3 ข้อเข้าใจผิด…กองทุนจ่ายปันผล
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
กองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล นับเป็นทางเลือกในการลงทุนกองทุนที่หลายคนมักเลือก แต่การเลือกนี้อาจมาจากข้อเข้าใจผิด ซึ่งจะทำให้ลงทุนไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ข้อเข้าใจผิดเหล่านี้มีอะไรบ้าง
ลงทุนเพราะเชื่อว่ากองทุนต้องจ่ายเงินปันผลให้ทุกปี
โดยปกติแล้ว กองทุนมักกำหนดว่า จะจ่ายเงินปันผลหากกองทุนมีกำไรเมื่อเทียบกับงวดบัญชีก่อน ซึ่งแสดงว่า หากลงทุนกองทุนหุ้นที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ผู้ลงทุนจะได้รับเงินปันผลเมื่อหุ้นที่กองทุนลงทุนมีราคาสูงขึ้นจากงวดบัญชีก่อน ทั้งนี้หากเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง กองทุนนี้มีโอกาสที่จะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้
อย่างไรก็ตาม นโยบายการจ่ายเงินปันผลของแต่ละกองทุนอาจแตกต่างกันออกไป หากจะเลือกลงทุนกองทุนใด ควรศึกษา Fund Fact Sheet ด้วยตัวเองก่อนตัดสินใจลงทุน
ลงทุนโดยดูจากเงินปันผลในอดีต
นักลงทุนหลายคนมักเข้าไปศึกษาว่า กองทุนที่ตนสนใจเคยจ่ายเงินปันผลเท่าไหร่ และนำเงินปันผลนั้นมาคิดกลับเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield) ที่จะได้รับจากกองทุนนั้น
ยกตัวอย่างเช่น ปี 2560 กองทุนเคยจ่ายเงินปันผลรวม 1 บาท และราคากองทุนปัจจุบันอยู่ที่ 10 บาท นักลงทุนจึงคาดหวังว่า เมื่อลงทุนแล้วกองทุนนี้จะมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล 10% ต่อปี ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ผิด เพราะกองทุนไม่ได้การันตีการจ่ายเงินปันผลเป็นเงินเท่ากันทุกปี
ลงทุนก่อนวันปิดสมุดทะเบียน
กองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลจะมีการกำหนดวันปิดสมุดทะเบียน ซึ่งหากลงทุนกองทุนรวมในวันนั้น จะไม่มีสิทธิรับเงินปันผล นักลงทุนบางคนจึงเลือกที่จะซื้อกองทุนก่อนวันปิดสมุดทะเบียน 1 วัน เพื่อให้ชื่อของตนเองอยู่ในสมุดทะเบียน และมีสิทธิรับเงินปันผลงวดนั้น
แม้ว่าการกระทำเช่นนี้ จะทำให้นักลงทุนได้รับเงินปันผล (หากกองทุนมีกำไรในรอบบัญชีนั้น) แต่เงินปันผลที่ได้รับก็เสมือนว่า ได้รับเงินลงทุนของตนเองกลับคืนไป แถมยังต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% อีกด้วย เช่น ซื้อกองทุนราคา 10 บาท จากนั้นกองทุนประกาศจ่ายเงินปันผล 0.5 บาทต่อหน่วย โดยเมื่อกองทุนประกาศจ่ายเงินปันผลดังกล่าว ราคา NAV ก็จะปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับจำนวนเงินปันผลเหลือประมาณ 9.5 บาท (ราคาอาจแตกต่างจาก 9.5 บาท ได้บ้างตามการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในวันนั้น) ทำให้การซื้อกองทุนก่อนวันปิดสมุดไม่ได้ช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้นักลงทุนอย่างที่หลายคนคาดหวังไว้ เพราะเมื่อนำเงินปันผลมารวมกับมูลค่าเงินลงทุนในวันที่ประกาศปิดสมุด ยอดเงินลงทุนก็จะไม่แตกต่างจากวันที่ซื้อกองทุนก่อนปิดสมุด 1 วัน
เทคนิคการลงทุนกองทุนที่ถูกต้องคือ การศึกษานโยบายการลงทุนของประเภทกองทุนที่สนใจว่า กองทุนนั้นมีนโยบายเป็นอย่างไร และเมื่อเลือกนโยบายการลงทุนที่ตรงใจได้แล้ว ค่อยนำผลตอบแทนในอดีตมาเปรียบเทียบกันว่า กองทุนไหนทำผลตอบแทนได้โดดเด่น แล้วจึงค่อยตัดสินใจลงทุน