คนรุ่นใหม่มองอนาคตยังไง?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
คนรุ่นใหม่คิดถึงอนาคตกันยังไงบ้าง?
ในยุค 4.0 คนรุ่นใหม่มองโลกแตกต่างไปจากเดิมมากแค่ไหน…
Sea Group ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม เช่น Shopee และ Garena ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการที่มีอายุต่ำกว่า 36 ปี จำนวน 64,000 คนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในจำนวนนี้มีคนไทย 10,000 คน ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจคือ
คนไทยรุ่นใหม่มีจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการสูงสุดในอาเซียน ประมาณ 36% บอกว่าตัวเองอยากจะเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยเฉลี่ยคนรุ่นใหม่ไทยมีความใฝ่ฝันจะเป็นจะทำธุรกิจมากกว่าคนรุ่นใหม่ในประเทศอื่นๆ ถึง 13%
เมื่อเจาะลึกไปที่คนกลุ่ม 36% นี้ก็จะเห็นว่า คนที่เรียนต่ำกว่าปริญญาตรีมีความต้องการอยากเป็นผู้ประกอบการมากกว่าคนที่จบปริญญาตรีขึ้นไปถึง 17% ซึ่งคนกลุ่มหลังจะมีความฝันด้านหน้าที่การงานหลากหลายกว่า นอกเหนือจากอยากมีกิจการของตัวเอง เช่น อยากทำงานภาครัฐ อยากช่วยกิจการของครอบครัว และอยากทำงานบริษัทข้ามชาติ
เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจในการทำงาน รายได้ต้องมาก่อน ส่วนสมดุลในชีวิตและการทำงานเป็นรอง และตอบแทนสังคมรั้งท้าย
คนไทยรุ่นใหม่ส่วนใหญ่หรือ 42% บอกว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับ “การมีรายได้สม่ำเสมอ” มากที่สุด ส่วน 30% มองว่า “สมดุลในชีวิตและการทำงาน” สำคัญที่สุด อีก 17% เลือก “การทำงานเพื่อให้ได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์” และมีเพียง 5% ที่ “เลือกงานจากจุดประสงค์ที่ต้องการเห็นผลตอบแทนสู่สังคม” ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่ว่า คนไทยมีความใฝ่ฝันที่จะทำงานในองค์การการกุศลและกิจการเพื่อสังคมน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไทยคิดถึงส่วนรวมน้อยกว่าคนชาติอื่นๆ เพราะที่ผ่านมาก็จะเห็นว่าคนไทยเป็นจิตอาสา พร้อมช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่า เช่น วิกฤตน้ำท่วม เหตุการณ์หมูป่าติดถ้ำหลวง และยังช่วยเหลือสังคมด้วยวิธีอื่นๆ
ด้านมุมมองต่อเทคโนโลยี พบว่า ยิ่งเรียนสูงก็ยิ่งกังวลมากเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยผลสำรวจพบว่า คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีจะมีมุมมองบวกต่อผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการจ้างงานมากกว่าคนที่จบปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งอาจเกิดจากการที่พวกเขาได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและอันตรายของเทคโนโลยีมากกว่า
ขณะเดียวกัน นายจ้างมองเห็นโอกาสจากเทคโนโลยี ส่วนลูกจ้างแสดงความกังวล โดยคนที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทขนาดใหญ่ มักจะมองผลกระทบในแง่ลบ โดย 47% คาดว่าตำแหน่งงานจะลดลง ต่างจากกลุ่มนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่ประมาณ 67% เชื่อว่าตำแหน่งงานจะคงที่หรือเพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยี
จากผลสำรวจนี้ มองได้ว่า พนักงานที่มีหน้าที่และการใช้ทักษะที่ชัดเจนมาตลอดอาจจะกลัวความเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการที่คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงมากกว่ากลับเห็นว่าเทคโนโลยี เช่น อีคอมเมิร์ซจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากความรู้จากห้องเรียนและความรู้ทั่วไปแล้ว ก็ต้องสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ให้ได้
ซึ่งช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจคือ การเรียนออนไลน์ ที่มีประโยชน์แต่กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เห็นได้จากมีคนไทยรุ่นใหม่เพียง 44% ที่บอกว่าเคยเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์
จากผลสำรวจนี้ จะเห็นว่าคนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากมีความใฝ่ฝันจะเป็นผู้ประกอบการสูง แต่ก็มีความท้าทายหลายอย่างรออยู่ เช่น ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่อาจรุนแรง เพราะตอนนี้ใครๆ ก็อยากทำธุรกิจของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน แม้จะอยากทำธุรกิจแต่ก็ยังคาดหวังรายได้สม่ำเสมอ ซึ่งหากเป็นผู้ประกอบการก็มักจะมีความเสี่ยงสูงในเรื่องรายได้ที่อาจไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น ดังนั้นนักธุรกิจรุ่นใหม่ก็ต้องเสริมศักยภาพของตัวเอง เพิ่มทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคดิจิทัล เพื่อรับมือกับความท้าทายข้างต้นเพื่อปั้นธุรกิจของตัวเองให้สำเร็จยั่งยืน