จัดพอร์ตด้วย ”กองผสม” ดีแน่หรือ?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ทุกคนล้วนควรจัดพอร์ต ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการลงทุนหรือไม่ หรือนักลงทุนมีประสบการณ์ลงทุนมากน้อยแค่ไหนก็ตาม เพราะการจัดพอร์ต คือ การกระจายเงินของตนเองไปไว้ในที่ต่าง โดยแต่ละแห่งมีข้อจำกัดและความเสี่ยงต่างกัน
เช่น เงินฝากบางแห่งที่มีดอกเบี้ยสูงแต่อาจมีข้อจำกัดการทำธุรกรรมมากกว่าอีกแห่งที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า หรือการลงทุนบางทางเลือกมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนหรือผันผวนมากกว่าทางเลือกที่ผลตอบแทนต่ำกว่า เป็นต้น ดังนั้นแค่เพียงการแบ่งเงินไปไว้ในสถานบันการเงินต่างๆ เช่น ธนาคาร สหกรณ์อมทรัพย์ก็ถือเป็นการจัดพอร์ตรูปแบบหนึ่งแล้ว
สำหรับการจัดพอร์ตลงทุน คือ การกำหนดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงและข้อจำกัดที่ตนเองรับได้ เช่น ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่างหุ้นไม่เกิน 40% ส่วนที่เหลือลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้ เพื่อบางปีที่หุ้นขาดทุนจะได้ไม่กระทบกับเงินทั้งหมดเพราะยังคงมีตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ
และด้วยระยะเวลาที่ยาว ความผันผวนของเงินลงทุนแบบพอร์ตจะต่ำกว่าการลงทุนหุ้นเพียงอย่างเดียว แม้ว่าต้องแลกกับผลตอบแทนที่ลดลงแต่หากเปรียบเทียบกับความผันผวนที่ลดลงไปด้วยก็ถือว่าคุ้มค่า หรือที่หลายๆ คนเคยได้ยินว่า การจัดพอร์ตทำให้ได้ อัตราผลตอบแทนต่อหนึ่งหน่วยความเสี่ยงสูงที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดการลงทุนนั้น
สำหรับการจัดพอร์ตด้วยกองทุนรวม หลายคนมักเลือกใช้ “กองทุนรวมผสม” ที่มีนโยบายการลงทุนหุ้นในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับพอร์ตการลงทุน ซึ่งสำหรับคนที่ไม่กังวลกับ NAV กองทุนที่ผันผวน และพิจารณาในเรื่องความสะดวกสบายแล้ว กองทุนผสมถือว่าเป็นทางเลือกการจัดพอร์ตที่ดี
แต่สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจข้อดีของการจัดพอร์ต หรือยังกังวลกับ NAV ที่ผันผวนของกองทุนผสม อาจยังไม่เหมาะกับการจัดพอร์ตด้วยกองทุนผสม แต่เหมาะกับการจัดพอร์ตด้วยกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้มากกว่า เพราะการแยกลงทุนโดยตรงในกองทุนทั้งสองจะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของความผันผวนและผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์
เช่น ในช่วงที่กองทุนหุ้นขาดทุนและสร้างความกังวลใจ หากลองหันไปมองเงินลงทุนในส่วนของกองทุนตราสารหนี้จะพบว่าไม่ได้ขาดทุนมากเท่ากับกองทุนหุ้น ซึ่งเป็นการช่วยลดความกังวลใจลงไปได้ และเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสินทรัพย์ทั้งสองประเภท จนนำไปสู่การลงทุนระยะยาวด้วยพอร์ตการลงทุนอย่างมีความสุข
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาว่าควรจัดพอร์ตด้วยกองทุนผสมหรือไม่ ต้องพิจารณาทั้งข้อดี เช่น ความสะดวกและการคงสัดส่วนการลงทุนที่ใกล้เคียงกับนโยบายที่ประกาศไว้ด้วยกลไกการปรับสัดส่วน (Rebalance) ของกองทุน ฯลฯ และข้อเสีย เช่น ยากต่อการทำความเข้าใจธรรมชาติของการลงทุน หรือเมื่อต้องใช้เงินอาจทำใจขายคืนหน่วยลงทุนที่มีผลขาดทุนไม่ได้ ฯลฯ