนี้
รูปภาพ : ei.marketwatch.com
กด Subscribe รอเลย…