“เงินเก็บปลอดภาษี”
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
มาเริ่มต้นปีใหม่ที่ดีและสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองกันดีกว่า ด้วยการช้อปปิ้งแหล่งเงินเก็บ เงินลงทุนแบบปลอดภาษี 100% มาดูกันว่ามีที่ไหนบ้าง
เงินฝากแบงก์
แหล่งเงินออมปลอดภาษีที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด หนีไม่พ้นเงินฝากออมทรัพย์ของแบงก์ต่างๆ แต่มีข้อแม้ว่าถ้าอยากปลอดภาษี เมื่อฝากแล้วเวลาได้ดอกเบี้ยในแต่ละปีต้องไม่เกิน 20,000 บาท
เงินฝากพิเศษ
ธนาคารต่างๆ ออกบัญชีเงินฝากพิเศษเพื่อเป็นทางเลือกและดึงดูดให้คนไทยเก็บเงิน ซึ่งความพิเศษที่ว่านอกจากจูงใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยแล้ว ยังปลอดภาษีด้วย แต่สิ่งที่ต้องดูดีๆ คือ เงื่อนไขที่ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจฝากเงิน ต้องอ่านเงื่อนไข สอบถามเจ้าหน้าที่ให้ดีๆ ก่อน
เงินฝากสหกรณ์
บริษัทไหนที่มีสหกรณ์ บอกเลยว่าพนักงานบริษัทนั้นโชคดีมาก เพราะถ้าแบ่งเงินเดือนบางส่วนไปเก็บไว้ในสหกรณ์ นอกจากจะเป็นแหล่งเก็บออมระยะยาว ผลตอบแทนในระดับน่าประทับใจ ยังปลอดภาษี 100%
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เป็นแหล่งเงินเก็บที่สุดยอดของมนุษย์เงินเดือน เพราะถ้าลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินจะถูกหักเข้าไปในกองทุนนี้ทุกเดือนตามสัดส่วนที่เรากำหนด เช่น 5%, 10%, 15% เป็นต้น
ฝ่ายนายจ้างก็จะสมทบให้อีกส่วนหนึ่งตามที่กำหนดไว้ เช่น ลูกจ้างหักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละ 1,000 บาท นายจ้างสมทบให้ 1,000 บาท แสดงว่าเดือนนั้นลูกจ้างมีเงินเก็บ 2,000 บาท พูดง่ายๆ ได้ผลตอบแทนทันที 100% ยังไม่รวมกับ บลจ. ที่นำเงินจากกองทุนนี้ไปบริหารให้งอกเงย และที่สำคัญเงินออมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ปลอดภาษี พูดง่ายๆ มีแต่ได้กับได้
RMF
คงคุ้นเคยกันดีว่า ถ้าซื้อ RMF ก็จะได้ประโยชน์ด้านภาษีในปีนั้น และที่เหนือไปอีก RMF ถูกออกแบบมาเป็นแหล่งเงินออมให้คนไทยเพื่อเก็บไว้ใช้หลังวัยเกษียณ และแน่นอนปลอดภาษี 100%
กองทุนรวม
หลายคนอาจยังเข้าใจผิดกันอยู่ว่าซื้อกองทุนรวม ไม่ว่าจะกองไหนๆ ก็โดนภาษี จริงๆ แล้ว หากซื้อกองทุนรวมที่เขียนกำกับว่า “ไม่มีนโยบายจ่ายปันผล” หากขายแล้วได้กำไร จะไม่เสียภาษี (แต่ถ้าซื้อกองทุนรวมที่จ่ายเงินปันผล ถ้าได้รับเงินปันผลก็ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10%)
หุ้น
เช่นเดียวกัน หากลงทุนในหุ้น แล้วได้กำไรจากราคาที่เพิ่มขึ้น ที่เรียกว่า Capital Gain ก็ไม่เสียภาษี ยกเว้นถ้าได้เงินปันผลก็ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10%