×

Wealth Me Up ใช้แรงทำเงิน

“การฟัง” ทักษะเชิงรับที่ต้องมี

9,031

 

เราอาจจะไม่ได้คิดถึงการฟังของเราบ่อยนัก เพราะทักษะการฟัง หากเทียบกับทักษะการพูดหรือการเขียน ดูจะมีบทบาทน้อยกว่า เพราะไม่ได้แสดงออกถึงความสามารถของเรา และดูจะไม่มีผลต่อการเลื่อนตำแหน่งงาน

 

อย่างไรก็ตาม ทักษะการฟัง แม้จะเป็นทักษะเชิงรับ แต่ก็มีบทบาทไม่ได้ด้อยไปกว่าทักษะเชิงรุกทั้งหลายเหล่านั้นเลย เพราะเป็นบ่อเกิดของ “ข้อมูล” เพื่อนำไปต่อยอด และยกระดับ “ความสัมพันธ์” ระหว่างคู่สนทนาได้ลึกซึ้ง เข้าใจยิ่งขึ้น และนี่คือ 3 เคล็ดลับ ที่จะทำให้ทักษะการฟังของคุณดีขึ้น

 

 

1.ฟังเพื่อเรียนรู้ | ไม่ใช่เพราะมารยาท

เชื่อหรือไม่ว่าการฟังของคนเราส่วนใหญ่ เป็นการฟังไปตามสถานการณ์ เออออไปกับคู่สนทนาเพื่อให้ผู้ฟังได้สบายใจ มันอาจจะดีในบางสถานการณ์ แต่มันไม่ได้สร้างความลึกซึ้ง และความเข้าใจให้คุณและผู้ฟังเลยแม้แต่น้อย

 

การฟังเพื่อเรียนรู้ คือการฟังด้วยความสงสัยใคร่รู้ (Curiousity) มีเป้าหมายเพื่อการเติบโตทางความคิด  คนที่ฟังเพื่อเรียนรู้ไม่ได้คิดว่า ความคิดของตัวเองเป็นความคิดที่ดีที่สุด แต่เขาเชื่อว่า บทสนทนาที่ดีจะสร้างโอกาสในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากมุมมองใหม่ เพื่อสร้างความชัดเจนในบางอย่างให้กับพวกเขา

 

ดังนั้นแล้ว เราจะเห็นการพูดคุยของคนเหล่านี้ที่เต็มไปด้วยการถาม ถาม และก็ถาม แม้จะเป็นข้อสรุปอะไรบางอย่างก็จะอยู่ในรูปของคำถาม อย่างไรก็ตามวิธีการฟังเพื่อเรียนรู้ ยังต้องอาศัย “การเปิดใจ” เพื่อรับสารให้ได้มากกว่าแค่ “คำพูด” เพราะการเติมเต็มความสมบูรณ์ของสารที่คู่สนทนาสื่อออกมาจะถูกแวดล้อมไปด้วยบริบท (Context) ที่ถ่ายทอดออกมาจากน้ำเสียง สีหน้า และภาษากาย องค์ประกอบเหล่านี้จะพัฒนาไปสู่ความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น

 

2.ฟังอย่างโฟกัส | ไม่ใช่แค่ได้ยิน

“ถ้าทุกครั้งที่เราจบบทสนทนาแล้วพบว่า เราไม่ได้รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับการพูดคุยครั้งนั้น นั่นแปลว่า เราแทบจะไม่ได้ฟังเลย เราเพียงแค่ได้ยิน”

 

มีคนเปรียบเทียบการฟังที่ดี เสมือนการฟังเพลง การฟังเพลงแล้วได้ยิน ก็เหมือนกับที่เราได้ยินเพลงแล้วแทบจะทวนนึกเนื้อเพลงที่พึงจบไปไม่ได้ แต่ถ้าเรานึกทวนเพลงนั้นได้ เราก็ต้องอาศัยการตั้งใจฟัง

 

ปัจจัยของการตั้งใจฟัง เกิดขึ้นทั้งจากตัวเอง และภายนอก หากเราปรารถนาที่อยากเพลงฟังนั้น เราจะฟังอย่างตั้งใจ พร้อมทั้งหยุดทำในบางสิ่งที่ต้องใช้ความคิด เพื่อที่จะโฟกัสกับการฟังเพียงอย่างเดียว

 

บ่อยครั้งการฟังแบบนี้มักเกิดขึ้นเมื่อเรากำลังขับรถกลับบ้าน เพราะมีบรรยากาศที่เงียบสงบ และอยู่ในภาวะตื่นตัว จากากรมองเส้นทางข้างหน้า แต่ก็ไม่ต้องใช้ความคิดกับการเดินทางมากนัก เพราะเป็นทางที่เราคุ้นเคย เราจึงโฟกัสกับบทเพลงได้อย่างไม่รู้ตัว

 

3.ฟังจนจบ | อย่าด่วนสรุป

“องค์ประกอบที่ยากที่สุดของการฟัง คือ การหยุดรอจนกว่าคู่สนทนาพูดจบ ก่อนที่เราจะโต้ตอบออกไป”

 

เหล่าผู้นำชั้นแนวหน้าต่างเข้าใจดี ถึงการดึงศักยภาพของลูกน้อง เมื่อพวกเขาต้องการสร้างความต่างให้เกิดขึ้น เพื่อหาสิ่งใหม่จากในที่ประชุม คุณอาจจะเห็นแย้งขึ้นมาว่า ไม่จริงหรอก…ผู้นำเหล่านี้เพียงจับประเด็นได้ เขาก็จะพูดแทรกขึ้นมา แล้วเขาก็บอกว่า “ที่คุณหมายถึงนั้น คือ….” แล้วบทสนทนาก็จะจบลงโดยข้อสรุปของเขา

 

แต่ผู้นำที่ดีจะต้องเต็มไปด้วยความอดทน เพื่อแสวงหาสิ่งใหม่จากการสนทนา เพราะพวกเขาเชื่อว่า “ความคิดสร้างสรรค์” มักจะเกิดขึ้นจากการฟัง  อันที่จริงแล้ว พวกเขาตามหา “คำพูด” หรือ “keyword” บางอย่างที่จะร้อยเรียงไอเดียของพวกเขาให้เกิดขึ้น

 

ดังนั้นแล้ว ในฐานะของผู้นำ ถ้าอยากจะพูดคุยเพื่อค้นหาความคิดสร้างสรรค์ ก็ควรอดทนรอจนกว่าเขาคนนั้นจะพูดเสร็จ เพื่อให้ “คำ” ได้สังสรรค์กับสิ่งที่คุณมีอยู่ในหัว จนได้ผลิตผลที่คุณจะนำไปต่อยอดต่อไป

 

เอาล่ะ! ทั้งหมดนั้นอาจดูหมือนแนวคิด แต่ก็เป็น “Mindset” ที่ต้องมีเพื่อยกระดับความสามารถของตนจากการฟัง ใครจะฝึกฝนต่อไปอย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่แต่ล่ะคนจะลองสร้างสรรค์ฝึกฝนด้วยตัวเอง ท้ายสุดนี้ จงอย่าลืมว่า เราถูกสร้างให้มี 2 หู และมีเพียง 1 ปาก เพื่อใช้การฟังให้มาก และใช้การพูดให้น้อย

 

#WealthMeUp

 

กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

Related Stories

amazon anti fatigue mats