×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

3 เรื่องต้องรู้ ก่อนซื้อ IPO กองทุนรวม

18,012

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

“มีกองทุนรวมกองนึงจะ IPO พรุ่งนี้ ซื้อกันมั้ย” หลายๆ คนอาจถูกเพื่อนร่วมก๊วนชักชวนให้ซื้อกองทุนรวมที่เปิดขายครั้งแรก หรือเรียกสั้นๆ ว่า กองทุน IPO ถ้าโดนชักชวนอย่าเพิ่งตอบตกลง หากยังไม่ได้ศึกษาข้อมูลดีพอ เพราะทุกวันนี้มีหลายคนเชื่อว่ากองทุนออกใหม่ น่าสนใจเสมอ   

 

ในความเป็นจริง “กองทุนเปิดขายครั้งแรก” ต้องดูกันดีๆ แถมต้องถามผู้จัดการกองทุนให้ละเอียดก่อน เพราะที่ผ่านมาเห็นความเจ็บช้ำกันบ่อย ถ้าเช่นนั้นลองดูวิธีการง่ายๆ ก่อนตัดสินใจซื้อกองทุนออกใหม่

 

เปรียบเทียบ

อาจแย้งว่า “กองทุนออกใหม่ จะเปรียบเทียบกับกองทุนไหน เพื่อดูว่าดีหรือไม่ดี” เรื่องนี้ไม่ยาก ให้นำกองทุนออกใหม่เทียบกับกองที่เปิดมาหลายปี มีนโยบายการลงทุนเหมือนกัน เช่น กองออกใหม่ไปลงทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ เทียบกับกองเดิมที่มีนโยบายลงทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ ซึ่งทำได้ 2 ขั้นตอน

 

ขั้นตอนแรก เปรียบเทียบกองออกใหม่กับกองเดิมที่ออกโดย บลจ.เดียวกัน ย้อนดูว่าช่วงปีแรกๆ ของกองเดิมเปิดขาย ผลงานเป็นอย่างไร ถ้าโอเคก็ให้ดูผลงานระยะยาวขึ้น เช่น พอผ่านไป 3 ปี 5 ปี ผลการดำเนินงานเติบโตสม่ำเสมอหรือไม่ ถ้าโอเคพอประเมินได้ว่ากองกำลังออกใหม่ ไว้วางใจได้

 

เมื่อสอบผ่านขั้นตอนแรก ถัดมาให้นำกองเดิมนั้นไปเปรียบเทียบกับกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกัน แต่เป็นของ บลจ.อื่น ดูว่าช่วงแรกๆ ของการเปิดขาย ผลการดำเนินงานเมื่อเทียบกันแล้วเป็นอย่างไร ถ้ามีความใกล้เคียงกันก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าผลงานออกมาแตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น กองของ บลจ.ที่กำลังเล็งเอาไว้ ผลงานไม่ดี แต่ของ บลจ.อื่น ดีมาก คงต้องทบทวนการลงทุน

    

หนังสือชี้ชวน

หลังจากมั่นใจในระดับหนึ่งแล้วว่า กองทุนออกใหม่ที่เล็งเอาไว้น่าสนใจ ต้องทำการศึกษาข้อมูลกองทุนที่ว่าผ่านหนังสือชี้ชวน โดยเฉพาะเรื่องนโยบายการลงทุนว่าไปลงทุนสินทรัพย์อะไร เผื่อไม่ชอบสินทรัพย์นั้น หรือถ้าลงทุนกับกองที่มีนโยบายคล้ายกับกองออกใหม่อยู่แล้วจะได้ไม่ลงทุน

 

ถัดมาให้ดูกลยุทธ์การลงทุนว่ามีนโยบายสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) เรียกว่า Passive Fund หรือเป็นกองที่มีกลยุทธ์ลงทุนมุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด เรียกว่า Active Fund เพื่อให้รู้ว่ากองทุนนั้นเหมาะกับสไตล์การลงทุนของเราหรือไม่ เช่น ไม่ชอบการลงทุนหวือหวาต้องเลือกกลยุทธ์แบบแรก แต่ถ้าชอบกองทุนที่เน้นหาจังหวะและทิศทางการลงทุนต้องเลือกแบบหลัง

 

ต่อมาให้ดูเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมที่กองทุนเรียกเก็บทั้งตอนซื้อและขาย เพราะถึงเป็นกองทุนประเภทเดียวกัน แต่ค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมต่างกัน บางกองตอนซื้อไม่เก็บแม้แต่บาทเดียว บางกองเก็บ เช่นเดียวกันตอนขายบางกองเก็บ บางกองไม่เก็บ เพราะอย่าลืมว่าค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลตอบแทนของกองทุนรวม

 

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนกองทุนสักกอง รายละเอียดข้อมูลในหนังสือชี้ชวนมีความสำคัญมาก ยิ่งเป็นกองทุนออกใหม่ยิ่งต้องอ่าน ไม่สามารถละเลยได้

 

อย่าเห็นแก่ราคาถูก

โดยปกติแล้ว กองทุนออกใหม่มักเริ่มต้นราคาที่ 10 บาทต่อหน่วย ทำให้นักลงทุนรู้สึกว่าซื้อตอนนี้ได้ของถูก ถ้ากองทุนที่ซื้อไปนั้นทำผลงานให้เติบโตได้อย่างต่อเรื่องคงไม่มีปัญหาอะไร

 

ตรงกันข้าม หากซื้อไปแล้วกลับสร้างผลงานได้อย่างน่าผิดหวัง จาก 10 บาท เหลือ 5 บาท 3 บาท ดังนั้น ราคาไม่ใช่ประเด็น ต้องดูนโยบาย กลยุทธ์การลงทุน ฝีมือผู้จัดการกองทุน ความน่าเชื่อถือของ บลจ.  

 

หลายคนอาจรู้สึกว่าการลงทุนกองทุนรวมไม่ต้องคิดอะไรมาก เมื่อซื้อไปแล้วจะมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลเงินลงทุนให้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่อย่าลืมว่าการตัดสินใจซื้อกองทุนสักกอง ผู้ลงทุนต้องเลือกให้ดีๆ คิดให้ถี่ถ้วน เพราะถ้าเลือกกองผิดตั้งแต่เริ่มต้น คงไม่ดีต่อพอร์ตลงทุนในอนาคต

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats