ข้อดี-ข้อเสียทะเบียนสมรส
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ทะเบียนสมรสจำเป็นแค่ไหนหรือเป็นแค่กระดาษแผ่นเดียว? หลายคู่ก็เลือกที่จะอยู่ด้วยกัน โดยไม่จดทะเบียนสมรส แล้วอย่างไหนจะดีกว่า ระหว่างจดทะเบียนสมรส กับไม่จด
ข้อดีของการจดทะเบียนสมรส
- กรณีมรดก คู่สมรสถือเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกตามมาตรา 1635 ได้รับส่วนแบ่งมรดกในทุกระดับชั้นมรดก แต่ถ้าไม่จดทะเบียนสมรส คู่สมรสจะไม่มีสิทธิอะไรในทรัพย์มรดกของอีกฝ่ายเลย แต่ลูกของคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสมีสิทธิได้มรดกนะ
- ทรัพย์สินเกิดขึ้นหลังจากการสมรส ถือเป็นสินสมรสของสามี ภริยา ดังนั้นทรัพย์สินที่สร้างร่วมกันตลอดชีวิตสมรสก็จะเป็นของทั้งคู่
ถ้าไม่ได้จดทะเบียน ทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้จะถือเป็นทรัพย์สินร่วม โดยแต่ละฝ่ายจะมีกรรมสิทธิในทรัพย์สินดังกล่าวคนละส่วนเท่าๆ กัน
- การจดทะเบียนสมรสจะทำให้เป็นสามีภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าฝ่ายใดฝายหนึ่งไปจดทะเบียนสมรสกับคนอื่น ถือเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อน และจะถือเป็นโมฆะ และอีกฝ่ายยังสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากฝ่ายที่มีชู้ได้
- การระบุคู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันชีวิตสามารถทำได้ แม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้ระบุว่าห้ามคนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นผู้รับประโยชน์ แต่โดยทั่วไปบริษัทประกันชีวิตจะไม่ยอมรับประกันหากผู้รับประโยชน์ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย
- กรณีสมรส ถ้ามีลูกจะถือว่าเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายของทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายสามีก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนลูกได้คนละ 30,000 บาทตามกฎหมาย และยังสามารถลดหย่อนภาษีกรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ได้อีกด้วย
- การจดทะเบียนสมรส หากฝ่ายใดถูกคนอื่นทำให้เสียชีวิต อีกฝ่ายสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากคนที่ทำให้อีกฝ่ายเสียชีวิตได้
- กรณีประกันสังคม ถ้าเสียชีวิตและไม่ได้ระบุผู้รับผลประโยชน์ไว้ ประกันสังคมจะจ่ายเงินให้กับคู่สมรส บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากันในผลประโยชน์ ดังนี้ ค่าทำศพ 40,000 บาท และเงินสงเคราะห์เพิ่มตามหลักเกณฑ์คือ ถ้าส่งเงินประกันสังคมตั้งแต่ 3 -10 ปี จะได้เงิน 2 เท่าของเงินเดือนเฉลี่ย 12 เดือนสุดท้าย ถ้าส่งเกิน 10 ปี จะได้ 6 เท่าของเงินเดือนเฉลี่ย 12 เดือนสุดท้าย และผลประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ
จะเห็นนะว่าข้อดีมีมากมาย อ้าว! แล้วข้อเสียหล่ะ ไม่เห็นพูดถึงเลย งั้นเรามาดูข้อเสียกันเลย
ข้อเสียของการจดทะเบียนสมรส
- การจัดการทรัพย์สินจะยุ่งยากเพราะเป็นสินสมรส ดังนั้นจะจัดการทรัพย์สินอย่างไร เช่น จะซื้อ จะขาย จะปล่อยเช่า หรือจะยกหนี้ ฯลฯ ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย
- ดอกผลจากสินส่วนตัวของเรา รวมถึงเงินเดือนของเรา โบนัสของเรา หลังแต่งงานจะถือเป็นสินสมรสด้วย ดังนั้นมีคนมาแบ่งเงินเราแล้วนะ
- ถ้าเป็นหนี้ที่มีมาก่อนจดทะเบียนสมรส จะยังคงเป็นหนี้ส่วนตัวของใครของมัน ใครก่อหนี้ไว้คนนั้นต้องรับผิดชอบเอง แต่หากทรัพย์สินส่วนตัวมีไม่พอสำหรับการชดใช้หนี้ เจ้าหนี้ก็จะสามารถมายึดสินสมรสได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยึดได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของสินสมรส
- ถ้าเป็นหนี้หลังจดทะเบียนสมรส กฎหมายให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ในการบังคับชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องสามีภริยาเพื่อบังคับเอากับสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายได้ แม้ว่าคู่สมรสอีกฝ่ายจะมิได้ลงชื่อร่วมในฐานะคู่สัญญาด้วยหรือไม่ก็ตาม
ดังนั้น การครองชีวิตครอบครัว จะต้องระมัดระวังเรื่องการก่อหนี้สินให้ดี หากอีกฝ่ายไปก่อหนี้ขึ้นมา อาจจะมีผลกระทบถึงคู่สมรสและความสงบสุขของครอบครัวได้