×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

หุ้นแตกพาร์ ราคาวิ่งแค่ไหน

8,978

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

ข่าวการแตกพาร์ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ไม่เพียงแต่จะเพิ่มความน่าสนใจให้กับหุ้นเท่านั้น ยังช่วยขยายฐานผู้ถือหุ้น จากราคาหุ้นที่นักลงทุนสามารถ “เอื้อมถึง” ได้อีกด้วย ซึ่งการแตกพาร์ไม่ได้มีผลทำให้ปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยน แต่ทุกครั้งที่บริษัทไหนประกาศแตกพาร์ ราคาหุ้นจะวิ่งกันระเบิดระเบ้อ นั่นเป็นเพราะผลบวกด้านจิตวิทยานั่นเอง

 

Stock Split หรือที่คุ้นเคยกันมากกว่ากับคำว่าการแตกพาร์ หมายถึงวิธีการที่บริษัทแตกหุ้นจดทะเบียนออกตามสัดส่วนที่บริษัทต้องการ โดยการปรับลดราคาพาร์ซึ่งเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ที่ระบุไว้บนใบหุ้น โดยไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อส่วนผู้ถือหุ้น (Equity) และการประเมินมูลค่าของราคาหุ้นนั้นรวมถึงมูลค่าตามราคาหลักทรัพย์ในตลาด (Market Capitalization)  

 

เช่น หุ้น ABC แตกพาร์จากมูลค่าเดิม 10 บาท เป็น.1 บาท ต่อหุ้น หรือ 10 เท่า แสดงว่า 1 หุ้นเดิม แตกหุ้นออกเป็น 10 หุ้นใหม่ และราคาตลาด ณ ปัจจุบันสมมติว่าอยู่ที่ 48 บาท ก็จะเหลือเพียง 4.80 บาท โดยที่ผู้ถือหุ้นเดิมจะมีหุ้นเพิ่มขึ้น 10 เท่าของจำนวนเดิมที่ถืออยู่ มูลค่าของหุ้นแต่ละหุ้นก็จะถูกลดลง 10 เท่า

 

ความหมายคือ หุ้น 10 หุ้นในตอนนี้ มีมูลค่าเท่ากับมูลค่าเดิมของหุ้น 1 หุ้นก่อนการแตกพาร์ แต่มูลค่าหุ้นโดยรวมจะเท่าเดิมเหมือนตอนก่อนแตกพาร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับธนบัตรใบละ 1000 บาท เท่ากับธนบัตรใบละ 100 บาท จำนวน 10 ใบ โดยที่มูลค่าธนบัตรที่ถือไว้ตั้งแต่ครั้งแรกไม่เปลี่ยนแปลงยังคงเท่ากับ 1000 บาท เพียงแต่ได้ธนบัตรเพิ่มขึ้นมาเป็น 10 ใบ

 

บทวิจัย บล.เอเซียพลัส กล่าวว่าบริษัทที่แตกพาร์ ส่วนใหญ่ราคาหุ้นจะสูงแล้ว การที่จะเข้าซื้อหุ้นแต่ละครั้งต้องใช้เงินจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้นักลงทุนรายย่อยจึงเอื้อมไม่ถึงบรรดาหุ้นใหญ่เหล่านี้ ผลที่ตามมาคือ สัดส่วนการถือหุ้นของรายย่อยต่ำ เช่น PTT ตอนนี้รายย่อยถืออยู่เพียง 4% ถือว่าน้อยมาก

 

เมื่อแตกพาร์จาก 10 บาท เป็น 1 บาท ราคาหุ้นที่เคยสูงเป็นระดับหลายร้อยบาทต่อหุ้น จะลดลงมาอยู่หลักหลายสิบบาทต่อหุ้น เท่ากับนักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนได้สะดวกขึ้น สภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นก็มีมากขึ้น

 

มาดูกันว่าบริษัทที่ประกาศแตกพาร์ ราคาหุ้นเป็นอย่างไร

 

ฝ่ายวิจัย บล.เอซีย พลัส ทำการวิเคราะห์เชิงปริมาณพบว่าจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี หุ้นในดัชนี SET100 ทั้งหมด ที่มีการแตกพาร์ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 24 บริษัท ราคาหุ้นปรับขึ้น นับตั้งแต่วันประกาศแตกพาร์จนถึงวันที่มีผลแตกพาร์เสมอ

 

โดยราคาหุ้นปรับตัวขึ้นเฉลี่ยสูงถึง 14.09% ด้วยโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 75% ขณะที่หลังแตกพาร์แล้ว ราคาหุ้นส่วนใหญ่จะเริ่มทรงตัว

 

เช่น BANPU แตกพาร์จาก 10 บาท เป็น 1 บาท (คณะกรรมการบริษัทมีมติให้แตกพาร์ วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 และมีผลแตกพาร์ วันที่ 26 กันยายน 2556) ราคาหุ้นช่วงตั้งแต่ประกาศแตกพาร์จนถึงวันที่มีผลแตกพาร์รวม 57 วัน ปรับขึ้นถึง 29%

 

ส่วน AOT แตกพาร์จาก 10 บาท เป็น 1 บาท (คณะกรรมการบริษัทมีมติให้แตกพาร์วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 มีผลแตกพาร์วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560) ราคาหุ้นช่วงตั้งแต่ประกาศแตกพาร์ จนถึงวันที่มีผลแตกพาร์ รวม 72 วัน ปรับขึ้น 3%

 

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่าจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี หากนักลงทุนสนใจซื้อหุ้นก่อนแตกพาร์ก่อนวันที่มีผล 30 วันจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนดีที่สุดคือ 6.25% ถ้าซื้อก่อนวันที่มี 14 วัน จะได้รับผลตอบแทน 2.89% ถ้าซื้อก่อนวันที่มี 7 วัน จะได้รับผลตอบแทน 2.81% ซื้อก่อนวันที่มี 3 วัน จะได้รับผลตอบแทน 2.64% แต่ถ้าซื้อก่อนวันที่มี 1 วัน อาจจะขาดทุน

 

 

แต่ถ้านักลงทุนสนใจรอลงทุนหลังจากบริษัททำการแตกพาร์ไปแล้ว จากสถิติ 10 ปีย้อนหลัง พบว่าผลตอบแทนที่ได้รับอยู่ในระดับไม่สูงนัก โดยถ้าซื้อหลังมีผลแตกพาร์ 30 วัน จะได้รับผลตอบแทน 1.25% ถ้าซื้อหลังมีผลแตกพาร์ 14 วัน จะได้รับผลตอบแทน 1.52% แต่ถ้าถ้าซื้อหลังมีผลแตกพาร์ 1 วันหรือ 3 วัน มีโอกาสขาดทุน

 

 

บริษัทที่ตัดสินใจแตกพาร์นั้นโดยส่วนใหญ่จะมีราคาหุ้นของบริษัทที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ จากในอดีตและเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่อยู่ในระดับที่มีคุณภาพ ถึงแม้ว่าการแตกพาร์จะไม่ได้สะท้อนถึงผลกำไรของบริษัทที่โดดเด่นหรือสร้างมูลค่าเพิ่มใดๆ ให้กับผู้ถือหุ้น แต่การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ปรับลดลงหลังจากการแตกพาร์นั้นจะสามารถสะท้อนอัตราเติบโตของบริษัทได้ดีขึ้น

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats