มามีลูกกันเถอะ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
อย่าเพิ่งตกใจ ไม่ได้ชวนอย่างที่คิดนะ แต่ที่ชวนมีลูกก็เพราะสรรพากรจะให้โปรโมชั่นสนับสนุนให้คนไทยมีลูกกันเยอะๆ เพราะตอนนี้ประเทศไทยเป็นสังคมคนสูงอายุ คือมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกิน 10% ของประชากรไทยทั้งประเทศ (จริงๆแล้วเป็นมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว)
โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปี) ถึง 16.8% ของประชากรทั้งประเทศ สาเหตุที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ คนไทยแต่งงานช้าลง และมีลูกน้อยลง จากรายงานสถานการณ์ประชากรไทยปี 2558 “โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน” ของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้หญิงจำนวนมากมีบุตรน้อยลง กล่าวคือผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-49 ปี เคยมีจำนวนบุตรเฉลี่ยอยู่ที่ 6.3 คน ในปี 2507 แต่ในปัจจุบันกลับมีจำนวนบุตรเฉลี่ย 1.6 คน ยิ่งไปกว่านั้นมีการคาดการณ์ว่าจะลดน้อยลงไปอีก โดยคาดว่าในปี 2583 จะเหลือเฉลี่ยแค่ 1.3 คน
เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรจึงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีลูกกันมากๆ เริ่มจาก การให้ลดหย่อนภาษีลูกได้แบบไม่จำกัดจำนวนคนถึง 30,000 บาท/ลูก 1 คน แต่ต้องเป็นลูกแท้ๆ เท่านั้น ถ้าจะหักลดหย่อนบลูกบุญธรรมด้วย จำนวนลูกที่จะหักลดหย่อนรวมลูกชอบด้วยกฎหมายกับลูกบุญธรรมทั้งหมดห้ามเกิน 3 คน
สรุป คือ ถ้าอยากจะหักลดหย่อนลูกเยอะๆ เกิน 3 คนต้องเป็นลูกชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด คือ ลูกจริงๆเท่านั้น เทียบกับกฎหมายเก่าจะให้หักลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือลูกบุญธรรมคนละ 15,000 บาท ถ้าลูกเรียนหนังสือในสถาบันการศึกษาในประเทศให้หักเพิ่มได้คนละ 2,000 บาท โดยจำกัดจำนวนลูกที่หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน
แต่ไม่รู้ว่าโปรโมชั่นไม่เวิร์ค หรือสรรพากรใจร้อน ก็เลยออกโปรโมชั่นลดหย่อนภาษีลูกเพิ่มให้อีกสำหรับเงินได้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป คือ
- เพิ่มลดหย่อนลูกคนที่สองขึ้นไปจากคนละ 30,000 บาทเป็นคนละ 60,000 บาท
- สามารถเอาค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการคลอดลูก เช่น ค่าฝากครรภ์และคลอดลูกมาหักลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท/ปีสำหรับค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป
หมายเหตุ : ค่าลดหย่อนจะได้ต่อไปเรื่อยๆ และค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรจะได้เฉพาะปีที่มีค่าใช้จ่ายจริงเท่านั้นนะ ปีถัดๆมาจะไม่ได้ หรือถ้าท้องข้ามปี มีค่าฝากครรภ์และคลอดคล่อมปี ก็สามารถเอาค่าใช้จ่ายที่เกิดในแต่ละปีมาลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงในปีภาษีนั้นแต่ไม่เกินปีละ 60,000 บาท